สารคดีพิเศษ : วันหนึ่งที่ ‘โนนชัย’ เมื่อการศึกษาไทยยังไม่สิ้นหวัง

วิชญ์พล ตรีศูลยุทธ : TCIJ School รุ่นที่ 3 : 19 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4355 ครั้ง

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ใกล้กับบึงทุ่งสร้าง โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เคยมีผลการเรียนเฉลี่ยของเด็กอยู่ในลำดับท้ายของโรงเรียนในเขตเทศบาลด้วยกัน เคยเป็นโรงเรียนที่สอนเหมือนกับโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วไป แต่สิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อนโยบายของเทศบาลมีการปรับเปลี่ยนมาเน้นพัฒนาเรื่องการศึกษา โรงเรียนนี้เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วย และผลจากการปรับเปลี่ยนนั้นส่งทอดมาถึงปัจจุบันนี้

โรงเรียนได้เปลี่ยนแนวทางการสอนสู่วิถีชุมชนท้องถิ่น ซึ่งยังดำเนินการในแนวทางนี้มาถึงปัจจุบัน นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นมาอยู่ในระดับกลางของเทศบาล และกลายเป็นโรงเรียนที่มีผู้ปกครองไว้ใจให้ลูกเข้าศึกษา

หลังจากเข้าแถวหน้าเสาธงเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงเวลาของการ’โฮมรูม’ ในช่วงเวลาแปดนาฬิกาสามสิบนาที แต่ที่นี่จะเรียกว่าคาบจิตศึกษา ซึ่งครูสัญญา มัครินทร์ จะเป็นผู้นำเหล่านักเรียนทำกิจกรรมกัน เริ่มต้นจากการนั่งล้อมเป็นวง สวดมนต์ร่วมกันแล้วภาวนา จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ ดูอารมณ์ความรู้สึกตัวเองประมาณหนึ่งนาที แล้วต่อด้วยการเคลื่อนไหวสิบสี่จังหวะตามแนวของหลวงพ่อเทียน จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กิจกรรม โดยให้นักเรียนเลือกสีหนึ่งสีพร้อมบอกอารมณ์ที่รู้สึกอยู่ เช่น สีดำรู้สึกง่วงนอน สีฟ้ารู้สึกสดใส ฯ เมื่อคิดเรียบร้อยก็เล่าให้เพื่อน ๆ ในวงฟังด้วยกัน กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ให้เด็กๆได้เรียนรู้อารรมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น  รู้จักเปรียบเทียบ และแสดงออกอย่างเหมาะสม  ซึ่งบางวันอาจเปลี่ยนกิจกรรมเป็นการฟังเพลง แล้วอภิปรายถึงความรู้สึกที่ได้จากการฟัง

และด้วยเหตุที่ว่าวันนี้คือวันจันทร์  โจทย์ต่อไปคือ เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา / ชุมชนของเรา / ประเทศของเราบ้าง – เป็นการฝึกให้เด็กได้คิดถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวตั้งแต่ระดับปัจเจกถึงระดับสังคม เมื่อคิดแล้วก็ให้จับคู่กับเพื่อนแลกเปลี่ยนกัน แน่นอนว่าความรับรู้ต่อเหตุการณ์แต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน  แต่เหตุการณ์ระดับประเทศของเด็กที่นี่ ส่วนใหญ่จะพูดถึงผลการแข่งวอลเลย์บอล ซึ่งคงเป็นเพราะข่าวกีฬาของจังหวัดดังมากเลยทีเดียว

เข้าสู่คาบเรียนแรก เด็กๆกำลังจะเรียนกับครูเกาหลี (ครูชาญณรงค์ ภัทรมานนท์) ซึ่งจะมาสอนภาษาไทยผ่านวรรณคดีสินไซ ซึ่งเป็นวรรณคดีอีสานท้องถิ่น ซึ่งคุณครูพยายามจะพาเราเรียนรู้ให้ถึงรากเหง้าของงานชิ้นนี้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คาบเรียนนี้เราเอาบทร้อยกรองของวรรณคดีมาอ่านแล้วแปลเป็นบทร้อยแก้วกัน โดยนักเรียนทุกคนสามารถที่จะเอาเครื่องมือสื่อสารมาใช้ประกอบหาความรู้หรือคำศัพท์ได้อย่างเต็มที่ ขอเพียงแปลให้เป็นภาษาที่ตนเองอ่านแล้วเข้าใจได้ก็เพียงพอ

เสร็จแล้วก็เข้าสู่คาบบูรณาการ โดยวันนี้จะเรียนศิลปะในเรื่องของเส้นชนิดต่าง ๆ ซึ่งคาบนี้จะพิเศษก็คือ การรวมเด็กชั้นมัธยมหนึ่งทั้งสามห้องเรียน ประมาณ 60 คน และครูจากทั้ง 3 ห้องเรียน  รวมเป็นครูร่วมสอน 4 ท่านและมีครูสังเกตการณ์ 1 ท่าน  เริ่มตั้งแต่การชวนเด็กตั้งคำถามถึงเส้นในชีวิตประจำวัน การวาดเส้นศิลปะในช่องว่างกระดาษ A4 ซึ่งแบ่งออกเป็นสิบหกช่อง อาจเหมือนบ้างต่างบ้างก็ได้  ท้ายที่สุดก็ชวนกันนำเส้นเหล่านั้นมาวาดเป็นรูปในกระดาษแผ่นใหญ่ ระหว่างการสอน ครูแต่ละท่านก็จะผลัดกันมาเป็นผู้นำกระบวนการสอน ขณะที่จะมีครูหนึ่งท่านที่คอยสังเกตการสอนไปด้วย เพื่อจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนะกันหลังจากที่ทำการสอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เราจึงได้เห็นการทำงานเป็นทีมของครูที่จะได้พัฒนาการเรียนการสอนไปพร้อมกับการเรียนรู้ของเด็ก  ในขณะเดียวกัน เด็กๆก็จะได้เรียนรู้ศิลปะในชีวิตประจำวัน และการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม อันเปรียบได้กับสังคมเล็กๆ

ในช่วงพักเที่ยง หลังจากทานอาหารกันเรียบร้อยแล้ว ช่วงเวลา 12.30 – 13.00 เด็ก ๆ ทุกคนจะได้นอนพักกัน เพื่อปรับคลื่นสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนในภาคบ่ายต่อไป

หลังจากพักเที่ยงและพักผ่อนกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะเข้าใจการศึกษาของโรงเรียน คงพลาดไม่ได้ที่จะพูดคุยกับผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายของโรงเรียน นั่นคือครูอ้อม- ชุตินธร หัตถพนม รองผู้อำนวยการ ครูอ้อมเล่าให้ฟังถึงที่มาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาว่า เริ่มต้นจากนโยบายของอดีตนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พีระพล พัฒนพีระเดช  ที่เห็นปัญหาเรื่องคุณภาพคนและมองว่าต้องปรับเปลี่ยนผ่านการศึกษา จึงเริ่มต้นส่งครูในเขตเทศบาลไปอบรมและร่วมเรียนรู้ในโรงเรียนทางเลือกในช่วงปิดภาคเรียน เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านกิจกรรมเช่น กระบวนการจิตตปัญญา การรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Dialogue) การเข้าไปดูงานและแลกเปลี่ยนความเห็นในโรงเรียนที่มีแนวทางการสอนแตกต่างกัน ทำให้เริ่มมีการนำแนวทางการสอนดังกล่าวมาปรับใช้กับโรงเรียน

ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยก็ได้มีการจัดการศึกษารูปแบบใหม่  ในลักษณะของโรงเรียนวิถีชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นฐานในการเรียนรู้ เชื่อมโยงเนื้อหาจากการเรียนการสอนเข้าสู่ชีวิตของนักเรียน โดยวิธีการสอนแบบดังกล่าวทำให้ไม่สามารถรับนักเรียนได้มากนัก หนึ่งห้องจะรับได้ไม่เกินสามสิบคน ทำให้ต้องมีการจัดจ้างครูเข้ามาเพิ่ม  เมื่อถามถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ ครูอ้อมตอบว่าก็คือ การเป็นชุมชนกันของกลุ่มครู เมื่อครูในโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ยอมรับฟังกัน จึงทำให้การพัฒนาปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นได้ขณะที่ตัวผู้บริหารเองก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ครูได้มีโอกาสทดลอง ทำงานในรูปแบบของตัวเองเช่นกัน

เราอาจสงสัยว่าเอาเวลาไหนมาสอนวิชาบูรณาการ ในเมื่อคาบเรียนปกติก็น่าจะเต็มจนแทบจะไม่มีเวลาเหลือแล้ว ครูอ้อมบอกว่า หากดูจากหลักสูตร จะเห็นว่าตลอดหนึ่งปีการศึกษา จะมีชั่วโมงเรียนประมาณ 1,200ชั่วโมง ซึ่ง 8 กลุ่มสาระวิชาจะเอาไปแล้ว 840 ชั่วโมง ดังนั้นในวิชาที่เหลืออีก 360 ชั่วโมงทางโรงเรียนก็จะนำมาเป็นเวลาของวิชาบูรณาการ ซึ่งสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามหลักสูตร

แน่นอนว่าการจัดการศึกษาในแบบที่เล่ามานี้  คงเกิดไม่ได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ในช่วงกลางเทอมหรือบางห้องอาจจะเดือนละครั้ง  โรงเรียนโนนชัยแห่งนี้จะมีการประชุมผู้ปกครองในรูปแบบของการทำกิจกรรม โดยอาจมีความแตกต่างในการกำหนดเนื้อหา แต่กระบวนการเรียนรู้นั้นไม่ต่างกัน  เช่น นำเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กมาแทรกในกิจกรรม เป็นต้น และในปลายเทอมก็จะมีกิจกรรมหยดน้ำ ที่ให้เด็กมานำเสนอผลงานของพวกเขาตลอดชั้นปีต่อผู้ปกครอง  และจะให้ผู้ปกครองได้แสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจและเสนอแนะเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป  ในแง่นี้ ผู้ปกครองเองก็ได้รับรู้ถึงพัฒนาการของบุตรหลาน  รวมทั้งได้มีส่วนร่วมและเห็นความสำคัญของการผลักดันการศึกษาของลูกหลานด้วย 

โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เป็นเพียงหนึ่งโรงเรียนที่มีการนำแนวการสอนอื่นมาประยุกต์เข้ากับตัวหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังคงมีการสอนวิชาหลักภายใต้หลักสูตร  วิชาภาษาไทย คณิต วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ รวมถึงวิชาอื่น ๆ ในกลุ่ม 8 สาระวิชา หากแต่มีการปรับ เปลี่ยน ประยุกต์ตามเงื่อนไข ความถนัดและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียนแต่ละพื้นที่  เป็นการเรียนการสอนแบบ ’เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง‘ หรือ Problem base Learning (PBL) นั่นคือ เอาความถนัด เรื่องใกล้ตัวและบริบทของเด็กส่วนใหญ่ในห้องเรียน นำมาปรับประยุกต์เป็นตัวอย่าง หรือเป็นกระบวนการเชิงกิจกรรม ที่จะทำให้เด็กอยากมีส่วนร่วม  เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ เป็นต้น

ยังมีครูอีกหลายท่านและโรงเรียนอีกหลายโรงเรียน ที่สอนในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป  จากเอกสารประกอบการประชุมวิชาการของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้พูดถึง ‘สิบครูสอนดี’  ที่รักการพัฒนาตนเอง เช่น ครูกาญจนา โพธิขำ โรงเรียนบ้านบ่อดิน จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นำทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นสากล (Universal Design for Learning : UDL) มาพัฒนาเป็นโครงการพัฒนาทักษะด้านการอ่านและการเขียนสำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษา ครูนริศรา อิสริยวัชรากร โรงเรียนช่องพรานวิทยา จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้นำกระบวนการด้านการละครเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนในโรงเรียน   ครูชุลีพร สุทธิพิบูลย์ นักวิชาการอบรมและฝึกอาชีพ ระดับชำนาญการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีกิจกรรมศาสนบำบัด อ่านเขียนเรียนรู้ชีวิต และกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในสถานพินิจ ฯ ทั้งในด้านจิตใจและทักษะความรู้ก่อนที่จะกลับสู่สังคมภายนอก  หรืออีกหนึ่งโรงเรียนที่น่าสนใจคือ  ครูจินดา อุ่นสอน โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่พบข้อจำกัดในการเรียนระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน  จึงได้พัฒนาหลักสูตรการทำเบเกอรี่ให้กับนักเรียนกลุ่มดังกล่าว เพื่อที่จะได้พัฒนาทักษะและเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง

ถ้าการศึกษาคือ การที่เด็กได้มีโอกาสใช้ศักยภาพของตัวเอง เรียนรู้และพัฒนาตามความถนัดและความสนใจ มีพื้นที่ที่พวกเขาสามารถแสดงออกซึ่งความสามารถและความคิดเห็นได้

ถ้าห้องเรียนไม่ได้จำกัดอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยม

ถ้าผู้บริหารเปิดพื้นที่ให้คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน

ถ้าให้เด็กได้ตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ตามวัย  และครูเป็นผู้รับฟัง  เป็นผู้ชี้แนะ’วิธีตกปลา’ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับนักเรียน

แบบนี้  การศึกษาจะดูมีความหวังไหม ? 

อ่าน 'จับตา': “Problem Base Learning  ( PBL ) การเรียนรู้จากปัญหาคืออะไร ? "
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6367

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: