กระบวนการการทำให้อัมเพทการ์ (Ambedkar) กลายเป็นฮินดูในรัฐมหาราชตระ (Maharashtra)

Gopal Guru แปลโดย ฮากีม ผูหาดา School of International Studies Hinduisation of Ambhedkar in Maharashtra 21 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 5164 ครั้ง


ตลอดจนเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยภูมิหลังดังกล่าว อัมเพทการ์จึงเป็นดั่งผู้นำและแบบอย่างให้แก่ชาวดาลิตในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางชนชั้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีในการหยิบบทความที่พูดถึงอัมเพทการ์มาแปลเป็นภาษาไทย

บทความชิ้นนี้เขียนโดย Gopal Guru ศาสตราจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจาวะหะราลเนห์รู (Jawaharlal Nehru University) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1991 แม้จะผ่านมามากกว่า 25 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความสำคัญในการทำความเข้าใจทัศนะทางการเมือง และแนวคิดทางศาสนาพุทธของอัมเพทการ์ ตลอดจนทำความรู้จักกับการเมืองอินเดีย ด้วยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคBJP (Bharatiya Janata Party) พรรคการเมืองที่กล่าวได้ว่ามีอุดมการณ์ฮินดูชาตินิยมสามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย

การใช้กลยุทธต่างๆ ของพรรค BJP ที่ร่วมกับเครือข่ายฮินดูชาตินิยมอื่นๆ ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในขณะนั้น ได้เอื้อให้พรรค BJP ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลในปี 1996 ซึ่งคะแนนเสียงส่วนหนึ่งมาจากผู้คนที่อยู่ในชนชั้นดาลิต(dalit)หรือที่คนไทยรู้จักในนามจัณฑาล อันเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในระบบชนชั้นวรรณะตามความเชื่อของศาสนาฮินดู บทความชิ้นนี้จะได้ย้อนกลับไปสืบหาเหตุผลที่น่าสนใจว่าเหตุใดชาวดาลิตส่วนใหญ่ในรัฐมหาราชตระถึงได้เทคะแนนเสียงให้กับพรรค BJP ทั้งๆ ที่พรรคดังกล่าวมีความเป็นฮินดูชาตินิยมอย่างเข้มข้นอันหมายถึงต้องรักษาระบบชนชั้นอันเป็นใจกลางของศาสนาฮินดูซึ่งกดขี่ชาวดาลิตอยู่ตลอดมา แม้กระบวนการเหล่านี้จะเต็มไปด้วยความย้อนแย้งในตัวเอง แต่กลับประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

การเลือกเอาแนวคิดของอัมเพทการ์เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฮินดูได้ดำเนินไปอย่างช่ำชองโดยลัทธิฮินดูนิยม อีกทั้งพุทธศาสนิกบางกลุ่มได้พยายามอย่างหนักในการปลดเปลื้องอุดมการณ์ของอัมเพทการ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง

ในวาระครบรอบอายุ 100 ปี (ค.ศ. 1991 ในขณะนั้น) ของภีมราว รามชี อัมเพทการ์ (B R Ambedkar) การเมืองของชาวดาลิตในรัฐมหาราชตระ (Maharashtra)กำลังประสบกับช่วงเวลาขับคันที่แม้ว่าจะมีความพยายามรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางการเมืองเดิม(ของความเป็นกลุ่มก้อน-ผู้แปล)ของชาวดาลิต แต่ที่สุดก็ได้เจือจางความเข้มข้นของความเป็นกลุ่มก้อนไปสู่กระบวนการที่ไม่สิ้นสุดของแตกกระจายเป็นกลุ่มย่อยจึงทำให้ในหมู่ของดาลิตเองเกิดกลุ่มต่างๆมากมาย

หลังจาก(การสิ้นชีวิตของ)อัมเพทการ์อัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มก้อนของชาวดาลิตได้ถูกกัดกร่อนอย่างต่อเนื่องโดยชาวดาลิตด้วยกันเองขณะเดียวกันก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายชาวฮินดูในการผนวกแนวคิดของอัมเพทการ์เข้ามาอยู่ในปริมณฑลของ “การทำให้กลายเป็นฮินดู” (Hinduisation) หรือการกลมกลืนชาวดาลิตให้เป็นส่วนหนึ่งฮินดู เช่นเดียวกับการที่องค์กรศาสนาพุทธบางองค์กรที่มุ่งสนใจในการนำแนวคิดของอัมเพทการ์เข้าสู่ปริมณฑลทางจิตวิญญาณ เพื่อแทนที่ความคิดทางศาสนาพุทธที่เขาใช้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยชาวดาลิตให้พ้นจากพันธนาการ

เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดชาวดาลิตบางกลุ่มจึงถูกชักจูงโดยฝ่ายขวาหลากหลายกลุ่ม? เหตุใดและอย่างไรฝ่ายขวาถึงโน้มน้าวชาวดาลิตไปสู่การทำให้แนวคิดของอัมเพทการ์กลายเป็นฮินดู และการทำให้แนวคิดของเขากลายเป็นเพียงเรื่องทางจิตวิญญาณเท่านั้น?

เป็นเรื่องจริงที่แม้ชาวดาลิตจะค่อนข้างล้มเหลวในความพยายามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ประสบความสำเร็จ เช่น การรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านกลุ่มอิสลามสุดโต่งในรัฐมหาราชตระ(Maharashtra) เป็นต้นแต่กระนั้นความเป็นหนึ่งเดียวก็ประสบความล้มเหลวในการรับมือกับการโน้มน้าวอย่างเป็นระบบจากกลุ่มฮินดูนิยม ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดฮินดูชาตินิยมอย่างความช่ำชอง และเน้นกลยุทธในการทำให้ชาวดาลิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี กลุ่มฮินดูนิยมยังคงกล่าวโทษอัมเพทการ์และงานเขียนของเขาอย่างรุนแรง เช่น ในงานที่ว่าด้วยปัญหาอRama and Krishna เป็นต้น

พรรค Shiv Sena (พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีแนวคิดฮินดูชาตินิยมในรัฐ Maharashtra และเป็นหนึ่งในเครือข่ายของกลุ่มฮินดูชาตินิยม-ผู้แปล) ยังเคยเป็นตัวแทนของการเข่นฆ่าชาวดาลิต พรรคดังกล่าวได้ทำลายรูปภาพและรูปปั้น รวมทั้งด่าทอว่าร้ายต่ออัมเพทการ์และพระพุทธเจ้า (Buddha) จึงไม่แปลกที่จะกล่าวในที่นี้ว่าพรรค Shiv Sena ได้ใช้กุลยุทธใหม่เพื่อชนะใจชาวดาลิตและอยู่ในแผนของการทำให้ชาวดาลิตเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู  โดยเห็นได้ชัดจากการที่พรรคShiv Sena  วิจารณ์อย่างรุนแรงต่ออัมเพทการ์และได้ข่มขู่ต่อกลุ่มพุทธนิยมใหม่ (neo-Buddhist)โดยเฉพาะกลุ่ม Mahars เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ติดตามอัมเพทการ์และแนวทางศาสนาของเขา ดังนั้นกลุ่มดาลิตที่พรรคShiv Sena เลือกเป็นเป้าหมายในการทำให้กลายเป็นฮินดูจึงเป็นกลุ่ม Mangs,Chambhars และ Dhors ซึ่งมีความโน้มเอียงไปทางฮินดูอยู่แล้ว แล้วปล่อยให้มีกระบวนการการซึมซับและกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งโครงสร้างองค์กร นอกจากนี้ยังได้ใช้ความพอไม่พอใจของกลุ่ม Mangs และกลุ่ม Chambars ที่มีต่อกลุ่ม Mahars ในการรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านกลุ่มพุทธ Mahars

นอกจากนี้เครือข่ายฮินดูชาตินิยม ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่ม RSS (RashtriyaSwayamsewakSanghองค์กรไม่สังกัดรัฐบาลที่มีแนวคิดฮินดูชาตินิยม--ผู้แปล), ABVP (AkhilBharatiyaVidyarthiParishad องค์กรนักศึกษาฝ่ายขวาที่มีแนวคิดฮินดูชาตินิยม-ผู้แปล)และองค์กรแม่อย่างพรรค BJP (BharatiyaJanata Party พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีแนวคิดชาตินิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน-ผู้แปล) ไม่ได้มุ่งความสนใจไปยังกลุ่มพุทธ Mahars เช่นเดียวกับพรรค Shiv Sena แต่กลับมีความกระตือรือร้นและช่ำชองในการขยายการทำให้เป็นฮินดูในดาลิตกลุ่มนี้ กระบวนการทำให้กลายเป็นฮินดูของเครือข่ายฮินดูชาตินิยม เป็นไปใน 2 ลักษณะ

ในลักษณะแรก เป็นเชิงแนวคิด BJP พยายามที่จะสร้างความเข้าใจ (ผิด) ต่อแนวคิดของอัมเพทการ์โดยแย้งว่าแนวคิดและการกระทำของเขามีความสอดคล้องกับลัทธิฮินดูนิยมมากกว่าที่จะล้มล้าง ตลอดจนมีความพยายามที่จะเปรียบเทียบแนวคิดของอัมเพทการ์เข้ากับแนวคิดของนักวิชาการฝ่ายนิยมฮินดูอย่างเฮดเกวาร์ (Hedgewar) และซาวาร์การ์ (Savakar) และแสดงให้เห็นว่านักวิชาการทั้งสามได้สร้างอัตลักษณ์ร่วมของฮินดูเพื่อเอาชนะการกระทำที่เลวร้ายในระบบชนชั้นและวรรณะที่แตะต้องไม่ได้(untouchability)อย่างดาลิต

ลักษณะที่สอง คือ พรรค BJP และเครือข่ายนักศึกษา ABVP ได้ก่อตั้งองค์กรเพื่อรวบรวมกลุ่มดาลิตในโครงการการทำให้แนวคิดของอัมเพทการ์กลายเป็นฮินดู โดยก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า the Samajik Samarasta Manch (องค์กรเพื่อสังคมที่กลมกลืน) ในปี 1983 และจัดตั้งองค์กรชื่อว่าthe Phule-Ambedkar ‘SandeshYatra’ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้มีการจัดบรรยาย/สัมมนาและเฉลิมฉลองวันครบรอบอายุ 100 ปีของอัมเพทการ์ตั้งแต่เมืองปูเน่ (Pune) จนถึงเมืองนาคปุระ (Nagpur) อันเป็นกลยุทธในการทำให้อัมเพทการ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู ซึ่งพรรคBJP และ ABVP ได้เลือกดาลิตบางส่วนและกลุ่มชนชั้นต่ำอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับ ABVP หรือ RSS เข้าไปร่วมในโครงสร้างขององค์กรดังกล่าว

ในการพบปะสมาชิกเมื่อเดือนมกราคม ปี 1991 ที่เมืองนาสิก (Nashik) พรรค BJP ได้วาง 25 แผนงานสำหรับดาลิต โดยแผนงานที่สำคัญคือการล้มเลิกระบบชนชั้นและความไม่เท่าเทียม มีการเรียกร้องถึงการใช้แหล่งน้ำร่วมกันของชุมชน, สถานที่เผาศพร่วมกัน,การล้มเลิกการกระทำที่น่ารังเกียจ อย่างการกำจัดสิ่งปฏิกูล,การบังคับใช้นโยบายต่างๆจากthe Mandal Commission (คณะกรรมการที่จัดสรรส่วนแบ่งของโอกาสทางการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจให้กับกลุ่มคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติทางชนชั้น- ผู้แปล), การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย Marathwada university เป็นต้น รัฐที่พรรคBJP ครองเสียงส่วนใหญ่ได้วางแผนโครงการต่างๆไปจนถึงวันที่ 14 เมษายน 1991 ซึ่งเป็นวันเกิดของอัมเพทการ์เพื่อที่จะกระตุ้นชาวดาลิตให้เข้าร่วมแผนงานเหล่านี้ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง ‘samata parishads’(องค์กรสาขาของเครือข่ายชาตินิยมฮินดูนิยม- ผู้แปล)ในแต่ละเขตของรัฐ ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 14 เมษายน 1991

กลยุทธของพรรคBJP ส่งผลต่อกลุ่มดาลิตอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนคนสำคัญที่ดูเหมือนจะสนับสนุนกลุ่มฮินดูนิยมใหม่ (neo-Hinduism) ปัญญาชนจากดาลิต เช่นกังกาดาร์ ปันตาวาเน่ (Gangadhar Pantawane) ปัญญาชนดาลิตด้านการประพันธ์ และนักเคลื่อนไหวดาลิตด้านอื่นๆ ไม่เพียงแต่ได้เข้าร่วมกับองค์กรSandeshYatra ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มABVPเท่านั้น มีรายงานว่านักเคลื่อนไหวและกลุ่มปัญญาชนเหล่านี้ได้ร่วมเวทีปราศัยกับองค์กร Samarasta Manch มาหลายครั้งอีกด้วย รวมทั้งเรียกร้องให้ชาวดาลิตเคารพต่อซาวาร์การ์(นักฮินดูชาตินิยม-ผู้แปล) เหมือนกับที่เคารพต่ออัมเพทการ์นอกจากนั้นปัญญาชนดาลิตยังเรียกร้องให้ชาวดาลิตสร้างความกลมกลืน แต่ก็ดูเหมือนว่ายังเป็นที่สับสนในหมู่ชาวดาลิตด้วยกันเอง เพราะไม่มีการอธิบายว่าชาวดาลิตต้องกลมกลืนกับใคร ที่ตลกร้ายไปกว่านั้นคือกลุ่มฮินดูนิยมสุดโต่งซึ่งเป็นดั่งอุปสรรคสำคัญสำหรับชาวดาลิตในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้กลายมาเป็นที่เคารพในหมู่ปัญญาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองของชาวดาลิต  อีกด้วยหลักฐานที่บ่งชี้คือปัญญาชนจากดาลิตอย่าง กังกาดาร์ ปันตาวาเน่ (Gangadhar Pantawane)และมาโนฮาร์ ฆารุด (Manohar Garud) ซึ่งเป็นอาจารย์จาก Ambedkar Physical Education College จากเมืองออรังกาบัด (Aurangabad)และเครือข่ายดาลิตจากออรังกาบัด (Aurangabad)กระตือรือร้นในการต้อนรับต่อการเข้ามาของABVP ในเดือนพฤษจิกายนปี 1989 ทั้งๆที่อัมเพทการ์ได้ก่อตั้งระบบการศึกษาที่เรียกว่า “Nagsenvan” ที่เมืองออรังกาบัด (Aurangabad)โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างปัญญาชนดาลิต ซึ่งในอนาคตจะได้เผยแพร่แนวคิดในการล้มล้างโครงสร้างที่กดขี่โดยกลุ่มฮินดูฮินดู 

ความดื่มด่ำของกลุ่มฮินดูนิยมและชาวดาลิตข้างต้นได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยต่อไปนี้

1) ความต้องการที่จะรุกล้ำเข้าไปยังกลุ่มดาลิตที่มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะหลังจากที่พรรค BJP ชนะการเลือกตั้งระดับรัฐในปี 1990 ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะได้รับการสนับสนุนจากชาวดาลิตในรัฐที่มีจำนวนมากทีเดียว ซึ่งเป็นตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในรัฐ

2) เพื่อกอบกู้ภาพพจน์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มเหยียดชนชั้น และต้องการที่จะสร้างชาติฮินดู (Hindu Rashtra) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาชนะใจชาวดาลิตในแง่ของความแตกต่างทางชนชั้นตลอดจนการผสมกลมกลืนอัตลักษณ์ความเป็นฮินดูร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับศัตรูตัวเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วแก่นแท้ของอัตลักษณ์ความเป็นฮินดูร่วมกันคืออัตลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับดาลิตและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ฉะนั้นด้วยบริบทนี้เองที่จะต้องทำความเข้าใจการสนับสนุนจัดสรรส่วนแบ่งโอกาสทางการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจให้กับ SC/ST (ชื่อทางการที่ถูกกำหนดให้กับกลุ่มคนที่ได้รับความเสียเปรียบด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ the Scheduled Caste (ST) สามารถอ้างถึงกลุ่มดาลิต ส่วน the Scheduled Tribe (ST) มักหมายถึงชนเผ่าดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้-ผู้แปล) และ Mandal commission ของพรรค BJP

ความโน้มเอียงของชาวดาลิตไปยังกลุ่มฮินดูนิยมใหม่ สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1) ความบกพร่องต่อการแทรกแซงทางการเมืองทั้งจากตัวชุมชนเองและกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายประชาธิปไตยที่ทำให้ชาวดาลิตไปเข้าร่วมกับฝ่ายฮินดูชาตินิยม

2) ชาวดาลิตบางส่วนปฏิเสธที่จะสร้างจุดร่วมกับฝ่ายซ้ายและฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งแสดงให้เห็นได้หลังจากที่วิศวนาถ ประตาปซิงห์ (V P Singh) (อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดีย ดำรงตำแหน่งในปี 1989-1990 -ผู้แปล) ลงจากตำแหน่งและในขณะที่ฝ่ายซ้ายได้จัดกิจกรรมพบปะและเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านภัยคุกคามที่มีขึ้นกับสหภาพ แต่ผู้นำของดาลิตกลับวุ่นอยู่กับการเข้าร่วมการปราศัยของ samarasta ที่สนับสนุนโดยกลุ่ม ABVP

3) ผู้นำดาลิตยังลังเลไม่ต่อการมองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการปลดปล่อย

ต่อภูมิหลังเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดคำถามที่ต้องตรวจสอบคือ อัมเพทการ์มีจินตภาพเกี่ยวกับรัฐฮินดูหรือไม่? อัมเพทการ์มองว่าศาสนาฮินดูเป็นเสาหลักของสังคมอย่างที่นักฮินดูชาตินิยมในปัจจุบันนำเสนอหรือไม่? แนวทางพุทธศาสนาของอัมเพทการ์มีความสอดคล้องกับจารีตของศาสนาฮินดูหรือไม่? ซึ่งผู้เขียนจะได้แจงแจงในแต่ละประเด็นต่อไป

อัมเพทการ์มีมุมมองว่าศาสนาฮินดูไม่สามารถสร้างความเป็นชาติหรือแม้แต่ความเป็นสังคมได้ ข้อถกเถียงของเขาคือชาวศาสนาฮินดูแต่เดิมนั้นไม่ได้มีความตระหนักรู้ถึงความเป็นชาติอยู่แล้ว สิ่งที่ชาวฮินดูตระหนักรู้คือความเป็นชนชั้นซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำกัดการสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกันในสังคมฮินดู นี่จึงอธิยายว่าทำไมอัมเพทการ์จึงไม่เคยมองว่าว่าสังคมฮินดูจะเป็นเอกภาพได้ นอกจากนั้นเขายังคิดว่าหากการปกครองด้วยศาสนาฮินดู (Hindu Raj) เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั้นคือภัยพิบัติของประเทศ สำหรับเขาแล้วลัทธิฮินดูคือภัยคุกคามต่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ลงรอยกับประชาธิปไตย

เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของซาวาร์การ์ (Savarka) ผู้นำขององค์กรSamarasta Manchและ the Phule-Ambedkar Sandesh Yatra พูดถึงการกำจัดลัทธิชนชั้นนิยมและยกเลิกชนชั้นดาลิตนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแนวคิดฮินดูนิยม แต่คำกล่าวเหล่านั้นดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งที่ว่าลัทธิฮินดูนิยมและระบบชนชั้น/วรรณะนั้นต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ดังนั้นการกำจัดลัทธิชนชั้นนิยมจึงหมายถึงการทำลายลัทธิฮินดูนิยมไปด้วย เพราะ (ระบบชนชั้น) นั่นถือเป็นหัวใจสำคัญของชาวฮินดู เมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิฮินดูนิยมกับโครงสร้างระบบชนชั้นแล้ว เป็นไปได้หรือที่กลุ่มฮินดูนิยมใหม่ได้เตรียมการในการกำจัดระบบชนชั้น ซึ่งต้องแลกด้วยจุดจบของลัทธิฮินดูนิยม? ตราบที่โครงการทางสังคมของอัมเพทการ์ถูกพิจารณาว่าคือการต่อสู้กับระบบชนชั้นและลัทธิฮินดูนิยม ดังนั้นการนำแนวคิดของซาวาร์การ์และอัมเพทการ์มารวมกันจึงผิดฝาผิดตัว เพราะในขณะที่คนแรกต้องการทำลายระบบชนชั้นแต่กลับปกป้องลัทธิฮินดูนิยม แต่คนหลังทั้งต้องการกำจัดระบบชนชั้นและสลัดทิ้งลัทธิฮินดูนิยม

ความพยายามในการบูรณาการแนวคิดของอัมเพทการ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดของฮินดูโดยกลุ่มฮินดูนิยมใหม่ ซึ่งยังคงอ้างว่าแนวคิดและขบวนการการเปลี่ยนความเชื่อของอัมเพทการ์สอดคล้องกับวัฒนธรรมและจารีตของศาสนาฮินดูโดยสมบูรณ์ ทั้งยังอ้างว่าพระพุทธเจ้าเป็นการกลับมาเกิดใหม่ในร่างที่ 9 ของพระวิษณุ (Vishnu) ทั้งนี้ หากได้ศึกษาอุดมการณ์ทางพุทธศาสนาของอัมเพทการ์และแนวคิดของการเปลี่ยนความเชื่อของเขา จะพบว่าอัมเพทการ์ได้ตอบโต้และไม่ยอมรับลัทธิพุทธนิยมเดิม (old Buddhism) เขานำเสนออุดมการณ์ที่อยู่ในรูปของลัทธิพุทธนิยมใหม่ (neo-Buddhism) และแนวคิดวิภาษวิธีที่ทำให้ลัทธิฮินดูนิยมอ่อนแอลง/เสื่อมลงในระดับอุดมการณ์ นี่เป็นจิตวิญญาณเดียวกับที่อัมเพทการ์ได้ทำการประท้วงอย่างก้าวหน้าในทศวรรษ 1920 ซึ่งกลุ่มฮินดูใหม่ต้องการใช้ประโยชน์จากการประท้วงนี้แต่ก็ไม่สอดคล้องกับบริบท นอกจากนี้ การประท้วงทางศาสนาของอัมเพทการ์ในทศวรรษที่ 1930 ไม่ได้เรียกร้องให้ปฏิรูปศาสนาฮินดู แต่เป็นกลยุทธที่ต้องการยกระดับการต่อสู้ของชาวดาลิตในสนามทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับการมีขึ้นของขบวนการเปลี่ยนความเชื่อในปี 1956 เป็นกลยุทธทางการเมืองที่เป็นการการระดมมวลชนชาวดาลิตในการตอบโต้ทางวัฒนธรรมเพื่อลบล้างการครอบงำโดยวัฒนธรรมฮินดู สิ่งเหล่านี้คือแก่นแท้ของอุดมการณ์และกลยุทธของอัมเพทการ์ ดังนั้นความพยายามในการกลมกลืนอัมเพทการ์เข้ากับลัทธิฮินดูนิยมจึงเป็นการบิดเบือนแนวทางการปลดปล่อย(ชาวดาลิต)ของเขา

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่กลุ่มฮินดูนิยมสุดโต่ง (Hindu fundamentalist) เท่านั้นที่พยายามบิดเบือนอุดมการณ์ศาสนาพุทธของอัมเพทการ์ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มที่อ้างว่าเป็นองค์กรของศาสนาพุทธที่มีสายสัมพันธ์กับต่างประเทศได้ทำให้กลุ่มมวลชนดาลิตมุ่งสนใจแต่เรื่องจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่ชื่อว่า the Trailokya Buddha Mahasangha ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอน (London) ก็เป็นหนึ่งในนั้น สำหรับที่อินเดียมีสำนักงานหลักที่เมืองปูเน่ (Pune) และยังได้ก่อตั้งสาขาย่อยตามเมืองต่างๆอย่าง บอมเบย์ (Bombay), ออรังกาบัด (Aurangabad), วรรธา (Wardha)ในรัฐมหาราชตระ(Maharashtra)และในเมืองนาคปุระ(Nagpur)รัฐคุชราต(Gujarat)เป้าหมายหลักขององค์กรคือคือการกำจัดความเชื่อที่มืดบอดและความไม่รู้ของชาวดาลิต ทั้งยังอ้างว่าต้องการปลดปล่อยมวลชนชาวดาลิตจากความยากจนและความเจ็บปวดด้วยวิธีทางจิตวิญญาณ (spiritual method) ซึ่ง “การทำให้เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ” (spiritualization) โดยองค์กรดังกล่าวมุ่งกระทำการใน 2 ระดับ ระดับแรกกระทำผ่านการเป็นกระบอกเสียงของหนังสือGolden Drumซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษจากลอนดอน หนังสือ Buddayan เป็นภาษามาราธี (Marathi)และหนังสือ Dhammamegh เป็นภาษาอังกฤษ ในการพยายามเผยแพร่คำสอนเชิงจิตวิญญาณของศาสนาพุทธ ระดับที่สองคือการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ประมาณ 3-7 วัน โดยปกติแล้วจะจัดในเขตเมือง(น้อยครั้งที่จะจัดในเขตชนบท) ซึ่งผู้เข้าร่วมจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางดาลิตที่มีการศึกษา ผู้เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติ/ตรวจสอบกฎเกณฑ์ข้อจำกัดอย่างเข้มงวดระหว่างการจัดการประชุม นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมจะต้องผ่านการฝึกสมาธิในระดับสูง (transcendental meditation) เพื่อเอาชนะวัตถุและปัญหาทางจิตใจตลอดจนการสวดมนต์ (mantras )เพื่อเป็นกุศลให้กับตัวเอง ญาติพี่น้อง ผองเพื่อน มิตรสหาย และศัตรู กระบวนการเหล่านี้ถูกกระทำในนามของอัมเพทการ์และความเชื่อทางพุทธศาสนาของเขา 

นัยยะที่อันตราย/ร้ายแรงของวิธีการขององค์กรดังกล่าวคือการปลดเปลื้องเนื้อหาทางการเมืองจากอุดมการณ์ของอัมเพทการ์ ซึ่งวิเนย์เคมเบิล (Vinay Kamble)ได้ชี้ให้เห็นอย่างแหลมคมในนิตยสารรายปักษ์ที่ตีพิมพ์ในภาษามาราธี (Marathi)ชื่อว่า Dhammalipi ซึ่งเสนอว่าในงานเขียนส่วนใหญ่ของอัมเพทการ์พยายามนำเสนอว่าศาสนาพุทธเป็นปรัชญาทางสังคม(social philosophy)ที่สนใจในปัญหาขั้นพื้นฐาน (ของมนุษย์) เช่น ความยากจน ความต้องการด้านวัตถุ และการหาประโยชน์ใส่ตัว ความคิดทางพุทธศาสนาของเขามีพื้นฐานของการตระหนักรู้ทางเหตุผลและมีความมั่นคงในทางประจักษ์ ซึ่งแตกต่างจากองค์กร the Trailokya Buddha Mahasangh นอกจากนั้นขบวนการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเขาไม่เพียงแต่เป็นขบวนการเชิงวัฒนธรรมอย่างเปิดเผย แต่เป็นขบวนการเชิงการเมืองอย่างเปิดเผยเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างความโน้มเอียงให้แก่ชาวดาลิตในการล้มล้างวัฒนธรรมที่ครอบงำจากชนชั้นสูง ความพยายามของอัมเพทการ์คือการสร้างความโน้มเอียงดังกล่าวให้เป็นรูปแบบองค์กรที่เคลื่อนไหวผ่านปฏิบัติการของชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อแสวงหาหนทางในการหลุดพ้นจากปัญหาที่อยู่นอกกำแพงสี่ด้าน (กำแพงสี่ด้านหมายถึงกำแพงภายในห้องสำหรับนั่งสมาธิ การหลุดพ้นจากปัญหาที่อยู่นอกกำแพงสี่ด้าน นั่นคือการมุ่งสู่ปัญหาทางสังคม-ผู้แปล)

แต่สิ่งที่ the Trailokya Buddha Mahasanghทำกลับตรงกันข้าม โดยได้จำกัดชาวดาลิตไว้ในกำแพงสี่ด้าน นั่นคือการจำกัดให้ชาวดาลิตครุ่นคิดเรื่องของการทำสมาธิขั้นสูงเท่านั้น ส่งผลให้ชาวดาลิตไม่ค่อยตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดกับชาวดาลิตด้วยกันเอง ซึ่งแสดงให้เห็นในกรณีที่ไม่มีชาวดาลิตแม้แต่คนเดียวออกมาประท้วงต่อการที่รัฐบาลลบทิ้งงานเขียนของอัมเพทการ์อย่าง ‘Rama Krishna riddles’ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าอัมเพทการ์อยากให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกเป็นเพียงผู้ชมในเหตุการณ์ที่องค์กรดังกล่าวตั้งใจใช้ประโยชน์จากชาวดาลิตหรือไม่? สำหรับคำตอบนี้สามารถดูได้จากจดหมายที่อัมเพทการ์ เขียนถึงสังฆรักษิตา (Sangharakshita)ในเดือนพฤษภาคม ปี 1950 (ผู้เขียนสันนิษฐานว่าผู้ที่ถูกเขียนถึงในจดหมายคือผู้นำคนปัจจุบัน (ช่วงปี 1950 ในขณะนั้น-ผู้แปล)ของ Trailokya Mahasangh ) ที่มีใจความว่า “ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่วางอยู่บนบ่าของเหล่าพระภิกษุ เพื่อที่ความพยายามในการฟื้นฟูพุทธศาสนาจะได้ประสบผลสำเร็จ พวกเขา (เหล่าพระภิกษุ) จะต้องออกมาจากเปลือกหอยและอยู่ในแนวหน้าของขบวนการต่อสู้”

ความเจริญเติบโตของการทำให้แนวคิดของอัมเพทการ์และมวลชนดาลิตกลายเป็นทั้งฮินดู (Hinduisation) และเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ (spiritualizing) เป็นผลมาจากความถอยห่างของขบวนการพุทธศาสนิก (Buddhist movement) ที่แม้จะมีอุดมการณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็ล้มเหลวในการดึงชาวดาลิตออกจากการเข้าร่วมกับกลุ่มฮินดูนิยมใหม่ (neo-Hinduists) ทั้งไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตขององค์กร the Trailokya Buddha Mahasangได้ ในสถานการณ์เช่นนี้เราสามารถแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ศาสนาพุทธได้หรือไม่? ซึ่งก็คงจะไม่ เพราะโดยเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นแล้ว ศาสนาพุทธถือได้ว่ามีความเท่าเทียมและมีเหตุผลมากที่สุด และดังนั้นจึงมีความสามารถที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวอย่างก้าวหน้าในระดับกว้างกว่า แต่ศาสนาพุทธในรัฐมหาราชตระ (Maharashtra) ยังจำเป็นต้องมีการนำเสนอความเข้าใจที่ก้าวหน้าและร่วมสมัยมากขึ้น ความพยายามนี้ได้ได้เกิดขึ้นแล้วโดย Bhadant Anand Kousalayyan หนึ่งในผู้นำพระภิกษุ

ส่วนหนึ่งของของการตีความแบบ “เทววิทยาของการปลดปล่อย” (liberation theology) ในงานเขียนอัมเพทการ์ Buddha and Dhamma ที่กล่าวถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความใหม่ให้กับแนวคิดไตรสรณคม(Trisaran)เป็นความเสมอภาค ภราดรภาพ และอิสรภาพจากการกดขี่ เนื่องจากข้อเสนอนี้ได้สร้างแผนงานร่วมสำหรับความเคลื่อนไหวร่วมกันของผู้ถูกกดขี่จากทุกชนชั้นในเชิงประจักษ์ ดังนั้นไตรสรณคม (Trisaran) จึงควรแยกออกจากศีลห้า (Panchsheel) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมของปัจเจก ทั้งนี้เพราะการยืนกรานที่จะให้รวมไตรสรณคม (Trisaran) เข้ากับศีลห้าเป็นการเบี่ยงเบนผู้ถูกกดขี่ออกจากชนชั้นอื่นผู้ซึ่งพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักการไตรสรณคม (Trisaran) เท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติตามศีลห้าจึงควรถูกพิจารณาให้เป็นเรื่องของปัจเจก แต่โชคร้ายที่ผู้นำของพุทธศาสนิกร่วมสมัยในรัฐมหาราชตระ (Maharashtra) ยังคงถกเถียงเพื่อให้มีการรวมพระรัตนตรัยเข้ากับศีลห้า ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยของขบวนการพุทธศาสนาในมหาราชตระ (Maharashtra)และชะลอโครงการของอัมเพทการ์ในการเปลี่ยนชาวอินเดียที่นับถือฮินดูให้มานับถือศาสนาพุทธ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: