เส้นตาย 30 ก.ย.ตรวจอาคาร กทม.เลิกผ่อนผันขู่คุก 3 เดือน-ปรับวันละหมื่นบาท

20 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2490 ครั้ง


	เส้นตาย 30 ก.ย.ตรวจอาคาร กทม.เลิกผ่อนผันขู่คุก 3 เดือน-ปรับวันละหมื่นบาท

กทม.ขีดเส้นตาย 4,000 อาคาร9 ประเภท เร่งตรวจสอบโครงสร้างความมั่นคง ภายใน 30 ก.ย.หลังผ่อนผันมานาน ขู่ยังเพิกเฉยเจอคุก 3 เดือน ปรับวันละ 1 หมื่นบาท ระบุโรงหนัง-โรงแรม-คอนโดฯ เลี่ยง ก.ม.เพียบ รมว.มหาดไทยสั่งไล่เอกซเรย์กว่า2 ล้านอาคารทั่วกรุง หากพบไม่แข็งแรงใช้ ม.46 ทุบทิ้งได้ทันที ด้านวสท.อาสาช่วยฝึกอบรม (ที่มาภาพประกอบ: allposters.com)

เว็บไซต์ thansettakij.com รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2559 ตามที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,190 ประจำวันที่ 8-10 กันยายน 2559 ได้นำเสนอข่าว “เช็กบิลหมื่นตึกเสี่ยง” นั้น จากการตรวจสอบในเชิงลึกไปยังสำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร พบว่าหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงภาพยนตร์ สืบเนื่องจาก เกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงภาพยนตร์เมเจอร์สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งเป็น 1 ในอาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตรวจสอบทั้งอาคาร 9 ประเภท และ อาคารทั่วไปที่ มีความเสี่ยงและรายงานต่อกระทรวงทันที

ต่อเรื่องนี้ นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ กทม.ผ่อนผันให้อาคาร 9 ประเภท กว่า 4,000 อาคาร ที่กทม.ยังไม่ออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (ร.1) ให้กับอาคารที่มีสภาพพร้อมใช้งาน หรือการออกคำสั่งให้อาคารปรับปรุงโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น เนื่องจาก อาคารดังกล่าว ละเลยการจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารหรือวิศวกรมาตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้อาคาร ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

โดยจะต้องจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารมาตรวจสอบและยื่นแจ้งต่อสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขตและสำนักการโยธา กทม. ภายในวันที่ 30 กันยายน นี้ หลังผ่อนผันเป็นระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบ ทั้งนี้อาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ ประกอบด้วย1. อาคารสูง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3.อาคารชุมนุมคน 4.โรงแรม5.ป้ายขนาดใหญ่6.โรงมหรสพ7.สถานบริการ 8.โรงงาน และ9. อาคารอยู่อาศัยรวม

ผอ.กองควบคุมอาคารฯ กทม. กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุผลที่กทม. ผ่อนผัน แทนการจับปรับดำเนินคดีทันทีเกิดจาก เจ้าของอาคารอ้างว่าไม่ทราบว่ามีกฎกระทรวงตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท ซึ่งอาคารในกลุ่มที่ ละเลยการจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคาร จำนวน 4,000 อาคาร จะเป็นอาคารประเภท โรงแรมและคอนโดมิเนียมขนาดเล็กและ โรงภาพยนตร์ดัง ซึ่งล่าสุด อาคารดังกล่าวได้แจ้งมายังกทม.จำนวนมากแล้ว และมั่นใจว่า จะยื่นแจ้งว่ามีจัดหาและตรวจสอบอาคารแล้วทั้งหมดตามระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว เพื่อต้องการให้อาคารดังกล่าวเข้ามาอยู่ในระบบการตรวจสอบ ที่ปัจจุบันมีอาคาร 9 ประเภท นับหมื่นอาคารในกทม. อย่างไรก็ดี หากผ่อนผันแล้วยังเพิกเฉยอีก กทม.จะดำเนินการตามกฎหมายทันที คือ ปรับ เป็นเงินจำนวน 6 หมื่นบาท จำคุก 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันจำนวน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะหาบริษัทตรวจสอบมาแสดงต่อเจ้าพนักงานของกทม.

“จะมีการร่วมมือกัน 3 หน่วยงาน ในการตรวจสอบอาคาร9ประเภท คือ กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ประกาศกฎระเบียบ โดยมีนิติบุคคลผู้ตรวจสอบอาคารหรือในนามบุคคลไปตรวจสอบ และ เมื่อตรวจสอบแล้ว ก็ไปยื่นกับกทม.ก่อนออกใบอนุญาตรับรองหรือท้องถิ่นในภูมิภาค ที่เน้นมาก ๆ จะเป็น เครื่องดับเพลิง สายดับเพลิง ความมั่นคงแข็งแรง”

นายนพดล ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พล.อนุพงษ์ มท.1 สั่งการให้ กทม. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกันตรวจสอบอาคารเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกทม.อาคารสาธารณะ อาคารพักอาศัยรวม อาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีจำนวนมากและมีอยู่เข้าใช้อาคารจำนวนมากเช่นกัน หากปล่อยให้หลบเลี่ยง เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลย จะส่งผลเสียตามมา

นอกจากนี้มท.1 ยังเน้นย้ำว่า ทุกอาคารทุกพื้นที่จะต้องปลอดภัยทั้งเมืองและไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับโรงภาพยนตร์ เมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้าขึ้นอีก ขณะเดียวกันยอมรับว่า โรงภาพยนตร์เมเจอร์ หลายสาขาในเขตกทม.ไม่ได้ยื่นร.1 รายงานผลการตรวจสอบอาคาร แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ไป หลายอาคารในกทม.จะอยู่ในระบบควบคุมความปลอดภัยต่อการใช้อาคารทั้งหมด ทั้งนี้ที่ผ่านมา มท.1 ต้องการให้ตรวจสอบอาคารให้แล้วเสร็จและจัดให้เข้าระบบกฎหมายทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2559 แต่ปรากฏว่า มีปริมาณอาคารที่ต้องตรวจเช็กจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาเพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาเล็ดลอดได้อีก

สำหรับวิธีการตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท นอกจาก การร้องเรียนจากประชาชนเป็นผู้ชี้เป้าแล้ว สำนักการโยธา กทม. ยังได้รับความร่วมมือ จากสำนักผังเมืองเป็นผู้ชี้เป้าอาคาร โดยใช้ แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมกทม. เป็นตัวกำหนด ว่าอาคารประเภทไหนตั้งอยู่บริเวณไหน เมื่อทราบพื้นที่เป้าหมายสำนักการโยธา กทม. จะเข้าตรวจสอบได้ทันที เพราะ อาคารสำคัญๆ ที่มีคนเข้าไปใช้สอยอาคารในแต่ละวันจำนวนมากๆ จะไปตามผังเมืองโซนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะแต่ละผังย่านสำคัญๆที่สร้างอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่ อาคารพักอาศัยรวม โรงภาพยนตร์ จะอยู่ในทำเล ที่มีศักยภาพ อาทิ ทำเลเกาะแนวรถไฟฟ้า เป็นต้น ว่าอยู่บริเวณไหนบ้าง และ สำนักการโยธาก็สามารถเข้าไปตรวจจับได้ตรงเป้าหมาย ซึ่ง อาคาร 9 ประเภททุกอาคารจะต้องยื่นร.1 กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ไปทุกพื้นที่

“ล่าสุดขณะนี้ กว่า 4,000 ราย เจ้าของ เริ่มยื่นตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้การตรวจสอบอาคาร จะดูว่าระบบดับเพลิง ลิฟท์โดยสาร ทางหนีไฟ พร้อมใช้งานหรือไม่ รวมถึงโครงสร้างภายในอาคาร ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร” ผอ.กองควบคุมอาคารฯ กทม. กล่าว

นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยัง มอบหมายให้ กทม.ตรวจสอบอาคารอื่นๆทุกประเภทนอกเหนือไปจากอาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายอาคารเสี่ยงไม่มั่นคงแข็งแรงซึ่งอาคารในกทม.ทั้งหมด มีกว่า 2 ล้านอาคาร

นายนพดล สะท้อนว่ากทม.จะต้องตรวจสอบสภาพอาคาร ทั้งกว่า 2 ล้านอาคารซึ่ง ปกติ เจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่ละเขตทั้ง 50 เขต รวมทั้งเจ้าพนักงานจากส่วนกลางจากสำนักการโยธากทม. จะ ลงพื้นที่ ตรวจสอบอาคารที่มีความเสี่ยงทุกวันอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ได้เพิ่มความถี่ มากขึ้น คือ จาก 1 วันต่อเจ้าหน้าที่ 1คนตรวจสอบอาคารในพื้นที่ 2 รายต่อวัน ก็เพิ่มเป็น 7-8 ราย ต่อคนต่อวัน และยิ่งล่าสุด อาคารพาณิชย์ของสำนักงานตลาด ย่านประชานิเวศน์เขตจตุจักร จำนวน 177 คูหาได้พังถล่ม ลงมาจำนวน 12 คูหา กทม.ก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ สำนักการโยธา กทม. ได้ แจ้งต่อ ประชาชนผู้ใช้อาคารของสำนักการตลาดกทม.แล้วว่า ห้ามใช้อาคารดังกล่าวต่อไป เนื่องจาก พบว่าอาคารไม่มีสภาพพร้อมใช้งานและเสี่ยงต่ออันตราย แต่ประชาชน กว่า 1,000 รายไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ เพราะเป็นย่านค้าขายทำเลดี ทำให้เกิดการพังถล่มในที่สุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา และขณะนี้ เบื้องต้นทราบว่าชาวบ้านผู้ใช้อาคารได้ยินยอมออกทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้อาคารทั่วไป กทม.จะใช้มาตรา 46 ตามกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงฉบับ ที่ 47 ให้อำนาจพนักงานท้องถิ่น สั่งรื้อถอน อาคารที่เห็นว่าไม่ปลอดภัยได้ทุกอาคาร โดยสังเกตได้จาก 1.อาคารที่มีการทรุดตัว-เอียงผิดปกติ 2.การแตกร้าวของคานและเสา จนมองเห็นเหล็กด้านในเป็นต้น

อย่างไรก็ดี กทม.อยากให้ชาวบ้าน เจ้าของอาคาร เป็นหูเป็นตาแทนหากพบความผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยเร็วที่สุด ส่วนแฟลตดินแดง ได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นอาคารเสี่ยงที่มีรอยแตกร้าว แต่ขณะเดียวกัน การเคหะแห่งชาติ ได้ว่าจ้าง สถาบันการศึกษา ได้ตรวจสอบระบุว่าไม่ควรให้ผู้พักอาศัย ใช้อาคาร ที่ผ่านมีการคัดค้านมาตลอด จนในที่สุดได้มีการเจรจาจน การเคหะฯ มีแผนทยอยรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อก่อสร้างใหม่

นอกจากนี้ กทม.ยังตรวจสอบพบว่ามีอาคารก่อสร้างผิดแบบอีก จำนวน 500 ราย ซึ่งมีความเสี่ยงที่ จะไม่ปลอดภัย เพราะก่อสร้างไม่ตรงกับแบบซึ่งมีทั้งอาคารเล็กและอาคารใหญ่ มีทั้งประเภทตั้งใจและ ไม่ตั้งใจ เช่น ระยะถอนร่นผิด สร้างกำแพงเสาผิดแบบ อาคาร 3 ชั้นไม่เว้นระยะถอยร่นห่างจากอาคารข้างเคียง 3 เมตร ซึ่งจะเปิดหน้าต่างไม่ได้ หากไม่ต้องการแก้ไขก็ต้องสร้างผนังทึบเป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีอาคารขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารที่ได้รับผ่อนผัน จาก อาคารพักอาศัยเป็น โรงแรม จำนวน 1 พันอาคาร ซึ่งสามารถขออนุญาตใช้ตามกฎหมายควบคุมอาคารเดิมได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโรงแรม และ อีกประเภท ซื้ออาคารประเภทห้องแถวไปทำโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าใช้อาคารผิดประเภท ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ เพราะอาจก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี มั่นใจว่า อาคารในกทม.ส่วนใหญ่มั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เนื่องจาก มีขั้นตอนการตรวจสอบค่อนข้างเข้มข้น หากพบว่าก่อสร้างผิดแบบก็จะสั่งรื้อถอน ทั้งนี้แม้อาคารจะมีอายุสูงถึง 70 ปี ก็ไม่มีปัญหา หาก หมั่นตรวจสอบ ที่สำคัญการออกแบบอาคารและใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ดูได้จากโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมอินทราฯลฯ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแต่สภาพโครงสร้างอาคารยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก

ขณะที่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกีรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ (วสท.) กล่าวว่า วสท.ได้มีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรผู้ตรวจสอบอาคาร สำหรับประเทศไทยโดยจัดฝึกอบรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจวิธีการตรวจสอบสภาพอาคาร สามารถวิเคราะห์หาต้นเหตุที่จะนำไปบริหารจัดการ ทั้งนี้หากรายใดผ่านการอบรมหลักสูตรนี้และผ่านการสอบตามเกณฑ์กำหนด สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบได้ อีกทั้งเพื่อต้องการให้มีผู้ตรวจสอบ ดำเนินการตรวจสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งประเทศ

ทั้งนี้สำหรับอาคารที่ต้องตรวจสอบตามกฎกระทรวงอาคาร 9 ประเภท ต้องตรวจสอบทุกปี เพื่อต่อใบอนุญาตรวมทั้งตรวจใหญ่ทุก 5 ปี ซึ่งปัจจุบันเจ้าของค่อนข้างละเลย จึงทำให้เกิดความเสี่ยง คาดว่ามีอาคารเก่า กว่า 4,000 อาคาร ในกทม.ที่ไม่เคยจ้างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบอาคารเลย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: