'ค่าโฆษณา' จะหักภาษีอย่างไร

ทีมข่าว TCIJ : 17 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 33780 ครั้ง


เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ว่า หากผู้จ่ายเงินเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 2% แล้วนำส่งกรมสรรพากร แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เป็นประจำในแวดวงธุรกรรมสื่อโฆษณา  ก่อนการออกกฎหมายเก็บภาษี ‘ค่าโฆษณาสื่อออนไลน์ ‘  เรามาดูว่าเขามีหลักเกณฑ์เงื่อนไขการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในวงการสื่อโฆษณากันอย่างไร ?

1. ลักษณะการดำเนินธุรกิจโฆษณา

เมื่อลูกค้าต้องการโฆษณาสินค้าของตนตามสื่อโฆษณาต่าง ๆ ลูกค้าจะติดต่อเพื่อแจ้งความประสงค์ดังกล่าว และแต่งตั้งบริษัทผู้รับโฆษณาให้เป็นตัวแทนของลูกค้า (Advertising  Agency หรือที่มักเรียกกันสั้นๆว่า เอเยนซี่) เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมตัวอย่างที่แนบไปเพื่อประกอบการพิจารณา  บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนจะทำตารางแผนงานโฆษณาในรายการและเวลาที่เหมาะสมในสื่อโฆษณาต่าง ๆ  พร้อมทั้งแสดงจำนวนค่าสื่อโฆษณาเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากลูกค้า เมื่อลูกค้าให้ความเห็นชอบโดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อร่วมกันแล้ว บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนจึงไปติดต่อสื่อโฆษณาต่าง ๆ ตามตารางแผนงานนั้น และทดรองจ่ายค่าสื่อโฆษณาดังกล่าวแทนลูกค้าไปก่อน ในกรณีที่สื่อโฆษณาไม่สามารถรับโฆษณาได้ เนื่องจากรายการและเวลาที่จองไปนั้นได้ขายให้กับผู้อื่นไปแล้ว บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนก็จะแจ้งให้ลูกค้าทราบและเสนอรายการและเวลาโฆษณาอื่นแทนรายการและเวลาเดิม  หากลูกค้าไม่เห็นชอบด้วยก็จะไม่มีการโฆษณาสินค้าชนิดนั้น

การที่บริษัทผู้รับโฆษณามิได้ทำการซื้อเวลาจากสื่อโฆษณาไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากการซื้อสื่อโฆษณาล่วงหน้ามีต้นทุนสูงมาก หากบริษัทผู้รับโฆษณาไม่สามารถหาลูกค้าได้เพียงพอสำหรับรายการและเวลาดังกล่าว ก็จะเกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินสูงมาก  ทำให้ธุรกิจโฆษณามีความเสี่ยงสูง โดยทั่วไป บริษัทโฆษณาจะมีกำไรร้อยละ 17.65 ของค่าสื่อโฆษณาเท่านั้น  และเมื่อบริษัทผู้รับโฆษณาชำระค่าสื่อโฆษณา ก็จะต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 2% ของค่าสื่อโฆษณา และนำส่งกรมสรรพากรทุกครั้งที่มีการชำระเงินดังกล่าว

2. วิธีปฏิบัติของสื่อโฆษณากับบริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนในการออกใบแจ้งหนี้

กรณีบริษัทสื่อโฆษณาออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินจากบริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนนั้น  บริษัทสื่อโฆษณาจะสรุปค่าสื่อโฆษณาของลูกค้าแต่ละรายของบริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทน เช่น คอลเกต พอนด์ โคคา-โคล่า ในเดือนนั้น ๆ เมื่อบริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ลูกค้าแต่ละราย  ก็จะสรุปค่าโฆษณาของลูกค้านั้นตามใบแจ้งหนี้ของบริษัทสื่อโฆษณาต่าง ๆ ไว้ในใบแจ้งหนี้ดังกล่าว พร้อมกับมีรายละเอียดของบริษัทสื่อโฆษณาแนบไปด้วยและเรียกเก็บค่าบริการ 17.65% ของค่าสื่อโฆษณานั้นควบคู่กันไปทุกครั้ง  สำหรับตัวเลขค่าสื่อโฆษณาข้างต้นสามารถสอบยันกันได้ว่าจำนวนเงินที่บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนเรียกชำระคืนจากลูกค้าจะเท่ากับจำนวนเงินที่ได้ทดรองจ่ายค่าสื่อโฆษณาไปแล้ว

3. แนวปฏิบัติ

ลูกค้าที่ต้องการโฆษณาสินค้าของตนตามสื่อโฆษณาต่าง ๆ โดยผ่านบริษัทผู้รับโฆษณานั้น ลูกค้าและบริษัทผู้รับโฆษณาได้ปฏิบัติดังนี้

(ก) ลูกค้าได้ทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนโฆษณากับบริษัทผู้รับโฆษณาให้เป็นตัวแทนของลูกค้า เพื่อให้บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนมีอำนาจดำเนินการสั่งลงโฆษณาหรือสั่งซื้อสื่อโฆษณาแทนลูกค้าตัวการ

(ข) บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนต้องออกใบแจ้งหนี้ ใบรับเงิน และใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าตัวการ โดยแยกค่าบริการและค่าสื่อโฆษณาออกจากกันอย่างชัดแจ้ง

(ค) ค่าสื่อโฆษณาของลูกค้าตัวการตาม (ข) ต้องสามารถสอบยันได้กับค่าสื่อโฆษณาของบริษัทผู้ขายสื่อโฆษณาที่เรียกเก็บจากบริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทน

เมื่อลูกค้าตัวการได้จ่ายเงินค่าสื่อโฆษณาในกรณีนี้ ให้กับบริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนเพื่อนำไปจ่ายค่าสื่อโฆษณาดังกล่าว ลูกค้าตัวการผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 2% สำหรับค่าสื่อโฆษณาตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่บริษัทผู้รับโฆษณาตัวแทนเมื่อจ่ายค่าสื่อโฆษณาไปให้กับผู้ขายสื่อโฆษณาที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 2% ของค่าสื่อโฆษณานั้น ส่วนลูกค้าตัวการจ่ายเงินค่าบริการให้กับบริษัทผู้รับโฆษณา ยังคงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 2% ของค่าบริการตามคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว

ดังนั้นการจ่ายเงินค่าโฆษณาจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า จ่ายให้การสื่อโฆษณาโดยตรง หรือจ่ายผ่านตัวแทนสื่อโฆษณา หากจ่ายให้กับสื่อโดยตรงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หากจ่ายผ่านตัวแทนสื่อโฆษณาไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ยกเว้นค่าบริการของตัวแทนซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%

ที่มา : บริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: