กองบรรณาธิการ TCIJ เรียบเรียงมาจากสเตตัสเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education-TCE Center)
ผลการประเมิน PISA 2015 แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาที่ชัดเจน เด็ก ๆ จากกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์และโรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีคะแนนทิ้งห่างจากเด็กกลุ่มอื่นอย่างน่าใจหาย ประเทศไทยมีโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ของรัฐอยู่ 13 แห่ง แต่ละแห่งได้เงินสมทบรายหัวของนักเรียนเฉลี่ยที่ 94,000 บาท ต่อคนต่อปี มีอิสระในการทำหลักสูตรเอง ไม่ต้องวิ่งตอบโจทย์นโยบายระยะสั้นจากส่วนกลาง เช่นเดียวกับ โรงเรียนสาธิตซึ่งอยู่นอกสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ไม่ต้องวิ่งตามนโยบาย สพฐ.ไปเสียทุกอย่าง
สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างของโรงเรียน 2 กลุ่มนี้ คือ การคัดเด็กเข้าเรียนที่เข้มข้น มีการแข่งขันสูง ได้เด็กกลุ่มที่มีศักยภาพ ความพร้อม มากกว่าโรงเรียนสังกัดอื่น
นี่เป็นโจทย์สำคัญที่สุดที่ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาเลือกที่จะ 'แก้ไข' มันเป็นอันดับแรกๆ
แต่กรณีประเทศไทย เรากลับพูดถึงคะแนนของเด็กๆ กลุ่มนี้อย่างภาคภูมิใจ การนำคะแนนเฉลี่ยเด็กกลุ่มเก่งเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของเด็กคละระดับความสามารถประเทศอื่น เป็นการใช้ตรรกะผิด ๆ ในการอธิบาย และจะสร้างความเข้าใจผิด ๆ ว่าเด็กไทยเก่งที่สุดในโลก ทั้งที่เด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ใช่ภาพแทนที่แท้จริงของเด็กไทยเลย พวกเขาคือเด็กกลุ่มเก่งและพร้อมของรุ่น ที่ถูกดึงตัวไปกระจุกอยู่ตามโรงเรียนที่รัฐลงทุนมากกว่าโรงเรียนกลุ่มอื่นๆ มีกลไกการบริหารหลักสูตร การเรียนการสอนที่เป็นอิสระ ตลอดจนมี การคัดเลือกครูที่เข้มข้นมากกว่าต่างหาก
รัฐกำลังทุ่มเทการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเข้มข้นเพื่อเด็ก ๆ แค่ 13 โรงเรียน (มหิดลวิทยานุสรณ์+เครือข่ายจุฬาภรณ์ฯ 12 โรง) รัฐยอมให้โรงเรียนกลุ่มนี้ได้รับปกป้องจากนโยบายระยะสั้น มีอิสระในการบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเองโรงเรียนกลุ่มนี้ และโรงเรียนสาธิตฯ สกอ. คัดเลือกเด็กได้เอง และได้เด็กที่เก่ง ที่พร้อมของรุ่นมากระจุกอยู่ด้วยกัน
รัฐกำลังทอดทิ้งให้เด็ก ๆ อีก 30,000 กว่าโรงเรียน อยู่กับระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ขณะเดียวในภาพรวมของโรงเรียน สพฐ. ยังมีความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่ในโครงการห้องเรียนพิเศษสารพัดจัดโดยรัฐ (EP, IEP, Gifted และอื่น ๆ) และมักมีโครงการประกวดแข่งขันที่เน้นเอาเด็กเก่ง เด็กมีศักยภาพมาเคี่ยว มาติวไปแข่งกัน จนครูจำนวนมากต้องวางมือจากเด็กทั่วไปกลุ่มใหญ่ มาทุ่มเทให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้
ยิ่งเราจัดการศึกษาอย่างเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เราจะยิ่งได้สังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมากขึ้น ๆ
การตัดสินใจเรื่องการศึกษาอยู่ในมือคนไม่กี่สิบคน แต่กระทบครู 600,000 คน เด็ก ๆ หลายล้านคน และผู้ปกครองอีกหลายสิบล้านคน
จะนิ่งเฉยหรือส่งเสียง คือการเลือกของเราทุกคนนะครับ