7 องค์กรสิทธิ ซึ่งทำงานเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย ได้แก่ Asylum Access, Asia Pacific Refugee Rights Network, Fortify Rights, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), Jesuit Refugee Service, คณะทำงานประชากรแรงงานข้ามชาติ (MWG) และมูลนิธิศักยภาพชุมชน ทำรายงานต่อองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ไทยยอมรับสิทธิของผู้ลี้ภัย
18 มี.ค. 2559 รัฐบาลไทยควรแสดงพันธกิจที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้ลี้ภัย และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review - UPR) ซึ่งจะมีขึ้นในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานสิทธิมนุษยชนแปดแห่งแถลงเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา
ในวันนี้ หน่วยงานดังกล่าวเผยแพร่รายงานที่จัดทำร่วม เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) โดยในรายงานกล่าวถึงการปฏิบัติของประเทศไทยต่อผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้ลี้ภัย และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา เน้นให้เห็นการปฏิบัติมิชอบในหลายกรณีและการเพิกเฉยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีข้อเสนอ 22 ข้อต่อรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยในประเทศ ให้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น
ข้อเสนอหลักต่อประเทศไทยรวมถึงการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย สามารถเข้าถึงขั้นตอนการขอที่พักพิงอย่างเป็นธรรมและเข้มแข็ง การคุ้มครองด้านกฎหมาย และการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 นับแต่ปี 2554 ประเทศไทยได้ดำเนินการอันส่งผลให้ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยอย่างน้อยหลายหมื่นคนจากพม่าในที่พักพิงต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงขั้นตอนการขอที่พักพิงได้อย่างเป็นผล ประเทศไทยยังคงควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยโดยพลการต่อไป
“ประเทศไทยมีโอกาสแสดงพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน และการปรับปรุงภาพลักษณ์ระหว่างประเทศ ด้วยการประกันให้ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการคุ้มครองด้านกฎหมาย” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร Fortify Rights กล่าว “องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยลดการปฏิบัติมิชอบ การแสวงหาประโยชน์และการค้ามนุษย์ในบรรดาประชากรพลัดถิ่นในไทย คือการยอมรับสถานะและการคุ้มครองพวกเขา”
ในเดือนพฤษภาคม 2556 ประเทศไทยจะเข้าสู่การทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (UPR) ครั้งที่สอง โดยที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะพิจารณาข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของภาคีสมาชิกประเทศต่าง ๆ ทุกสี่ปี การทบทวนกรณีประเทศไทยมีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554
ประเทศไทยเป็นที่อยู่ของผู้เข้าเมือง 3.7 ล้านคน รวมทั้งผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยประมาณ 130,000 คน แม้ว่าไทยจะรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากพม่าตามพรมแดนไทย-พม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และไม่มีกฎหมายในประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศไทยจึงปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย เหมือนเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเข้าเมือง เป็นเหตุให้มีการควบคุมตัวและส่งกลับบุคคล ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกปฏิบัติมิชอบ ถูกแสวงหาประโยชน์และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
“ในขณะที่รัฐบาลไทยแสดงพันธกิจที่จะยุติการควบคุมตัวเด็กที่เข้าเมือง แต่ในทางปฏิบัติ เหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดขึ้นต่อไป “จูเลีย เมเยอร์โฮเฟอร์ (Julia Mayerhofer) ผู้อำนวยการบริหารชั่วคราวเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Refugee Rights Network) กล่าว “ไม่ควรมีการควบคุมตัวเด็ก และเรากระตุ้นรัฐบาลไทยให้แสวงหาแนวทางอื่นอย่างจริงจังโดยไม่ใช้การควบคุมตัว และให้ร่วมมือกับภาคประชาสังคม”
ผู้แสวงหาที่พักพิงซึ่งอยู่ในเขตเมือง มักต้องรอเป็นเวลาเฉลี่ยสี่ปีก่อนที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) จะจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยของพวกเขา ในระหว่างนั้น พวกมักเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกทางการไทยจับกุม ควบคุมตัว และส่งกลับโดยพลการ หลักการไม่ส่งกลับ (principle of nonrefoulment) ซึ่งเป็นการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ห้ามไม่ให้รัฐส่งบุคคลกลับไปยังประเทศซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขา
ในปี 2558 ประเทศไทยได้ส่งผู้แสวงหาที่พักพิงกลับไปให้รัฐบาลจีน โดยประกอบด้วยชายชาวอุยเก๋อและชาวจีนอื่น ๆ 109 คน โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติแล้ว ทำให้เกิดเสียงประณามจากนานาชาติรวมทั้งหน่วยงานสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ
ในช่วงที่ผ่านมา ทางการไทยยังใช้นโยบาย “ผลักดันเรือ” สำหรับผู้แสวงหาที่พักพิงที่เข้ามาทางเรือ ซึ่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งและจะถูกผลักดันออกสู่ทะเล ในปี 2557 ทางการไทยมักจะจับกุมผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศที่เข้ามาทางเรือ จากนั้นก็ผลักดันพวกเขาออกไปสู่ทะเล ทำให้เสี่ยงจะเสียชีวิต
ยาซิน อาราฟัต (Yasin Arafat) อายุ 18 ปี ผู้ลี้ภัยชายชาวโรฮิงญาจากเมืองซิตเว พม่า แจ้งกับ Fortify Rights ในปี 2557 ว่า “พวกเราถูกกองทัพเรือไทยจับกุมกลางทะเล พวกเขาเอาน้ำดื่มมาให้และตัดเชือกสมอเรือ จากนั้นก็เอาเรือลากเรือของเราออกไปทางทิศตะวันตกเป็นเวลาหนึ่งวันและหนึ่งคืน เป็นการผลักดันให้พวกเราออกไปสู่ทะเล และปล่อยพวกเราไป”
รายงานที่เสนอต่อองค์การสหประชาชาติยังกล่าวถึงสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งหลายคนเป็นผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ประเทศไทยยังคงปฏิบัติต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เหมือนเป็น “ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย” และไม่มีกลไกคัดกรองที่เหมาะสม เพื่อประกันการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ ผู้แสวงหาที่พักพิง หรือผู้ลี้ภัย
รายงานที่เสนอยังกล่าวถึงการที่ทางการไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์บุคคลหลายหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งถูกซ้อมทรมาน ถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ และในบางกรณีถูกขายไปในสภาพที่มีการแสวงหาประโยชน์
รายงานที่จัดทำร่วมได้รับการเผยแพร่ในวันนี้โดยหน่วยงานเจ็ดแห่ง ซึ่งทำงานเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย ได้แก่ Asylum Access, Asia Pacific Refugee Rights Network, Fortify Rights, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), Jesuit Refugee Service, คณะทำงานประชากรแรงงานข้ามชาติ (MWG) และมูลนิธิศักยภาพชุมชน
"เรารู้สึกยินดีที่ประเทศไทยร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และหวังว่าจะนำไปสู่การคุ้มครองอย่างแท้จริงต่อผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย” ปรีดา ทองชุมนุม สมาชิกของคณะทำงานประชากรแรงงานข้ามชาติกล่าว “เราหวังว่าจะได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อทำให้สิทธิของผู้ลี้ภัยในไทยเป็นจริงขึ้นมาได้”
ในบรรดาข้อเสนอแนะต่าง ๆ หน่วยงานเหล่านี้เรียกร้องรัฐบาลไทย:
1. ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees and its Protocol) จัดทำและบังคับใช้กฎหมายในประเทศเพื่อให้การคุ้มครองด้านกฎหมายต่อผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
2. ยุติการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยโดยพลการ
3. ยุตินโยบาย “ผลักดันเรือ” กรณีที่เป็นการเข้าเมืองทางเรือ
4. ปฏิบัติตามหลักประกันที่เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับส่งกลับ
5. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและบริการล่ามกับผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยในกระบวนการศาลทุกคดี
6. ประกันให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถเข้าถึงสิทธิของตนตามกฎหมายในประเทศ และต้องไม่ให้ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิดได้
7. ประกันให้มีการเข้าถึงอย่างเต็มที่ซึ่งสิทธิด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพและการทำงาน สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ