เล็งออกมาตรการทางการเงิน จูงใจลดใช้ไฟช่วงวิกฤต

19 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1827 ครั้ง


	เล็งออกมาตรการทางการเงิน จูงใจลดใช้ไฟช่วงวิกฤต

กกพ. เตรียมออก 3 มาตรการทางการเงิน จูงใจประชาชนลดใช้ไฟฟ้าช่วงวิกฤต ชี้สำรองไฟฟ้าปัจจุบันยังสูง 30% คาดปี 2565 สำรองจะลดสู่ภาวะปกติเหลือ 15% พร้อมควบคุมการไฟฟ้าให้จ่ายดอกเบี้ยเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืนให้ลูกค้าครัวเรือนย้อนหลัง 5 ปี เริ่มคืนลูกค้ารายย่อยครั้งแรกปี 2563 (ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพ TCIJ)

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่านายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า  กกพ. เตรียมเดินหน้ามาตรการจูงใจลดใช้ไฟฟ้าแบบให้เงินชดเชย หรือ Demand Response (DR) ซึ่งจะออกเป็นมาตรการแบบถาวร หลังจากได้ทดลองใช้มา 2 ครั้งในปี 2558 และได้ผลเป็นอย่างดี โดยผู้ร่วมโครงการสามารถลดใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤติก๊าซธรรมชาติของประเทศได้ตามที่ภาครัฐต้องการ โดยขณะนั้นภาครัฐให้เงินชดเชยการลดใช้ไฟฟ้าในอัตรา 3 บาทต่อหน่วย 

อย่างไรก็ตาม กกพ.กำลังออก 3 มาตรการสำหรับ DR แบบถาวร ได้แก่   1. มาตรการ Emergency Demand Response Program (EDRP) หรือ การกำหนดอัตราเงินชดเชย สำหรับกรณีที่ภาครัฐขอให้ผู้ร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าอย่างฉุกเฉิน จากปัญหาสภาวะวิกฤติ เช่น การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการไฟฟ้าสามารถปลดโหลดไฟฟ้าของผู้ร่วมโครงการได้โดยจะแจ้งล่วงหน้า 1 วัน

2. มาตรการ Interruptible Load Program (ILP) หรือ การใช้แรงจูงใจทางด้านการเงิน เช่น ส่วนลดพลังไฟฟ้า หรือ Demand Charge เพื่อให้ลูกค้าลดภาระโหลดไฟฟ้าตามสัญญาในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากได้รับคำสั่งการจากศูนย์ควบคุม เช่น 1 ชั่วโมงล่วงหน้า เป็นต้น

และ 3. การปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าลดใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) เช่น ในช่วงเวลา 13.00-16.00 น. ซึ่งจะมีอัตราค่าไฟฟ้าสูงกว่าช่วงเวลาอื่น

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 มาตรการ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราเงินที่จะจูงใจให้ประชาชนช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤติที่ภาครัฐต้องขอความร่วมมือ โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้ออกประกาศใช้ได้โดยเร็วต่อไป

นายไกรสีห์ กรรณสูต คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  กล่าวว่า ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของประเทศยังสูงอยู่ระดับ 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นปริมาณลดลงในปี 2560  หากเศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูง จะทำให้สำรองลดลงทันที อย่างไรก็ตาม ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ 21 ปี หรือ PDP 2015 ได้ปรับสัดส่วนสำรองไฟฟ้าให้อยู่ระดับที่เหมาะสม 15% ประมาณปี 2565-2566 

นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น กกพ. ออกประกาศให้ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ต้องจ่ายคืนดอกเบี้ยเงินประกันการใช้ไฟฟ้า หรือ ประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับลูกค้า เนื่องจากเก็บค่าประกันมิเตอร์ หรือ เงินประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการและประชาชนไปไว้เป็นเวลานาน ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งปกติครัวเรือนจะจ่ายค่าประกันมิเตอร์บ้านละ 2,000-3,000 บาทต่อหลัง หากเลิกใช้ไฟฟ้าถึงได้คืน ดังนั้น กกพ.จึงออกประกาศให้ต้องจ่ายคืนดอกผลแก่ลูกค้า โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่นำเงินสดมาเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้านั้น ต้องได้รับเงินคืนในรูปของดอกเบี้ยปีละ 1 ครั้ง ตามอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั่งปีของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก จะต้องได้รับเงินคืนในรูปดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทยคืนทุก 5 ปี เนื่องจากดอกผลเงินประกันเป็นจำนวนเงินน้อยจึงให้สะสมคืนทุก 5 ปี โดยจะเริ่มได้รับคืนครั้งแรกในปี 2563 นี้

พร้อมกันนี้ กกพ. ยังได้ประกาศให้การไฟฟ้าสามารถคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังกับผู้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 3 ปี กรณีที่เกิดความผิดพลาดในการคิดหรือจ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาการคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังไม่เคยมีการกำหนดระยะเวลาไว้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เกิดปัญหาเดือดร้อนมาก ทั้งนี้ กกพ. ได้ออกประกาศดังกล่าวไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ดังนั้นจะไม่มีการคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังเกิน 3 ปีอีกต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: