ที่มาภาพประกอบ: maxpixel (CC0)
เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ 12,000 – 15,000 ล้านบาท
แม้ตัวเลขการสำรวจผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยของหลาย ๆ สำนักยังไม่ตรงกัน แต่ก็ประมาณการกันว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากกว่า 20 ล้านคนไปแล้ว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยในปี 2555 มี 16,63,2908 คน ปี 2556 มี 18,312,405 คน ปี 2557 มี 21,729,382 คน และในปี 2558 มีถึง 24,592,299 คน ส่วนข้อมูลจากรายงาน Digital, Social and Mobile in 2015 ของ WeAreSocial ไปไกลกว่านั้น โดยระบุว่าปี 2558 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตถึง 35 ล้านรายเลยทีเดียว ซึ่งถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ 67.9 ล้านคน
ในส่วนของโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งที่คนไทยนิยมใช้อย่าง Facebook นั้น Zocialinc ได้ประเมินไว้ว่า ผู้ใช้ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ที่มีเพียง 14.5 ล้านบัญชี ( Accounts ซึ่ง 1 คนอาจจะมีบัญชี Facebook มากกว่า 1 บัญชีได้ ) เพิ่มเป็น 18 ล้านบัญชีในปี 2556 ก้าวกระโดดมาเป็น 26 ล้านบัญชีในปี 2557 และเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านบัญชี ในปี 2558 ที่ผ่านมา ส่วนมหาอำนาจทางโลกออนไลน์ที่มีรายได้จากการโฆษณาอย่าง Google ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่คนไทยนิยมใช้อย่าง YouTube ซึ่งสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มียอดผู้ใช้งาน YouTube อยู่ที่ 26.25 ล้านคน และมีวิดีโออัพโหลดขึ้นไปยังระบบ สูงถึง 3.4 ล้านวิดีโอ ยอดผู้เข้าชม (Unique Visitors) ต่อเดือน 7,822 ล้านครั้ง และจำนวนครั้งในการเข้าชมวิดีโอต่อเดือนสูงถึง 1,506 ล้านล้านครั้ง
การเพิ่มขึ้นของประชากรออนไลน์ที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญ จึงทำให้ธุรกิจโฆษณาต้องกระโดดตามมาสู่โลกออนไลน์ด้วย โดยมีประมาณการกันว่า ประเทศไทยมีเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการโฆษณาปีละกว่า 100,000 ล้านบาท และมียอดเงินค่าใช้จ่ายในการโฆษณาออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังต่างประเทศประมาณ 12,000 – 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่มีการจัดเก็บภาษี หรือยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายในส่วนนี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้บริการโฆษณาของบริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะรายใหญ่อย่าง Google และ Facebook อาจจะได้เปรียบต้นทุนในเชิงภาษีมากกว่าการใช้บริการโฆษณาภายในประเทศ
โดยปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการรายย่อยในไทย จะมีการติดต่อเพื่อลงโฆษณาและชำระเงินให้แก่ Google และ Facebook โดยตรงผ่านบัตรเครดิตซึ่งจะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนผู้ประกอบการ ห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลรายใหญ่มักจะดำเนินการ 2 แบบ ได้แก่ แบบแรก-คือมีการติดต่อเพื่อลงโฆษณาและชำระเงินค่าโฆษณาให้แก่บริษัทผู้ประกอบต่างประเทศผ่านบริษัทตัวแทนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้จะมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบที่สอง-มีการติดต่อเพื่อลงโฆษณาและชำระเงินค่าแก่บริษัทต่างประเทศโดยตรงไม่ผ่านตัวแทนบริษัท โดยมีการโดนเงินชำระผ่านไปยังต่างประเทศที่มี อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) กับประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย
แก้ไขประมวลรัษฎากร เปิดช่องเก็บภาษีค่าโฆษณาที่ใช้บริการจากต่างประเทศ
จากปัญหาที่กล่าวมา คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอว่า เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ โดยไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นธรรมและอุดช่องโหว่กฎหมายตามหลักสากล กรมสรรพากรอาจจะต้องแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวข้องบางมาตรา อาทิ มาตรา 70 โดยให้เพิ่มการจ่ายเงินค่าโฆษณาตาม มาตรา 40 (7) มาตรา 40 (8) เป็นเงินพึงได้ประเมินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศ แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย หรือ มาตรา 65 ตรี โดยกำหนดให้รายจ่ายจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศกรณีที่บริษัทต่างประเทศไม่ได้ผ่านการเก็บภาษีตาม มาตรา 70 หรือ มาตรา 76 ทวิ เป็นรายจ่ายต้องห้าม มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม มาตรา 65 ตรี
โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ ระบุว่า ซึ่งผลจากกรณีดังกล่าวจะช่วยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด โดยปัจจุบันกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20 (ณ เดือนธันวาคม 2558) ก็จะสามารถนำมาประเมินจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการใช้บริการโฆษณาจากต่างประเทศปีละประมาณ 12,000 – 15,000 ล้านบาท และหากอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตาม รวมทั้งยังเสนอว่า กรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนถูกต้องในประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลียจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้จ่ายเงินค่าโฆษณาดังกล่าวไม่สามารถนำภาษีมาซื้อเครดิตออกจากภาษีขายของตนเองได้ กรมสรรพากรควรนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ เคยมีกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้สำหรับการรับจ้างทำของในต่างประเทศ (กรณีการว่าจ้างต่อเรือในต่างประเทศของกองทัพเรือ) ไว้ว่า สัญญาจ้างต่อเรือเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ แม้จะมีลูกจ้างเข้ามาลงนามในสัญญาในประเทศไทยก็ตาม แต่โดยที่การให้บริการและผลสำเร็จของงานตามสัญญานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศทั้งหมด จึงไม่ถือว่ามีการประกอบกิจการในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศไทยนั้น กรณีดังกล่าวคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ ระบุว่าอาจจะมีข้อเท็จจริงหรือลักษณะที่แตกต่างจากกรณีที่บริษัทผู้ประกอบการของ Google และ Facebook ได้รับเงินจากการให้บริการโฆษณาสินค้าจากผู้จ่ายเงินได้ในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) เนื่องจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง
ข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ 25 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ ? อย่างไร ? ต่อไป
อ่าน 'จับตา': “ 'ค่าโฆษณา' จะหักภาษีอย่างไร "
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6003
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ