โซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ ยุค คสช.
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย โดยมีการยืนยันโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ จะเห็นผลภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่ให้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบ ระบุว่ารัฐต้องรักษาสมดุล ระหว่างการส่งเสริมพลังงานทดแทน กับภาระอัตราค่าไฟฟ้าของประชาชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ จะเป็นการนำร่องเพื่อทดสอบระบบ จำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ (และยังแบ่งเป็นภาคธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ / ที่อยู่อาศัย 10 เมกะวัตต์) โดยจะให้เป็นการใช้เพื่อประหยัดไฟในส่วนของตัวเองก่อน ยังไม่อนุญาตให้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ น่าจะดำเนินการให้เห็นผลได้ หลังจากนั้นจึงจะมีการพิจารณาว่าควรจะให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบหรือไม่
ทั้งนี้ในเดือน ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวต่อสาธารณะไว้ว่า แนวโน้มสำหรับโครงการโซลาร์รู้ฟท็อปเสรีนี้น่าจะมีการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2559 และกำหนดเงื่อนไขการผลิตไฟฟ้าในเดือน ก.ค. 2559 และคาดว่าจะเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560
หักข้อเสนอ สปช. ให้ประชาชนขายไฟ กฟผ.อย่างเสรี
จากการแถลงต่อสาธารณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงา พบว่า การดำเนินนโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีนี้กลับไม่เป็นไปตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เคยเสนอไว้ โดยหลักการสำคัญที่ สปช. เสนอคือประชาชนทั่วไปสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าบนหลังคาและขายให้กับการไฟฟ้าได้โดยเสรี (อ่านรายงานย้อนหลังของ TCIJ เพิ่มเติม : สปช. ดัน ‘โซลาร์รูฟ' หวัง 20 ปี ล้านหลังคาเรือน พลิกประเทศหรือขายฝัน? และ การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟของรัฐ)
ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันในคณะทำงานพิจารณาโครงการนี้ และทำให้การดำเนินการโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีในช่วงแรกยังไม่ให้มีการขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบนั้น คือเรื่องของอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ และเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ให้กับกระทรวงการคลังด้วย ทำให้มีขั้นตอนเรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในภาพรวมของโครงการดังกล่าวหากมีการเปิดให้มีการขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบอย่างเสรี ได้นั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ในขณะที่ผู้รับภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นคือประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการที่มีจำนวนมากกว่า
รวมทั้งข้อวิจารณ์ของโครงการนี้ในช่วงที่ สปช. ได้ผลักดันโครงการ คือค่าไฟฟ้าโดยภาพรวมจะแพงขึ้น เพราะการรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้านนี้จะต้องบวกรวมไปในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายทุกเดือน และหากมีการติดตั้งตามเป้า 100,000 - 1,000,000 ชุด นั้นก็จะมีผลกระทบต่อค่า FT ในอัตราที่สูงขึ้น รวมทั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และเมื่อครบอายุสิ้นสุดโครงการโซลาร์รูฟ 25 ปีแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดจะกลายเป็นขยะอันตรายหรือไม่ และผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควร เนื่องจากใช้เงินลงทุนหลักแสนบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มคนที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้อาจจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ไม่กระจายไปตามชนบท อาจจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานมากขึ้นไปอีก เพราะกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟได้นั้น จะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงแถมยังมีรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ขายไฟฟ้าอีก ส่วนประชาชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ติดตั้งโซลาร์รูฟจะต้องมาเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้รัฐนำเงินไปซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ
ใครได้ใครเสีย ?
นอกจากนี้ยังมีการประเมินกันว่า ผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้น่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์มากที่สุด ทั้งจากการนำเข้า การติดตั้ง รวมทั้งการบริการอื่น ๆ และยังมีการห่วงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มผู้ผลักดันนโยบายนี้ โดยในเดือน มี.ค. 2559 แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงานให้ความเห็นกับเว็บไซต์ Energy News Center : ศูนย์ข่าวพลังงาน อันเป็นกระบอกเสียงออนไลน์ของกระทรวงพลังงาน ไว้ว่า
“ผู้ที่ผลักดันให้รัฐกำหนดนโยบายเรื่องนี้ออกมานั้น มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการจำหน่ายแผงและอุปกรณ์โซลาร์เซลล์หรือไม่ และหากรัฐเร่งส่งเสริมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ใครจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ระหว่างประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ากับผู้นำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์และแผงโซลาร์เซลล์”
ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้รัฐกำหนดนโยบายเรื่องนี้ และถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจโซลาร์เซลล์ตามที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุไว้นั้น น่าจะหมายถึง ‘นายดุสิต เครืองาม’ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (สปท.) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการเสนอนโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรี เมื่อครั้งที่ยังเป็นสมาชิก สปช. นั่นเอง
โดยก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะออกมาแถลงต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมานั้น นายดุสิต ซึ่งมีบทบาททั้งเป็นสมาชิก สปท. และในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้กระทรวงพลังงานชะลอการนำเรื่องโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีนำร่อง 100 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 11 มี.ค. 2559 ออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่ให้มีการขายไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ภายในบ้านเข้าสู่ระบบในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้โครงการมีผลตอบแทนการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
ก่อนหน้านั้นนายดุสิตได้ออกมาระบุต่อสาธารณะว่าแนวทางของ สปช.ที่เสนอโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้น จะเน้นสำหรับใช้ในบ้านที่พักอาศัยและอาคารเป็นหลัก แต่ในช่วงกลางวันหรือช่วงที่ไม่อยู่บ้านนั้น จะมีกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ไหลย้อนเข้าระบบได้ ซึ่งหมายถึงมิเตอร์ไฟฟ้าจะย้อนถอยหลังเท่ากับว่าเป็นการขายไฟฟ้าเข้าระบบในราคาขายปลีก อาทิ ราคาไฟฟ้าที่รับซื้อจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ราคาไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟ ท็อปเสรีก็จะอยู่ในระดับเดียวกัน และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้า มิเตอร์ไฟฟ้าก็จะเดินหน้าตามปกติ อย่างไรก็ตามมาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรี ควรเน้นใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการของไทย 5 ราย มีกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 500 เมกะวัตต์ต่อปี โดยภาครัฐอาจใช้มาตรการด้านภาษีเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ หากเลือกใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น เพราะหากไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่เป็นที่นิยม แม้ว่าคุณภาพจะสูงกว่าก็ตาม เพราะมีราคาสูงกว่าสินค้าจากจีน
“การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรี สปช. เคยเสนอในส่วนของบ้านที่พักอาศัย 5 พันเมกะวัตต์ ใน 20 ปี หรือประมาณ 250 เมกะวัตต์ต่อปี และอาคารพาณิชย์ 1 หมื่นเมกะวัตต์ หรือ 500 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งกระทรวงพลังงานนำร่อง 100 เมกะวัตต์เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้โซลาร์รูฟท็อปเสรียังไม่ต้องให้รัฐแบกรับภาระซื้อไฟฟ้าเหมือนกับโซลาร์รูฟท็อปที่เคยเปิดไปก่อนหน้านี้ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย แต่ในช่วงที่ไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตตอนกลางวันจะต้องไหลเข้าระบบได้ ดังนั้นกระทรวงพลังงานควรสื่อสารประชาชนให้เข้าใจ แต่ยอมรับว่าในส่วนของมิเตอร์ไฟฟ้าในช่วงสิ้นเดือนหากตัวเลขน้อยกว่าเดือนก่อน รัฐไม่ต้องจ่ายเงินคืน” นายดุสิตกล่าวไว้กับสื่อ (อ่านเพิ่มเติม: กบง.มั่วมติโซลาร์รูฟท็อปเสรี ‘ดุสิต’จี้ให้แก้ขายไฟเข้าระบบได้ ไม่ใช่ติดตั้งใช้เอง)
อนึ่ง ในสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ไม่มีการระบุถึงโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีนำร่อง 100 เมกะวัตต์นี้แต่อย่างใด (อ่านเพิ่มเติม: รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) - วันพุธที่ 11 มีนาคม 2559 )
'ดุสิต เครืองาม' สปท. ด้านพลังงาน (และอดีต สปช.) ตัวแทน ‘กลุ่มธุรกิจโซลาร์เซลล์’
นายดุสิต เครืองาม สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (สปท.) ด้านพลังงาน และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน และและนายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (ดูรายชื่อภาคธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้ที่: รายชื่อสมาชิกสมาคม TPVA) ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งมีนายดุสิตเป็นผู้ก่อตั้งและบริหาร ระบุว่าศาสตราจารย์ ดร. ดุสิต เครืองาม อดีตศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ อดีตที่ปรึกษานโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ชำนาญการของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ผลักดันให้เกิดมาตรการรับซื้อไฟฟ้าราคาพิเศษจากโซลาร์ทั้งกรณี Adder และ Feed In Tariff. ทั้งนี้นายดุสิต เป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทยและของโลก (เป็นนักวิจัย Generation แรกของโลกที่ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอนตั้งแต่ ปี 2526 และขณะที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโฮซาก้า ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิคอนประสิทธิภาพสูงสุด ในโลก 12% ปี 2531 สถิติขณะนั้น บุกเบิกการวิจัยเทคโนโลยีผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิคอนที่จุฬาฯ ปี 2531 จนได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติหลายครั้ง) โดยนายดุสิตมีประสบการณ์ในวงการโซลาร์เซลล์มากกว่า 25 ปี มีผลงานออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์มาแล้วกว่า 40 เมกะวัตต์ ผลงานสำคัญ บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำธุรกิจให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน ตอบสนองตามนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนของผลงานการออกแบบและติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด มีผลงานโซลาร์รูฟมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการติดตั้งบนหลังบ้าน หลังคาอาคารพาณิชย์ หลังคาโรงงานอุตสาหกรรม หลังคาอาคารราชการ โรงจอดรถ ฯลฯ รวมจำนวนมากกว่า 100 ระบบ เช่น Khon Ken University (62 kWp) PTT PCL. (OBA Center, Ayudthaya) 200 kWp Pee Nang Ratten Partner Ltd. (150 kWp) Nam Yong Industry Co., Ltd. (250 kWp) IKEA, Mega Bangna กรุงเทพฯ 240 kWp Central World กรุงเทพฯ 123 kWp TESCO LOTUS บางพระ ศรีราชา ชลบุรี 330 kWp Sharp Appliances (Thailand) 64 kWp มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ 11 kWp มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เชียงใหม่ 11 kWp โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านอาศัยกว่า 200 ชุด ฯลฯ สำหรับโซลาร์ฟาร์ม ได้มีผลงาน EPC หลายโครงการ ได้แก่ 1) โซลาร์ฟาร์มขนาด 0.63 MWP ของ บมจ. เอกรัฐวิศวกรรม จ. ปราจีนบุรี เริ่มขายไฟฟ้าต้นปี 2553 2) โซลาร์ฟาร์มขนาด 1.65 MWP ของ บริษัท โซลาร์พาร์ค จำกัด จ. ลพบุรี เริ่มขายไฟฟ้าปี 2554 3) โซลาร์ฟาร์มขนาด 1 MWP ของบริษัท เชียงรายนอร์ทวู๊ด จำกัด จ. ลำปาง เริ่มขายไฟฟ้าแล้วปี 2555 4) โซลาร์ฟาร์มขนาด 5.7 MW ของกลุ่มบริษัทไทยโซลาร์แพลนท์ จ. สระบุรี เริ่มขายไฟฟ้าแล้วปี 2555 5) โซลาร์ฟาร์มขนาด 1.1 MWp ของบริษัท พีพีโซลาร์เพาเวอร์ จำกัด จ. หนองคาย เริ่มขายไฟฟ้าแล้ว 2556 และส่วนขยายอีก 0.2 MWp 6) โซลาร์ฟาร์มขนาด 10 MWp สุโขทัย เริ่มขายไฟฟ้า 2556 7) โซลาร์ฟาร์มขนาด 10 MWp ตาก เริ่มขายไฟฟ้า 2556 อนึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าบริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105552116401 ดำเนินธุรกิจการผลิตและประกอบเซลล์แสงอาทิตย์และแผงแสงอาทิตย์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท ในปี 2556 บริษัทมีกำไรสุทธิ 284,384.31 บาท ปี 2557 บริษัทขาดทุน 6,396,071.29 บาท ส่วนในปี 2558 ยังไม่มีข้อมูล |
โซลาร์รูฟท็อปเสรี ไปต่อยังไงดี ?
หลังการออกมาระบุว่า ยังไม่อนุญาตให้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความปั่นป่วนในวงการธุรกิจโซลาร์เซลล์พอสมควร เพราะการขายไฟเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าถือว่าเป็นสิ่งจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนี้ แต่ถ้าหากเป็นการติดตั้งเพื่อประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียวนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่น่าที่จะลงทุน เนื่องจากค่าไฟฟ้าในบ้านเรายังไม่สูงนัก หากนำมาเทียบกับการลงทุนในการติดโซลาร์รูฟท็อป
ทั้งนี้จากนโยบายโซลาร์รูฟท็อปเดิมที่ สปช. พยายามผลักดันกำหนดให้ประชาชนที่ติดตั้งฯ สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ต้องใช้เงินลงทุน 160,000 - 740,000 บาท ตามขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ และก็ยังต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนหลายปีพอสมควร โดยหากลงทุนขั้นต่ำ 160,000 บาทนั้น จะใช้เวลาคืนทุนถึง 10 ปีทีเดียว แต่นโยบายล่าสุดของกระทรวงพลังงานที่จะไม่ให้มีการจำหน่ายเข้าระบบสายส่ง ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานจึงมองว่า ไม่มีแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาติดโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากค่าไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นถือว่ายังมีราคาต่ำอยู่
แต่กระนั้น ก็ต้องจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าจะนำวาระนโยบายโซลาร์รูฟท็อปนี้เข้าพิจารณาและได้ข้อสรุปเช่นใดในเรื่องของการสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น แหล่งเงินกู้ มาตรการด้านภาษี และมาตรการอุดหนุนและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงยังต้องลุ้นกันว่าผู้ที่สมัครเข้า โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาประเภทบ้านอยู่อาศัย พ.ศ. 2558 หรือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา -Solar PV Rooftop ไปแล้ว จะถูกลอยแพหรือไม่ (ดูรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการของ กฟภ.)
และนี่คืออาการล้มลุกคลุกคลานของนโยบายพลังงานทางเลือกในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ