‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท

จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา : TCIJ School รุ่นที่ 3 : 18 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 9957 ครั้ง

นับจากรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 รวมอย่างน้อย 61 คน  โดยจากการ ติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชน ( iLaw ) พบว่าหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  มีผู้ป่วยจิตเภท  (Schizophrenia) ถูกดำเนินคดีมาตรา112 อย่างน้อย 6 ราย  ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 5 ของจำนวนคดีหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ทั้งหมด 30 คดี ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยทางคดีหลังการรัฐประหารจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต (ที่มาภาพประกอบ: thaihealth.or.th)

ใครคือผู้ป่วยจิตเภท

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ กล่าวถึงโรคจิตเภท หรือ Schizophrenia ไว้ในวารสารเพื่อนรักษ์สุขภาพจิต ฉบับ ก.ค.   - ก.ย. 2558 ว่าหมายถึง กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง   

ในขณะที่เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DMS V) ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคจิตเภท จะมี  อาการหลงผิด อาการประสาทหลอน พูดจาสับสนมาก  มักเปลี่ยนเรื่องจนฟังไม่เข้าใจ  พฤติกรรมเรื่อยเปื่อย วุ่นวาย หรือมีท่าทางแปลก ๆ และมีอาการด้านลบ เช่น อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด หรือเฉื่อยชา ประกอบกัน อย่างน้อยสองอาการขึ้นไป นานหนึ่งเดือน แต่หากมีอาการหลงผิดที่แปลกประหลาด หรือหูแว่วเพียงอาการเดียว ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์โรคจิตเภท   

เสียงแว่วสั่งให้ส่งอีเมลล์   

“ธเนศ” (นามสมมติ)  เจ้าของธุรกิจขายสินค้าเกษตรผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งอีเมลล์แนบลิงก์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ถึงผู้ใช้ชื่ออีเมลล์ “stoplesemajeste” ที่อาศัยอยู่ในประเทศสเปน

ธเนศมีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงทั้งหญิงและชายคอยวิพากษ์วิจารณ์เขา พนักงานสอบสวนบอกกับศาลว่า   ธเนศอ้างว่าตนเองหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ทำให้ธเนศเชื่อว่าเขาถูกบุคคลหลายกลุ่มคอยกลั่นแกล้งและตามรังควาน  เช่น วางยาพิษในยาสีฟัน  เคาะกำแพงห้องเพื่อรบกวน  และวางก้อนหินบนถนนเพื่อ  ทำให้จักรยานล้ม เพราะเหตุที่มีคนเข้าใจว่าเขาเป็น “องค์ชาย” ดังกล่าว

วันที่ตัดสินใจส่งอีเมลล์  ธเนศได้ยินเสียงก้องในหูหลายเสียง สั่งให้เขาส่งอีเมลล์นี้ออกไปจนเขาไม่อาจทนได้  อีเมลล์นี้ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เข้าถึงได้ตั้งแต่ปี 2553 แต่ธเนศถูกทหารและตำรวจบุกไปจับกุมจากบ้านพัก ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 หลังการรัฐประหารโดย คสช. ไม่กี่เดือน  

คดีนโยบาย   

“...คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้อง เทิดทูน ดํารงรักษาไว้ ซึ่งสถาบัน พระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง"

ส่วนหนึ่งจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อเย็นวันที่ 22  พฤษภาคม 2557 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ของการทำรัฐประหาร  หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน สำนักงานตำรวจแห่ง   ชาติ (สตช.) ออกคำสั่ง สตช. ที่ 311/2557  เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มี ลักษณะไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์   คำสั่ง สตช. ดังกล่าวมีเนื้อหาแต่งตั้ง  คณะกรรมการบริหารข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายขึ้น เพื่อตรวจสอบพิจารณาข้อมูล  ข่าวสาร และติดตามเฝ้าระวังข้อมูลความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในแทบทุกช่องทางการสื่อสารของ ประชาชน เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย  

ต่อมา 10 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่ง สตช. ที่ 602/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงาน ติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบ การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อตั้งคณะทำงาน ที่มาบริหารจัดการคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดแนวทาง การดำเนินคดี และติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในชั้น  พนักงานสอบสวนให้ต่อเนื่องและรวดเร็ว  

ทั้งสองคำสั่งนี้ เป็นคำสั่งที่ประกอบกับคำสั่ง สตช. ที่ 122/2553 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ และคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ให้มีคณะกรรมการสำหรับพิจารณาสำนวนการสอบสวน และมีความเห็นเพื่อให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความเห็น หรือสั่ง การอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคดี

หมายความว่า ตามคำสั่ง สตช. พนักงานสอบสวนไม่ได้มีอำนาจในการสั่งคดีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 โดยตรง แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ผบ.ตร.   อีกถึงสองชั้น รวมถึงถูกเร่งให้ทำคดีมากยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา

ขอความร่วมมือปลดพระเจ้าอยู่หัว ?   

ประจักษ์ชัย อายุ 41 ปี ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล    และติดต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประตู เพื่อขอพบนายกรัฐมนตรี  เจ้าหน้าที่บอกให้เขาเขียนบันทึก ร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน   

คำฟ้องระบุเนื้อหาที่เป็นความผิดในบันทึกดังกล่าวทำนองว่า  มาขอความร่วมมือสี่เหล่าทัพปลดบุคคลสำคัญ   ของประเทศ หวังว่าคงให้ความร่วมมือทั้ง 4 เหล่าทัพ ขอขอบคุณ ๆ  หลังเจ้าหน้าที่ได้อ่านข้อความ ประจักษ์ชัย ก็ถูกตำรวจจับกุมไปยัง สน.ดุสิต    

ประจักษ์ชัยบอกกับทนายความว่า เขาเคยร้องเรียนในลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2537 รวมแล้วมากกว่าสิบครั้ง  แต่  ละครั้งเป็นการร้องเรียนปากเปล่า และไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งจิตแพทย์ผู้ตรวจรักษาประจักษ์ชัย  เคยให้การต่อศาลว่า ประจักษ์ชัยเข้าใจว่าตนเองเป็นในหลวง และที่ไปร้องเรียนให้ปลดในหลวง เพราะเป็นตัวปลอม   

เกณฑ์ประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี

ในคดีของประจักษ์ชัย  ทนายความได้ขอให้ส่งตัวประจักษ์ชัยไปตรวจรักษาอาการทางจิต ทั้งระหว่างการ สอบสวนและชั้นศาล  เขาถูกส่งเข้ารับการตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่ งให้บริการแก่ผู้ต้องหาที่ มีความผิดปกติทางจิตและผู้ป่วยนิติจิตเวช   

ตามกฎหมาย เมื่อศาลเห็นหรือเชื่อว่าจำเลยมีอาการทางจิต สามารถส่งจำเลยไปรับการตรวจรักษา หากแพทย์รายงานผลกลับมาว่า จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ หรือมีอาการวิกลจริต ศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวได้ ผลของการสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว คือ จำเลยจะถูกส่งตัวไปรักษาแทนการดำเนินคดี และจิตแพทย์ของรัฐมีหน้าที่รายงานผลต่อศาลทุกระยะ 180 วัน ว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่

ทั้งนี้ การวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ตามระเบียบคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กำหนดเกณฑ์ไว้ 4 ข้อ ได้แก่

  1. ความสามารถในการรับรู้กาลเวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
  2. ความเข้าใจ ตระหนักรู้เรื่องราวของข้อกล่าวหา ความสามารถในการเล่าเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหา และความสามารถในการพูดคุยและตอบคำถามได้ตรงคำถาม
  3. ความสามารถในการรับรู้ผลที่เกิดขึ้นจากคดี
  4. ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง           

ประจักษ์ชัยใช้เวลารักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ราว 7 เดือน ก็ต้องกลับมาต่อสู้คดี เนื่องจากผ่านเกณฑ์ดังกล่าวครบทุกข้อ แม้แพทย์จะระบุว่า เขายังมีอาการหลงผิดอยู่ก็ตาม

สื่อสารกับบุคคลสำคัญผ่านโทรทัศน์

วันที่ 13 มีนาคม 2558 เสาร์ ชายไร้สัญชาติวัย 51 ปี เดินทางไปศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขาเขียนคำร้องยื่นต่อศาลด้วยลายมือ ในทำนองว่าสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้า  อยู่หัวผ่านสื่อได้ ซึ่งเสาร์ได้ยื่นใบคำร้องนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่นิติกรของประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ไปแจ้งความจับเขาที่ สน.ทุ่งสองห้อง

เสาร์คิดว่าตนเองสามารถสื่อสารกับบุคคลสำคัญผ่านโทรทัศน์ได้ตั้งแต่ปี 2540 ญาติของเสาร์ระบุว่า เขามีอาการเหม่อลอย และพูดคนเดียวในเรื่องที่คนอื่นไม่เข้าใจ

คล้ายกับกรณีของประจักษ์ชัย พนักงานสอบสวนส่งเสาร์เข้ารับการตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และงดสอบสวนคดีระยะหนึ่ง ก่อนจะส่งสำนวนคดีให้อัยการ อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเสาร์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559

แพทย์เห็นว่า วิกลจริตแต่สามารถต่อสู้คดีได้

หลังเข้ารับการตรวจรักษาในสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ประมาณหนึ่งเดือน แพทย์ได้รายงานผลกลับมายังศาลว่า เสาร์เป็นผู้วิกลจริตแต่สามารถต่อสู้คดีได้

นางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้รับผิดชอบคดีของเสาร์  แสดงความเห็นว่า การประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีตามระเบียบคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เป็นเพียงเกณฑ์เบื้องต้น การพิจารณาว่าผู้ป่วยคนใดสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่  ควรจะมีหลักเกณฑ์ด้านอื่นประกอบ ด้วย อย่างน้อยผู้ต้องหาควรจะสามารถวางแผนต่อสู้คดีกับทนายความได้  พอที่จะบอกได้ว่าวันนั้นมีใครที่เป็นพยานอยู่ในเหตุการณ์ หรือช่วยยืนยันถิ่นที่อยู่ให้เขา หรือสามารถบอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ แต่ ในกรณีผู้ป่วย ทนายความต้องสืบหาข้อเท็จจริงจากพยานแวดล้อม ต้องไปถามญาติ ถามเพื่อนของเขา เพราะข้อเท็จจริงที่ได้จากเขา ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นความจริงตามที่เขารับรู้ ประสบเอง หรือเกิดจากความป่วยของเขา  

ทนายความของเสาร์ เห็นว่า เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาล กลุ่มผู้ป่วยมีโอกาสจะตอบคำถามที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่าคนปกติ เนื่องจากการต่อสู้คดีในระบบกล่าวหาที่ต้องชิงไหวพริบ เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ป่วย เพราะต้องตอบคำถามที่มีเทคนิคแบบลับลวงพรางของอีกฝ่าย และต้องใช้สติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์พอสมควร

"มันไม่ใช่แค่เรื่องตอบคำถามรู้ว่าวันเวลาเท่าใด และไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการลำดับเหตุการณ์ได้ แต่มันต้องรู้ด้วยว่าถ้าถามมาแบบนี้ จะหลบคำถามอย่างไร หรือควรจะตั้งรับ หรือควรจะไม่ตอบ หรือควรจะตอบแบบอธิบาย ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่คนที่ไม่ป่วยยังยากที่จะตอบคำถามศาลได้ หรือจะนำข้อเท็จจริงที่ตนเองรู้พูดต่อศาลก็ยังยาก เรื่องแบบนี้ยิ่งมีข้อจำกัดมาก ๆ สำหรับผู้ป่วย” นางสาวคุ้มเกล้ากล่าว  

เกณฑ์ประเมินความสามารถต่อสู้คดีในต่างประเทศ

วิทยานิพนธ์ของ ชิงชัย ศรประสิทธิ์ เรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการบังคับรักษาผู้ป่วยทางจิต “ อธิบายถึงเกณฑ์การประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของสหรัฐอเมริกาว่า นิยมใช้หลักเกณฑ์ The Mcgarry ที่ระบุว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมีความสามารถ 13 ประการ ได้แก่

  1. สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ตามสมควร
  2. สามารถควบคุมพฤติกรรมได้
  3. สามารถร่วมมือกับทนายความคุ้มครองประโยชน์ตน
  4. สามารถวางแผนต่อสู้คดี
  5. สามารถเข้าใจบทบาทของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี
  6. สามารถเข้าใจขั้นตอนการดำเนินคดี
  7. เข้าใจข้อกล่าวหาได้ตามสมควร
  8. เข้าใจความหนักเบาของโทษ
  9. สามารถประเมินผลที่จะได้รับจากคำให้การของตน
  10. สามารถเล่ารายละเอียดข้อเท็จจริง และพฤติการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับความผิดแก่ทนาย
  11. สามารถโต้แย้งปฏิเสธข้อเท็จจริงที่พยานฝ่ายตรงข้ามเบิกความ
  12. สามารถเป็นพยานพิสูจน์ความจริง
  13. สามารถปกป้องตนเองโดยยอมรับโทษในข้อหาที่เบากว่า

ขณะที่ประเทศอังกฤษมีหลักเกณฑ์ประเมินว่า จำเลยไม่มีความสามารถในการต่อสู้คดี หากจำเลยไม่สามารถเข้าใจสภาพข้อกล่าวหา ไม่สามารถเข้าใจผลที่จะได้รับหากให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ  ไม่สามารถปรึกษากับทนายความ  ไม่สามารถคัดค้านคณะลูกขุน  และไม่สามารถเข้าใจขั้นตอนการดำเนินคดีและการนำพยาน หลักฐานมาพิสูจน์ได้

เมื่อเกณฑ์การประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีตามระเบียบคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติของประเทศไทย ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงความสามารถในการปรึกษา หรือวางแผนต่อสู้คดีร่วมกับทนายความ ทำให้หลายกรณี รายงานของแพทย์ออกมาในทำนองว่า จำเลยเป็นผู้วิกลจริต หรือยังมีอาการหลงผิด แต่สามารถต่อสู้คดีได้ และเป็นภาระของทนายความที่ต้องประคับประคองการต่อสู้คดีไปโดยที่ตัวจำเลยเองไม่ได้มีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์

ผู้ป่วยกลับสู่กระบวนการพิจารณาคดีในศาล

เมื่อแพทย์มีความเห็นว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ จำเลยจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ผ่าน การถามคำให้การ การสืบพยาน และการตัดสินพิพากษาคดี  

กรณีของธเนศ เขาให้การปฏิเสธไม่ทราบว่าเนื้อหาในลิงก์ที่เขาส่งอีเมลล์ไปยังผู้ที่ใช้ชื่อ Stoplesemajeste ตอนใดที่เป็นเนื้อหาหมิ่นสถาบัน  เขาส่งข้อความออกไปเพราะมีเสียงของกลุ่มคนบอกให้ช่วยตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ส่งข้อมูล เสียงนั้นดังและทำให้รำคาญมาก  ธเนศจึงส่งอีเมลล์เพื่อจะช่วยเสียงที่ได้ยิน  

พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ให้การต่อศาลในฐานะพยาน ยืนยันว่า ธเนศเจ็บป่วยจากการคิดว่ามีคนติดตาม ทุกข์ทรมานจากอาการหูแว่ว และเมื่อตรวจสอบผลการทดสอบทางจิตวิทยาโดยสหวิชาชีพ 5 วิชาชีพมาลงความเห็นแล้วพบว่า จำเลยไม่ได้แกล้งป่วย แต่ช่วงที่ไม่มีอาการมากระตุ้นจะดูเหมือนคนปกติ  

พญ.ดวงตา ยังให้การอีกว่า อาการขณะส่งอีเมลล์ตามที่ธเนศให้การ เป็นอาการหวาดระแวงของผู้ป่วย ซึ่งธเนศคิดว่าเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น และเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย จึงเชื่อว่าธเนศไม่ได้แต่งเรื่องให้ตนเองพ้นผิด  

อย่างไรก็ตาม ศาลชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่า ยังไม่พอฟังได้ว่า ขณะทำความผิด จำเลยไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง  คดีนี้ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกธเนศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 5 ปี และลดโทษเหลือ 3 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ โดยไม่พิจารณาอาการทางจิตของจำเลย  

ความจริงที่อยู่ในหัวผู้ป่วย

เครือวัลย์ เที่ยงธรรม คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ และผู้มีประสบการณ์ตรงจากอาการจิตเภท หรือ Schizophrenia ให้ความเห็นว่า ในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาล ผู้ป่วยอาจดูเหมือนคนปกติ แต่ความคิดของเขาจะถูกโรคควบคุมอยู่ เนื่องจากอาการหลงผิดไม่สามารถควบคุมได้ แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ  

เครือวัลย์ อธิบายว่า อาการหลงผิดจะทำให้เชื่อว่าบางสิ่งเกิดขึ้นจริง และผู้ป่วยมักจะมีหลักฐานมาอ้างทั้งที่สิ่งนั้นเป็นความจริงภายในเฉพาะตัว เช่น คิดว่าตนเป็นบุคคลสำคัญทางการเมือง ศาสนา หรือมีชื่อเสียง คิดว่าถูกปองร้าย ถูกติดตาม มีความคิดบางอย่างที่ตัวผู้ป่วยเองควบคุมไม่ได้ บางคนคิดว่าตนเองสามารถสื่อสารผ่านวิทยุหรือโทรทัศน์ได้

ช่องทางตามกฎหมายกับความจริงที่อยู่ในหัวคนปกติ

คดีของธเนศศาลตัดสินพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด ส่งเขาเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำมากกว่าสองปีแล้ว แต่คดีของประจักษ์ชัยและเสาร์เพิ่งเริ่มกลับมาสู่กระบวนการในชั้นศาล  หลังแพทย์ประเมินความสามารถว่าสามารถต่อสู้คดีได้

ธีรพล คุ้มทรัพย์ ทนายความในคดีของธเนศ และประจักษ์ชัย อธิบายว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เมื่อมีคดีของผู้ป่วย พนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะไม่ดำเนินคดี และเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดอาญามีอาการวิกลจริต พนักงานสอบสวนสามารถส่งผู้ต้องหาให้แพทย์ตรวจได้

"เมื่อผลตรวจออกมาเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งงดสอบสวน หมายความว่าคดีก็จะหยุดเลย จบแค่นั้น ซึ่งเราว่าเป็นทางที่ดีที่สุด หรือไม่แม้แต่ดำเนินคดีเลยเพราะมันไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใด" ธีรพลกล่าว

นอกจากนี้ ทนายความของธเนศและประจักษ์ชัย ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในชั้นอัยการ อัยการก็ยังมีดุลพินิจสั่งยุติคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร และทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับภาระเกินกว่าที่ตนเองจะแบกรับได้ แต่เป็นกรณีที่ไม่ค่อยได้พบมากนัก

ธีรพลชี้ว่า อุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้ คือ ทัศนคติที่มีต่อผู้ป่วย ความรับรู้ ความเข้าใจว่าคนป่วยจะต้องพูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งหลายกรณีไม่ได้มีอาการป่วยแบบนั้น บางกรณีผู้ป่วยสามารถจะมีชีวิตกลมกลืมกับคนปกติได้ สามารถดูแลตัวเองได้ คนทั่วไปมองไม่ออกว่าเป็นคนป่วยก็มี 

"เพราะคนไปเข้าใจว่าคนบ้าคือคนที่แก้ผ้าเดินบนท้องถนน พูดจาไม่รู้เรื่อง หัวเราะคนเดียว ถ้าไม่เป็นแบบนี้แสดงว่าดำเนินคดีได้ ทำให้คนป่วยไม่ได้รับการคุ้มครอง" ทนายความให้ความเห็น

ตำรวจใช้ดุลพินิจเองไม่ได้ ในคดี 112 ยุค คสช

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15  ปี” บางคนรู้จักกฎหมายนี้ในชื่อ ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์  ผู้จัดการ iLaw  ชี้ให้เห็นว่า ในยุคของรัฐบาล คสช. พบแนวโน้มการตั้งข้อหามาตรา 112 กับประชาชนจากการแสดงออกโดยสงบจำนวนมาก คดีที่เคยมีคนแจ้งความไว้นานแล้วถูกเร่งรัดเร็วขึ้น ในรัฐบาลชุดนี้ การจับกุมดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นนโยบายหลักที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ แต่หลังช่วงหนึ่งปีแรก อัตราการจับกุมดำเนินคดีมาตรา 112 รายใหม่ลดลง เป็นไปได้ว่า กลุ่มบุคคลเป้าหมายที่รัฐมีข้อมูลส่วนใหญ่อาจจะถูกจับกุมไปแล้ว หรือหนีไปอยู่ต่างประเทศ   

ยิ่งชีพเห็นว่า คนที่ติดตามข่าวสารทางการเมือง ทราบดีว่าการแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีร้ายแรง จึงต้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นคนที่ยังคงแสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่ตามจับตัวได้อย่างง่ายดายในยุคนี้ จึ งอาจเป็นคนที่มีระบบเหตุผลต่างจากคนส่วนใหญ่ หรือควบคุมการกระทำบางอย่างของตนเองไม่ได้ หรือมีความเชื่อบางอย่างที่ชัดเจน รุนแรงมาก ทำให้แนวโน้มของการจับกุมคดีมาตรา 112 รายใหม่ตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นมา มีกลุ่มคนที่มีอาการจิตเภทตกเป็นผู้ต้องหาเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้จัดการ iLaw ยังอธิบายอีกว่า จากการติดตามสังเกตการณ์คดี เห็นได้ว่า การที่ สตช. ออกคำสั่งให้คณะกรรมการระดับผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีอำนาจดุลพินิจสั่งการเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ทำให้ตำรวจระดับปฏิบัติการมักไม่มีโอกาสใช้ดุลพินิจได้เอง เช่น ดุลพินิจในการให้ประกันตัว ดุลพินิจในการสอบสวนเพิ่มเติม หรือดุลพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ทั้งที่หลายครั้งตำรวจระดับปฏิบัติการมีโอกาสเห็นข้อเท็จจริงมากว่าตำรวจระดับนโยบาย  ทำให้ไม่มีตำรวจคนไหนกล้าสั่งให้ส่งผู้ป่วยไปรักษาแทนการดำเนินคดี 

"การมีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ในชั้นตำรวจถือเป็นเรื่องดีแล้ว แต่เราก็อยากเห็นรายงานการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้สังคมช่วยกันประเมินด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้ช่วยกลั่นกรองอย่างสมเหตุสมผลแล้วจริงหรือไม่ และเราก็อยากให้อำนาจการตัดสินใจบางอย่างยังเป็นดุลพินิจโดยอิสระของตำรวจเจ้าของคดี  เช่น  เรื่องลักษณะอาการป่วยของผู้ต้องหา เพื่อประโยชน์ของตัวผู้ต้องหาเอง ญาติของผู้ต้องหา สังคมโดยรวม และจ้าหน้าที่เอง จะได้ไม่ต้องเสียเวลากับคดีแบบนี้ด้วย” ยิ่งชีพกล่าว 

อ่าน 'จับตา': “สถิติเกี่ยวกับการประกันตัวคดี 112 ในยุครัฐบาลคสช."

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: