Timeline หลังไทยถูกจัดอันดับ Tier 3 (ปี 2557-2559)

ทีมข่าว TCIJ : 18 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 11336 ครั้ง


มิ.ย. 2557 ไทยถูกจัดอันดับ Tier3 ครั้งแรก

เดือน มิ.ย. 2557 สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แห่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. State Department's Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report-TIP) ประจำปี 2557 โดยที่ไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศใน 2557 ที่ถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่กลุ่มที่ 3 หรือ Tier 3 ซึ่งเป็นลำดับขั้นต่ำสุดของรายงานนี้ อนึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2554, 2555 และ 2556 ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 Watch list (ประเทศในกลุ่มที่ต้องจับตามอง)

ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อทั้งหลายมาจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้ง จีน, เวียดนาม, รัสเซีย, อุซเบกิสถาน, อินเดีย และฟิจิ  ซึ่งมาไทยเพื่อหางานทำ มีแรงงานอพยพประมาณสองถึงสามล้านคนในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่ถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาบังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศหรือค้าประเวณี เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนมากมักถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมง การผลิตเสื้อผ้าราคาถูก โรงงานต่าง ๆ และงานรับใช้ตามบ้าน และบางคนถูกบังคับให้ขอทานตามถนน นอกจากนี้ยังระบุว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แม้จะมีพัฒนาด้านการจัดเก็บข้อมูลการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยในปี 2556 มีผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์ภายใต้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ปี 2008 (2551) 225 ราย แต่ความพยายามของการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ยังถือว่าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาในไทย และปัญหาการทุจริตคอรัปชันในทุกระดับเป็นตัดขัดขวางความสำเร็จของความพยายามนี้ นอกจากนี้ ไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนล่ามอย่างหนักในหน่วยงานของรัฐ ส่งผลให้การระบุสัญชาติและการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกจำกัด

ในด้านของการดำเนินคดี รายงาน TIP ระบุว่า รัฐบาลไทยพัฒนาการเก็บข้อมูลการต่อต้านการค้ามนุษย์ เพิ่มความแม่นยำของการดำเนินคดีและการพิสูจน์การกระทำผิด ในปี 2556 รัฐบาลไทยรายงานว่า มีการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์ 674 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีเพียง 306 คดี แต่มีเพียง 80 คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยบังคับใช้แรงงานคนงานอพยพ ทั้งที่มีรายงานกรณีเช่นนี้ในไทยสูงมาก รัฐบาลไทยยังไม่จับกุมเจ้าของเรือ, กัปตัน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง และไม่มีรายงานการสืบสวน, ดำเนินคดี หรือการตัดสินความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานเอกชน ที่เป็นจำเลยดคีบังคับใช้แรงงานผู้ลี้ภัยชายโรฮิงญาในอุตสาหกรรมประมงของไทย

ด้านการปกป้องเหยื่อค้ามนุษย์ ความพยายามของรัฐบาลไทยในการพิสูจน์ตัวตนและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ยังคงไม่เพียงพอ จากรายงานของหน่วยงานเอ็นจีโอ ระบุว่ารัฐบาลไทยไม่ให้บริการด้านการแปลภาษา หรือความเป็นส่วนตัวอย่างเพียงพอเพื่อการคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลฝึกฝนล่ามรุ่นใหม่ 95 คน ขณะที่ต้องรับมือกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและผู้อพยพชาวบังกลาเทศถึง 2,985 คน นอกจากนี้ กฎหมายของไทยยังไม่ให้ทางเลือกที่ถูกกฎหมายในการโยกย้ายออกนอกประเทศสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างชาติ ซึ่งอาจต้องเผชิญบทลงโทษรุนแรงหรือความยากลำบากในประเทศบ้านเกิด ขณะเดียวกัน แม้จะพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ได้รับการพิสูจน์ตัวตนแล้ว เป็นเด็ก แต่ไทยก็ไม่มีการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษกับเด็กเหล่านี้ การดำเนินคดีในบางกรณีซึ่งมีเด็กเหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างชาติยังต้องใช้เวลาพิจารณาคดีถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น และเจ้าหน้าที่ศาลก็ไม่ได้ดำเนินตามขั้นตอนเพื่อรับประกันความปลอดภัยของพยาน, เหยื่อ และเด็กเสมอไป พวกเขาต้องขึ้นให้การต่อศาลต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหา และบางครั้งก็ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อสาธารณะ เช่น ที่อยู่ ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสียงต่อการแก้แค้น

รายงาน TIP ยังมีคำแนะนำถึงรัฐบาลไทยด้วยหลายประการ อาทิ ไทยควรสืบสวนรายงานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดอย่างทั่วถึงและทันท่วงที, เพิ่มความพยายามโดยเฉพาะในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในการดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตอันเกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ และ เพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีและตัดสินความผิดของผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์รวมถึงผู้ที่บังคับใช้แรงงานเหยื่อในไทย เป็นต้น

อนึ่ง รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ในโลก โดยรายงานจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับความพยายามของนานาชาติและสหรัฐฯ และการตอบสนองต่อปัญหานี้ เพื่อยุติการค้ามนุษย์, ปกป้องและช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย และดำเนินคดีเหล่าผู้กระทำผิด โดยระดับการตอบสนองเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม Tier 1 หมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (TVPA) อย่างครบถ้วน, กลุ่ม Tier 2 หมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ TVPA ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น, กลุ่ม Tier 2 Watch list หมายถึงประเทศที่การค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ล้มเหลวในการแสดงหลักฐานการเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา และถูกพิจารณาว่ากำลังพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำของ TVPA โดยสัญญาว่าจะใช้มาตรการเพิ่มเติมในอนาคตภายในปีถัดไป จะถูกจัดในกลุ่มTier 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch list) และกลุ่ม Tier 3 (ซึ่งไทยเพิ่งถูกลดระดับลงมาอยู่กลุ่มนี้ในปี 2557 นี้เป็นปีแรก) หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

ซึ่งการตกสู่กลุ่ม Tier 3 อาจทำให้ไทยสูญเสียความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการค้า รวมทั้ง อาจเผชิญหน้ากับการถูกสหรัฐฯคัดค้านความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก รวมถึงความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ระหว่างประเทศ

มิ.ย. 2557 สมาคมสินค้าประมงไทยเร่งทำโรดแมปส่งสหรัฐ แจงขัอเท็จจริงการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมกุ้ง

เดือน มิ.ย. 2557 หลังจากการปรับลดอันดับสู่ Tier 3 สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ซึ่งประกอบด้วย 8 สมาคมสินค้าประมงไทย เป็นการรวมตัวของ 8 สมาคมประมง ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมกุ้งไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย, สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้หารือกันเพื่อจัดทำโรดแมปขัอเท็จจริงการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมกุ้ง (The Truth of Thai Shrimp Industry Labours ) เพื่อเป็นแนวทางปฏิเสธข้อกล่าวหาของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนที่โจมตีไทย พร้อมกันนี้ ทางสมาพันธ์ฯเตรียมที่จะทำรายงานขอถอดถอนสินค้าประมงในกลุ่มกุ้งและปลาออกจากบัญชีการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ที่จะประกาศในเดือน ก.ย.นี้ โดยจะมีการชี้แจงว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ผ่านมาไม่ได้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากวัตถุดิบทูน่าที่ใช้ในอุตสาหกรรมประมงส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานที่ใช้ก็มีการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ถูกกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ภาคเอกชนเองจะเร่งทำความเข้าใจกับคู่ค้าเกี่ยวกับคำประกาศลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยลงมาอยู่ในระดับ Tier3 ซึ่งตามกฎหมาย ประธานาธิบดีสหรัฐ มีอำนาจที่จะพิจารณาถอดถอนหรือไม่ใน 90 วัน แต่แม้ว่าคำประกาศของสหรัฐจะไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งไทย แต่มีผลต่อสร้างความมั่นใจกับประเทศคู่ค้า

มิ.ย. 2557 กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงานเป็นการเร่งด่วน หวังแก้ปัญหาค้ามนุษย์

เดือน มิ.ย. 2557 กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าได้มีการตั้งคณะกรรมการด้านการค้า และแรงงานเป็นการเร่งด่วน โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงานทั้งระบบ ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกไปแล้ว เพื่อลดผลกระทบจากการประกาศลดสถานะประเทศไทยต่อการค้ามนุษย์อยู่ระดับTier 3 แม้จะไม่มีผลกระทบต่อด้านการค้ากับไทย แต่อาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยาของผู้บริโภค ในเรื่องของภาพลักษณ์และสินค้าส่งออกของไทยได้ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมักให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวถือเป็นแผนระยะสั้น

มิ.ย. 2557 คสช. ออกประกาศและคำสั่งเรื่องการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์

เดือน มิ.ย. 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 70 สั่งมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว-ค้ามนุษย์ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 73/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ในประกาศระบุให้ผู้ประกอบการเรือประมงใน 22 จังหวัด มีพื้นที่ติดชาย ฝั่งทะเลรวบรวมและยื่นบัญชีรายชื่อลูกจ้างแรงงานต่างด้าวต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด ภายในวันที่ 21 ก.ค. 2557 รวมทั้งมีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 100/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์กรุงเทพมหานคร

ก.ค. 2557 เริ่มวาง 8 มาตรการป้องกันค้ามนุษย์หลังถูกลดมาอยู่ Tier 3 ให้เรือประมงแจ้งชื่อลูกเรือ

เดือน ก.ค. 2557 รัฐขอความร่วมมือนายจ้างเรือประมงยื่นรายชื่อจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามประกาศ คสช. ภายในวันที่ 21 ก.ค.2557 ขณะที่กระทรวงแรงงาน บูรณาการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว เปิดสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC 1300 เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ป้องกันการลักลอบใช้แรงงานเด็ก ด้านปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเดินหน้าจัดทำแผนแม่บทวาง 8 มาตรการแนวทางหลัก แก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมง ได้แก่ 1. การขยายผลการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) แบบเต็มรูปแบบทั้งสายการผลิต 2. การจัดทำ GLP Platform ร่วมกับกระทรวงแรงงานภายใต้ความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 3. จัดระเบียบเรือประมงไทยเพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ในภาคการประมง 4. สนับสนุนการบูรณาการตรวจร่วมเรือประมงและแรงงานประมง 5. การตรวจตราเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำที่เข้า-ออกจากท่า 6. การสนับสนุนจากกองทัพเรือ ช่วยตรวจตราเรือประมงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ 7. จัดการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ประกอบการเรือประมง เรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 8. การส่งเสริมภาพลักษณ์ และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงของไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้กรมประมงจะเริ่มออกประกาศการจัดระเบียบเรือประมง มีการหารือกับกรมเจ้าท่า เพื่อพิจารณาปรับแก้กฎระเบียบ เพื่อบังคับให้เรือประมงทุกลำต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) พร้อมขอความร่วมมือจากสมาคมภาคเอกชน ให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในภาคประมงที่เสนอในแผนแม่บทด้วยเช่นกัน

ส.ค. 2557 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดช่องทางรับข้อมูลแจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตค้ามนุษย์

เดือน ส.ค. 2557 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าได้เปิดเวทีรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะ จากองค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานต่อไป ทั้งนี้ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์มีการกล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ฉะนั้น พม.จึงเปิด 3 ช่องทางรับข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ 1.อีเมล์ tiptops.office@gmail.com 2.หมายเลขโทรศัพท์ 0-2281-0153 และ 3.เข้าพบปลัด พม.เพื่อให้ข้อมูลด้วยตนเอง

ส.ค. 2557 สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ชูไต้หวันโมเดลแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในไทย

เดือน ส.ค. 2557 ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยเสนอโมเดลการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานของไต้หวันว่า ปัญหาค้ามนุษย์ในไต้หวันถือว่ามีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ทั้งที่ไต้หวันมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในรายงานการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ใน Tier 1 มา 5 ปีซ้อน จึงถือว่าเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดกวดขันด้านการแก้ปัญหาค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก โดยไต้หวันมีการทำข้อตกลงเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์กับประเทศต่าง ๆ และมีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา และไต้หวันมีเพียงหน่วยงานเดียวที่ดูแลปราบปรามและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แต่ในประเทศไทยต้องมีการประสานงานกันระหว่างหลาย ๆ หน่วยงาน จึงขาดความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นเราควรนำการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ของไต้หวันมาเป็นโมเดล โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนดยุทธวิธี และควรมีการเร่งรัดดำเนินคดี หรือมีตัวอย่างการดำเนินคดีให้มากกว่านี้ ซึ่งตนเชื่อว่าหากเราใช้มาตรการแบบไต้หวันจัดการปัญหาค้ามนุษย์ เราก็สามารถถูกปรับเลื่อนอันดับขึ้นมา หลังจากถูกลดอันดับลงมาอยู่ในTier 3 ได้อย่างแน่นอน

ก.ย. 2557 สหรัฐฯ ไม่คว่ำบาตรไทยกรณีล้มเหลวแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หลังปรับลดอันดับสู่ Tier 3

เดือน ก.ย. 2557 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่ใช้มาตรการลงโทษประเทศไทยและมาเลเซีย สืบเนื่องจากความล้มเหลวในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ตามรายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน ประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ออกเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งลดระดับประเทศไทยและมาเลเซียลงจาก "Tier 2 Watch list" มาอยู่ระดับต่ำสุด "Tier 3" ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การถูกลดระดับลงอาจทำให้ประเทศนั้น ๆ ตกเป็นเป้าหมายการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐฯ อันรวมถึงการระงับหรือเพิกถอนความช่วยเหลือที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมหรือที่ไม่เกี่ยวกับการค้า ส่วนกรณีของไทย ซึ่งถูกลดสู่อันดับต่ำสุดเป็นครั้งแรกหลังจากติดอยู่ในบัญชีประเทศเฝ้าจับตามานาน 4 ปี อาจทำให้สหรัฐขัดขวางการให้เงินช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกได้ด้วย ตามหลักนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐมีสิทธิขัดขวางความช่วยเหลือของสหรัฐในรูปแบบต่างๆ หรือไม่สนับสนุนเงินกู้ผ่านสถาบันการเงินเหล่านี้แก่ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำ แต่ที่ผ่านสหรัฐมักเลือกไม่บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ หากกระทบต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศตน นอกจากไทยและมาเลเซีย รัฐบาลสหรัฐได้ยกเว้นการแซงก์ชั่นอีกหลายประเทศเช่นกัน อาทิ ซาอุดีอาระเบีย, อุซเบกิสถาน และเยเมน กระนั้นรายงานกล่าวว่า คำประกาศของรัฐบาลวอชิงตัน ยังไม่ได้ยกเลิกการจำกัดความช่วยเหลือของสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับการตอบโต้การก่อรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค.

ธ.ค. 2557 สมาคมประมงเสนอรัฐใช้แรงงานเพื่อนบ้านแบบจีทูจี เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต

เดือน ธ.ค. 2557 สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมประมงจังหวัดตราด ร่วมแถลงข่าวเรื่อง "แรงงานประมงTier 3 อย่าเหมาเข่ง" ในเวทีมีการระบุว่าไม่เห็นด้วยที่สหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศในกลุ่ม Tier 3 คือล้มเหลว หรือเหมือนกับการปล่อยปละละเลยโดยไม่แก้ไขปัญหาใด ๆ เนื่องจากนายจ้างเกือบทั้งหมดไม่ได้ปฏิบัติต่อลูกจ้างตามที่อเมริกากล่าวหา การนำพฤติกรรมนายจ้างที่ถือเป็นส่วนน้อยมาเป็นบรรทัดฐานจึงไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยและนายจ้างร่วมมือกันกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การทำประวัติลูกจ้าง และมีสวัสดิการที่ดีมาโดยตลอด รวมถึงสภาองค์การนายจ้างฯ มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องแรงงานต่างด้าว และได้เน้นย้ำสมาชิกให้สมาชิกดูแลเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการนอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลมีการเจรจากับประเทศลาว กัมพูชา เมียนมาร์และเวียดนาม เพื่อจัดทำข้อตกลงเรื่องแรงงานระบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวมถึงจัดตั้งฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าว และดำเนินการกับนายจ้างหรือผู้ที่ค้ามนุษย์ด้วยความเด็ดขาด อีกทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานต่างด้าวระหว่างภาคเอกชนในไทยและอาเซียน รัฐควรเปิดโอกาสให้ใช้แรงงานต่างชาตินอกเหนือจาก ลาว กัมพูชา เมียนมาร์และเวียดนาม แบบจีทูจีเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนแรงงานใน 10-20 ปี ข้างหน้าอีกด้วย นอกจากนี้เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ระบุว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ รวมถึงปรับแก้ระเบียบการเป็นสมาชิก โดยการเพิ่มใบตรวจเรือ รายชื่อลูกเรือ ใบอนุญาตจับปลา เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเจ้าของเรือ แจ้งให้ทำสัญญาการจ้างแรงงานลูกเรือประมง ผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีลูกเรือต่างชาติเข้าเป็นสมาชิก รวมถึงจะเดินหน้าทำข้อมูลออนไลน์ลูกเรือที่ขึ้นทะเบียน เพื่อตรวจสอบหากเกิดกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

ธ.ค. 2557 รัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ติดตามปัญหาค้ามนุษย์

เดือน ธ.ค. 2557 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าการแก้ปัญหาด้านแรงงาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ขึ้นมา 2 ชุด เพื่อติดตามปัญหาการค้ามนุษย์ และขอทาน โดยเร่งให้ดำเนินการ และรายงานให้ทราบก่อนวันที่ 9 ม.ค. 2558 โดยให้ใช้งบประมาณในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ เมื่อได้รับรายงานแล้วเตรียมส่งรายงานให้สหรัฐอเมริกาทราบภายในวันที่ 30 ม.ค. 2558 เพื่อลดระดับการจัดอันดับปัญหาแรงงานจาก Tier 3 เป็น Tier 2

ธ.ค. 2557 รวบรวมข้อมูลองค์กรเอกชนด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทำงานร่วมภาครัฐแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

เดือน ธ.ค. 2557 นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ (NGO) โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาอนุญาตขยายระยะเวลาให้องค์การเอกชนต่างประเทศที่ขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานในประเทศไทยสามารถดำเนินงานได้อีก 2 ปี และร้องขอในประเด็นการเปลี่ยนผู้รับมอบอำนาจ รับเจ้าหน้าที่ใหม่ และเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ พิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนการดำเนินงานที่จะทำกิจกรรมในประเทศไทย งบประมาณที่ใช้จ่าย ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการตรวจสอบข้อมูลเพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยนายนครยังระบุว่าถ้าส่งเสริมให้องค์กรเอกชนต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินการในไทยในทางที่ถูกต้องก็จะช่วยประเทศชาติได้ เพราะในภาพรวมที่องค์กรเหล่านี้เข้ามาก็เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ภายใต้การกำกับควบคุมด้วยระเบียบตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันมีองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หลายองค์กร จึงอยากให้กรมการจัดหางานได้รวบรวมข้อมูลขององค์กรเอกชนเหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับในระดับ Tier 3

ธ.ค. 2557 ประกาศกฎกระทรวงแรงงานเรื่องการคุ้มครองแรงงานประมง

เดือน ธ.ค. 2557 กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมง โดยมีเนื้อหาเพื่อสร้างมาตรฐานขั้นต่ำให้แก่แรงงาน รวมทั้งเรือประมงทั้งขนาดใหญ่และเล็กปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ม.ค. 2558 รัฐบาลตั้งอนุกรรมการ 5 ชุดแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทุกด้าน เน้นแก้ปมแรงงานเด็ก สตรี แรงงานบังคับ

เดือน ม.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อสรุปแผนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์รวม 21 ประเด็น ก่อนจัดทำรายงานนำเสนอสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ปรับระดับปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยให้ดีขึ้น หลังจากปรับสู่ "Tier 3" โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อดูองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ซึ่งได้เห็นชอบให้คณะกรรมการหลัก คือ คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย มีรองนายกฯทั้งหมดเป็นรองประธาน จากในปัจจุบันที่มีคณะกรรมการดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม เพื่อการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 คณะ ประกอบด้วย 1.อนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน 2.อนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน 3.อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน 4.อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน 5.อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

ม.ค. 2558 รัฐสรุป 6 เดือนการแก้ปัญหาค้ามนุษย์หวังปลดล็อก Tier 3

เดือน ม.ค. 2558 รัฐบาลได้สรุปผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน รวมทั้งการจัดทำรายงานความคืบหน้าการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงว่ามีการปรับปรุงในด้านของกฎหมาย 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมง ซึ่งมีการประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างมาตรฐานขั้นต่ำให้แก่แรงงาน รวมทั้งเรือประมงทั้งขนาดใหญ่และเล็กปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 2.การออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเหตุ และพนักงานผู้ดำเนินการ รวมทั้งกำหนดให้ทรัพย์สินที่ยึดมาครึ่งหนึ่งเป็นสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย 3.การคัดแยกผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และเกี่ยวโยงให้ได้รับการดูแลทั้งคนไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ยังได้จัดล่ามแปลภาษาเพื่อความชัดเจน โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้ความร่วมมือและช่วยเหลือต่อไป และล่าสุดสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ.ประมง เพื่อคุ้มครองและป้องกันแรงงานประมงให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะมีผลบังคับใช้ 60 วัน พร้อมกำหนดค่าปรับสูงสุดกับผู้กระทำความผิดสูงสุดถึง 30 ล้านบาท มุ่งให้เกิดผลทางจิตวิทยากับกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ และพฤติกรรมของผู้ที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้ตระหนักถึงผลที่ตามมา และไม่ให้หลงเชื่อขบวนการค้ามนุษย์ง่าย ๆ

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในปี 2557 ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีไปแล้ว 130 คดี ตัดสินลงโทษไปแล้ว 104 คน ซึ่งมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของอัยการและตำรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อความชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ในส่วนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั้ง 1.6 ล้านคน ก็จะดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 2558 เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการค้ามนุษย์ รวมทั้งเตรียมพร้อมแรงงานให้เข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะต้องชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุดต่อไปกระทรวงการต่างประเทศกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยในขณะนี้ เพื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือ TIP Report ล่าสุดจะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะครอบคลุม และจะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานด้านแรงงานและการค้ามนุษย์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามีการพูดคุยกับสหรัฐอย่างต่อเนื่อง พบว่าสหรัฐมีท่าทีในเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศยังเดินสายชี้แจงต่อหน่วยงานสหรัฐที่เกี่ยวข้องในความคืบหน้าการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ใน 2 คดีที่พบใน จ.ปัตตานี และ จ.พังงา ว่า ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อสอบสวนและดำเนินการเอาผิดต่อไป

"นายกรัฐมนตรีได้กำชับในการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าห้ามละเว้นไม่ว่าจะเป็นใคร ใส่เครื่องแบบใดก็ตาม โดยต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มงบประมาณให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบโดยตรง และกรณีพบเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด และยังมีการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรมเพื่อดำเนินการควบคู่กันไป"

ม.ค. 2558 มติ ครม. บริจาค 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ยูเอ็นลุยค้ามนุษย์

เดือน ม.ค. 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 ครม.มีมติเห็นชอบดำเนินการตามคำขอของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้มีการบริจาคเงินเข้ากองทุนสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2 เป็นจำนวนเงินเดิมตั้งแต่ครั้งที่ 1 คือ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระบุว่าแม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก แต่เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและประเทศทางสหภาพยุโรปจับตามองอยู่ และลดระดับความน่าเชื่อถือต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยลงมาเป็น Tier 3

ม.ค. 2558 กลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติส่ง จม.ร้องนายกฯ ค้านแนวคิดให้ผู้ต้องขังไปทำงานบนเรือประมง

เดือน ม.ค. 2558 หลังจากมีคนในรัฐบาลเสนอแนวคิดนำผู้ต้องขังไปทำงานบนเรือประมงเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานั้น วันที่ 15 ม.ค. 2558 นายฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า องค์กรนอกภาครัฐและองค์กรแรงงานในระดับภูมิภาค รวมถึงในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย รวม 45 องค์กร ได้ร่วมกันจัดทำจดหมายและส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความกังวลต่อข้อเสนอของพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะให้มีการจัดหาผู้ต้องขังไปทำงานบนเรือประมง เนื่องจากการใช้แรงงานจากผู้ต้องขังเป็นการละเมิดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึง จรรยาบรรณและระเบียบปฏิบัติของบริษัทต่างชาติหลายบริษัท อีกทั้งอาจจะไม่สามารถแก้ไขต้นตอปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงที่ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น การดำเนินโครงการนี้อาจตอกย้ำข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไทยไม่พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนเรือประมง และอาจกลายเป็นปัจจัยที่ขัดขวางไม่ให้ไทยได้รับการจัดอันดับให้ดีขึ้นจาก Tier 3 (กลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี 2558 นายโรเบิร์ตสัน กล่าวอีกว่า รายงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าเรือประมงไทยหลายแห่งมีการเอาเปรียบแรงงานเพื่อเพิ่มผลกำไรให้กับการประกอบธุรกิจ โดยในปี 2557 สำนักข่าวหลายสำนักได้นำเสนอสภาพการทำงานที่โหดร้ายซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมง อาทิ การลักลอบค้ามนุษย์ การละเลยไม่จ่ายค่าจ้าง การบังคับใช้แรงงานถึงวันละ 20 ชั่วโมงบนเรือประมงบางลำ เป็นต้น ดังนั้น ข้อเสนอนี้ไม่อาจแก้ปัญหาสภาพการทำงานที่ทารุณ และปัญหาอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมประมงได้ แม้กระทรวงแรงงานจะยืนยันว่าจะใช้เฉพาะผู้ต้องขังที่สมัครใจ แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ความสมัครใจเนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักไม่อาจปฏิเสธการถูกบังคับจากเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบสภาพการทำงานและการบังคับการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานในภาคประมง จึงไม่อาจรับประกันได้ว่ากระทรวงแรงงานจะคุ้มครองผู้ต้องขังที่จะทำงานบนเรือ ให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานไทย แต่หากมีการดำเนินโครงการนี้จริง บริษัทต่างชาติที่ซื้อผลผลิตอาหารทะเลของไทยจะต้องถูกกดดันจากลูกค้า และจะพบกับมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นจากผู้ตรวจสอบของรัฐบาลในแต่ละประเทศ อีกทั้งผู้ค้ารายใหญ่ในประเทศตะวันตกอาจไม่ซื้อสินค้าที่มีแหล่งผลิตจากประเทศที่มีการใช้แรงงานจากผู้ต้องขัง ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรหยุดโครงการดังกล่าวของกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมทันที เพราะทางเดียวที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมง คือรัฐบาลไทยควรบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานซึ่งจะช่วยดึงดูดให้มีแรงงานอยากมาทำงานมากขึ้น

 ม.ค. 2558 ผบ.ตร.ออกนโยบายคาดโทษวินัย-อาญาท้องที่หากละเลยค้ามนุษย์

เดือน ม.ค. 2558 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เปิดเผยว่า ได้สั่งการในที่ประชุมบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย รอง ผบ.ตร. จนถึงผู้ช่วย ผบ.ตร.และตำแหน่งเทียบเท่า เน้นย้ำเรื่องป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็น นโยบายสำคัญของรัฐบาล เพราะประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทางของการค้ามนุษย์ ถูกจัดกลุ่มที่มีการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ระดับ Tier 3 ซึ่งถือว่าต่ำสุด วันนี้รัฐบาลและทุกส่วนราชการจัดทำรายงานแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยในส่วนของ ตำรวจรับผิดชอบการใช้กฎหมายและคัดแยกเหยื่อผู้เสียหายซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าจะต้องไม่มีการค้ามนุษย์ในทุกพื้นที่โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานเด็กในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ขอทาน ขายดอกไม้ การบังคับค้าประเวณี ค้าประเวณีเด็ก การบังคับใช้แรงงานในเรือประมง การใช้แรงงานทาส และการใช้แรงงานผิดกฎหมายชาวโรฮิงยา ผบ.ตร. ระบุว่าตนได้มีหนังสือสั่งการไปยัง ผู้บัญชาการ(ผบช.)ทุกพื้นที่ รวมทั้ง ผบช. ตำรวจตระเวนชายแดน ผบช.ตรวจคนเข้าเมือง ผบช.สอบสวนกลาง ผบช.สันติบาล ให้ไปกำชับ ผู้บังคับการ(ผบก.)หน่วยและหัวหน้าสถานีตำรวจ ให้กวดขันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย โดยให้ป้องกันปราบกราม จับกุมอย่างจริงจัง ทั้งนี้ให้ ผบก.นครบาล และผบก.ภ.จว.ประสาน สตม. สันติบาล ตชด. สอบสวนกลาง และหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำข้อมูลพื้นฐาน สถานที่กลุ่มเสี่ยงให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะเป้าหมายภาคประมง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร โรงงาน สถานประกอบการ สถานบริการ คาราโอเกะ ร้านอาหารที่มีหญิงบริการแอบแฝง โดยให้สืบสวนหาเป้าหมายหากพบพฤติการณ์ เกี่ยวข้องการค้ามนุษย์ ให้ขยายผลพิสูจน์ทราบเครือข่าย หานายทุนผู้หนุนเบื้องหลัง รวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมแล้วจับกุมดำเนินคดีโดยเร็ว

ผบ.ตร. ระบุว่ามอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.ด้านกฎหมายในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็กเยาวชนและสตรี(พดส.) ตร. ตรวจสอบสำนวนคดีค้ามนุษย์ ที่รับแจ้งในปี 2557 และให้คำแนะนำการสอบสวนให้มีคุณภาพ สามารถพิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดนำสู่การลงโทษตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฎ หากพบทำเป็นขบวนการ มีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ให้พิจารณาส่งให้ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์(บก.ปคม.)สอบสวน ทั้งนี้กำชับให้ รองผบ.ตร. ที่ปรึกษา(สบ10) ผู้ช่วยผบ.ตร. และงานพสด.ตร. กำกับดูแลตำรวจทุกหน่วยให้ปฏิบัติตามคำสั่ง และดำเนินการเรื่องการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง หากมีความบกพร่อง อันเกิดจากการละเลย ไม่เอาใจใส่ ให้พิจารณาดำเนินการทั้งทางปกครองและทางอาญาโดยเด็ดขาด

ม.ค. 2558 ก.แรงงาน เผยผลตรวจแรงงานใน 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล

เดือน ม.ค. 2558  ดร.นพดล กรรณิการ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานว่าในขณะนี้กระทรวงแรงงานมีการออกตรวจแรงงานประมงทะเลทุกวัน และรายงานสรุปทุกสัปดาห์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการป้องกันและลดทอนความเหลื่อมล้ำของประชาชน เช่น มาตรการการกีดกันทางการค้า หากเราไม่สามารถหลุดพ้นจากสถานะการจัดอันดับTier 3 ผลกระทบที่ตามมาคือมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาและ EU จะได้รับผลกระทบเกินกว่าร้อยละ 20 หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่าความเดือดร้อนจะส่งผลไปยังประชาชน ผู้ประกอบการ และผลประโยชน์ชาติ ทั้งนี้เพื่อความตระหนักในความเดือดร้อนดังกล่าว รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจึงได้ให้มีการปฏิบัติการตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อค้นพบในการพิจารณาเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการค้ามนุษย์ คือ สังคมไทยต้องตื่นตัว ต้องตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ประชาชนคนไทยน่าจะออกมาร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่ตัวชี้วัดที่ค้นพบเรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น คนไทยยังรู้สึกห่างกับปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น การกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน ความตระหนักของประชาชนในเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์จะช่วยเป็นแรงเสริมให้เราหลุดพ้นจากการถูกจัดอันดับTier 3 ดังนั้นรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงเร่งรัด เข้มข้นต่อการทำงานของทุกหน่วยปฏิบัติของหน่วยงานกระทรวงแรงงาน รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย จึงเห็นภาพการทำงานร่วมกันในการลงพื้นที่ตรวจแรงงาน เนื่องจากมีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการตรวจแรงงานประมงทะเล ซึ่งเป็นการตรวจที่มุ่งเน้นเรื่องการค้ามนุษย์เพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานและลดความเสี่ยงไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักเรื่องการตรวจแรงงานประมงทะเล โอกาสนี้มีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมลงพื้นที่ตรวจด้วย เป็นการตรวจแบบบูรณาการสหวิชาชีพใน 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจสถานประกอบกิจการ 112 แห่ง ลูกจ้าง 1,735 คน ตรวจสถานประกอบกิจการเจ้าของเรือประมงทะเล 162 แห่ง เรือ 414 ลำ ลูกจ้าง 1,936 คน ผลการตรวจพบว่า ยังไม่มีการดำเนินการในลักษณะเข้าข่ายการกระทำความผิด นอกจากนั้นมีการประชุมชี้แจงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมงทะเลที่ออกมาใหม่ให้แก่ลูกจ้าง/นายจ้างในกิจการประมงทะเล 736 แห่ง มีลูกจ้างเข้ามาร่วมรับฟัง 4,620 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่าการฝ่าฝืนให้ความร่วมมือ กำลังรอเรื่องการทำสัญญาจ้างแรงงานประมงทะเลอยู่ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่งการทำสัญญาจ้างจะนำไปสู่การดำเนินคดี เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาลูกจ้างมักจำชื่อเรือไม่ได้ มีกติกาการคุ้มครองอย่างไร ดังนั้นต่อไปการจัดระเบียบการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลสามารถนำไปสู่การคุ้มครองและดำเนินคดีด้านแรงงานได้ เอกสารสัญญาจ้างดังกล่าวจะเก็บไว้ที่นายจ้างและลูกจ้าง จึงเป็นที่ยอมรับและรักษามาตรฐานส่วนหนึ่ง โดยนายอารักษ์ระบุว่าผลสัมฤทธิ์ในการตรวจหวังเพียงว่าจะลดความเสี่ยงในการนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้ 60 % แล้วค่อยเพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ หวังว่ากฎหมายใหม่จะเตรียมความพร้อมมากขึ้นในการบังคับใช้แรงงานประมง ส่วนแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจมากขึ้น

ก.พ. 2558 เร่งปฏิบัติตามข้อเสนอ EU ขึ้นทะเบียนเรือประมงแล้ว กว่า 5 หมื่นลำ

เดือน ก.พ. 2558 กระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประชุมการแก้ปัญหา ตามที่สหรัฐฯ ได้จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในระดับ "Tier 3" และกำลังจะประเมินไทยอีกครั้งกลางปีนี้ รวมทั้งการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU) ที่ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้เตือนมา และคาดว่า EU จะออกใบเหลืองแจ้งเตือนสินค้าประมงไทยปลายเดือน ก.พ.นี้นั้น โดยกระทรวงแรงงานระบุว่าการแก้ปัญหา แรงงานเด็ก ตามที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เตือนปัญหาดังกล่าวคาดว่าไทยจะผ่านพ้นได้ เพราะกระทรวงแรงงานได้เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น เห็นได้จากสถิติการจับกุมที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามที่สหรัฐและ EU ตั้งข้อสังเกตและแนะนำให้ปฏิบัติคือ ไทยมีกฎหมายด้านแรงงาน มีการบังคับใช้หรือไม่ แต่การดำเนินการของกระทรวงแรงงานได้ออกตรวจทุกวัน เช่น แรงงานเด็ก จนได้รับการชื่นชมจากสหรัฐ จึงไม่กังวล พร้อมเปิดให้ทุกประเทศเข้ามาตรวจสอบ ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระบุว่าในส่วนที่ EU ได้เสนอให้ไทยเร่งดำเนินการ 4 เรื่อง 1.การจดทะเบียนเรือซึ่งดำเนินการแล้ว 51,205 ลำ ออก ใบอนุญาตทำประมง 25,216 ลำ 2. ตั้งศูนย์ บัญชาการควบคุมการเฝ้าระวังการทำประมง กว่า 20 แห่ง ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายประมง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 มีการจับกุมผู้กระทำ ความผิดได้ 176 คดี ผู้ต้องหา 878 ราย และ 3.จัดทำระบบติดตามเรือหรือวีเอ็มเอส จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ กับเรือขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป และ4.การรายงานเมื่อเรือเข้า-ออก จากท่าเรือ ส่วนการทำประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย ที่บังคับใช้กฎหมายกับเรือต่างประเทศเข้มงวดรวมถึงเรือประมงไทย จะมีการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย ใน 3 ประเด็น 1.แนวทางการลงทุนการทำประมงร่วมกันในอนาคตระหว่างไทย-อินโดนีเซีย 2.ข้อห้ามต่าง ๆ ของทางการอินโดนีเซียที่ใช้กับไทยจะยืดเวลาออกไปได้หรือไม่ เพราะไทยปรับตัวตามระเบียบใหม่ของอินโดนีเซียไม่ทัน เช่น เครื่องมือการทำ ประมง และ 3.การลงทุนร่วมกันในลักษณะอาเซียน จะเปิดเออีซีกันในสิ้นปี 2558

ก.พ. 2558 กลุ่มสิทธิมนุษยชนอังกฤษระบุรัฐบาลทหารไทยล้มเหลวแก้ปัญหาค้ามนุษย์

เดือน ก.พ. 2558 มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (London-based Environmental Justice Foundation) กลุ่มสิทธิมนุษยชนของอังกฤษระบุไทยยังคงล้มเหลวในการป้องกันการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิในอุตสาหกรรมประมง

"เมื่อปีที่แล้ว เราไม่เห็นหรือได้ยินอะไรที่บ่งชี้ว่าไทยได้ดำเนินการอย่างมีความหมายสำหรับจัดการกับสาเหตุรากเหง้าของการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิ"  ตีฟ เทรนท์ กรรมการบริหารของมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อมระบุในถ้อยแถลง "รัฐบาลไทยต้องดำเนินมาตรการที่ชัดเจน มีผลสำคัญและต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง"

มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF) ระบุในเอกสารสรุปว่าไทยล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามการคอรัปชันของพวกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมถึงหาตัวเหยื่อค้ามนุษย์และเหยื่อแรงงานบังคับบนเรือประมง แม้ว่าพวกเขาได้ปฏิบัติการลาดตระเวนตรวจตราตามทะเลเมื่อปีที่แล้วก็ตาม มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อมชี้ว่า รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจจัดการกับอุตสาหกรรมนายหน้าแรงงานที่ไร้กฎระเบียบ ที่ภาคเอกชนบอกว่าเป็นผู้อำนวยความสะดวกหลักในขบวนการค้ามนุษย์และละเมิดแรงงานต่างด้าว "จากความล้มเหลวเหล่านี้และการเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบของการค้ามนุษย์และล่วงละเมิดต่างๆในอุตสาหกรรมประมงตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ทาง EJF ของแนะนำอย่างหนักแน่นว่าไทยควรยังอยู่ใน Tier 3 ต่อไปในปี 2015"  EJF กล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ นานาและปฏิรูปเพื่อต่อสู้กับปัญหาค้ามนุษย์

มี.ค. 2558 เปิดตัวเรือประมงต้นแบบยึดตามกฎคุ้มครองแรงงาน-สั่งตรวจเรือประมงเถื่อนอย่างเข้มข้น

เดือน มี.ค. 2558 มีการเปิดตัวเรือประมงต้นแบบเป็นประมงขนาด 200 ตันกรอสที่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงโดยมีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เครื่องเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดดื่มได้ มีห้องพยาบาล และมีบุรุษพยาบาลประจำเรือ และนายจ้างของเรือประมงต้นแบบนี้ได้มีการจัดทำสัญญาจ้างการทำงาน ทะเบียนแรงงาน ไม่มีการใช้ลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปี และจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท นอกจากนี้ได้มีการติดตั้ง ระบบติดตาม Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งจะทำให้ทั้งเจ้าของเรือและเจ้าหน้าที่รัฐที่ศูนย์ควบคุมทราบเส้นทางการเดินทางของเรือ จึงน่าจะเป็นเรือต้นแบบตัวอย่างเรือประมงที่ดีทำตามข้อกำหนดสากล ไร้แรงงานทาส ลูกจ้างอยู่ดีมีสุขในการทำงานบนเรือ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลของเรือต้นแบบอีก 11 ลำ ที่ออกไปทำประมงอยู่เขตน่านน้ำต่างประเทศ โดยเรือลำหนึ่งจะมีลูกเรือประมาณ 25-38 คน ระยะเวลาออกเรือลำหนึ่งนาน 5-6ปี แต่ลูกเรือจะอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วจะมีเรือแม่ไปรับกลับบ้าน กำหนดให้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท แต่ไต้กงเรือจะได้ประมาณ สองหมืนกว่าต่อเดือน โดยตกลงโอนเข้าบัญชีให้ลูกจ้างแต่ละคน มีการแจ้งทะเบียนลูกจ้างให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทราบทุกครั้งที่มีการออกเดินเรือหรือเมื่อมีการปรับเปลี่ยน พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานกำหนด แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจจะใช้แรงงานต่างด้าว

มี.ค. 2558 เร่งโรดโชว์หวังสหรัฐปลด Tier 3

ระหว่างวันที่ 13-18 มี.ค. 2558 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปกรุงบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศไทยด้านปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์ ให้แก่ ล็อบบี้ยิสต์, ภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐของประเทศสหรัฐฯ เบื้องต้นมั่นใจว่าผลของความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันของภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง หวังให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์จาก Tier 3 เป็น Tier 2 ให้ได้

มี.ค. 2558 สื่อตีข่าวลูกเรือประมงไทยติดเกาะที่อินโดนีเซีย รัฐบาลเร่งประสานลูกเรือไทยร่วม 700 คนกลับไทย

เดือน มี.ค. 2558 นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานหรือ (LPN) ได้เปิดเผยว่าตัวแทนอดีตลูกเรือประมงไทยในอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิฯ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลที่ศูนย์ร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ไทยเร่งรัดดำเนินการวางแผนและนโยบายช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานจำนวนมากยังติดอยู่บนเกาะต่างๆ ที่อินโดนีเซีย แต่ทางมูลนิธิฯ และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน หน่วยงานด้านความมั่นคงทราบข้อมูลและเคยบุกช่วยเหลือนั้นมีทั้งหมด 3 แห่ง คือ เกาะอัมบน เกาะตวนและเกาะเบจินา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีการประมาณการว่า มีลูกเรือไทยที่รอดชีวิตและยังติดบนเกาะดังกล่าวประมาณ 500-600 คน ที่ผ่านมาช่วยได้ไม่ถึง 100 คน

นายสมพงศ์ ระบุว่าได้ส่งทีมงานไปเก็บข้อมูลบนเกาะเหล่านี้มาแล้ว 5 ครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 – มกราคม 2558 ซึ่งพบว่าบนเกาะเหล่านี้ยังมีคนไทยตกค้างอยู่อีกนับพันคน นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มใหญ่ไม่น้อยกว่า 2 พันคนที่ตกค้างเพราะทางการอินโดฯ ปิดน่านน้ำ คนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ทางการไทยยังไม่ขยับเท่าที่ควร  โดยจากการสำรวจของทีมงานยังพบด้วยว่า มีหลุมฝังศพของแรงงานไทยอยู่บนเกาะเหล่านั้นนับร้อยหลุม โดยคนงานมีทั้งคนพิการ คนตาบอด คนเร่ร่อนซึ่งถูกกวาดไปจากท้องถนนเพื่อไปทำงานบนเรือประมง บางส่วนถูกยาสลบและพาไปขึ้นเรือโดยมีเมืองมหาชัยเป็นจุดใหญ่ บางส่วนก็เป็นแรงงานที่สมัครใจเพราะต้องการไปหาเงิน แต่ไม่รู้มาก่อนว่าต้องเจอสภาพการณ์อันเลวร้าย โดยต้องทำงานเหมือนทาส

นายสมพงค์กล่าวว่า ยิ่งเข้าใกล้การเป็นประชาคมอาเซียน ดูเหมือนวิกฤตแรงานไทยในต่างประเทศ มีชะตากรรมที่แย่ลงทุกขณะ โดยลูกเรือส่วนมากที่ทางหน่วยงานในไทยค้นพบนั้น มักอาศัยอยู่ร่วมกับพม่า กัมพูชา บางคนถูกปลอมชื่อเป็นแรงงานประเทศอื่น ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะจัดนโยบายคุ้มครองแรงงานให้เป็นเรื่องระดับชาติ ระดับภูมิภาค โดยอาจทำข้อตกลงความร่วมมือในการเร่งให้ความช่วยเหลือ เริ่มตั้งแต่ประสานงานพื้นที่ไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งเพิ่มโทษทั้งทางแพ่งและอาญาแก่นายจ้างและผู้เกี่ยวข้องที่ทำผิดด้วย นอกจากนี้ จะต้องปรับระบบการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง โดยมีการตรวจสอบสัญญาจ้างที่แน่ชัด ซึ่งอำนาจดังกล่าวเป็นของทางการไทยเท่านั้นที่จะเข้าไปขอทางการอินโดนีเซียเพื่อดำเนินการ และหน่วยงานภาคประชาชนได้แค่แฝงตัวเข้าไปช่วยเหลือ

โดยหลังจากที่สื่อเผยแพร่ข่าวนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เข้าพบเพื่อรับนโยบายก่อนออกเดินทางว่า การหารือวันนี้เพื่อหาทางนำคนไทยประมาณ 700 คน กลับประเทศไทย ส่วนค่าปรับของลูกเรือที่อาจถูกดำเนินการนั้นอยู่ระหว่างการพูดคุยว่าจะต้องเสียค่าปรับในส่วนใดบ้าง เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย

มี.ค. 2558 เส้นตายขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เลื่อนไปเป็น มิ.ย. 2558 ผ่อนผันให้ทำงานได้ถึง มี.ค. 2559

ในเดือน มี.ค. 2558 หลังจากที่วันที่ 31 มี.ค. 2558 เป็นเส้นตายที่รัฐบาลขีดไว้ว่าการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั้ง 1.6 ล้านคน ก็จะดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2558 ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถือใบอนุญาตทำงานที่ออกให้ ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงาน ต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ยังไม่ได้เข้ารับการตรวจสัญชาติภายในวันที่ 31 มี.ค. 2558 ให้มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2558 และขอรับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปี และได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2559 เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จ

เม.ย. 2558 นายกฯประกาศการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ

เดือน เม.ย. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบนโยบาย “การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์” เป็นวาระแห่งชาติ เร่งรัดบูรณาการทำงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม เดินหน้าขจัดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ พร้อมดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทั้งข้าราชการและพลเรือนอย่างเด็ดขาดในโอกาสนี้ ผู้บริหารระดับสูงที่เข้าร่วมรับฟัง ได้แก่ อาทิ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการ ปปง. อธิบดี DSI และ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจนครบาล1-9 และผู้เข้ารับมอบนโยบายกว่า 500 คน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีความจริงจังที่ในการประกาศให้การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ หมายความว่า ทุกๆ ท่าน ณ ที่นี้ จะต้องเร่งทำหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใครที่ยังคิดจะเอาเปรียบและหาประโยชน์โดยมิชอบจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด และโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ หรือละเลยไม่ทำหน้าที่ ขอประกาศว่า บุคคลเหล่านี้ต้องไม่มีที่ยืนในสังคมไทยอีกต่อไป

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงปัญหาค้ามนุษย์ว่า มีรูปแบบต่างๆ เช่น ค้าประเวณี ขอทาน การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในภาคต่างๆ เช่น ภาคประมง ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานในประเทศไทย หลายประเทศก็จับตามองเราอยู่มานานเกือบสิบปี ทำให้ไทยถูกมองจากต่างประเทศว่า เป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้ามนุษย์ และมองว่า ไทยยังพยายามไม่พอกับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเป็นระบบ ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่หาประโยชน์จากแรงงานทั้ง ไทยและต่างชาติ ส่วนสำคัญของปัญหาค้ามนุษย์ทุกวันนี้ คือ ปล่อยให้ข้าราชการหรือลูกจ้างในภาครัฐเอาอำนาจไปใช้ในทางที่ผิด เร่งสร้างมุมมองสังคมไทย ถือการค้ามนุษย์เป็นภัยใกล้ตัว นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความเป็นห่วงถึงทัศนคติของสังคมไทยว่า หลายคนคิดว่าการค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือ การใช้แรงงานบังคับที่นายจ้างสามารถจ่ายเงินค่าแรงถูกๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการกำลังทำในสิ่งผิดกฎหมาย และไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์เป็นเรื่องใกล้ตัวกับพวกเราทุกคน ยกตัวอย่างเช่น แก๊งขอทานที่ลักพาตัวเด็ก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาบังคับใช้เป็นขอทาน หรือแม้จะไม่บังคับ แต่การนำเด็กมาทำงานใดๆ ก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

นายกรัฐมนตรียังได้อธิบายนิยามคำว่า “ค้ามนุษย์” ว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หมายถึงการเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาหรือนำตัวไปส่งยังที่ใด หน่วงเหนี่ยว กักขัง จัดให้ที่อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยการข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดย ให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล พูดง่ายๆ คือ มีการกระทำความผิด 3 ส่วน คือ การกระทำ วิธีการ และวัตถุประสงค์ ที่นำไปสู่การหาประโยชน์โดยมิชอบจากเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ไม่ว่าคนๆ นั้นจะยินยอมสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะเป็นเรื่องจิตสำนึก คุณธรรมและจริยธรรม ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องพึงมี เป็นการเคารพและคงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเพื่อนมนุษย์ ทุกคนรักตัวเอง รักครอบครัวตัวเอง ก็ต้องปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยดีเช่นกัน สังคมไทยเป็นสังคมที่นักท่องเที่ยวมองว่าเป็นสังคมที่มีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจให้กัน แต่มีคนเห็นแก่ตัวบางกลุ่มที่ทำงานเพื่อเอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จนทำให้ประเทศชาติเสียหายและกำลังจะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลด้วย

การแก้ไขกฎกระทรวงและข้อกฎหมายต่าง ๆ บูรณาการการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลนี้ได้เร่งแก้ไขกฎกระทรวงและข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ ท่านทำงาน นับแต่นี้เป็นต้นไป จะไม่มีข้ออ้างใดๆ อีกแล้ว และทุกหน่วยงาน จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง เดินหน้าแก้ปัญหา ในเรื่องการค้ามนุษย์ (TIP) และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU)

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายโดยหยิบยกตัวอย่าง การปล่อยให้สถานบริการเปิดเกินเวลา การปล่อยให้มีการลักลอบ ค้าประเวณีหรือค้าประเวณีเด็กในสถานบริการ การปล่อยให้มีการใช้แรงงานเด็กใน โรงงาน สถานประกอบการ จะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่ดำเนินการผิดกฎหมาย รวมทั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันในภาคประมงอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง 5 เสือ หรือ 6/7 เสือ ทั้งฝ่ายปกครอง แรงงาน ประมง เจ้าท่า ตำรวจท้องที่ ตำรวจน้ำ ตรวจคนเข้าเมือง อุตสาหกรรม ทหารบก ทหารเรือ ว่า ใครบกพร่อง ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าบกพร่องหลายหน่วยก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เป็นทีมบูรณาการ หน่วยสนับสนุน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต้องช่วยดูเรื่องนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ช่วยเรื่องการคุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเข้มแข็งและจริงจัง ในการตรวจแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ทั้งในเรื่องของการดูแลคุ้มครองคนไทย แรงงานไทยในต่างแดน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า วันนี้มีการประกาศนโยบายชัดเจนแล้ว ก็ขอให้ทุกหน่วยไปเร่งดำเนินการ ขอให้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนให้เข้มงวด กวดขัน จริงจัง ทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบ ของท่าน ต่อไปถ้าบกพร่องจะมาโทษกันหรือขอร้องอ้อนวอนไม่ให้มีการลงโทษ ไม่ได้ ถือว่าพูดกันแล้ว ฝากท่านรัฐมนตรีทุกกระทรวง ช่วยกำชับ กวดขัน ถ้าหน่วยงานใดไม่ให้ความร่วมมือ ปล่อยปละละเลย หรือยังมีผู้มีอิทธิพล ต้องสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่าง แต่มิใช่ จ้องจับผิดซึ่งกันและกัน แต่ขอให้ช่วยกันทำงาน เพราะการทำงานป้องกันปราบปรามและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่ายและ ไม่ใช่งานที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะทำสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ขอให้ทุกคนช่วยกันทำงานเป็นทีมด้วยความสามัคคี หลังจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แสดงความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าการค้ามนุษย์นับเป็นวาระแห่งชาติ ที่เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทั้งแรงงานเถื่อน แรงงานเด็กและภาคประมง โดยยึดหลักสากล ต้องสร้างความเป็นธรรมและร่วมบูรณาการ

เม.ย. 2558 EU ให้ใบเหลืองประมงไทย กรณีทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ขีดเส้นตายไทยแก้ปัญหา 180 วัน

วันที่ 21 เม.ย. 2558 สหภาพยุโรป (EU) ได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขและปฏิรูปมาตรการกวาดล้างเรือประมงและการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยต้องมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ มิเช่นนั้น EU จะระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากผู้ประกอบการของไทยและอาจทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้ราวปีละ 575-730 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,240-25,696 ล้านบาท รายงานของ EU ระบุด้วยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกสินค้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของ EU ดังนั้นหากมีมาตรการคว่ำบาตรเกิดขึ้นจริงผู้ประกอบการในด้านนี้จะได้รับผล กระทบหนักมาก อย่างไรก็ตามการที่ร้อยละ 15 ของปริมาณปลาซึ่งถูกจับได้ทั่วโลกมาจากการประกอบการอย่างผิดกฎหมายและสร้างรายได้ให้แก่ตลาดมืดมากกว่าปีละ 10,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 352,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ระบบนิเวศและชาวประมง รวมถึงผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ EUที่จะมีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้มีลักษณะเทียบเท่าการให้ใบเหลืองแก่รัฐบาลไทย ซึ่งสามารถกลับคืนสู่สถานะสีเขียวที่เป็นสถานะปกติได้หากทางการไทยเร่งแก้ไขปัญหานี้ตามข้อเรียกร้องของ EU แต่หากไม่เกิดผลที่น่าพอใจอาจนำไปสู่การได้ใบแดงและมาตรการคว่ำบาตรด้านการค้า

การที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้พิจารณาคำประกาศเตือนทางการไทย เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU) จากเดิมต้องพิจารณาเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2558 และต้องเลื่อนการพิจารณา พร้อมการประกาศผลพิจารณา และมาตรการต่อไทยออกไป

โดยการให้ใบเหลืองไทย นั่นหมายถึง EUมีมาตรการมุ่งให้ไทยเปลี่ยนนโยบายในการจัดการกับปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย และปัญหาขาดการควบคุมในการทำประมง มิฉะนั้นอาจเจอคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปภายในสิ้นปีนี้ โดยไทยจะต้องเร่งแก้ปัญหาภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน และหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้จะถูกให้ใบแดง ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าทางทะเลไปยังยุโรปคาดว่าจะเป็นผลในปลายปี 2558  

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่โดยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าประมงในแต่ละปีราว 5 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท นับเป็นรายได้หนึ่งในสิบของการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรป ส่วนสถานการณ์ด้านปริมาณสัตว์น้ำสำรองทั่วโลกได้ลดลงจนน่าเป็นห่วงทำให้ EUต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อจัดการกับกลุ่มประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นานาชาติ โดย EUอ้างว่า การทำประมงเถื่อนคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของการทำประมงทั่วโลก และสร้างรายได้ราว 1 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 340,000 ล้านบาท ในตลาดมืด ซึ่งการทำประมงเถื่อนได้ทำลายทั้งสภาพแวดล้อมและชุมชนชาวประมงอย่างไรก็ตาม EU หวังว่า จะสามารถเริ่มสร้างความร่วมมือกับไทย เพื่อปรับปรุงแนวทางการรับมือกับปัญหาด้วยการเพิ่มความเข้มงวด ในเชิงปฏิบัติและปิดช่องว่างทางกฎหมายที่กลุ่มประมงเถื่อนฉกฉวยไปใช้เป็นข้ออ้างนี้

เม.ย. 2558 ไทยแถลงระบุผิดหวัง EU ให้ใบเหลืองประมงไทย

เดือน เม.ย. 2558 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างแระเทศ ได้แถลงข่าวภายหลังจากรับทราบกรณีที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกคำประกาศให้ใบเหลืองไทย ว่า ไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออก ประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่า EU มิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ ปัญหา IUU รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับ EU ในการต่อต้าน การประมง IUU ที่มีมายาวนาน ไทยเรียกร้องให้ EU พิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มี ความโปร่งใสและเที่ยงตรง อย่างไม่เลือกประติบัติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับ EU เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบ IUU ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน"

นายเสข กล่าวต่อว่ารัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบIUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก6 แผนงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่าง ต่อเนื่อง ได้แก่ (1) การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง (2) การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (3) การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง (4) การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง (5) การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) และ (6) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้การรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำประมงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลนี้ และรัฐบาลจะยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาภายใต้การนำของผู้นำ ระดับสูงต่อไป

เม.ย. 2558 ภาคเอกชนและภาครัฐ เดินทางไปชี้แจงที่บรัสเชลล์

ระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย. 2558 ภาคเอกชนไทยหน่วยงานภาครัฐก็จะเดินทางไปยังกรุงบรัสเชลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในต่างประเทศถึงขอกล่าวหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับการจัดงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่กรุงบรัสเซลล์ด้วย

เม.ย. 2558 คสช. ออกประกาศจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย

29 เม.ย. 2558 คสช. ได้ออกคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” โดยตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 จากนั้นได้ตั้งศูนย์ตรวจเรือเข้าออก (Port-In, Port-Out: PIPO) อีก 28 แห่งใน 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อผลักดันแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล

พ.ค. 2558 พบแคมป์และสุสานฝังศพชาวโรฮิงญา อ.สะเดา จ.สงขลา

เดือน พ.ค. 2558 ตำรวจทหารและฝ่ายปกครองได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่บนเทือกเขาแก้ว หมู่ที่ 8 บ้านตะโละต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา พบค่ายกักกันจำนวนหลายสิบหลัง มีชายชาวโรฮีนจา ที่ถูกทอดทิ้งไว้ในค่ายและป่วยหนัก 1 ราย และเมื่อตรวจสอบโดยรอบค่ายกักกันแห่งนี้ก็ยังพบหลุมฝังศพจำนวน 32 หลุม

หลังจากนั้นได้มีการตื่นตัวในหลายภาคส่วน มีการย้ายตำรวจในพื้นที่ รวมทั้งออกหมายจับขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นและคนของกองทัพด้วย

พ.ค. 2558 กรมประมงเตรียมเปิดใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port in - Port out) พร้อมกันทั้งหมด 28 ศูนย์ ใน 22 จังหวัดชายทะเล

6 พ.ค. 2558 กรมประมงจะดีเดย์เริ่มทดลองใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า – ออกของเรือประมง (Port in - Port out) สำหรับเรือประมงที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ก่อนจะออกไปทำการประมง และกลับเข้าเทียบท่า ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกของเรือประมงที่กำหนด เพื่อให้มีการรายงานข้อมูลการทำประมงรวมถึงแรงงานบนเรือประมง อาทิ ทะเบียนเรือ เครื่องมือทำการประมง ใบอนุญาตทำการประมง ผลจับสัตว์น้ำจากสมุดบันทึกการทำประมง (logbook) ตลอดจนบุคคลทำการประมงประจำเรือ (กัปตัน เจ้าของเรือ แรงงานบนเรือ) โดยจะต้องแจ้งก่อนเรือเข้า-ออก ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ที่เรือประมงแจ้งจะถูกนำไปใช้ตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งถือเป็นการสร้างกฎกติกาใหม่ภายใต้ระบบสากล ให้ชาวประมงถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จึงชี้ให้เห็นว่า ระบบ Port in – Port out สามารถควบคุมการทำประมงไม่ให้เป็น IUU ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยข้อกำหนดที่เรือและเครื่องมือต้องถูกต้องมีใบอนุญาตทำประมง มีการใช้แรงงานที่ถูกต้อง มีสัญญาจ้าง ถือเป็นการควบคุมกำกับของหน่วยงานรัฐที่เบ็ดเสร็จ ที่จะแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องประมง IUU และการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมง

มิ.ย. 2558 พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกเข้ามอบตัวคดีค้ามนุษย์ กรณีโรฮิงยา

เดือน มิ.ย. 2558 พล.ท.มนัส พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการพบสุสานฝังศพชาวโรฮิงญา โดยถูกแจ้งข้อหาทั้งหมดรวม 13 ข้อหาเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านี้ อาทิ สมคบและร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำการอันเป็นการค้ามนุษย์ โดยกระทำต่อบุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี, ร่วมกัน ช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลต่างด้าว ที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและร่วมกันเรียกค่าไถ่, อาชญากรข้ามชาติ, ทำร้ายร่างกาย, ช่วยซ่อนเร้นศพ

มิ.ย. 2558 ไทยส่งรายงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้สหรัฐฯ เห็นชอบกฎหมายเอาผิดผู้ประกอบการ-สถานประกอบการ

เดือน มิ.ย. 2558 จากการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการการค้ามนุษย์ (ปคม.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้มีการเปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ เพื่อส่งไปยังสหรัฐฯ ให้ปลดล็อกไทยจากTier 3 เป็นTier 2 ว่าขณะนี้ทางการไทยได้รายงานความคืบหน้า การดำเนินการที่ผ่านมาของทางการไทย เช่น การจับกุมการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ไปแล้ว และต้องรอว่าผลจะออกมาอย่างไร เนื่องจากสหรัฐฯ จะประเมินผลในปลายเดือนนี้ ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เน้นย้ำให้การดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ และดูแลผู้หลบหนีเข้าเมืองจะต้องปฎิบัติตามหลักมนุษยธรรม ส่วนวันนี้ที่ประชุมเห็นชอบพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2558 โดยให้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครอง ในการลงโทษผู้ประกอบการ,สถานประกอบการ,โรงงาน,เรือ,และยานพาหนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งจากเดิมจะลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาอย่างเดียว ดังนั้นหากผู้ประกอบการใดปล่อยปะละเลยให้มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ก็จะถูกลงโทษด้วย ซึ่งเบื้องต้น คือ การสั่งปิดชั่วคราว นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้อนุมัติร่างประกาศ ที่ถือเป็นอนุบัญญัติของกฎหมายซึ่งประกาศว่า สถานประกอบการ โรงงาน เรือ และยานพาหนะใดบ้าง ที่จะเป็นสถานที่ ที่อยู่ในการควบคุม ทั้งนี้ร่างประกาศทั้ง 2ฉบับนี้ จะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าควรดูแลอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการค้ามนุษย์ ซึ่งร่างทั้ง 2 ฉบับนี้ ขั้นตอนต่อไปก็จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรอประกาศใช้ต่อไป

ก.ค. 2558 เรือประมงระส่ำโดนกฎหมายคุมเข้ม ต้องจอดรอทีท่า ราคาอาหารทะเลพุ่งสูงขึ้น

เดือน ก.ค. 2558 ตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ออกคำสั่งให้เรือประมงลำใดที่ผิดกฎหมายและไม่ผ่านการตรวจสอบเอกสาร 15 รายการประกอบด้วย 1.อาชญาบัตร 2.ทะเบียนเรือไทย 3.ใบอนุญาตใช้เรือ4.ใบประกาศนายท้าย 5.ใบประกาศช่างเครื่อง 6.ใบอนุญาตใช้วิทยุ 7.ใบประกาศนียบัตรใช้วิทยุ 8.บัตรประชาชน 9.บัตรประชาชนนายท้ายเรือ 10.บัตรประชาชนช่างเครื่อง 11.บัตรประชาชนไต๋เรือ 12.ทะเบียนลูกจ้าง 13.บัตรสีชมพู 14.สัญญาจ้าง และ 15.ติดตั้งเครื่องบอกพิกัดเรือและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย นั้นจะไม่สามารถออกทำการประมงได้เพื่อควบคุมเรือประมงให้เป็นไปตามกฎหมายการทำประมง โดยให้มีผลบังคับอย่างเคร่งครัดในวันที่ 1 ก.ค. 2558 เป็นต้นไปนั้น

ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 เรือประมงทั่วประเทศซึ่งมากที่สุดคือที่ภาคใต้ต้องจอดรอทีท่าที่ชัดเจน ไม่ออกไปทำการประมงเนื่องจากลัวผิดกฎหมาย โดยจากการสำรวจตัวเลขในหลายจังหวัดของภาคใต้พบว่า ที่ จ.สงขลา ซึ่งมีเรือประมงอยู่ประมาณ 1,000 ลำ มีเรือที่ถูกต้องตามกฎหมายประมงเพียง 100 ลำเศษดังนั้นจึงมีเรือจอดเทียบท่า 800 กว่าลำ เช่นเดียวกับที่ จ.ปัตตานี จ.นครศรีธรรมราช จ.สตูล จ.ตรัง และอื่น ๆ ที่ เรือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์หยุดทำประมงโดยมีเรือเพียง 20% เท่านั้นที่ถูกต้องและออกทำการประมงได้ สิ่งที่ตามมากับการจอดเทียบท่าของเรือประมงในภาคใต้ไม่ได้หมายความว่านายทุนเจ้าของเรือเพียงฝ่ายเดียวที่เดือดร้อนแต่ลูกเรือและแรงงานจำนวนมากทั้งในเรือ และบนฝั่งที่เป็นลูกจ้างแพปลาและอื่น ๆ จำนวนมาก ต้องตกงานไปด้วย ส่วนกิจการที่เกี่ยวข้องกับเรือประมงคือแพปลา ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่นและโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลคือ "ห่วงโซ่" ที่ได้รับผลกระทบ และผลกระทบที่ตามมาคือ พ่อค้า แม่ค้าปลาในตลาดสด แม่ค้าข้าวแกง และประชาชนผู้กินปลาทุกครัวเรือน พบว่าหลังจากเข้าสู่วันที่ 6 ของการหยุดจับปลาอาหารทะเลทุกชนิดต่างทยอยปรับราคาขึ้นสูงขึ้น

ก.ค. 2558 สหรัฐฯ ยุโรปและสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ วิจารณ์กรณีไทยส่ง 109 ชาวอุยกูร์กลับให้จีน

เดือน ก.ค. 2558 สืบเนื่องจากเมื่อ มี.ค. 2557 ชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคน ได้หลบหนีเข้าประเทศไทย และรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน รัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนดำเนินการส่งหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติให้แก่ฝ่ายไทยพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการส่งตัวให้ฝ่ายจีนต่อไป จากนั้นในเดือน ก.ค. 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ จำนวน 109 คน ให้กับจีน ซึ่งการกระทำนี้ของรัฐบาลไทย ได้ทำให้สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน

ก.ค. 2558 สหรัฐอเมริกายังจัดอันดับไทยคงที่ Tier3 ระบุตั้งใจแต่ยังดำเนินการไม่เพียงพอ

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2558  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยยังคงอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) โดยรายงานประจำปี 2558 นี้ครอบคลุมความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2557 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2558 โดยได้ระบุว่าแม้ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการประสานงานระหว่างหน่วยงานการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ทว่า ในช่วงเวลาของการทำรายงาน ไทยมิได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยากลำบากนี้ การจัดระดับประเทศในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์พิจารณาจากการประเมินบันทึกการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยมิได้คำนึงถึงบริบททางการเมืองของประเทศนั้น ๆ

ในรายงานระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการปราบปรามการค้ามนุษย์ตลอดช่วงการทำรายงานฉบับปี 2559 และตลอดไป เราขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยใช้กรอบกฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไขตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาโดยรวมของรัฐบาลเพื่อขยายความพยายามเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้แรงงานและเพื่อธุรกิจทางเพศออกจากกลุ่มประชากรที่อ่อนแอทั้งหลาย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นในการค้ามนุษย์ โดยดำเนินการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมถึงผู้บังคับใช้แรงงานในเรือประมงหรือผู้ก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ

รัฐบาลสหรัฐฯ ชื่นชมที่นับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2558 เป็นต้นมา ทางรัฐบาลไทยได้ยกระดับความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการสร้างหน่วยงานพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีค้ามนุษย์และจับกุมบุคคลจำนวนมากที่อาจมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ กับแรงงานข้ามชาติในภาคใต้ของไทย รายงานฯ ของปีหน้าจะครอบคลุมการดำเนินการหลังวันที่ 31 มี.ค. 2558

ตลอดปีหน้านี้ (2559) สหรัฐฯ คาดว่าจะมีการดำเนินความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กับไทยทั้งในประเทศไทยและบนเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยประเด็นสำคัญนี้ สหรัฐฯ จะยังคงมอบความช่วยเหลือทางวิชาการเฉพาะด้านตามที่รัฐบาลไทยร้องขอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและดำเนินคดีปราบปรามการค้ามนุษย์ อีกทั้งให้การสนับสนุนเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของสถาบันด้านการบังคับใช้กฎหมายและหลักนิติธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการฝึกอบรมร่วมระดับภูมิภาคผ่านสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรุงเทพมหานคร และสหรัฐฯ จะยังคงร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยจัดการคดีการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ตลอดจนสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและทางการท้องถิ่นเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และช่วยเหลือเหยื่อ

รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยเพื่อรับมือปัญหาสำคัญนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ทั่วโลกของสหรัฐฯ

ก.ค. 2558 เผยแพร่ท่าทีของไทยจากการถูกสหรัฐฯจัดอันดับในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ประจำปี 2558

เดือน ก.ค. 2558 หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี2558 โดยในปีนี้ประเทศไทยถูกจัดให้คงอยู่ที่ระดับ Tier 3 ของ TIP Report กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แถลงว่า ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนสิงหาคม2557 รัฐบาลได้ “ปฏิรูป” การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุก ๆ ด้าน เช่น

(1) ด้านนโยบาย รัฐบาลได้ประกาศย้ำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติและจัดตั้งกลไกระดับชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมขับเคลื่อน มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (2) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ มีการจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (3) ด้านการป้องกัน มีการแก้ไขและจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า 1.6 ล้านคนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทย และแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการถูกเอาเปรียบ (4) ด้านการคุ้มครอง การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย (5) ด้านความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ประเทศไทยได้มีบทบาทนำทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาคในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่อไป

ส.ค. 2558 รัฐบาลใช้มาตรา44 เชือดซ้ำประมงเถื่อน ห้ามเครื่องมือ 6 ชนิด

เดือน ส.ค. 2558 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหา การทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คสช. ได้ออกคำสั่ง ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำ การประมงผิดกฎหมาย ขาดการ รายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ฉบับหนึ่งแล้ว เพื่อจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อผลักดันแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล โดยมีรายละเอียดห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมงดังต่อไปนี้ (1) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ ประกอบกับเรือยนต์ เว้นแต่การใช้เครื่องมือ อวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงและเงื่อนไขที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศ กำหนด (2) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือ กั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน (3) เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน (4) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ (5) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร (6) เครื่องมือทำการประมงอื่นตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงขนาดของเรือที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด

ส.ค. 2558 ศาลอาญา เปิด 3 แผนกคดีใหม่ ค้ามนุษย์-คอร์รัปชัน-ยาเสพติด

10 ส.ค. 2558 ได้มีพิธีเปิดทำการแผนกคดีค้ามนุษย์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และแผนกคดียาเสพติดในศาลอาญา จากนั้นมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญาในคดีค้ามนุษย์ระหว่างศาลอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การดำเนินคดีค้ามนุษย์เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยตัวแทนของศาลอาญาระบุถึงความจำเป็นในการจัดตั้ง 3 แผนกคดี เนื่องจากคดีทั้ง 3 ประเภทนี้มีลักษณะแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป คือเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ผู้กระทำความผิดมักเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือองค์กรอาชญากรรมที่มีเครือข่ายกว้างขวาง รวมทั้งการแสวงหาพยานหลักฐานในคดีที่ทำได้ยาก พยานมักถูกข่มขู่คุกคามจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพยาน และคดีมีกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนและวิธีพิจารณาคดีไว้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคดีเหล่านี้จะมีผู้เสียหายจำนวนมาก หรือจำเป็นต้องสืบพยานล่วงหน้าสำหรับพยานที่อยู่ในต่างประเทศ การพิจารณาคดีทั้ง 3 ประเภทนี้ควรมีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีพิจารณาที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ดำเนินกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การจัดตั้งแผนก 3 คดีดังกล่าวอาจมีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อนำมาตรการพิเศษที่จำเป็นมาใช้พิจารณาพิพากษาคดีของศาลด้วย เพื่อให้ศาลสามารถไต่สวนคู่ความได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากจำเลยหลบหนีควรให้นับอายุความในระหว่างหลบหนีเพื่อมิให้จำเลยใช้วิธีการหลบหนีรอให้คดีขาดอายุความ สำหรับบันทึกข้อตกลงที่จัดทำขึ้นมีความร่วมมือใน 2 ด้านหลัก คือจัดให้มีศูนย์ประสานงานคดีค้ามนุษย์ในแต่ละหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและแก้ไขข้อขัดข้องในการดำเนินคดี รวมทั้งคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและพยานไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553-2557 มีจำเลยที่ทำผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แล้วถูกศาลพิพากษาไปแล้วถึง 490 คน ในจำนวนนี้มีจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป 316 คน หรือคิดเป็นเป็นร้อยละ 64 ของจำเลยที่ถูกศาลพิพากษา

ส.ค. 2558 รัฐบาลเผยตัวเลขช่วยลูกเรือไทยจากอินโดนีเซียแล้ว 940 ราย

เดือน ส.ค. 2558 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ประสบปัญหาที่อินโดนีเซีย ปัจจุบันยังคงมีแรงงานเดินทางกลับจากอินโดฯอย่างต่อเนื่อง โดยการช่วยเหลือจาก พม. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557-3 ส.ค.2558 รวม 940 ราย จากผลการคัดแยกพบว่า เข้าข่ายการค้ามนุษย์ 51 ราย ไม่เข้าข่าย 877 ราย และมีหมายจับคดีอาญา 12 ราย สำหรับกรณีรับลูกเรือประมง 2 ครั้งหลังคือ 29 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา จากเกาะเบนจิน่าและเมืองปอนเดียนัก การคัดแยกพบว่าลูกเรือจากเกาะเบนจิน่า 30 คน ไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ลูกเรือประมงจากเกาะปอนเดียนัก 39 ราย 1 คนมีหมายจับคดีอาญา ผลคัดแยก 38 คน เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 16 คน ส่วนการรับลูกเรือประมงครั้งล่าสุดวันที่ 3 ส.ค. 2558 อีก 35 คน ไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ทั้งหมด

ส.ค. 2558 กมธ.ต่างประเทศ สนช. โวยสหรัฐฯ กรณียังให้ไทยอยู่ Tier 3

เดือน ส.ค. 2558 นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) ประจำปี2558 และยังคงจัดอันดับประเทศไทยไว้ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier3) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่ำสุดในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ว่า การกล่าวอ้างว่าไทยไม่ได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง กมธ.ต่างประเทศมีความสงสัยในวิธีการพิจารณาเพื่อจัดทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่ไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา และรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่มหามิตรอย่างสหรัฐฯ มองข้ามความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่องมาตลอด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงอยากถามว่าสหรัฐฯ ใช้มาตรฐานใดในการจัดลำดับประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส.ค. 2558 รองผู้ช่วยทูตสหรัฐฯ ลงพื้นที่สงขลาเป็นจุดสุดท้ายก่อนสรุปข้อมูลให้รัฐบาลสหรัฐฯ

เดือน ส.ค. 2558 นายโรเบิร์ต  อับแรมส์ รองผู้ช่วยทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สหรัฐซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการอพยพทางเรือ โดยเฉพาะปัญหาชาวโรฮีนจา เดินทางลง พื้นที่มาดูงานและติดตามการปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยทั้งในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจภูธรภาค 9 รวมทั้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำรวจน้ำ และ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้รองผู้ช่วยทูตสหรัฐพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงเรื่องการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นเวลา 45 วัน ตามคำเชิญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง จ.สงขลา เป็นพื้นที่สุดท้าย โดยหลังจากนี้จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดไปสรุป เพื่อเสนอให้กับรัฐบาลสหรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยอีกครั้งหนึ่ง

ส.ค. 2558 เกิดเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ และท่าน้ำสาทร มีการโยงขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ-อุยกูร์

เดือน ส.ค. 2558 เกิดเหตุลอบวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ และท่าน้ำสาทร โดยทั้ง 2 เหตุการณ์ มีความพยายามเชื่อมโยงขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการที่รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์หลบหนีเข้าเมืองให้รัฐบาลจีน

ก.ย. 2558 มหาดไทยกำชับทุกจังหวัดเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ โชว์ตัวเลข

เดือน ก.ย. 2558 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ว่าตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากระดับTier 3 กระทรวงมหาดไทย (มท.)ได้นำนโยบายมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมาย ให้กรมการปกครองเร่งขับเคลื่อนภารกิจการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ภายใต้แผนโรดแมพ 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1.การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติระดับตำบล หมู่บ้าน และชุมชน 2.การป้องกัน เฝ้าระวัง เน้นความสำคัญด้านการข่าว 3.การเพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนแจ้งเบาะแสผ่านศูนย์ดำรงธรรมทุกระดับ 4.การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด 5.การคุ้มครองช่วยเหลือ ผู้เสียหายและพยาน 6.การตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด และ 7.การประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้นทั้งในระดับกระทรวง จังหวัด และอำเภอ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนถึงถึงปัจจุบัน มีความคืบหน้าดังนี้ในด้านการป้องกัน กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชาในปี 2557 และในปี 2558 ได้เปิดให้มารายงานตัวใหม่อีกครั้ง จำนวน 1,050,068 ราย เพื่อผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีก 1 ปี รอการพิสูจน์สัญชาติต่อไป สำหรับการเปิดต่ออายุและจดทะเบียนใหม่เฉพาะแรงงานประมงปี 2558 อีกจำนวน 80,418 ราย จะดำเนินการให้สถานะที่ถูกต้องกับชนกลุ่มน้อย และบุคคลไร้สัญชาติซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ขณะที่การสกัดกั้นและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเข้าถึงเครือข่ายค้ามนุษย์ รวมถึงการรับแจ้งข้อมูลข่าวสาร ได้มีการประสานงานกับทุกภาคส่วนและทุกระดับ ตั้งแต่ระบบการข่าว ระบบฐานข้อมูล และการปฏิบัติเพื่อสกัดกั้นการลำเลียงคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทุกพื้นที่ โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการระดับตำบลมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบผู้หลบหนีเข้าเมืองหรือผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการค้ามนุษย์ในพื้นที่ของตนเอง และพัฒนากลไกการรับแจ้งข้อมูลเบาะแสผ่านเครือข่ายศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ สำหรับการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยพนักงานฝ่ายปกครองสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปราม จับกุม ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้มีการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานประมง แรงงานในโรงงาน สถานประกอบการ และการบังคับค้าประเวณีในสถานบริการ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ รวมทั้งการนำคนมาขอทาน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ส่งดำเนินคดีจำนวน 16 คดี ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้จำนวน 160 คน และลงพื้นตรวจสอบติดตามนายจ้าง สถานประกอบการ และสถานที่เสี่ยงอื่น ๆ กว่า 5,758 แห่ง ตลอดจนการสนธิกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่ที่อาจเป็นพื้นที่พักพิงของกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งพื้นที่ป่าเขา พื้นที่ชายแดนและเกาะแก่งต่าง ๆ โดยประสานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 และหน่วยกำลังในพื้นที่ดำเนินการแล้วใน 67 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น และต่อเนื่องทั้งด้านการป้องกัน การดำเนินคดี และการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ยึดหลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดสิ้นไปจากประเทศไทย

ก.ย. 2558 กระทรวงแรงงานเผยพิสูจน์แรงงานต่างด้าวแล้ว 269,394 คน

เดือน ก.ย. 2558  กระทรวงแรงงานเปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานจำนวน 1.6 ล้านคน โดยมีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2558 จำนวน 1,049,326 คน และส่วนของกิจการประมงจำนวน 54,402 คน รวม 1,103,728 คน แบ่งเป็นเมียนมา 484,747 คน ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ 242,305 คน โดยได้รับการยืนยันจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยจำนวน 16,394 คน จากจำนวนดังกล่าวได้รับหนังสือเดินทางแล้ว 6,094 คน คงเหลือผู้ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 468,353 คน และอยู่ระหว่างรอการออกหนังสือเดินทางจำนวน 10,300 คน ส่วนสัญชาติลาว 140,270 คน ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติและผ่านการตรวจสัญชาติจนได้รับหนังสือเดินทางแล้ว จำนวน 43,364 คน คงเหลือผู้ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 96,906 คน และสัญชาติกัมพูชา 478,711 คน ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ 209,636 คน โดยได้รับหนังสือรับรองสถานะแล้ว 1,646 คน คงเหลือผู้ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 269,075 คน และอยู่ระหว่างรอการออกหนังสือเดินทางจำนวน 207,990 คน รวมมีแรงงานต่างด้าวผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 269,394 คน และได้รับหนังสือเดินทางแล้ว 51,104 คน ทั้งนี้จากยอดมารายงานตัวดังกล่าวพบว่า มีจำนวนแรงงานต่างด้าวลดลงจากยอดที่มาจดทะเบียนในปี 2557 จำนวน 522,507 คน จากทั้งหมด 1,626,235 คน

ก.ย. 2558 ประชุมแก้ปัญหาค้ามนุษย์ นายกฯระบุปัญหาค้ามนุษย์ไม่ใช่แค่หลุด Tier 3 แต่ต้องไม่มีอีก-ร่างรายงานผลเสร็จ ธ.ค. 2558

เดือน ก.ย. 2558 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย สรุปสาระสำคัญของประชุม ดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนต้นของการประชุมในวันนี้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ และถือเป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกัน ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ดีขึ้นในสายตาของนานาประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ แต่ต้องการให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและไม่ต้องการให้มีการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในประเทศไทย ในที่ประชุม มีการสรุปผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 5 คณะ ให้ที่ประชุมรับทราบ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ (2) คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(3) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว (4) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU) และ (5) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยในที่ประชุมมีเรื่องเพื่อพิจารณาที่สำคัญ 2 ประเด็น กล่าวคือประเด็นแรก การพิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของทางราชการ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุน หรือไปมีส่วนร่วม ตลอดจนเพิกเฉยต่อการกระทำที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้เน้นความสำคัญในเรื่องของการประกันตัว โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำจุดสำคัญเรื่องการที่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือหรือรับความช่วยเหลือจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉยหรือทำให้เกิดการค้ามนุษย์ และในเรื่องของการประกันตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้ทำการลงโทษได้ทันที ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ และจะไปดำเนินการปรับและนำไปสู่การบังคับใช้ต่อไปซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้แล้วเสร็จภายใน 15 ต.ค. 2558  ประเด็นที่ 2 ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2558 โดยกล่าวถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งในด้านนโยบายและการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ (policy) ด้านการป้องกัน (prevention) รวมถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก การค้ามนุษย์ด้านประมง ขอทาน ฯลฯ ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย (prosecution) ตลอดจน ด้านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศ (Partnership)

โดยรายงานฉบับนี้เป็นการรายงานประจำปีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และจะจัดส่งให้ประเทศต่างๆได้รับทราบ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ หรือTIP Report โดยที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องกรอบเวลาโดยกำหนดให้ร่างเอกสารแล้วเสร็จภายใน 15 ธ.ค. 2558 อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรีได้ขอให้มีการเร่งรัดการจัดทำรายละเอียดสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 15 ต.ค. 2558 และขอร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 15 พ.ย. 2558

โดยรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเอกสารรายงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสรุปผลการปฏิบัติงาน รวมถึงความก้าวหน้าต่างๆการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย และสั่งการว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันทำ และร่วมกันรับผิดชอบในแต่ละสาขาให้มีความสมบูรณ์ และยังได้กำชับให้เน้นเรื่องหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ให้เร่งรัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยรวมถึงการแก้ไขปัญหาแรงงาน ให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการในเรื่องการจัดหาแรงงานที่ถูกต้องเข้ามาสู่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะด้านประมง ด้านปัญหาจากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการทางเพศกับเด็ก (Child sex) นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้โดยเร็ว รวมถึง สื่อลามกอนาจารต่างๆ       

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการและกำชับเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหาย หรือพยาน ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปคุ้มครองและดูแลให้สามารถเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างปลอดภัย และสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ได้ถึงที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำงานจะสัมฤทธิผลได้นั้นต้องคำนึงว่าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้หลุดจากTier 3 แต่ต้องการไม่ให้มีปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นเลย โดยเน้นการไม่เอารัดเอาเปรียบ ตามหลักมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังกำชับว่าข้าราชการ และเจ้าหน้าจะต้องไม่เพิกเฉยและขับเคลื่อนทำให้เกิดผล รวมถึงการทำรายงานขอให้เน้นผมสัมฤทธิ์ของงานว่าเกิดผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน ให้มีการประเมินเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

ก.ย. 2558 แถลงข่าวปิดคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา สรุปใช้เวลาเพียง 5 เดือน

29 ก.ย. 2558 ตำรวจแถลงข่าวปิดคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา หลังจากที่พบหลุมศพชาวโรฮิงญาเมื่อเดือน พ.ค. 2558 นับเป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งสรุปว่าคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาที่เกิดขึ้นมีผู้ต้องหาที่ออกหมายจับทั้งสิ้น 153 คน จับกุมได้ 91 คน หลบหนี 62 คนและแยกเป็นคดีฟอกเงิน 77 คนจับได้ 37 คนหลบหนี 40 คน โดยผู้ต้องหาที่จับได้ไม่ได้ รับการประกันตัวและถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำ อ.นาทวี จ.สงขลา

.ค. 2558 ครบกำหนด 6 เดือนที่ EU ต้องเข้ามาทำการตรวจ เพิ่มข้อเสนออีก 2 ข้อ

เดือน ต.ค. 2558 ครบกำหนด 6 เดือนที่ EU ต้องเข้ามาทำการตรวจประเมิน พบว่ามีข้อเสนอแนะเพิ่มขึ้นอีก 2 ประการ ได้แก่ เรื่องของการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย อีกประเด็นคือ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการดูแลแรงงานและการดูแลเรือให้ทำประมงอย่างถูกต้อง โดยข้อมูลทั้งหมดต้องเชื่อมต่อกัน

ต.ค. 2558 กรีนพีซตัดเกรด 14 ทูน่ากระป๋องในไทยสอบตกเพราะทำประมงไม่ใส่ใจทะเล

เดือน ต.ค. 2558 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงดำเนินโครงการจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทยคล้ายกับที่เคยดำเนินการมาแล้วในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยมีการใช้ทูน่าจากมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง และตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก มากถึง 800,000 ถึง 850,000 ตันต่อปี สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทูน่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 50 โรงงานที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก กรีนพีซระบุว่าเมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จัดอันดับให้อยู่ในTier 3 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุดในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 2558 (Trafficking in Persons Report : TIP) และยังได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เนื่องจากมีรายงานหลายฉบับที่ระบุว่าไทยล้มเหลวในการดำเนินมาตรการต่อกรกับการประมงผิดกฎหมาย และมีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกเป็นอย่างมาก จนทำให้ประเทศคู่ค้าเริ่มเกิดข้อจำกัดและต้องการตรวจสอบย้อนกลับว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของไทยใช้วัตถุดิบจากแหล่งใด ทำการประมงรูปแบบใดและเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่

โดยขั้นตอนดำเนินการเพื่อจัดอันดับนั้น กรีนพีซระบุว่าเริ่มจากการส่งทีมงานออกไปสำรวจตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตว่ามีปลากระป๋องแบรนด์ใดบ้างที่คนไทยบริโภค โดยสรุปออกมาได้ทั้งสิ้น 14 แบรนด์ ประกอบด้วย ทีซีบี, คิงส์คิทเช่น, นอติลุส, ซีคราวน์, ซีเล็ค, โอเชี่ยนเวฟ, เทสโก้โลตัส, แอโร่, บรูก, ท็อปส์, อะยัม, บิ๊กซีโฮม, เฟรช มาร์ท และโรซ่า จากนั้นจึงส่งแบบสำรวจอย่างละเอียดไปยังผู้ผลิตทั้งหมด โดยสอบถามถึงนโยบาย การปฎิบัติในการจัดหาวัตถุดิบปลาทูน่า, ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มา, เครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลา, ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงสภาพการทำงานและการปฎิบัติต่อแรงงานในอุตสาหกรรมปลาทูน่า โดยให้ผู้ผลิตตอบแบบสอบถามพร้อมแนบเอกสารเชิงนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมายังกรีนพีซภายในเวลา 30 วัน เพื่อให้คณะ กรรมการของกรีนพีซที่ประกอบไปด้วยนักวิจัย, นักวิชาการ, นักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศเป็นผู้ร่วมตัดสินให้คะแนน สำหรับผลการประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง 14 แบรนด์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย อัญชลี ระบุว่าไม่มีแบรนด์ใดเลยที่อยู่ในเกณฑ์ดีหรือดีมาก โดยมี 9 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ส่วนอีก 5 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุง จากการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น แต่ยังไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ "ดี" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลากระป๋องที่คนไทยนิยมรับประทานส่วนใหญ่ยังขาดความเข้มแข็งด้านการดำเนินนโยบายความยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนประชากรของปลาทูน่าในระยะยาว

ผลการสำรวจทำให้ทราบว่า ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องทุกแบรนด์ได้คะแนนต่ำมากในแง่การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เพราะไม่มีแม้กระทั่งการระบุว่าทูน่าที่นำมาใช้เป็นสายพันธุ์ใด ทำให้กรีนพีซเพิ่งตรวจพบว่าบางแบรนด์มีการนำทูน่าสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่าง ปลาทูน่าพันธุ์ตาโต (Big eye Tuna) และปลาทูน่าพันธุ์ครีบเหลือง (yellow fin) มาใช้สำหรับการผลิตเป็นปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยปลาทูน่าที่คนกินปกติจะมีอยู่ 5 สายพันธุ์ด้วยกัน อันดับแรกคือทูน่าครีบน้ำเงิน ตัวนี้ไม่ใช่เป้าหมายทูน่ากระป๋องเพราะมีราคาแพงไว้สำหรับทำซาซิมิหรือโอโทโร่ที่เราทาน ที่นำมาทำปลากระป๋องคือทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ทูน่าท้องแถบ (skipjack), ทูน่าตาโตและทูน่าครีบเหลือง ซึ่ง 2 ชนิดหลังเสี่ยงมาก เพราะไม่ใช่แค่เหลือน้อย แต่ประมงยังคงจับอยู่เรื่อยๆ ตัวเล็กๆก็จับ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนให้มันโต ที่สำคัญคือประมงสมัยใหม่ใช้เครื่องมือจับแบบไม่เลือกชนิดปลา ทั้งนี้เครื่องมือจับปลาที่นิยมใช้กับปลาทูน่าในธุรกิจประมงปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 เครื่องมือคือ อวนล้อม, เบ็ดราวและเครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregation Devices : FADs) ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงทำลายเพราะเป็นการจับแบบสุ่มทำให้ปลาทูน่าตัวเล็ก หนูปลาชนิดอื่นๆ เช่น เต่า กระเบนและฉลามพลอยติดมาด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือล่อปลาที่ค่อนข้างไฮเทคเพราะมีหน้าตาคล้ายทุ่นหลายมุม ลอยอยู่เหนือผิวน้ำที่โดยรอบประกอบไปด้วยอวนที่จะมีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณระหว่างเรือเมื่อมีเหยื่อมาติดซึ่งทำให้เกิดสัตว์น้ำพลอยได้มากเกินจำเป็น ทั้งนี้ กรีนพีซได้จัดอันดับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องดังนี้ (จากคะแนนสูงสุดไปคะแนนต่ำสุด) 1.ทีซีบี 2.คิงส์คิทเช่น 3.นอติลุส 4. ซีคราวน์ 5.ซีเล็ค 6.โอเชี่ยนเวฟ 7.เทสโก้โลตัส 8.แอโร่ 9.บรูก 10.ท็อปส์ 11.อะยัม 12.บิ๊กซีโฮม 13. เฟรช มาร์ท 14.โรซ่า

ต.ค. 2558 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุไม่คว่ำบาตรไทยหลังได้ Tier 3 ต่อเนื่องกัน 2 ปี

เดือน ต.ค. 2558 นางสาวแครี จอห์นสโตน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ที่พบได้ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศสหรัฐ ทางสำนักงานฯ รู้สึกขอบคุณในความร่วมมือของทางการไทยที่รับทราบถึงปัญหา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ การหารือวันนี้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ทางการสหรัฐจะสนับสนุนการแก้ปัญหาของไทยต่อไป อาทิ การประชุมของฝ่ายเทคนิค และการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม ยืนยันว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจไม่คว่ำบาตรหรือใช้มาตรการลงโทษใดๆ ต่อไทย หลังไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ Tier 3 เนื่องจากคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และเป็นการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศ

ต.ค. 2558 ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

16 ต.ค. 2558 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ศปกค.รง.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแก้ปัญหากรณีประเทศสหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้ไทย อยู่ในบัญชีประเภทที่มีการค้ามนุษย์ระดับ 3 (Tier 3) เป็นระดับที่ต่ำสุดว่า โดยศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจะขับเคลื่อนงานตามแผนเร่งด่วน ในระยะแรกได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหา ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในระดับกรมและระดับจังหวัดเพื่อให้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับศูนย์ปฏิบัติการกลางที่กระทรวงแรงงานเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกกรม ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดตรวจแรงงานแบบบูรณาการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการใช้แรงงานในภาคการประมงทะเล ต้องบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง ทหารเรือ ตำรวจ จัดทำแผนออกตรวจในเชิงรุกในกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เช่น กิจการแปรรูปไก่ และการจ้างในลักษณะแรงงานรับเหมาช่วง

ธ.ค. 2558 สำนักข่าวเอพีเผยแพร่รายงานข่าว 'แรงงานทาส' ซ่อนอยู่หลัง 'กุ้งแกะเปลือก'

เดือน ธ.ค. 2558 สำนักข่าวเอพี สหรัฐอเมริกา รายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนอุตสาหกรรมประมงของไทยในชื่อ "ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก ขายกุ้งที่แกะเปลือกโดยทาส" เปิดเผยเบื้องหลังผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็ง ที่วางขายอยู่ในร้านค้าทั่วอเมริกา รวมถึงในยุโรป และเอเชีย

รายงานเจาะลึกตัวอย่างชะตากรรมแรงงานชาวพม่าที่ถูกใช้เยี่ยงทาสในโรงงานซึ่งปิดตัวจากโลกภายนอกในจังหวัดสมุทรสาคร ถูกปลุกตั้งแต่ตีสอง ถ้าไม่ลุกจะถูกตี จากนั้นทำงานแกะกุ้งนาน 16 ชั่วโมง ผู้คุมแรงงานจะไม่เรียกชื่อ แต่ใช้เลขรหัสแทน       

นายทิน โย วิน ซึ่งถูกเรียกว่าหมายเลข 31 ถูกขายมาอยู่โรงงานแกะกุ้งแห่งหนึ่ง พร้อมกับภรรยา และแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอีกเกือบ 100 คน ซึ่งมี เด็กเล็กๆ ที่เป็นลูกหลานมาด้วย แม้แต่เด็กหญิงตัวผอมบางก็ถูกบังคับใช้แรงงานที่ต้องเอามือแกะกุ้งในกองน้ำแข็งเย็นๆ ยืนที่โต๊ะแกะ อย่างนั้นทุกวันเป็นเดือนๆ โดยไม่ได้ค่าจ้าง ซ้ำร้ายสภาพความเป็นอยู่ก็ย่ำแย่ สกปรก แออัด ถ้าแกะกุ้งได้น้อย จะถูกด่าว่าควาย        

ทางผู้คุมโรงงานอนุญาตให้ออกไปข้างนอกได้เมื่ออีกคนอยู่ในบ้าน เพื่อรับประกันว่าอีกฝ่ายจะไม่หนีไป นายโย วิน ปรึกษากับภรรยา มาตลอดว่าต้องหนี โดยเฉพาะเมื่อผู้คุมขู่ว่าเจ้านายมีปืนอยู่ในรถ จะเอามายิงทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่มีทางที่ใครจะรู้         

สถานการณ์ค้ามนุษย์ส่งผลในด้านมืดที่ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็น ผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้รัฐบาลและเอกชนผู้ทำธุรกิจ จะประกาศคำมั่นสัญญาว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรม ส่งออกสินค้าประมงที่ทำมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 245,000 ล้านบาท แต่ปัญหาที่ยังมีอยู่สะท้อนให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นและร่วมกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ         

หลังจากปีที่แล้วเอพีเคยเปิดโปงชะตากรรมของประมงมากกว่า 2,000 ชีวิตในวงจรอุตสาหกรรมประมงไทยที่ถูกกักขังในอินโดนีเซีย จนเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหยื่อเหล่านี้ และนำไปสู่การจับกุมคนนับสิบยึดทรัพย์อีกหลายล้านดอลลาร์ รวมถึงมีการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาจัดการ แต่เมื่อสืบสวนสถานการณ์หลังจากนั้นกลับพบว่ากระบวน การดำเนินคดียังถือว่ามีน้อยมาก และเจ้าของกิจการเหล่านี้อีกหลายเจ้ายังลอยนวล       

จากภาพเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 เจ้าหน้าที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทหารและตำรวจบุกทลายโรงงานที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่บนถนนในเขตที่อยู่อาศัย หลังกำแพงอาคารที่ดูไม่ออกว่าเป็นโรงงานนรก แรงงานต่างด้าวบางคนหนีออกมาได้ และทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนช่วยไว้ พบว่ามีอย่างน้อย 3 แห่ง แต่ละแห่งมีคนงานอยู่ราว 50-100 คน หลายคนถูกล็อกให้อยู่แต่ข้างใน         

ผู้สื่อข่าวเอพี ใช้วิธีบันทึกภาพรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออกโรงงานแห่งนี้ และแกะรอยไปจนพบว่ารถวิ่งไปส่งสินค้ายังบริษัทส่งออกรายใหญ่ของไทย จากนั้นส่งไปยังสาขาผู้นำเข้าในสหรัฐ ซึ่งจะส่งต่ออีกทอดหนึ่งให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ วอลมาร์ท, โครเกอร์, โฮล ฟูดส์ และดอลลาร์ เจเนอรัล แอนด์ เพ็ตโก สรุปแล้วใน 50 รัฐล้วนมีสินค้าที่ใช้แรงงานทาสวางขายอย่างทั่วถึง เพราะสหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคอาหารทะเลมากที่สุดในโลก เฉลี่ยกว่า 589,670 ตันต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 1.8 กิโลกรัมต่อปี         

เอพีระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง ไทยเองถูกประเมินผลติดเทียร์ 3 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐติดต่อมาแล้ว สองปี ส่วนสหภาพยุโรปแถลงเมื่อ 18 ธ.ค. ขอคำอธิบายจากไทยอย่างทันท้วงที หากไม่ต้องการถูกแบนสินค้าประมง        

ซูซาน ค็อปเพดจ์ เอกอัคร ราชทูตฝ่าย ต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า บอกกับทางการไทยไปแล้วว่าให้พยายามแก้ไขปัญหา เพิ่มการดำเนินคดี และช่วยเหลือเหยื่อมากขึ้น ส่วนทางผู้บริโภคอเมริกันเองก็ควรแสดงท่าทีต่อบริษัทอาหารทะเลด้วยว่า "เราจะไม่ซื้อของที่ทำมาจากการใช้ทาส" 

ด้านรัฐบาลไทยตอบโต้รายงานชิ้นนี้ว่า "รัฐบาลขอเรียกร้องความเข้าใจ และเห็นใจจากทุกภาคส่วน ต่อกรณีการนำเสนอข่าวนี้ โดยการตรวจพบการกระทำผิดมิได้หมายความว่า ไทยสนับสนุนให้ใช้แรงงานทาส แต่ในทางตรงกันข้ามเรากำลังดำเนินการกับแรงงานผิดกฎหมาย และสร้างความเป็นธรรมให้แก่แรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย"

ธ.ค. 2558 รัฐแจงภาพแรงงานแกะกุ้งหลังสำนักข่าว AP เผยแพร่ข่าว ยันดูแลตามหลักกฎหมายสากล

เดือน ธ.ค. 2558 หลัง สำนักข่าวเอพีเผยแพร่รายงานข่าว 'แรงงานทาส' ซ่อนอยู่หลัง 'กุ้งแกะเปลือก' ซึ่งมีการนำเสนอถึงการจับกุมแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร นั้น พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ. ยืนยันว่า ภาพจริงที่เกิดขึ้นจากข่าว หยิบยกมาจากเนื้อข่าวที่เกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่ามีการกักขัง ไม่ดำเนินการจริงจัง ขอชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวเกิดจากการดำเนินการอย่างจริงจัง หลังจากที่อียูให้ใบเหลือง และในเดือนตุลาคมได้เข้ามาตรวจอีกครั้ง พบว่า มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่จึงขอให้รัฐดูแลในส่วนนี้ และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนเป็นวันดีเดย์ ได้ตั้งชุดเฉพาะกิจ 25 ชุด ครอบคลุม 22 จังหวัดชายทะเล ที่มีการระบุว่า แรงงานถูกสั่งให้ยืนทำงานทั้งวัน ขณะที่ภาพข่าวยังเป็นการนั่งแกะกุ้ง เป็นภาพในห้องขัง ซึ่งจริงๆ เป็นภาพตอนคัดแยกผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และจากการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ตั้งเป้า 125 โรงงาน ตรวจไปแล้ว 101 โรงงาน ทำให้ขณะนี้โรง งานที่ดำเนินการผิดกฎหมายลดน้อยลง       

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า มีสถิติการจับกุมแรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีไปแล้ว จำนวน 14 คดี แบ่งเป็น คดีค้ามนุษย์ 3 คดี และคดีที่มีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีก 16 คดี ทั้งยังมีคำสั่งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชุมพร รวม 8 คน ขอเรียกร้องให้สื่อนำเสนอครบทุกด้าน รัฐบาลกำหนดให้เป็น "วาระแห่งชาติ" ได้มีการ บูรณาการกันทั้งระบบและดูแลจริงจัง สามารถชี้แจงสื่อมวลชนและเอ็นจีโอและทุกภาคส่วนได้ ด้าน พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วยเหลือเหยื่อได้จำนวนมาก มีการคัดแยกเหยื่อ ตรวจสอบพบผู้ไม่มีเอกสารเข้าเมืองอย่างถูกต้อง 19 คน เป็นแรงงาน ต่ำกว่า 18 ปี 10 คน และบุคคลที่เป็นข่าวอีก 2 คน โดยขณะนี้อยู่ในการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนและได้ปิดโรงงานดังกล่าวไปแล้ว ทั้งยังจับกุมนายทุนที่อยู่เบื้องหลังได้ และมีการตั้งข้อหาหลายข้อหา

ธ.ค. 2558 'นครบาล' ติวเข้มคดีค้ามนุษย์

เดือน ธ.ค. 2559 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดโครงการเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เมืองมหานครสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ามนุษย์มาเป็นวิทยากรมาให้ความรู้ โดยมีข้าราชการตำรวจระดับหัวหน้างานสอบสวน, รอง ผกก.สส. และ สว.สส. ในสังกัด บก.น.1-9, บก.สส. และ กก.ดส.บช.น. จำนวน 200 นาย รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 50 คน เข้าร่วมรับฟัง

ม.ค. 2559 รัฐบาลแถลงความคืบหน้าแก้ไขปัญหาประมง IUU ระบุเรือ 4 หมื่นลำยัง “Over Fishing” อยู่

ในเดือน ม.ค. 2559 ได้มีการแถลงข่าวความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและความพร้อมรับการตรวจสอบจากคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ EU ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย โดยให้ข้อสังเกต และข้อแนะนำเบื้องต้น 3 ประการ ได้แก่ กฎหมายที่ไทยมีอยู่ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) และกฎหมายต่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบควบคุมติดตามเรือและตรวจสอบย้อนกลับยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ และการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังขาดการบูรณาการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง จากนั้นเดือน ต.ค. 2558 ครบกำหนด 6 เดือนที่ EU ต้องเข้ามาทำการตรวจประเมิน พบว่ามีข้อเสนอแนะเพิ่มขึ้นอีก 2 ประการ ได้แก่ เรื่องของการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย อีกประเด็นคือ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการดูแลแรงงานและการดูแลเรือให้ทำประมงอย่างถูกต้อง โดยข้อมูลทั้งหมดต้องเชื่อมต่อกัน

ทั้งนี้ ภายหลังไทยได้รับใบเหลืองเมื่อเดือน เม.ย. 2558 รัฐบาลได้สั่งการทันทีให้มีการตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มรูปแบบ เรียกว่า “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” โดยตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 จากนั้นได้ตั้งศูนย์ตรวจเรือเข้าออก (Port-In, Port-Out: PIPO) อีก 28 แห่งใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ก่อนบังคับใช้อย่างจริงจัง มีการปรับปรุงเครื่องมือประมง ขยายตาอวนต่าง ๆ ควบคุมจำนวนวันที่จับเป็นต้น

การแก้ไขด้านกฎหมาย ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดและออกกฎหมายลูกสำหรับนำกฎหมายหลักมาบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เรื่องหลักคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการจังหวัด โดยต้องมีการให้ความรู้ประชาชนผ่าน 28 ศูนย์ มีการออกคู่มือสำหรับทำการประมงอย่างถูกต้อง และคู่มือแนะนำเพื่อให้สามารถนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งแยกเป็นส่วนของกลุ่มต่างๆ ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ

การแก้ไขเรื่องระบบควบคุมติดตาม โดยวางระบบให้มีการตรวจสอบตามมาตรฐาน (Monitoring Control System: MCS) เป็นการวางระบบใหญ่ในการควบคุมและติดตามเรือในทะเลทั้งระบบ โดยที่เรือจะต้องทำการติด VMS ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้กว่า 40,000 ลำ แต่ะจะเจาะจงเฉพาะในเรือที่มีขีดความสามารถสูง คือ เรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 10,000 ลำ ในเบื้องต้น การติด VMS ดำเนินการในเรือที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปก่อน ตามข้อกำหนดที่ EU ให้แนวทางไว้ ซึ่งปัจจุบันติดไปแล้ว 93.7% จากจำนวนกว่า 2,000 ลำ ทำให้สามารถจับกุมเรือที่ทำผิดกฎหมายได้ เรียกว่าการวางระบบนี้เริ่มมีประสิทธิภาพจับต้องได้แล้ว

การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ได้มีการวางระบบ E-License พร้อมใช้งานในวันที่ 30 มี.ค. 2559 มีการพัฒนาระบบจัดระเบียบเรือเป็นแบบ Real Time และ Online มีการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ต่างๆ ให้เข้าใจตรงกันทั้งหมด มีการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ประกอบกับมีการอบรม Observer On Board ซึ่งจะเป็นผู้เฝ้าดูพฤติกรรมการทำประมงของเรือประมงนั้นๆ ว่าถูกต้องหรือไม่แล้วให้คำแนะนำ จากนั้นเก็บบันทึกหลักฐานไว้ ขณะนี้มีการอบรมแล้ว พร้อมปฏิบัติงานได้ในเดือน ม.ค. 2559 นี้ การแก้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ปัจจุบันได้มีการบูรณาการตั้งแต่ที่ศูนย์ PIPO ทั้ง 28 ศูนย์ มีชุดบูรณาการที่จะทำการตรวจสอบ โดยเน้นเรือที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป ทั้งในและนอกน่านน้ำ ซึ่ง EU กำหนดให้มีการตรวจที่ 10% แต่ขณะนี้ในประเทศมีการตรวจไป 474 ลำ คิดเป็น 215% ส่วนในเรือที่ทำการประมงนอกประเทศขณะนี้เหลือเพียง 13 ลำที่ออกทำการประมงอยู่และกำลังกลับเข้ามารับการตรวจสอบ

นอกจากนี้ ยังมีหลักการเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงห้ามมิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. …. มีการปรับสถานะแรงงานต่างด้าวในเรือประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำให้ถูกกฎหมาย ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ มีการดำเนินงานใน 2 ประเด็น คือ เรื่องแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่ประสงค์จะส่งแรงงานเข้ามาทำงานในไทย อาทิ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา และเรื่องความร่วมมือประเทศหมู่เกาะ ได้มีการลงนามความร่วมมือในการที่จะพัฒนาการทำประมงร่วมกัน เช่น ฟิจิ ปาปัวนิวกินี คิริบาติ โซโลมอน หมู่เกาะมาร์แชลล์

การช่วยเหลือชาวประมงและแรงงานประมง เนื่องจากมีการใช้ค่าจับสัตว์น้ำสูงสุดยั่งยืน (MSY) ในการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนเรือ และจำนวนสัตว์น้ำที่มีอยู่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าไทยยังมีการจับสัตว์น้ำเกินขีดความสามารถของทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ ผลที่ได้ส่งผลให้มีเรือต้องออกจากระบบ เมื่อมีการบังคับใช้เกิดขึ้น ประเด็นความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการควบคุมในส่วนของชาวประมงที่ต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือออกจากระบบ ในรอบแรกได้ให้การช่วยเหลือชาวประมงที่ยื่นเสนอไว้ 873 ลำ ในวงเงิน 228 ล้านบาท ดำเนินการช่วยเหลือแล้วกว่า 70% และรอบ 2 คือการช่วยเหลือเกี่ยวกับการรับซื้อเรือที่ประสงค์จะเลิกกิจการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 วงเงิน 215 ล้านบาท จากงบสร้างปะการังเทียม และการให้ความช่วยเหลือเรือประมงพื้นบ้านด้วยการออกประกาศแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยเปิดเวทีรับฟังจากกลุ่มต่าง ๆ และแม้ปัจจุบันมีจำนวนเรือประมง 41,753 ลำ ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันนั้นยังเกินขีดความสามารถทรัพยากรอยู่ แต่รัฐบาลระบุว่าจากจำนวนเรือดังกล่าวเทียบกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มี ทางภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการควบคุมวันในการทำประมง เพื่อควบคุมทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในเกณฑ์ที่สมดุลจากการทำประมงอย่างพอดี

ได้มีการออกกฎหมายลูกตามมาอีก 52 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายเร่งด่วนเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันประมง IUU และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วจำนวน 35 ฉบับ อาทิ กฎหมายในเรื่องการอนุญาตทำการประมงในน่านน้ำ นอกน่านน้ำ หรือประมงพื้นบ้าน กฎหมายเรื่องการอนุญาตใช้เครื่องมือประมง รวมไปถึงเรื่องของการมีผู้สังเกตการบนเรือประมง ซึ่งมีความสำคัญที่จะทำให้การควบคุมการทำประมงมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องแผนบริหารจัดการประมงเป็นอีกประการที่มีความสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาการทำประมงของไทยเป็นการทำประมงอย่างเสรี แต่ในกรอบนโยบายประมงฉบับใหม่จะมีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรไปตามสัดส่วนทรัพยากรที่มีอยู่จริงที่ได้มาจากการสำรวจและเก็บข้อมูล นอกจากนี้รัฐบาลยังระบุว่าจากการสำรวจทางวิชาการด้านทรัพยากรทางประมง ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนว่าทรัพยากรประมงจำพวกปลาผิวน้ำมีอัตราการจับต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 35-50% ส่วนปลาหน้าดินมีอัตราเพิ่มขึ้น 4-10% ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีการเก็บต่อเนื่องไป แต่เราเห็นแนวโน้มในการพัฒนาของทรัพยากรที่ดีขึ้น

ม.ค. 2559 ก.แรงงานหวังลดการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ห้ามไม่ให้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด

เดือน ม.ค. 2559 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาทำงาน โจทย์คือจะทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ สิ่งที่กรมการจัดหางานดำเนินการมี 3 ข้อ คือ 1. ปรับหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิ อาทิ ออกมติ ครม. ให้นำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยแบ่งการจดออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ประมงทางทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนกว่า 1 แสนคน โดยผู้ที่มาจดทะเบียนจะได้รับการอนุญาตให้ทำงานและไม่ถูกส่งกลับประเทศ นอกจากนี้ ยังให้เปลี่ยนนายจ้างได้หากมีสภาพการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม และห้ามไม่ให้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด 2. ป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ อาทิ จัดอบรมเจ้าหน้าที่ของหลายหน่วยงานให้มีการทำงานร่วมกันในรูปแบบของสหวิชาชีพ เพราะการตรวจแรงงานมีหลายกฎหมายและหลายหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน การจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น สิ่งสำคัญคือการทำงานอย่างบูรณาการ ทำงานเป็นทีม นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวร่วมกับ ศปมผ. เรื่องของเรือเข้า-ออกตามท่าเรือต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวถูกละเมิดสิทธิ และ 3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่นำแรงงานเข้ามา เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามร่วมข้อตกลงกับทางเวียดนามและลาวแล้ว พม่าอยู่ระหว่างขั้นตอนรอการลงนาม ส่วนลาวอยู่ระหว่างการเจรจา

ม.ค. 2559 ตำรวจเผยหลังเข้มตรวจจับค้ามนุษย์ช่วยผู้เสียหายได้ 111 คน

เดือน ม.ค. 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่าเรื่องการดำเนินคดีค้ามนุษย์ที่ถือเป็นวาระแห่งชาตินั้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมี ศปมผ. สำหรับสถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงนั้น ก่อนมี ศปมผ. สามารถจับกุมได้ 15 ราย มีผู้ต้องหา 41 คน มีผู้เสียหาย 43 คน หลังมี ศปมผ. สามารถจับกุมได้เพิ่มเติมอีก 35 ราย มีผู้ต้องหา 73 คน มีผู้เสียหาย 111 คน ในจำนวนผู้ต้องหา มีเจ้าของเรือ 7 คน ไต๋เรือ 24 คน ผู้คุมเรือ 15 คน และนายหน้าอีก 48 คน สามารถช่วยเหลือเหยื่อที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้ 25 คน ส่วนใหญ่มีสัญชาติไทยและพม่า สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ก่อนมี ศปมผ. สั่งฟ้องไปแล้ว 12 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 7 คดี มีคำพิพากษาแล้ว 4 คดี หลังมี ศปมผ. อยู่ระหว่างสอบสวน 25 คดี สั่งฟ้องไปแล้ว 10 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 2 คดี และอยู่ในชั้นศาล อีก 2 คดี

ม.ค. 2559 ก.ต่างประเทศ ชี้แจงการแก้ไขปัญหา IUU ผ่านสถานทูตไทยในประเทศสมาชิก EU ทั้ง 28 ประเทศ

เดือน ม.ค. 2559 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวว่า กต. ได้ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ผ่านทางสถานทูตไทยในประเทศสมาชิกของ EU ทั้ง 28 ประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนของยุโรป คาดว่าจะสามารถทำให้ EU ตระหนักได้ถึงความมุ่งมั่นและความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาทาง EU ก็ส่งสัญญาณกลับมาในเชิงบวกและสร้างสรรค์

ม.ค. 2559 เอกชนร่วมประกาศเจตนารมณ์แก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย

เดือน ม.ค. 2559 ภาคเอกชนได้ร่วมกันประกาศ เจตนารมณ์แก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.สภาหอฯและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ได้ประกาศนโยบายและขับเคลื่อนสนับสนุนสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกให้ดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งปฏิบัติของรัฐบาล 2.แต่ละสมาคมได้ประกาศจุดยืนและนโยบายให้สมาชิกดำเนินธุรกรรมให้ถูกต้องตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 และไม่ซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากเรือ หรือแหล่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมีปัญหาด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะขับออกจากการเป็นสมาชิกทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมในการส่งออกได้ 3.ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกระทรวงแรงงานในการจัดทำและให้ความรู้เรื่องแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน 4.ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (เอ็นจีโอ) ในการให้ความรู้กับสมาชิก และแรงงาน รวมทั้งดำเนินการงบประมาณในการทำกิจกรรม เช่น ด้านการศึกษา สร้างโรงเรียน การว่าจ้างครู และอบรมสัมมนา เป็นต้น 5.ร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐในการออกมาตรการและการจัดทำเอกสารควบคุมการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าทุกประเภท โดยภาคการเลี้ยงจะต้องมีหนังสือรับรองการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ และภาคการจับจากธรรมชาติ จะต้องมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ ขณะที่การนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงทุกประเภทจะต้องมีเอกสารกำกับที่สามารถตรวจสอบได้ 6.สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาไอยูยูฟิชชิ่งตามหลักการสากล 7. สนับสนุน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และแผนการบริหารจัดการประมงทะเล ของประเทศไทย นโยบายแห่งชาติด้านการจัดการประมงทะเล พ.ศ.2558 และ 8. แต่ละสมาคมได้ดำเนินการสำรวจและแก้ไขจุดอ่อน รวมถึงปัญหาของสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าทั้งหมดที่ผลิตออกมาจะต้องไม่มีปัญหาการปฏิบัติที่ผิดจาก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558/ ไอยูยูฟิชชิ่ง และ พ.ร.บ.แรงงาน เป็นต้น

ม.ค. 2559 EU เข้ามาประเมินประมงผิดกฎหมาย (IUU) ในไทยอีกรอบ

เดือน ม.ค. 2559 ระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค. 2559 สหภาพยุโรปหรือ EU ได้เข้ามาประเมินการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU) และการประมงทั้งระบบของไทย โดยแบ่งคณะตรวจประเมินเป็น 2 คณะ คือ คณะเจ้าหน้าที่เทคนิค จำนวน 3 คน เดินทางมาตรวจ ประเมินระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค. 2559 และคณะเจรจา กับเจ้าหน้าที่ไทย ระหว่างวันที่ 20-22 ม.ค. 2559

ม.ค. 2559 เผยแรงงานล้งกุ้ง จ.สมุทรสาคร เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 5,000

เดือน ม.ค. 2559 นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการล้งกุ้งว่า หลังจากบริษัทคู่ค้าในยุโรป สหรัฐ ในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ มีข้อกำหนดให้สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยต้องซื้อกุ้งจากผู้ประกอบการล้งกุ้งรายย่อย ที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่ซื้อสินค้าเพื่อตัดวงจรปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานบังคับ

ขณะนี้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานล้งกุ้งใน จ.สมุทรสาคร ที่มีอยู่กว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่าและมีแรงงานกัมพูชา ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ประกอบการล้งกุ้งรายย่อยยังไม่มีการเลิกจ้าง ตอนนี้ยังคงรักษาลูกจ้างไว้เพื่อรอคำตอบจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยว่าจะสามารถผ่อนผันซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการล้งกุ้งรายย่อย ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรฐานได้หรือไม่ คาดว่าสมาคมจะให้คำตอบแก่ผู้ประกอบการภายในช่วงกลางเดือนม.ค.นี้

นายสมพงค์ระบุว่า อยากให้กระทรวงแรงงานผ่อนปรนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานกับผู้ประกอบการล้งกุ้งรายย่อยในกรณีหากถูกเลิกจ้าง ก็สามารถเปลี่ยนไปทำงานในกิจการประเภทอื่นๆ ได้ ซึ่งการเปิดโอกาสให้เปลี่ยนประเภทงานควรให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น การย้ายเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำขนาดใหญ่ งานก่อสร้าง เพื่อให้กระทบวิถีชีวิตเดิมของแรงงานข้ามชาติให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ควรมีการจัดระเบียบล้งกุ้งที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ โดยแยกเป็นล้งกุ้งที่ส่งกุ้งขายภายในประเทศกับล้งกุ้งที่ส่งขายต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐและสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ควรเข้าไปช่วยเหลือปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน

มี.ค. 2559 สื่อเผย สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม จอดเรือทิ้ง 3 พันลำ-ปิดล้ง-ตกงานหลายหมื่น

เดือน มี.ค. 2559 จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนระบุว่าเกือบหนึ่งปีแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหาการประมงทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU หลังจากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลือง และให้ไทยเร่งสะสางปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจอย่างมากในพื้นที่ 22 จังหวัดที่เป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประมงขนาดใหญ่ที่กระจายสินค้าไปจำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออก โดย นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผยว่าขณะนี้ผู้ประกอบการ เรือประมง 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่สามารถทำการประมงได้ ต้องจอดเรือ เทียบท่ากว่า 3,000 ลำ ส่วนจังหวัดสมุทรสาครมีเรือพาณิชย์ทั้งหมด 1,100 ลำ สามารถออกเดินเรือได้ 200 ลำ และจอดทิ้งกว่า 900 ลำ ปัญหาดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาล จะเร่งเยียวยา แต่เม็ดเงินยังลงไปไม่ถึง ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเท่าที่ควร

ด้านข้อมูลจากหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครระบุว่าโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาคร มาจากอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากการประมงเป็นหลัก หลังจาก เผชิญปัญหาไอยูยู ทำให้ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครชะลอตัว การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ตลาดสดซบเซา ค้าปลีกค้าส่งตามห้างสรรพสินค้ามีคนเดินช็อปปิ้งลดลง โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะทำให้เศรษฐกิจสมุทรสาครถดถอย 30% ขณะที่วัตถุดิบกลุ่มปลาเบญจพรรณ ที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารหายากและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ล้งปิดตัวประมาณ 20-30% และห้องเย็นปิดตัวลง 7 แห่ง สำหรับปัญหาแรงงานภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่ 90% เป็นแรงงานเมียนมา และอีก 10% เป็นแรงงานไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้แรงงานเมียนมาส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไปแล้ว ในระยะยาวจะส่งผลเสียหากอุตสาหกรรมประมงฟื้นตัวกลับมา จะทำให้ขาดแคลนแรงงาน

ข้อมูลจากชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่าว่าตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้นทำให้สัตว์น้ำขาดแคลนทุกชนิด เกิดการแย่งวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ยังคงขายราคาเดิม ตอนนี้ล้งกุ้งปิดตัวไปแล้ว 392 แห่ง เหลือเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีแรงงานตกงานจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนลูกจ้างที่เป็นแรงงานเมียนมาก็กลับประเทศ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ก็อยู่ในสภาพย่ำแย่เช่นกัน โดยเจ้าของ โรงน้ำแข็งเจ้ทิ้ง จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่โชคร้ายสำหรับอุตสาหกรรมประมง นอกจากแพปลาและตลาดทะเลไทยจะซบเซามากแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ชะลอตัวตาม ปัจจุบันโรงน้ำแข็งรายใหญ่ในสมุทรสาครกว่า 30 แห่ง บรรยากาศการซื้อขายเงียบเหงา และตั้งแต่เรือประมงหยุดเดินเรือจนถึงขณะนี้ ภาพรวมยอดขายลดลง 40-50%

สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคม ประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า สมุทรสงครามมีเรือประมง 2,297 ลำ เป็นเรือ ต่ำกว่า 30 ตันกรอส 1,351 ลำ เรือขนาด 30-60 ตันกรอส 509 ลำ และเรือ 60 ตันกรอส ขึ้นไป 437 ลำ โดยมีเรือประมงที่สามารถออกทำการประมงได้ 60% และอีก 40% เป็นเรือจอดทิ้งไว้ ทำให้อาหารทะเลลดลง และราคาอาหารทะเลสูงขึ้น 10-20% เช่น ปลาทูติดอวนดำ ปกติราคา 70-80 บาท/กก. ขณะนี้ราคา 150-160 บาท/กก. และปลาทู อวนลากเดิมราคา 70-150 บาท/กก. เพิ่มเป็น 300 บาท/กก. แต่ยังไม่มีการปลดแรงงาน

เม.ย. 2559 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุยังพบเห็นแรงงานบังคับบนเรือประมงไทย

เดือน เม.ย. 2559 สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ รายงานประจำปีเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งรายงานนี้ครอบคลุมปีปฏิทิน 2558 รายงานดังกล่าวพบว่า รัฐบาลไทยได้ย้ำถึงนโยบายไม่อดทนต่อการค้ามนุษย์และปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับที่เสริมอำนาจแก่ผู้ดูแลกฎระเบียบและเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ให้การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการยับยั้งปฏิบัติการต่างๆ เป็นการชั่วคราวหรือระงับใบอนุญาตประกอบธุรกิจและใบอนุญาตยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า การขาดความชัดเจนในทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกว่าองค์ประกอบของแรงงานบังคับหรือแรงงานขัดหนี้ ได้กัดเซาะความพยายามของรัฐบาลในการระบุตัวเหยื่อค้าแรงงานและดำเนินคดีกับพวกใช้แรงงานบังคับิ ในรายงานดังกล่าวระบุต่อว่ายังพบเห็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอันตราย อันรวมถึงแรงงานบังคับ ในหลายภาคอุตสาหกรรม ในนั้นรวมถึงเรือลากอวนและอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงานอย่างเช่น แรงงานแปรรูปอาหารและอาหารทะเล พร้อมเผยว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย เป็นแรงงานต่างด้าว      

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้อ้างการสืบสวนของเอพี เกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จนนำมาซึ่งการเข้าช่วยเหลือแรงงานชาย 2,000 คน จับกุมผู้ต้องสงสัยหลายสิบคน และยึดของกลางต่างๆมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ปิดโรงงานปอกเปือกกุ้งบางแห่งและข้อเสนอกฎหมายใหม่ กลุ่มแรงงานชายเหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากพม่า กัมพูชา และลาว ถูกเกณฑ์ในไทยและพาไปยังอินโดนีเซียโดยใช้เอกสารการเดินทางปลอม และที่แดนอิเหนานี่เอง พวกเขาถูกละเมิดแรงงานอย่างทารุณ บางส่วนถูกกดขี่นานหลายปีหรืออาจหลายทศวรรษ ในช่วงกลางปี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงานอีกฉบับซึ่งจะพุ่งเป้าที่การค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์จากแรงงานรวมถึงจับอันดับของรัฐบาลต่างๆ ต่อผลงานปรามปราบการล่วงละเมิดเหล่านั้นขณะที่เมื่อปีที่แล้วไทยยังอยู่ใน Tier 3 อันเป็นลำดับต่ำสุดของการประเมินประจำปีของอเมริกา ร่วมกับชาติอื่นๆ อีก 23 ประเทศ ในนั้นรวมถึงอิหร่าน ซีเรีย และซิมบับเว

พ.ค. 2559 สำนักข่าวซินหัวเผยแพร่ข่าวแรงงานชาวพม่าราว 50,000 คน ที่ทำงานในอุตสหากรรมประมงของไทย ได้ขอลาออกและเดินทางกลับประเทศ

เดือน พ.ค. 2559 สำนักข่าวซินหัวของจีนเผยแพร่ข่าวว่าแรงงานชาวพม่าราว 50,000 คน ที่ทำงานในอุตสหากรรมประมงของไทย ได้ขอลาออก และเดินทางกลับประเทศ และเชื่อว่าจะมีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากทำตามแบบเดียวกันนี้ในอีกไม่ช้า แรงงานต่างด้าว ที่รวมทั้งผู้ที่ถูกจ้างงาน และพักในไทยมาเป็นเวลาหลายปี ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับประเทศ และจะไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยอีก ตามการเปิดเผยของ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร     

จ.สมุทรสาคร เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูปอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทย แรงงานชาวพม่าส่วนใหญ่มักได้รับการว่าจ้างทำงานเป็นคนงานในอุตสาหกรรมประมง และการแปรรูปอาหาร รวมทั้งเป็นแรงงานไร้ฝีมืออยู่ในภาคการก่อสร้าง และแม่บ้าน นายกำจร กล่าวว่า แรงงานชาวพม่าจำนวนมากได้เริ่มหยุดทำงานจากเรือประมง ที่หลายลำต้องจอดทอดสมอเนื่องจากขาดใบอนุญาตประกอบการ หรือไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ ที่อาจละเมิดกฎระเบียบกรมประมง หรืออาจถูกกล่าวหาจากสหภาพยุโรปในการทำธุรกิจประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) กฎระเบียบของกรมประมงยังเรียกร้องให้เรือประมงออกทะเลได้ไม่เกิน 220 วันต่อปี และที่เหลือ 145 วัน ให้พักบนฝั่ง

สหภาพยุโรปที่ซื้อสินค้าประมงจากไทยราว 500 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เรียกร้องให้ทางการไทยตรวจสอบว่า ไม่มีแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ถูกจ้างงานอย่างผิดกฎหมาย และถูกละเมิดสิทธิบนเรือลากอวน และไม่มีเรือประมง หรือกัปตันเรือดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาต นายกำจร ระบุว่า จากข้อหา IUU ที่อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้เรือลากอวนจำนวนมากต้องหยุดทำงานเพื่อรอติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น และออกใบอนุญาต รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ทำให้ลูกเรือพม่าจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ และจะไม่กลับมาทำงานที่เพิ่งได้ลาออกไป      

หัวหน้าสมาคมประมง กล่าวว่า อุตสาหกรรมประมงของ จ.สมุทรสาคร ทั้งในทะเล และบนบกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และคาดว่าจะมีแรงงานชาวพม่าอีกมากอาจลาออกจากงานใน จ.สมุทรสาคร หรือที่อื่น ๆ ในไทย และเดินทางกลับบ้านตามแรงงาน 50,000 คน ที่เพิ่งลาออก รัฐบาลใหม่ของพม่า กล่าวว่า จะดำเนินขั้นตอนในการส่งเสริมโครงการการลงทุนในภาคส่วนการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวของประเทศที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานพม่าที่ได้ออกเดินทางจากไทยไปจะต้องการมองหางานในพม่าแทน

พ.ค. 2559 เผยอุตสาหกรรมทูน่าของไทยผ่านจุดต่ำสุดรอบ 5 ปี

เดือน พ.ค. 2559 สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเปิดเผยว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยในปี 2558  ที่ทำได้ 7.42 หมื่นล้านบาท มองว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 2559 น่าจะเติบโตได้สัก 10%  ในแง่เงินบาท โดยจะมีมูลค่า 8.5-9 หมื่นล้านบาท และผู้ประกอบการส่งออกน่าจะมีมาร์จินหรือการทำกำไรสูงกว่าในปี 2558 โดยปีนี้มาร์จินของอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ระหว่าง 5-8% จากปีที่แล้วลดเหลือ 2-5% ตามราคาวัตถุดิบ ขณะที่หลายตลาดที่เป็นตลาดส่งออกทูน่าของไทยเห็นสัญญาณการขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ เช่นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันราคาน้ำมัน ต้นทุนสำคัญของเรือประมงก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นและมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง เงินบาทก็ยังมีเสถียรภาพโดยยังอ่อนค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ยังแข่งขันส่งออกได้ ซึ่งขอให้รัฐบาลช่วยดูแลให้อยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะช่วยคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งขันได้

มิ.ย. 2559 “อองซาน ซูจี” มาเยี่ยมแรงงานพม่าที่สมุทรสาคร

23 มิ.ย. 2559 ที่ตลาดทะเลไทย ถนนพระรามที่ 2 ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เมื่อเวลา 16.20 น. นางอองซาน ซูจี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหภาพพม่า ได้เดินทางมาพบกับแรงงานชาวพม่า ตามกำหนดการในการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีแรงงานพม่าจำนวนมากจากจังหวัดสมุทรสาครและใกล้เคียง มารอต้อนรับตั้งแต่ช่วงบ่าย เมื่อรถเบนซ์ ทะเบียน 4 กว 29 กรุงเทพมหานคร มาถึง นางซูจี ได้ลดกระจกรถและโบกมือทักทายแรงงานชาวพม่า ทำให้แรงงานพม่าจำนวนมากได้ฝ่าแผงเหล็กแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหวังที่จะได้พบนางซูจี โดยส่งเสียงคำว่า “เมซู” ซึ่งหมายถึง แม่ซูจี พร้อมโบกมือเพื่อทักทายนางซูจี ทำให้เกิดความอลหม่าน ก่อนที่ นางซูจี จะเดินเข้าหอประชุม ซึ่งมีแรงงานพม่าที่ได้รับการคัดเลือกจากทางจังหวัดสมุทรสาคร อยู่ภายในหอประชุมประมาณ 300 คน กระทั่งเวลา 17.10 น. นางซูจี ออกจากหอประชุมเพื่อกลับกรุงเทพฯ ท่ามกลางสายฝน โดยมีแรงงานพม่าจำนวนมากวิ่งตามขบวนรถยนต์ของนางซูจี ก่อนที่จะสลายตัวในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้ ในช่วงบ่าย แรงงานพม่านับพันคนแสดงความไม่พอใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม ปิดกั้นถนนทางเข้าอาคารตลาดทะเลไทย เพื่อไม่ให้รถบัสและรถสองแถวที่ขนตัวแทนแรงงานพม่าประมาณ 503 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากทางจังหวัดสมุทรสาคร จะเข้าไปพบกับนางซูจีในหอประชุมเข้าไปในพื้นที่ โดยตำรวจพยายามเจรจาและเปลี่ยนแผนด้วยการให้ตัวแทนแรงงานพม่าเข้ามาด้านในหอประชุมอีกเส้นทางหนึ่ง กระทั่งการเจรจาแรงงานพม่ายอมที่จะรอต้อนรับนางซูจีอยู่ด้านนอก นอกจากนี้ ยังพบว่าในห้องประชุมเจ้าหน้าที่ได้เก็บเก้าอี้ที่จัดเตรียมเอาไว้จาก 503 ที่นั่ง เหลือ 300 ที่นั่ง ขณะที่ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร และตำรวจภูธรภาค 7 รวมทั้งทหารจากค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน รวมกว่า 1 พันนายเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย

อนึ่ง นางซูจี เคยมาเยือนจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 4 ปีก่อน ในฐานะผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยมาเยือนที่ชุมชนตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งการมาเยือนประเทศไทยในคราวนั้น ถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 24 ปี

มิ.ย. 2559 ใช้ ม.44 เด้งผู้ว่าฯ สมุทรสาคร พร้อม 22 ข้าราชการถูกร้องเรียนประพฤติมิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปัญหาแรงงานต่างชาติ

24 มิ.ย. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่ง คสช.มาตรา 44 ที่ 33/2559 เรื่อง ให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น โดยอาศัยอำนาจหัวหน้า คสช.มาตรา 44 โยกย้ายผู้ว่าฯ สมุทรสาคร อัยการจังหวัด ตำรวจ และข้าราชการ รวม 23 ตำแหน่ง สื่อมวลชนได้เปิดเผยต่อว่าแหล่งข่าวจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยว่า ศอตช.ได้ส่งรายงานพร้อมบัญชีรายชื่อข้าราชการถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ รวม 23 ตำแหน่ง โดยเป็นผลมาจากการเข้าจับกุมการค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงานภายในโรงแปรรูปสัตว์น้ำ หรือล้งกุ้ง ในจ.สมุทรสาคร ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองทัพเรือ นำกำลังเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือแรงงานชาว เมียนมา มีรายงานว่า ในส่วนของบัญชีรายชื่อ ข้าราชพลเรือน อัยการ ตำรวจ ที่ถูกโยกย้ายครั้งนี้ ปรากฏว่า เหตุผลที่ระบุส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ลุล่วงไปตามนโยบายของรัฐบาลและ คสช. อาทิ เรื่องของการค้ามนุษย์ บ่อนการพนัน สถานบันเทิงอาบอบนวด นาตารี  สำหรับในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ในข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปัญหาของแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมา จึงเป็นที่มาของการย้ายเหล่าข้าราชการเกือบยกจังหวัด

มิ.ย. 2559 สหรัฐฯ เลื่อนอันดับไทยขึ้นบัญชี Tier 2 Watch list (ประเทศในกลุ่มที่ต้องจับตามอง)

30 มิ.ย. 2559 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2559 (Trafficking in Persons Report 2016 หรือ TIP Report 2016) เป็นการสำรวจทุกประเทศ โดยในปีนี้ประเทศไทย ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หลังจากเมื่อปีที่แล้วอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด โดยเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับอัตโนมัติจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) อย่างไรก็ตามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่าถูกลดอันดับจากบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ไปอยู่ในบัญชีที่ 3 (Tier 3) กลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

โดยในรายงานประจำปี 2559 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด (Tier 3) มี 26 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส, เบลิส, พม่า, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, โคโมรอส, จิบูติ, อิเควทอเรียลกินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, เฮติ, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, หมู่เกาะมาร์แชล, มอริเตเนีย, รัสเซีย, เซาท์ซูดาน, ซูดาน, ซีเรีย, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว

โดยในคำแถลงเรื่องรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2559 ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อ 30 มิ.ย. 2559 ระบุว่าการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมโหดเหี้ยมที่ไร้พรมแดน โดยในแต่ละปี มีประชาชนทั้งชาย หญิงและเด็กหลายสิบล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอันร้ายกาจนี้ คำว่า “การค้ามนุษย์” และ “การค้าทาสสมัยใหม่” ต่างหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณีโดยการใช้อำนาจบังคับ กลฉ้อฉลหรือการขู่เข็ญบีบบังคับ การค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การค้าเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ ซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้และงานรับใช้ตามบ้าน เมื่อบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องค้าประเวณีก็ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ แม้จะไม่มีการบังคับ ล่อลวงหรือขู่เข็ญก็ตาม

กระทรวงการต่างประเทศแถลงออกรายงานการค้ามนุษย์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ. 2559 โดยประเทศไทยได้เลื่อนอันดับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2559 ครอบคลุมความพยายามดำเนินการของรัฐบาลต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2558 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2559 การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองแสดงว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์ในช่วงเวลาการทำรายงานจัดอันดับ ทว่า การดำเนินงานนั้นยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน

การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองนั้น เป็นการย้ำว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังมีอยู่กว้างขวางและรัฐบาลต้องแสดงความเป็นผู้นำในการดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยให้มีผลงานเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล สหรัฐฯ ขอให้ไทยดำเนินงานให้ก้าวหน้ามากขึ้นและอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายการค้ามนุษย์ของไทย รายงานฉบับนี้ได้รวมคำแนะนำต่างๆ ที่ตรงประเด็นการค้ามนุษย์ในไทยที่สหรัฐฯ เชื่อว่าจะช่วยให้รัฐบาลไทยดำเนินการได้ก้าวหน้าขึ้น เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามคำแนะนำอย่างเต็มที่ หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ยังคงเป็นหุ้นส่วนร่วมมือทำงานกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมในไทยในการพยายามขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

ในปี 2558 รัฐบาลไทยรายงานว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการได้เพิ่มความพยายามดำเนินการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ และคดีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงได้ดำเนินคดีและพิพากษาโทษนักค้ามนุษย์หลายร้อยคน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มสืบสวนคดีการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงหลายสิบคดี กระนั้น การค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย และการบังคับใช้แรงงานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงเป็นปัญหาอยู่ เจ้าพนักงานรัฐ นายจ้าง เจ้าของกิจการ นายหน้าและสำนักงานจัดหางานที่สมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินกิจการต่อโดยไม่ต้องรับโทษ รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณ สหรัฐฯ ขอให้ทางการไทยติดตามผลการสอบสวน การดำเนินคดีและกระบวนการศาลยุติธรรมสำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างขันแข็งและอยู่ในห้วงเวลาอันเหมาะสม ซึ่งรวมถึงคดีที่เจ้าพนักงานรัฐถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ และขอให้รัฐบาลไทยใช้คดีที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเป็นรากฐานในการระบุและสอบสวนคดีใหม่ด้านการบังคับใช้แรงงาน พันธนาการหนี้และการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ

ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และภาคประชาสังคมของไทยร่วมมือกันระบุตัวบุคคลและให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยจำต้องเพิ่มความพยายามร่วมมือดำเนินการที่มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อตรวจพบสิ่งบ่งชี้ต่างๆ ได้ดีขึ้น ว่ามีการค้ามนุษย์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและสร้างเสริมความสามารถให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ไทยดำเนินการต่อไปในการปรับปรุงความคงเส้นคงวาของกระบวนการระบุตัวบุคคลผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การจัดลำดับความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของเหยื่อการค้ามนุษย์ จนถึงการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ในการให้สถานภาพทางกฎหมายและใบอนุญาตทำงานแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการจัดหาแรงงานอย่างละเอียดและแข็งขัน พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแนวปฏิบัติดังกล่าวผ่านช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อประโยชน์ของแรงงานอพยพ

ในปี 2558 ประเทศไทยดำเนินมาตรการเกี่ยวกับกรณีข้าราชการสมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์ ซึ่งได้แก่ การพิพากษาจำคุกข้าราชการสองคน แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยหลายๆ คดีที่ข้าราชการถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า ข้าราชการบางคนได้รับผลประโยชน์จากเงินสินบนและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกรรโชกทรัพย์และขายผู้อพยพให้แก่นายหน้า อันเป็นการเพิ่มสภาวะอ่อนแอเปราะบางของผู้อพยพเหล่านี้ที่จะตกเป็นเหยื่อในธุรกิจทางเพศ แรงงานบังคับและพันธนาการหนี้ ประเทศไทยจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาและสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการพิจารณาคดีแล้ว สหรัฐฯ มีความยินดีและสนใจรอรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่จัดตั้งพิเศษเหล่านี้ซึ่งหน่วยงานทั้งสองยังสรรหาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นต่อไป ในบรรดาคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศนั้น ความพยายามในการสอบสวนคดีเด็กและการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็กและเยาวชน ได้นำไปสู่การจับคุมนักค้ามนุษย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ สหรัฐฯ จะยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามกรอบคำแนะนำในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2559 รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยในการแก้ไขปัญหาสำคัญนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: