ตลาด'คอร์สภาวนา'เพื่อนักปฎิบัติธรรม กลยุทธ์'สั้น-สบาย'ดึงลูกค้าจิตวิญญาณ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ : 16 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3084 ครั้ง

เพราะโลกสมัยสมัยช่างซับซ้อน เมื่อเจอโจทย์ชีวิตที่ยากจะแก้  การไปปฏิบัติธรรมกลายเป็นคำตอบที่คนไทยสมัยใหม่เลือกใช้แก้ปัญหา หากมองการปฏิบัติธรรมเป็นสินค้ารูปแบบหนึ่งในตลาดจิตวิญญาณ ศาสนาในฐานะผู้เสนอขาย ก็จำเป็นต้องใช้กลยุทธุ์เพื่อดึงลูกค้าในตลาดทางจิตวิญญานให้หันมาสนใจสินค้าของตน

มองเฉพาะหลักสูตรปฏิบัติธรรมในประเทศไทย สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ การปรับรูปแบบการปฏิบัติให้ง่ายต่อสังคมบริโภค ที่แต่เดิมการปฏิบัติธรรมมักจัดขึ้นในศาสนสถานหรือวัด ตามวันสำคัญทางศาสนา เปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมเฉพาะของแต่ละวัด รูปแบบแตกต่างกันตามแต่ละสายปฎิบัติ ลดกิจกรรมแต่ละช่วงให้สั้นลงเพื่อไม่ให้ผู้เข้าร่วมเบื่อหน่าย สถานที่ทำกิจกรรมเน้นความสะอาด การปฏิบัติต้องสบาย อิ่มอร่อยกับอาหารสุขภาพ และเดินทางสัญจรไปมาสะดวก เหมาะแก่วิถีชีวิตที่นิยม ‘สั้น-ทัน-ด่วน‘

หลังจากที่มหาเถรสมาคม ได้ออกระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ.2543 ขึ้น เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ส่งผลให้ปัจจุบันมีสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกว่า 1,510 สำนัก แบ่งเป็นมหานิกาย 1,339 สำนัก และธรรมยุติ 171 สำนัก กระจายทั่วประเทศ ไม่นับรวมสถานปฏิบัติธรรมเอกชน หรือสถานปฏิบัติธรรมต่างนิกาย

สร้างจุดขาย กระชับ-หลากหลาย เน้นปฏิบัติสบาย

พระมหานงค์ สุมงฺคโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานาวา กรุงเทพมหานคร อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสนาธุระ กล่าวถึงภาพรวมของการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันว่า เฉพาะที่วัดยานาวา หากสังเกตจากจำนวนผู้เข้าร่วมตลอด 8 ปีที่เปิดหลักสูตรปฏิบัติธรรม  พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมอยู่ที่ครั้งละ 40-50 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นครั้งละเกือบร้อยคน

“กลยุทธ์ที่ทำให้ผู้มาปฏิบัติในครั้งแรกเกิดความศรัทธาและนำไปบอกต่อ คือ ต้องรู้ว่าผู้เข้าร่วมต้องการอะไร และนำเสนอให้ง่าย สั้น และกระชับ เสมือนการขายสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้ซื้อ ที่มีความต้องการหลากหลาย เคยมีผู้เข้าร่วมบางคนนำเด็กมาปฏิบัติด้วย เราก็จัดห้องปฏิบัติธรรมเฉพาะสำหรับเด็กไว้รองรับ  หากเป็นผู้เข้าร่วมที่มีเวลาจำกัด เราก็จะปรับเปลี่ยนตารางเวลาให้สั้น กระชับ มีกิจกรรมหลาก หลาย  และจบในวันเดียว”

ในด้านของผู้เข้าร่วม  ฉัตรชนก อุสมาน อุบาสิกาผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดยานาวาเป็นประจำ เผยสาเหตุที่ทำให้ต้องมาปฏิบัติธรรม ณ อารามหลวงแห่งนี้ถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งว่า ติดใจในคำสอนของพระผู้สอนปฏิบัติ เพราะเข้าใจง่าย ปฏิบัติแล้วเห็นผลจริง รวมไปถึงเรื่องความสะอาดของห้องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยแรกที่ตนจะพิจารณาเลือกสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรม  รองลงมาคือ ความสะดวกสบายของสถานที่ปฏิบัติ และการเดินทาง

นอกจากการถือศีลภาวนา หนึ่งในข้อบังคับของสถานปฏิบัติธรรมทุกแห่ง มักกำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มสีขาว หรือ ‘ชุดขาว’

เหตุผลที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องแต่งกายด้วยชุดขาว รองเจ้าอาวาสวัดยานาวาให้คำอธิบายว่า เป็นเทคนิคที่ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมสำรวมกาย ระลึกถึงสถานะที่ตนเป็นอยู่ ณ ขณะนั้น เพราะสีขาวเป็นตัวแทนของความสงบ บริสุทธิ์ เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมสวมชุดขาวก็จะต้องปฏิบัติตามความหมายที่มาพร้อมกับชุด คือ สำรวมทั้งกาย วาจา ใจ รักษาศีลทำใจให้บริสุทธิ์ให้เหมือนสีขาวของชุด มากไปกว่านั้น ยังเป็นการแสดงตนให้รู้ว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม

เมื่อชุดขาวกลายเป็นหนึ่งข้อบังคับ มูลค่าความต้องการอุปกรณ์ทางจิตวิญาณย่อมเพิ่มเป็นเงาตามตัว

ชุดขาว : อานิสงส์ทางธุรกิจ

แม้ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดถึงการเติบโตและมูลค่าของสินค้าในตลาดจิตวิญญาณ  แต่ความหลากหลายของสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น เป็นหนึ่งสิ่งที่ยืนยันการขยายตัวของตลาดการปฏิบัติธรรมได้ดี

ร้านจำหน่ายสินค้าสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมในวัดยานาวาให้ข้อมูลว่า สินค้าที่จำหน่ายภายในร้าน มีตั้งแต่เครื่องแต่งกายสำหรับผู้มาปฏิบัติ อาทิ ชุดขาว กระเป๋า รองเท้า และผ้าพันคอที่เข้าชุดกัน ไปจนถึงหนังสือธรรมะ และคู่มือแนะนำหลักปฏิบัติสมาธิสายต่างๆ ในพุทธศาสนา

ส่วนสินค้าที่ทียอดจำหน่ายสูงสุดในร้านคือ ‘ชุดขาว’ โดยเฉพาะช่วงวันสำคัญทางศาสนาที่จัดปฏิบัติธรรมใหญ่  ซึ่งผู้เข้าร่วมที่ยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อนจะเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดี เพราะยังไม่มีชุดสำหรับปฏิบัติธรรม สนนราคาของชุดจะต่างกันไปตามเนื้อผ้าและการตัดเย็บ หากเป็นผ้าฝ้ายและเป็นชุดยาว ราคาจะยิ่งสูงขึ้น ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 800 บาท

“ราคาของชุดจะขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าและการตัดเย็บ หากเป็นเสื้อยืดผ้าค็อตตอน  ผ้าโทเร  ชนิดคอกลมแบบตัดเย็บธรรมดา ราคา 150 บาท แขนยาวราคา 180 บาท ถ้าเป็นผ้าฝ้ายราคาจะขยับสูงขึ้นไปตามเนื้องาน  บางชิ้น รวมเสื้อและผ้านุ่งราคาสูงถึง 800 บาท  ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นชุดที่สามารถใส่ไปร่วมงานพิธีทางศาสนาต่างๆ นอกเหนือจากการใส่มาปฏิบัติธรรมได้  สำหรับกระเป๋า รองเท้า หรือผ้าพันคอ ลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่เลือกซื้อเพราะต้องการให้สีเข้ากับชุดที่มาปฏิบัติธรรม  ราคาขึ้นกับขนาดและเนื้อผา เริ่มตั้งแต่ 120 - 200 ไปจนถึงหลักพันบาท”

ขณะที่หนังสือธรรมมะและคู่มือปฏิบัติธรรมเป็นสินค้าที่ขายดีรองลงมา กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือ พระภิกษุที่ศึกษาหลักธรรม ที่มักซื้อครั้งละหลายสิบเล่ม

แม้จะเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างจากสถานปฏิบัติธรรมกว่าพันแห่งทั่วประเทศ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โมเดลของวัดยานนาวา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพุทธศาสนาในโลกสมัย  ที่นำมาใช้ในตลาดจิตวิญญาณ นับว่าประสบความสำเร็จในการขยายกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเสริมความศรัทธา เพื่อสั่งสมกุศลผลบุญ  ส่งผลให้เกิดผลพลอยได้ต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เติบโตไปด้วย น่าสนใจว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวนี้  จะมีผลเปลี่ยนแปลงสังคมวัดและพุทธศาสนาในประเทศไทยต่อไปอย่างไร ?เปเป

อ่าน 'จับตา': “10 สถานปฏิบัติธรรมยอดนิยม"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6467

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: