ปี 2559 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก

17 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4833 ครั้ง


	ปี 2559 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก

3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ  และสถาบันอาหาร เผยข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารปี 2559 ไทยเขยิบเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ปรับตัวดีขึ้นจากอันดับ 15 ในปี 2558 คาดสิ้นปี 2559 จะมีมูลค่าส่งออก 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 โดยกลุ่มประเทศ CLMV ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 15.2  แซงตลาดญี่ปุ่น [ที่มาภาพประกอบ: alzi_800 (CC0 Public Domain)]

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่านายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร  ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center  โดยพบว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารตลอดปี 2559 ประเมินว่าจะมีมูลค่า 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เนื่องจากวัตถุดิบการเกษตรของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะกุ้งที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะโรคตายด่วน(EMS) ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กลุ่มสินค้า   ปศุสัตว์รวมทั้งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีต้นทุนการผลิตลดลง เศรษฐกิจอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัว ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เอื้ออำนวยต่อสินค้าส่งออก และภัยแล้งในกลุ่มประเทศอาเซียนทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้น มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ในหลายสาขา อาทิ ไก่ น้ำผลไม้ เครื่องปรุงรส

สินค้าอาหารส่งออกของไทยส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูง 4 รายการ ได้แก่ น้ำผลไม้ (+24.5%) กุ้ง (+22.0%) สับปะรดกระป๋อง (+12.2%)  และไก่(+8.0%) ส่วนสินค้าอื่นๆ อาทิ ข้าว มีปริมาณการส่งออก(+2.1%)เพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มูลค่าขยายตัว(+2.6%) น้ำตาลทรายปริมาณส่งออกลดลง(-10.4%) แต่มูลค่าขยายตัว (+1.2%) ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณส่งออกลดลง(-2.5%) แต่มูลค่าขยายตัว (+2.7%) มันสำปะหลัง (เฉพาะแป้งมันสำปะหลังดิบ) ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น(+10.0%) แต่ราคาลดลงทำให้มูลค่าส่งออกหดตัวลง (-1.0%) เครื่องปรุงรสปริมาณส่งออกและมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ (+5.8%) และ (+6.4%)

โดยสัดส่วนตลาดส่งออกอาหารของไทยในปี 2559 แบ่งเป็น อาเซียน(28.4%) (อาเซียนเดิม 13.2% และ CLMV 15.2%) ญี่ปุ่น (13.9%) สหรัฐฯ (11.9%) สหภาพยุโรป (10.0%) แอฟริกา (9.1%) จีน (8.0%) โอเชียเนีย (3.6%) ตะวันออกกลาง (3.4%) และเอเชียใต้ (1.1%) สำหรับตลาดที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกมากขึ้น ได้แก่ อาเซียน (ทั้ง CLMV และอาเซียนเดิม) สหรัฐฯ โอเชียเนีย และเอเชียใต้ โดยขยายตัวสูงมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (+19.2%) ส่วนตลาดส่งออกอื่น ๆ ขยายตัวดีในกลุ่มตลาดเดิม ได้แก่ ญี่ปุ่น (+6.2%) และสหรัฐฯ (+9.1%) เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ สับปะรดกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบคลายตัวลง รวมทั้งการส่งออกไก่ที่ขยายตัวดีในกรณีของตลาดญี่ปุ่น ส่วนตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีขนาดรองลงไปส่วนใหญ่หดตัวลง ได้แก่ แอฟริกา (-6.1%) จีน(-0.4%) และตะวันออกกลาง (-7.6%) โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ขณะที่ตลาดจีนหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 8 ปี เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างข้าว น้ำตาลทราย และแป้งสำปะหลังลดลง

“ในปี 2559 ประเทศไทยเขยิบขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับ 15 ในปี 2558 โดยพิจารณาจากมูลค่าส่งออกอาหารเฉลี่ยต่อเดือนพบว่า ไทยส่งออกสินค้าอาหารเฉลี่ยเดือนละ 2,216 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียรองจากจีนและอินเดีย ส่วนประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ 1 ถึง 4 อันดับแรกของโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และบราซิล ตามลำดับ ส่วนอันดับที่ 5 คือประเทศจีนที่ขึ้นมาแทนฝรั่งเศสในปีนี้”

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.0  โดยมีมูลค่าราว 1,050,000 ล้านบาท ได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภค การส่งออก และการลงทุนที่เติบโต สินค้าส่งออกอันดับ 1 ได้แก่ ข้าว รองลงมา ได้แก่ ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสาปะหลัง(แป้งดิบ) น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน ตามลำดับ

“ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออก ข้าว คาดว่าจะมีปริมาณ 10 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2559 แต่มูลค่ามีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาข้าวในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปริมาณสต็อกข้าวโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับไก่ คาดว่ามูลค่าส่งออกจะทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก เนื่องจากการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การส่งออกไปยังอียูยังทรงตัว และได้ปัจจัยบวกจากเกาหลีใต้ปลดล็อคอนุญาตนำเข้าไก่จากไทย  โดยในช่วงแรกอนุญาตให้โรงงานไก่ 12 แห่งของไทยสามารถส่งออกไปได้ และคาดว่าโรงงานไก่อีกประมาณ 40 แห่ง จะได้รับการรับรองในอนาคตอันใกล้  สำหรับการส่งออกน้ำตาลทรายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่าตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้ภาวการณ์ที่ระดับสต็อกน้ำตาลโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง   ขณะที่มันสำปะหลังอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการระบายข้าวโพดในสต๊อกของจีน รวมถึงกฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าของจีนที่เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนคู่แข่งที่น่าจับตาอย่างเวียดนาม   ส่วนน้ำผลไม้ขยายตัวดีในแทบทุกตลาดจากการที่ผู้ประกอบการไทยดำเนินกลยุทธ์ขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการหาผู้กระจายสินค้า และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ สำหรับสับปะรด ความต้องการตลาดโลกยังมีอยู่มาก แต่วัตถุดิบไม่เพียงพอทำให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง แต่มูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นตามราคาที่ยังทรงตัวระดับสูง”

กลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวสูง(10-20%) ได้แก่ น้ำผลไม้(+17.3%) และกุ้ง (+14.1%) กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวปานกลาง(5-10%) ได้แก่ เครื่องปรุงรส(+7.1%) อาหารพร้อมรับประทาน(+6.5%) ไก่(+5.2%) และปลาทูน่ากระป๋อง(5.0%) และกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำ (ต่ำกว่า5%) ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง(+3.5%) มันสำปะหลัง(+2.9%) น้ำตาลทราย(+2.6%) และข้าว(+1.3%) โดยสินค้าทั้ง 10 รายการมีสัดส่วนรวมกันที่ร้อยละ 62 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด

นายณัฐพล กล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ว่ามาจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพราะในระยะสั้นนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ จะส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนผลกระทบจากนโยบายการค้าและการต่างประเทศจะต้องใช้เวลาดำเนินงาน จึงจะส่งผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาว  นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในปีการผลิต 2559/60 ที่ฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้ง วัตถุดิบในอุตสาหกรรมกุ้งเริ่มคลายตัวจากภาวะโรคระบาด เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2559  CLMV เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทยด้วยสัดส่วน 15.2% แซงหน้าญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 13.9% ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกอับดับ 1 ในปี 2558 นอกจากนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA ฟื้นตัวตามราคาน้ำมัน  ประกอบกับมาตรการการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย(IUU fishing) ของไทยก็ก้าวหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าขึ้นตามลำดับ จะมีส่วนช่วยให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าประมง

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ก็มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการที่ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายของผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ จะทำให้ตัวแปรเศรษฐกิจผันผวนและความเสี่ยงจากการเกิดสงครามการค้า เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวล่าช้าจากปัญหาในภาคธนาคาร และความกังวลเรื่องเสถียรภาพอียูหลังเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในหลายประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และอิตาลี ส่วนเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหลังจาก OPEC และชาตินอกกลุ่มเตรียมลดกำลังการผลิต ความผันผวนของค่าเงินและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับยูโรและเยน เป็นต้น

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: