พุทธไทย ควรออกพรรษา (รัฐ) ก่อนจะเข้าพรรษา (พระ)

สมคิด แสงจันทร์ : 18 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2118 ครั้ง


อันที่จริงการเข้าพรรษากลายเป็นแค่ประเพณีและพิธีกรรม กิจกรรมเท่านั้น ในทางปฏิบัติจะเข้าจะออกก็แทบไม่ต่างกันในชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ แต่ก็จำเป็นต้องรักษารูปแบบไว้ เพราะเป็นกฎหมายที่ตราไว้ในวินัย  และเป็นช่วงเทศกาลที่จะจัดงานเพื่อระดมทุนเข้าวัดได้มาก พระสงฆ์ไทยส่วนมาก 99.99 % (ไม่เหมือนประชาธิปไตย 99.99 % นะจ๊ะ)ในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องเดิน(เท้า)ทางไปไหนมาไหนเหมือนสมัยพุทธกาล อยู่แต่ในวัดทั้งปีไม่ได้เดินทางข้ามเขาลงห้วย บุกป่าฝ่าดงไปไหนให้ลำบากหน้าแข้งเลย (นอกเสียจากพระเซเล็ปที่ตารางงานยุ่งตลอดปี ต้องเดินทางไปโน่น ไปนี่ตลอด) ไม่มีนาข้าวให้เหยียบย่ำเหมือนสมัยพุทธกาล (เพราะชาวบ้านถูกห้ามไม่ให้ทำนาแล้ว) ไม่จำต้องไปจาริกเพื่อแสดงธรรมให้กับใครที่ไหนไกล ๆ โยมก็แห่แหนมาฟังธรรมในวัดกันล้นหลาม (ประชด) ครั้นจะเดินทางเข้าป่า ก็เกรงจะถูกจับถูกไล่ออกจากป่าเหมือนหลวงตาตามหน้าหนังสือพิมพ์ พอเดินป่าไม่ได้ ก็เลยต้องกว้านซื้อป่ามาเป็นของตัวเองซะเลย 300 กว่าไร่ เอามาปลูกป่าไว้เดินป่ามันซะเลย

แต่ผมอยากจะเสนอว่ามีพรรษาอีกรูปแบบหนึ่งที่คณะสงฆ์ไทยเข้าไปแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะออกได้ ซ้ำทำท่าว่าจะพากันลงเหวไม่เป็นท่า ก็คือ การปวารณาเข้าพรรษากับ(อำนาจ)รัฐ  พรรษาในอำนาจรัฐกินเวลายาวนานมากว่าร้อยปี นับแต่การก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาของรัฐชาติ ทุกคนในชาติจำต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐไม่เว้นแม้กระทั้งนักบวช จะมาทำตัวเป็นผู้ทรงศีลมีสาวกเยอะไม่ได้ อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง การปฏิรูปคณะสงฆ์จึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการปฏิรูปประเทศ องค์กรทางการปกครองของคณะสงฆ์จึงถูกตั้งขึ้นและอยู่ในการกำกับดูแลของอำนาจรัฐ มีหน้าที่คอยเป็นหูเป็นตาให้รัฐ  

รัฐให้การปกครองพุทธศาสนาแบบยื่นหมูยื่นแมว สร้างพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาหลักของชาติบวกกับการอุปถัมภ์ค้ำจุน ลาภสักการะ และอำนาจในการปกครองแก่คณะสงฆ์นิดหน่อย แลกกับการที่พระพุทธศาสนาต้องยอมอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ พุทธศาสนาของรัฐต้องมีหนึ่งเดียว อำนาจรัฐกระทำการผ่านอำนาจสงฆ์เพื่อควบคุมสงฆ์อีกที  พุทธไทยก็เลยดีใจว่า สถาบันศาสนาของเราจะอยู่รอดปลอดภัยภายใต้อำนาจรัฐเป็นแน่แท้ (ฮึ ฮึ) โดยที่ไม่รู้เลยว่าได้กลายเป็นเครื่องมือสุดวิเศษของรัฐไปเรียบร้อยแล้ว

การปวารณาเข้าพรรษากับอำนาจรัฐ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาในไทยกลายเป็นศาสนา(เครื่องมือ)ประจำชาติ ในการกล่อมเกลาประชาชนให้นอบน้อมต่อ เบญจรัตนะ (พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์) จำลองรูปแบบการปกครองของรัฐเข้ามาใช้ในวัด ยศบรรดาศักดิ์ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาต ก็เพิ่งอนุญาตให้มีได้ในช่วงเข้าพรรษากับอำนาจรัฐนี่เอง  

หลังการเข้าพรรษากับรัฐได้ไม่นาน อำนาจรัฐก็เผยกายเข้ามาสถาปนาตีคู่มากับอำนาจพระธรรมวินัย รัฐมองว่าพระธรรมวินัยบางอย่างช่างควบคุมได้ยากเหลือเกิน และไม่เป็นผลดีต่อการปกครองของรัฐ ดังนั้นในสายตาของรัฐแล้ว ศาสนา หรือนักบวช ไม่ใช่ผู้วิเศษกว่าคนอื่นแต่อย่างใด อำนาจรัฐไม่สถาปนาให้อำนาจอื่นมามีบทบาทมากกว่าตนเอง  และจำเป็นอยู่นั่นเองที่รัฐจะต้องควบคุมศาสนาให้ได้ อำนาจของรัฐ กับ แต่ช่วงแรก เหยื่อล่อของรัฐนั้นมันหอมหวาน จนติดงอมแงม (ในขณะที่ไม่กินก็ไม่ได้ เพราะเขาบังคับให้ต้องทำตาม) คณะสงฆ์ไทยจึงกลายเป็น ปสุ ของรัฐ ที่รัฐต้องคอยป้อนข้าวป้อนน้ำให้ จนร่างกายอ้วนถ้วนไม่มีเรี่ยวแรงจะหนีได้ รัฐจะบีบก็ตาย จะคายก็รอด

แต่เดิมพระสงฆ์จะบวชกับใครก็ได้ ถ้าท่านผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ แต่รัฐไม่เห็นด้วย การจะอนุญาตให้ใครเป็นใหญ่ในการบวชต้องได้รับการเห็นชอบจากอำนาจรัฐเสียก่อน โดยการให้คณะสงฆ์ออกกฎหมายเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้คนอื่นได้ต้องผ่านพิธีกรรมของรัฐผ่านรูปแบบการฝึกอบรมพระอุปัชฌาย์เสียและต้องได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจรัฐเสียก่อน จึงจะบวชให้คนอื่นได้ 

แต่เดิมพระสงฆ์ไม่เป็นคนของใคร ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเชื้อชาติ เป็นคนของพระพุทธเจ้า แต่อำนาจรัฐบอกว่า ไม่ได้ เมื่ออยู่ภายใต้อำนาจรัฐก็ต้องเป็นคนของรัฐ พระสงฆ์จึงต้องมีการยืนยันตัวเอง การบวชหรือการเป็นพระจะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้ หากไม่มีหนังสือสุทธิ (บัตรประจำตัวพระ) เหมือนประชาชนทั่วไป จะเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ก็ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้ยืนยัน ใครจะเป็นพระที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐว่าจะยอมรับหรือไม่ ทำให้คนไร้สัญชาติเมื่อมาบวชในประเทศไทยก็เป็นเพียงพระครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ไม่ได้สิทธิทางการศึกษา และสวัสดิการจากรัฐ ตัวตนของพระจึงไม่ได้สร้างขึ้นจากธรรมวินัยอย่างเดียว แต่สร้างขึ้นจากอำนาจรัฐด้วย

แต่เดิมพระสงฆ์คือผู้มีหน้าแข้งเป็นที่ไปเบื้องหน้า คือเป็นนักจาริก นักท่องเที่ยว เป็นคนพเนจร พระพุทธเจ้าไม่เห็นชอบที่จะให้สาวกของพระองค์พักอยู่ที่ไหนนานแรมปี เพราะจะสั่งสมกิเลสได้ แต่รัฐเห็นว่า การเดินทางไปไหนมาไหนต้องได้รับอนุญาตจากรัฐเสียก่อน เพราะรัฐเป็นเจ้าของ รัฐบออกว่าพระสงฆ์ต้องอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง มีวัดที่ต้องอยู่ประจำ ป่าไม่ใช่ที่อยู่ของพระอีกต่อไป การบุกรุกป่าเป็นความผิดร้ายแรง รัฐลงทุนสร้างวัดสวย ๆ ใหญ่โต ให้พระอยู่ เพื่อจะได้ไม่อยากเข้าป่า

แต่เดิมพระจะใช้สอยเงินทองไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสหนา แต่รัฐบอกว่า ใช้ๆ ไปเถอะ ถ้าไม่ใช้ก็ลำบากรัฐจะต้องมาคอยดูแลโน่น ดูแลนี่ให้อีก ดูแลตัวเองบ้าง ก็เป็นอันว่าพระสงฆ์ได้รับอนุญาตจากรัฐแล้วในการใช้เงินโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากพระพุทธเจ้าและไม่สามารถตีความพระธรรมข้อไหนให้ยอมรับกฎนี้ได้ (ต่างจากเรื่องอื่น ที่พระทำได้ มีพุทธวจนะรองรับ ตีความหลักธรรมเข้าได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ทำ ไม่อยากจะบอก ไปดูเรื่องการบวชภิกษุณีเอาเอง) แต่จะไม่ใช้ก็กระไรอยู่  เพราะรัฐไม่มีสวัสดิการให้ จะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถโดยสารก็ต้องขอเขาเอาเอง จะเรียนหนังสือ ก็ต้องจ่าย ค่าน้ำค่าไฟวัดก็ต้องจ่าย ทำไงได้ละ

ด้านการศึกษานั้นพระจะเรียนแต่ธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวไม่ได้ นั่นไม่ได้ช่วยให้รัฐมั่นคง รัฐจึงสอดไส้ค่านิยมของรัฐ และแนวคิดชาตินิยมลงไปในหลักสูตรการศึกษาของพระเณรด้วย (ไปหาดูหลักสูตรของ เปรียญ 8-9 ดูได้) เพื่อให้จบมาแล้วจะได้ไม่ดื้อไม่ซน รัฐถือประโยชน์ของรัฐ เป็นมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่มรรคผลนิพพานตามศาสนา 

สรุปก็คือพุทธศาสนาไทยสูญเสียอิสระในทุก ๆ ด้าน ในที่สุดแล้วการตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาไทยก็เป็นไปเพื่อรัฐ และสถาบันหลักของชาติมากกว่าการตีความเพื่อประโยชน์สุขของเวไนยสัตว์ ต่างจากครั้งที่พระพุทธเจ้าส่งสาวกจำนวน 60 รูปแรกไปประกาศพระศาสนา ท่านเน้นย้ำว่า “จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน และอนุเคราะห์ชาวโลกเถิด” (จรถ ภิกขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย) ไม่ใช่เพื่อรัฐ หรือเพื่ออำนาจใดอำนาจหนึ่ง เมื่อถูกป้อนข้าวป้อนน้ำจนเชื่องแล้วสุดท้ายพระสงฆ์ไทยก็หลงลืมภารกิจเพื่อปวงประชาของพุทธเจ้า ไม่สนใจสุขทุกข์ของชาวบ้าน ไม่ขวนขวายเพื่อจะร่วมสุขร่วมทุกข์กับชาวบ้าน  ตีตนออกห่าง ยกตนให้สูงกว่าชาวบ้านผู้ให้ข้าวให้น้ำ(เพียงน้อยนิด ไม่มากมายเหมือนข้าวน้ำของรัฐ) อิสรภาพที่เคยมีก็ถูกแทรกแซง กุมขัง ไว้ภายใต้บงการของรัฐ

กาลยาวนานผ่านมานับร้อยปีแล้วภิกษุทั้งหลาย พรรษานี้ของรัฐช่างยาวนานเหลือเกิน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นเครื่องมือของรัฐเสียแล้ว กลายเป็นลูกไล่ของรัฐเสียแล้ว ไม่มีกำลังจะฮึดฮัดเสียแล้ว พระระดับสูงก็มัวเมาลาภยศตำแหน่ง เป็นข้าราชการของรัฐไปเสียสิ้น สะสมกำลังทรัพย์ทั้งที่ดิน ทั้งรถหรู บ้านแพง กันเป็นว่าเล่น ทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่รังแกได้ก็แต่พระเณรตัวเล็ก หลวงตาแก่ ๆ เฝ้าวัด แต่ไม่สามารถทำอะไรพระเซเล็ปดัง ๆ ได้  ออกกฎนั่นนี่มาห้ามปรามพระเล็ก ๆ แต่พระโต ๆ ทำได้หมดไม่ผิด เดือดร้อนก็แต่ลูกพระลูกเณรที่ต้องศูนย์เสีย มรรคผลของการบวชไป

เมื่อรัฐเริ่มเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงของตัวเองว่า รัฐ ไม่ใช่ศาสนิกของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ศาสนาไหนเป็นเครื่องมือของรัฐได้ รัฐได้ประโยชน์รัฐก็เข้าไปอุ้มศาสนานั้นไว้ ดังนั้นการจะเรียกร้องให้รัฐมาเข้าข้างศาสนาพุทธ จึงดูเป็นวิธีคิดที่แย่มาก พุทธศาสนาในกำกับของรัฐในทุกวันนี้ ไม่สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวของประชาชนได้เหมือนเช่นก่อน ก็ไม่มีประโยชน์อะไรในการที่รัฐจะต้องลงทุนในการพัฒนาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ที่เหลือก็แค่ชื่อของสถาบันศาสนาเท่านั้น ที่รัฐยังเอามาใช้เล่นเกมการเมืองได้  ส่วนข้าราชการของรัฐในคราบนักบวช ก็กำลังกระเสือกกระสนร้อนรนใจ ที่นับวันจะถูกเมินเฉยจากเจ้านาย ความนับถือ เชื่อถือที่เคยมีให้ ก็ไม่มี ปากเสียงที่เคยมีก็ไม่มี เมื่อเห็นท่ารัฐจะวางเฉย เกรงผลประโยชน์ของศาสนาจะเสียหาย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

คณะสงฆ์เพิ่งได้ลิ้มรสความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากรัฐ ก็ปีนี้เอง แม้จะพยายามต่อรอง ต่อต้าน หรือแม้แต่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐให้ได้โดยการพยายามขอให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่รัฐไม่เอาด้วย เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน แม้จะชูประเด็นเรื่องภัยพระพุทธศาสนา เพื่อให้มีน้ำหนัก แต่ภัยพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นภัยของรัฐซะที่ไหน (จะตาสว่างสักทีไหม) ศาสนาพุทธกำลังถูกรัฐเมินเฉย เป็นอ้อยที่ถูกเคี้ยวน้ำหวานจนเหลือแต่ซาก ปราศจากรสหวาน รสหวานที่เหลืออยู่ คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของ ป้าไม้ ที่ดิน ก็กำลังถูกรัฐเรียกเก็บคืนทีละเล็ก ทีละน้อย (เดี๋ยวก็หมด) อำนาจที่เคยมีแม้แต่ในวัดของตัวเองก็หมดความชอบธรรม เงินสนับสนุนจากภาครัฐก็ถูกนำไปใช้อย่างกระจุกในเมืองใหญ่ ๆ ไม่ได้นำมาดูแลสวัสดิการของพระหนุ่มเณรน้อยอย่างทั่วถึง ปล่อยปละละเลย เมื่อมีข่าวเสียหายทีหนึ่ง ก็ออกมาว่ากล่าวทีหนึ่ง พระชั้นฐานันดรต่างอยู่สุขสบาย มีอาหารอร่อย ๆ ให้ฉันทุกมื้อ แต่พระชั้นล่างปากกัดตีนถีบ ถูกทอดทิ้งไม่เหลียวแล กลายเป็นความพิกลพิการทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทยไป มาบัดนี้เมื่อรัฐมีทีท่าว่าจะสะบัดหน้าหนี ไม่คอยป้อนข้าวน้ำ เอาอกเอาใจเหมือนที่ผ่านมา คณะสงฆ์ก็หมดที่พึ่งพิง กระเสือกกระสนดิ้นรนเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ แต่ก็ไม่เป็นผล

ครั้นจะหันไปหาประชาชนให้หันมาสนใจศาสนาบ้าง ให้ออกมาเรียกร้องผลประโยชน์ของศาสนาจากรัฐบ้าง ก็ไม่มีใครสนใจ มีแต่คนเหลือกตามองบน พอชาวบ้านไม่ออกมาช่วยก็หาว่า ไม่รักศาสนา ไม่ห่วงใยความอยู่รอดของพระศาสนา ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านเองแต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยสนใจความทุกข์ยากของพวกเขามาก่อน ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ คณะสงฆ์ไม่เคยใยดี (มีเพียงน้อยนิด แต่เป็นเพียงพระธรรมดาสามัญที่รู้สึกรู้หนาวไปกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน) ชาวบ้านจะถูกลิดรอนสิทธิที่ดินทำกิน จะถูกนโยบายรัฐเอาเปรียบ พระสงฆ์ไม่เคยปริปากออกมาเข้าข้างชาวบ้านเลย มิหนำซ้ำบางครั้งยังเป็นปากเป็นเสียงให้รัฐ รองรับความชอบธรรมให้รัฐละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างโจ่งแจ้ง (ไม่อยากจะบอกว่าเรื่องอะไรบ้าง ไปดูเรื่อง ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป, ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน เอาเองละกัน) และเมื่อชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ ก็โยนให้เป็นความผิดของเวรของกรรม ให้วางเฉย ให้ปล่อยวาง ให้คิดซะว่าชดใช้กรรมเก่า ในวันนี้ที่รัฐไม่เหลียวแลคณะสงฆ์บ้าง ชาวบ้านก็ได้แต่บอกว่าเป็นเวรเป็นกรรมของท่านแล้วหละ (ในกรณีนี้อาจจะยกเว้นพระพยอม กลฺยาโณ และพระนักพัฒนาตามชนบทไว้)

ยังไม่สายที่คณะสงฆ์จะหาญกล้าปวารณาตัวออกจากรัฐ (ผมกำลังฝันอยู่) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะเกิดอะไรขึ้น คณะสงฆ์ก็ต้องกลับมาง้อชาวบ้าน และหันมาร่วมสุขร่วมทุกข์กับชาวบ้าน เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน เป็นกำลังหนุนให้ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็จะปกป้องศาสนาเช่นกัน กลับมาเถอะชาวบ้านไม่โกรธหรอก

หากคณะสงฆ์ออกจากรัฐได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาภัยพระศาสนาที่ชาวพุทธชอบอ้างว่า ศาสนาอื่นจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองแล้วกินรวบศาสนาพุทธ เพราะถ้าพุทธไม่อิงกับรัฐ ก็สามารถเรียกร้องให้ศาสนาอื่น ๆ ไม่อิงกับรัฐได้เช่นกัน ถ้าว่าตามตรงเขาก็ได้รูปแบบมาจากพุทธไทยนั่นแหละเรื่องการอาศัยอำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงให้ศาสนาของตัวเอง  ถ้าทุกศาสนาออกพรรษาจากรัฐได้ (ฝันยังไม่ตื่น)ก็สามารถที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะลำบากเหมือนชาวบ้านบ้าง รู้จักคิดหรือนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ เพื่อการอยู่รอดของตัวเอง ผนึกกำลังกับชาวบ้านเพื่อควบคุมอำนาจรัฐ

แต่ถ้ายังดึงดันจะเข้าพรรษากับรัฐก็ไป ก็อาจจะต้องร้องเพลง “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไป ก็ไปไม่ถึง เหมือนมีอะไรฉุดดึง”  แทนบทสวดทำวัดเย็นในคราวเข้าพรรษานี้ มาเถิด ๆ ออกจากพรรษาของรัฐแล้วมาเข้าพรรษากับพุทธบริษัท ชาวบ้านอย่างเรา ๆ เถอะ รับรองไม่ทิ้งกัน ... 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: