ย้อนดู ‘พืชทางเลือก’ ตามใบสั่งรัฐบาล ‘สบู่ดำ-หญ้าเนเปียร์-หมามุ่ย’ ไปไม่ถึงฝัน

ทีมข่าว TCIJ : 20 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 12324 ครั้ง

ผลผลิตทางการเกษตรของไทยหลายอย่าง ที่ส่งออกติดอันดับต้นของโลก ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ต้องเผชิญวิกฤตหลายด้านในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งปัญหาการแข่งขันจากประเทศผู้ผลิตอื่น ปัญหาการเมืองในประเทศที่ส่งผลโดยตรงต่อนโยบาย และปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เมื่อมีวิกฤตใดเกิดขึ้น รัฐบาลไทยมักมีคำสั่งทั้งที่ผ่านหน่วยราชการและผ่านสื่อ ให้เกษตรกรงดเว้นการปลูกพืชชนิดนั้นนี้ และหันมาปลูกพืชชนิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในรัฐบาลคสช.อย่างที่เป็นข่าวอยู่บ่อย TCIJ ชวนย้อนไปดูชะตากรรมของ ‘สบู่ดำ-หญ้าเนเปียร์-หมามุ่ย’ ที่เคยถูกจับตาว่าน่าจะเป็นพืชแก้จนให้เกษตรกรไทย แต่ท้ายสุดก็เป็น ‘ฝันค้าง’ ไม่สามารถปลูกแพร่ หลาย และไม่มีตลาดรองรับได้จริง (ที่มาภาพประกอบ: สถานีพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี)

 

สบู่ดำ

ช่วงปี 2555 ขณะที่วิกฤตพลังงานกำลังคุกรุ่น ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พืชพลังงานใหม่ ๆ ถูกปลุกมากระแสว่าจะเป็นทางรอดของประเทศกสิกรรมอย่างไทย โดยครั้งนั้น พืชนอกสายตาที่ถูกหยิบยกมาให้ความหวังครั้งใหม่กับเกษตรกรก็คือ 'สบู่ดำ' ซึ่งในคราวนั้นยักษ์ใหญ่ยานยนต์อย่าง โตโยต้า, อีซูซุ รวมทั้งบริษัทด้านพลังงาน ปตท. และหน่วยงานของรัฐอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้ลงทุนทำการวิจัยอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว โดยข้อมูลจาก สวทช. ระบุว่าในการวิจัยคิดค้นและพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชสบู่ดำนั้นจะใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัย 3 ปี ใช้งบประมาณถึง 300 ล้านบาท

แม้ในการทดลองนำร่องถือว่าสบู่ดำสามารถเป็นทางเลือกได้จริง ๆ แต่กระนั้น การปลูกสบู่ดำอย่างแพร่หลายก็เป็นแค่ฝันค้าง แม้ในตอนนั้นจะมีพ่อค้าหัวใสนำเมล็ดพันธุ์สบู่ดำไปขายให้เกษตรกรถึงขั้นมีการการันตีรับซื้อบ้าง แต่ก็พบว่าเป็นช่วงระยะเวลาเพียงชั่ววูบ เมื่อเกษตรกรปลูกแล้วไม่คุ้มทุน ขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปสบู่ดำให้เป็นพลังงานนั้นก็มีไม่กี่แห่ง และไม่ได้กระจายตัวไปในพื้นที่ที่เกษตรกรมีศักยภาพในการปลูกสบู่ดำในปริมาณมากพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมได้

การโฆษณาปลูกสบู่ดำเกินจริงในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ในแถบจังหวัดภาคอีสานได้มีขบวนการหลอกลวงชาวบ้านให้สมัครเป็นสมาชิกปลูกสบู่ดำ อ้างว่ามีเงินทุนสนับสนุนจากประเทศเบลเยี่ยมโดยจะรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำไบโอดีเซล จนมีผู้หลงเชื่อจ่ายเงินค่าสมัครเป็นจำนวนมาก 

สบู่ดำ

(ที่มาภาพ: wikipedia.org)

สบู่ดำ เป็นพืชเป็นสมุนไพรรักษาโรคชนิดหนึ่ง ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าทำลายผลผลิต เนื่องจากมีสารพิษ Hydrocyanic มีกลิ่นเหม็นเขียว สบู่ดำอยู่ในวงศ์ไม้ยางพารา ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำมาบีบน้ำมันสำหรับทำสบู่ ปัจจุบันสบู่ดำมีปลูกอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือ เรียกว่า มะหุ่งฮั้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า มะเยา หรือสีหลอด ภาคใต้ เรียกว่า มาเคาะ การขยายพันธุ์ โดยการใช้เมล็ด ควรเก็บฝักที่มีสีเหลืองแก่แกมสีน้ำตาล สามารถเพาะในถุงเพาะ หรือกระบะทราย อายุประมาณ 2 เดือน จึงนำไปปลูก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตได้ประมาณ 8-10 เดือน หลังปลูกการใช้ท่อนพันธุ์ ควรใช้ท่อนพันธุ์สีน้ำตาลปนเขียวยาว 45-50 เซนติเมตร จะเริ่มมีดอกและให้ผลผลิต ระยะ 6-8 เดือน หลังปลูก

ทั้งนี้มีการค้นคว้าวิจัยผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำ โดยใช้เทคโนโลยี Partial Hydrogenation ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง และมีต้นทุนไม่สูงนัก โดยผลจากการวิจัยพบว่าไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากสบู่ดำซึ่งผ่านกระบวนการ Partial Hydrogenation นี้ทำให้สามารถผสมกับน้ำมันดีเซลได้ในสัดส่วนมากกว่า 5% (B5) ซึ่งเป็นสัดส่วนการผสมของเชื้อเพลิงดีเซลทั่วไปในท้องตลาด

หญ้าเนเปียร์

ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย 'หญ้าเนเปียร์' ถูกปลุกกระแส โดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก
เนเปียร์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ถึงกับมีการขายฝันไว้ว่าจะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าถึงจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564  รัฐบาลในขณะนั้นได้มีการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ในพื้นที่หน่วยทหาร และยังให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ลงนามร่วมกับเอกชน 10 บริษัท ใน 3 พื้นที่ทั้งแล้งน้ำ ชุ่มน้ำ และปลูกข้าวไม่ได้ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินหน้าโครงการศึกษาวิจัยต้นแบบ’วิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน’ โดยบริษัทฯ ทั้งหมดจะได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานรายละไม่เกิน 20 ล้านบาทเพื่อผลิตไฟรายละ 1 เมกะวัตต์

ต่อมาหลังการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกเลิกการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ในพื้นที่หน่วยทหาร รวมทั้งโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าหญ้าเนปียร์จำนวน 10 โครงการของกองทุนอนุรักษ์พลังงานก็ต้องยุติไปตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งแม้รัฐบาล คสช. จะไม่ห้ามให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ แต่เอกชนที่จะทำโรงไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์นั้นจะไม่ได้การอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากภาค รัฐ  ทำให้เอกชนที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ พับโครงการไปเกือบทั้งหมด

ต่อมาในเดือนมกราคม 2558 ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือต่อรัฐบาลว่ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์ 14 ครัวเรือนที่ ลงทุนปลูกหญ้าเนเปียร์จำนวน 74 ไร่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ งจนถึงปี 2558 ยังไม่ได้ตัดหรือขายให้เป็นวัตถุดิบได้ เนื่องจากบริษัทผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากหญ้าเนเปียร์ ได้ยกเลิกการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1.5 เมกะวัตต์ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทางเงินตามข้อตกลงจากภาครัฐ

นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ปัญหาของการนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าที่มีการพูดถึงตั้งแต่แรกเริ่มแล้วก็คือ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ากระจายไปตามแหล่งปลูกหญ้าเนเปียร์ต่าง ๆ อาจจะไม่คุ้มค่า อาจจะมีการต่อต้านจากชุมชน รวมทั้งการใช้พื้นที่ในการปลูกหญ้าเนเปียร์นี้อย่างมหาศาล เพราะต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าหญ้าเนเปียร์ 1,000 ไร่ ถึงจะผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจจะกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรที่สำคัญอื่น ๆ ซึ่งหากเดินหน้าตามนโยบายการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3,000 เมกะวัตต์นั้น ประเทศไทยจะต้องใช้พื้นที่ในการปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 3 ล้านไร่เลยทีเดียว

ปัจจุบันยังคงมีการปลูกหญ้าเนเปียร์สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งมีการนำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ (บ้างเป็นส่วนน้อย)  ยังไม่มีศักยภาพการปลูกให้ได้ถึง 1,000 ไร่ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้เพียง 1 เมกะวัตต์แต่อย่างใด 

หญ้าเนเปียร์

(ที่มาภาพ: ศูนย์บริการข้อมูลโครงการศึกษาวิจัยต้นแบบวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน)

หญ้าเนเปียร์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pennisetum purpureum เป็นพืชนําเข้าจากประเทศไต้หวันมีลักษณะคล้ายต้นอ้อยมีใบหนาและกว้าง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยจากพันธุ์หญ้ากว่า 20 ชนิดพบว่าหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมีโครงสร้างของสารอาหารที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทําให้เกิดก๊าซสูง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาร่วมกับคุณลักษณะอื่น ๆ พบว่าหญ้าเนเปียร์เพาะปลูกง่ายให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหญ้าชนิดอื่นเกือบ 7 เท่า จึงทําให้ได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะพืชพลังงาน

หญ้าเนเปียร์นั้นปลูกขยายพันธุ์ง่าย และโตเร็ว ผลผลิตหญ้าสดเฉลี่ย 40 – 80 ต้น/ไร่/ปี (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการบริหารจัดการดินและน้ำ) ตัดแล้วแตกกอใหม่และเก็บเกี่ยวได้อย่างน้อย 7 ปี  โดยการนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตพลังงาน สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ 1. การเผาโดยตรงหลังผ่านกระบวนการลดความชื้น และ 2. การผลิตเป็นก๊าซชีวภาพด้วยการหมักซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าและเป็นที่นิยมมากกว่า โดยหญ้าเนเปียร์สดปริมาณ 1 ตัน อายุ 60 วัน เมื่อเก็บเกี่ยวและผ่านกระบวนการหมักจะเกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน  (Anaerobic Digestion) สามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 90 ลูกบาศก์เมตร เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 170 กิโลวัตต์ต่อวัน ทั้งนี้การนำหญ้าไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพแล้วจึงนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1 เม กะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 800 – 1,000 ไร่

หมามุ่ย

กรณีที่รัฐบาลคสช.บอกให้เกษตรกรปลูก ‘หมามุ่ย’  น่าจะเป็นตัวอย่างคลาสสิคที่สุด ที่แสดงถึงแบบแผนการประโคมข่าวขายฝัน ‘พืชทางเลือก’ ในรอบล่าสุด  โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวต่อสาธารณะในการสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร ระบุว่าในเมื่อเราไม่สามารถปลูกข้าวได้ (ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำและมีปัญหานโยบายจำนำข้าว) ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลว่าจะปลูกพืชสมุนไพรได้หรือไม่ โดยจะนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการสร้างโรงงานเพิ่ม โดยพืชสมุนไพรตัวหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำก็คือ ‘หมามุ่ย’

“วันนี้เราขายหมามุ่ยได้กิโลกรัมละกว่า 800 บาท หมามุ่ยอินเดียนะ เพราะฝักมันใหญ่ เอามาปลูกแล้วขายกิโลกรัมละ 800 บาท  แต่ตอนเขาเอาไปทำแล้วกลับมาเป็นยาหรือเป็นวัตถุดิบที่สำเร็จรูปแล้ว กลับมาเป็นกิโลกรัมละ 8 หมื่นบาท 10 เท่าน่ะ แล้วทำไมยังโง่ปลูกอย่างอื่นอยู่ที่มีกำไรเพียงพันบาท สองพันบาท แต่เราต้องควบคุมนะ จะทำอะไรก็ตามมันต้องมีดีมานด์และซับพลายที่มันสมดุล ถ้าซับพลายการผลิตมากกว่าการตลาด มันก็เหลือล้นคลัง มันเป็นภาระของรัฐบาล มีต้นเหตุของการรั่วไหล ต้นเหตุของการใช้ประชานิยม แต่ข้าวยังดีอยู่นะ ข้าวที่เสียเป็นเรื่องรัฐบาลที่แล้วรับผิดชอบ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธีก็แล้วกันนะ เป็นความคิดคนละอย่างกัน เราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็ง หรือจะดูแลคนที่รายได้น้อย ท่านบอกว่าต้องให้เบ็ดตกปลาให้เขา แล้วสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกินเลยแล้วจบแค่นั้น ไม่ได้ วันนี้เรายังทำแบบนี้อยู่ มันต้องใช้เวลา เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักร เครื่องมือ ที่ผ่านมาใช้แรงงานจนหลังโก่ง โก่งจนถึงลูกหลานก็หลังโก่ง เพราะแบกหนี้ไว้ทั้งหมด และรายได้ต่ำ ทำนา 120 วัน ได้กำไรไร่ละพันกว่าบาทจะไปอยู่ได้อย่างไร ในระหว่าง 120 วัน จึงต้องกู้เงิน กู้เงินรัฐไม่ได้ กู้นอกระบบแทน เจ้าหน้าที่ทวงแล้วไร่นาก็ถูกยึด รัฐบาลแก้ไขทุกวัน ก็ต้องดูแลบ้าง หาอาชีพ จ้างงานให้ ปัญหาเหล่านี้ยุ่ง ทับซ้อนเยอะแยะ เล่าให้ฟังก็แล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ (อ่านเพิ่มเติม: พล.อ.ประยุทธ์แนะปลูกข้าวไม่ได้ให้ลองหมามุ่ย-ขายได้กิโลละ 800 บาท)

จากนั้นสื่อมวลชนก็ประโคมข่าวสนับสนุนการปลูกหมามุ่ย มีการยกตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกหมามุ่ย แต่ท้ายสุดหมามุ่ยก็มีชะตากรรมคล้าย ๆ กับ สบู่ดำและหญ้าเนเปียร์ มีทั้งเกษตรกรทดลองปลูกจริงแล้วไม่คุ้มทุน มีกลุ่มขบวนการหลอกลวงเกษตรกร รวมทั้งขาดการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งไม่สามารถทำให้การปลูกหมามุ่ยป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยาสมุนไพรดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ วาดฝันไว้ได้

โดยในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มเกษตรกรออกมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่าได้ลงทุนปลูกหมามุ่ยตามคำแนะนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนี้หมามุ่ยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดรองรับ กล่าวคือปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวอนให้นายกหรือรัฐบาลหาตลาดให้ ตามที่เคยแนะนำเกษตรกรไว้ โดยกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนนี้ได้ระบุว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่จ.อุบลราชธานี ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราแต่ราคาตกต่ำ ให้หันมาปลูกหมามุ่ยแทนซึ่งมีรายได้สูงถึงกิโลกรมละ 2,000 บาท หรือ 150,000 บาทต่อไร่ ประกอบกับต่อมามีการประโคมข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร ยกตัวอย่างหมามุ่ยเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแปรรูปแล้วมีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่า พวกตนจึงได้ตกลงใจสมัครเป็นสมาชิกและทำหนังสือสัญญาแรกเข้ารายละ 4,900 บาทกับทางบริษัท ซึ่งให้เมล็ดพันธุ์หมามุ่ยคนละ 300 เม็ดพร้อมกับยา จากนั้นได้ลงทุนเตรียมแปลงปลูก ทำร้าน และซื้อปุ๋ยอินทรีย์ เพราะต้องการให้เมล็ดปลอดสารพิษ รวมค่าใช้จ่าย ตกไร่ละ 30,000-40,000 บาท

ซึ่งกลุ่มเกษตรกรระบุว่าทางบริษัทแห่งนั้นรับปากว่าหากไม่มีตลาดทางบริษัทยินดีรับซื้อทั้งหมด แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวจริง ๆ ได้ติดต่อไปทางบริษัทแห่งนั้น ปรากฏว่าไม่รับแม้แต่โทรศัพท์ ทำให้คิดว่าพวกตนน่าจะถูกหลอก จึงได้รวมตัวกันเข้าพบผู้สื่อข่าวเพื่อวอนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยเหลือหาตลาดให้ เพราะเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยแนะนำเกษตรกรไว้

หมามุ่ยอินเดีย

 

(ที่มาภาพ: สถาบันส่งเสริม เกษตรอินทรีย์ฯ)

หมามุ่ยสายพันธุ์อินเดียมีลักษณะต้นคล้ายกับหมามุ่ยของไทย แต่แตกต่างที่ลักษณะฝักและเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ และขนสั้นและไม่คันเวลาสัมผัส มีเมล็ดสี 2 ลักษณะ คือ สีขาวและสีดำ แต่หมามุ่ยไทยมีฝักขนาดเล็กและขนฝักยาวและคันเวลาสัมผัสขนฝัก มีทั้งเม็ดเล็กและใหญ่แต่มีสีดำเพียงสีเดียว โดยหมามุ่ยอินเดียวิธีการปลูกก็ดูแลง่าย ทนแล้ง สามารถนำมาทำยาสมุนไพรได้  ระยะเวลา 1 ปี เก็บผลผลิตได้ถึง 2 ครั้ง

ทั้งนี้ มีการวิจัยว่าในเมล็ดหมามุ่ยอินเดียมีสารแอลโคปาที่นำไปผลิตยารักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้ผลดีกว่าสารชนิดอื่น นอกจากนี้แล้วสารแอลโคปาที่สกัดจากเมล็ดหมามุ่ยอินเดีย ยังมีสรรพคุณผลิตเป็นยาแก้โรคเซ็กซ์เสื่อม ผลิตยาลดอาการเครียด ช่วยให้นอนหลับสนิท ผลิตเป็นยาเสริมประสิทธิภาพสมอง หัวใจ ไต ปอด ตับ อีกด้วย

อ่าน 'จับตา': “การส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยปี 2557"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6112

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: