กฟน. เปิดนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี ก.ค.-ส.ค. นี้ แต่ยังไม่ให้ขายเข้าระบบ

18 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2386 ครั้ง


	กฟน. เปิดนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี ก.ค.-ส.ค. นี้ แต่ยังไม่ให้ขายเข้าระบบ

กฟน.เตรียมเปิดรับผู้ร่วมโครงการนำร่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรี ปลาย ก.ค.-ส.ค. 59 นี้ แต่ยังไม่ให้ขายเข้าระบบ แค่เก็บข้อมูลคำนวนราคารับซื้อในอนาคต ส่วนโซล่าร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์เฟส 2 คาดเริ่มเปิดโครงการได้ในปี 2560 (ที่มาภาพประกอบ: firstgreen.co)

18 ก.ค. 2559 เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่านายธีระวัฒน์ เทพอำนวยสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยในงานสัมมนาผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ในหัวข้อ "โซล่าร์เซลล์ ทางเลือกแห่งอนาคต" ว่า กฟน. เตรียมเปิดรับผู้ร่วมโครงการนำร่องการส่งเสริมการติดตั้งผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซล่าร์รูฟท็อป) แบบเสรี ในช่วงปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. 2559 นี้ โดยในส่วนของ กฟน. กำหนดเปิดรับผู้ร่วมโครงการรวมปริมาณไฟฟ้าไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกลุ่มบ้านเรือน 10      เมกะวัตต์และกลุ่มอาคารอีก 40 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 50 เมกะวัตต์ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จะเป็นผู้เปิดรับในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยโครงการนำร่องดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า แต่ให้ผลิตเพื่อใช้เองในบ้านและอาคารเท่านั้น

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซล่าร์ฟาร์ม) ส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตร เฟส 2 นั้น คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้ในปี 2560 เนื่องจากต้องรอให้เฟสแรกเข้าระบบตามกำหนดภายในสิ้นปี 2559 นี้ให้เสร็จก่อน ซึ่งขณะนี้ กฟน. อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์เพื่อรองรับโครงการฯ ในเฟส 2 ดังกล่าว

ทั้งนี้ โครงการโซล่าร์ฟาร์มราชการสหกรณ์นั้น กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้น 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจากภาคราชการ 400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์อีก 400 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ในเฟสแรกที่เปิดจับสลากผู้ร่วมโครงการเมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมาตั้งเป้ารับซื้อ 600 เมกะวัตต์ คือจากภาคราชการ 300 เมกะวัตต์และสหกรณ์ฯ 300 เมกะวัตต์ แต่ไม่มีกลุ่มราชการเข้าร่วมเพราะติดปัญหาด้านคุณสมบัติ จึงมีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียง 6 โครงการในส่วนของสหกรณ์เท่านั้น รวมกำลังการผลิต 21.65 เมกะวัตต์ ดังนั้น ในเฟส 2 จะเปิดรับส่วนที่เหลือ คือภาคราชการทั้งหมด 400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ฯที่เหลืออีกประมาณกว่า 100 เมกะวัตต์

น.ส.ศิริรัตน์ งามเสน่ห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบริหารนโยบายเศรษฐกิจพลังงาน กฟน. กล่าวว่า โครงการนำร่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรีนั้น เป็นโครงการที่ทดสอบการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ตามอาคารบ้านเรือนเพื่อใช้เองในช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก หากมีไฟฟ้าเหลือจากผลิตและไหลเข้าระบบของการไฟฟ้า ก็จะไม่มีการคิดเงินให้ผู้ผลิตแต่อย่างใด แต่การไฟฟ้าจะเก็บเป็นข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งปัจจุบันภาครัฐยังไม่ได้กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า โดยในเดือน มิ.ย. 2560 คาดว่าจะสามารถระบุราคาที่เหมาะสมต่อการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีได้

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: