ประโยคดังกล่าวผุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อผมได้ทราบว่า สื่อหลายสำนักกำลังทำหน้าที่รายงานสด (อาจจะเรียกว่าการถ่ายทอดสดก็ได้) เหตุการณ์เจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาล เนื่องจากได้ฆาตกรรมเพื่อร่วมงานซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดียวกันก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ตลอดเวลาที่เจรจากันนั้น อาจารย์ท่านดังกล่าวได้ใช้อาวุธปืนเล็งไปที่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่อาจารย์ท่านนั้นจะเลือกที่จะทำอัตวินิบาตกรรม
เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงที่สื่อทำการถ่ายทอดสดราวกับเป็นมหรสพ ราวกับเป็นเรื่องที่มีคุณค่าความเป็นข่าวสูง (Newsworthiness) จนสามารถแทรกแทนรายการประจำของสถานีได้ ในท้ายที่สุดก็เกิดเหตุการณ์อย่างที่ทราบกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด
นับตั้งแต่เริ่มการถ่ายทอดสด ก็มีกระแสไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แม้แต่จิตแพทย์ซึ่งผู้ประกาศได้โทรศัพท์สัมภาษณ์สดก็ยังทักท้วงตำหนิว่าการทำหน้าที่ของสื่อลักษณะนี้เป็นการไม่สมควร สื่อก็ยังคงทำหน้าที่ต่อโดยไม่ฟังคำทัดทานผู้ประกาศพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็นสื่อเจ้าแรกที่มาถึงที่เกิดเหตุ ส่วนการถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Live ของเฟซบุ๊ค มีผู้ติดตามแสดงความคิดเห็นมากมาย บ้างก็เอาใจช่วย บ้างก็เสียดสีว่าอาจารย์ท่านนั้นคงไม่กล้า ถ้าจะทำคงทำไปนานแล้ว ไม่มีใครทราบว่าระหว่างที่อาจารย์ท่านนั้นนั่งอยู่ในรถ มีการเปิดวิทยุฟังเหตุการณ์ หรือดูการถ่ายทอดทางเฟสบุ๊คด้วยหรือไม่
คำถามสำคัญคือ “สื่อ” กำลังทำอะไร? ทำหน้าที่ในการรายงานข่าวสารตามวิชาชีพ หรือกำลังทำธุรกิจบนความเป็นความตายของคน เวลา 4 ชั่วโมงนั้นเกินพอที่สื่อจะดึงสติของตัวเอง ระลึกถึงจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ เวลา 4 ชั่วโมงนั้นมากเกินพอที่ผู้บริหารจะสั่งการยับยั้ง มากพอที่ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลหรือสมาคมวิชาชีพจะเรียกร้องกดดันให้หยุดการทำหน้าที่ในลักษณะนี้ การทำหน้าที่ของสื่อคือสารที่สังคมจะต้องฉุกคิดตามที่แม็คลูฮานกล่าวไว้ เพราะกระทบสังคมในวงกว้างกว่าที่ทุกคนคาดคิด
สำหรับคนปกติทั่วไปอาจคิดว่าเหตุการณ์ถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบใดๆ ในความเป็นจริงทางการแพทย์ได้มีการศึกษาวิจัย พบว่า การฆ่าตัวตายนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดการกระทำเลียนแบบได้ (Copycat Suicide หรือ Suicide Contagion) โดยเฉพาะในคนที่มีสภาพจิตใจอ่อนแอ มีภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย เป็นพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตายของคนอื่น โดยการได้รับข้อมูล การเห็นภาพ การได้ฟังการบรรยายพรรณนาในเรื่องฆ่าตัวตาย หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อทีวีหรือสื่ออื่นๆ
พฤติกรรมการเลียนแบบการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้น การเลียนแบบทั้งจาก นวนิยาย ดารา นักร้อง คนมีชื่อเสียง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่มีการเข้าถึงสื่อต่าง ๆได้ง่าย ทั้งสื่อออนไลน์และอินเตอร์เน็ต สาเหตุการฆ่าตัวตายเกิดจากการมีปัญหาในการดำเนินชีวิตมากกว่าหนึ่งปัญหา คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มหรือมีความคิดฆ่าตัวตายระดับหนึ่ง เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง จึงเสมือนเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ [1]
ในปี 1999 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังจากกรณีศึกษาพฤติกรรมการเลียนแบบฆ่าตัวตาย 50 กรณีศึกษา พบว่าการทำหน้าที่ของสื่อในการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย มีนัยยะต่อการลอกเลียนแบบ จึงได้ทำรายงานและข้อแนะนำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว [2]
สำหรับประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เคยเสนอขอความร่วมมือ การทำหน้าที่สื่อมวลชนกรณีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายไว้ [3] ดังนี้
- การเสนอข่าวควรระมัดระวัง ไม่ทำเป็นข่าวพาดหัว ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสีสัน หรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ
- หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำๆ
- หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุ หรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งผู้ที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาอาจรู้สึกว่าผู้ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับตน มองว่าการฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา
- ระมัดระวังเป็นพิเศษในการน าเสนอข่าวผู้ฆ่าตัวตายที่เป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งสะเทือนใจ ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้สูง
- คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ฆ่าตัวตาย
ผมเองไม่แน่ใจว่า เรื่องใหญ่ขนาดนี้ สื่อ สมาคมสื่อ หรือ สถาบันการศึกษาจะได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาหรือไม่ แต่คาดเดาจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่ยากว่าสื่อไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไปกว่าเรทติ้งที่ได้รับ
ความเป็นมืออาชีพ (Professional) นั้น แตกต่างจากการทำเพื่อเป็นอาชีพ (Profession) หรือทำเพื่อเลี้ยงชีพ ในยุคที่ผู้รับสารมีทางเลือกมากมายเช่นทุกวันนี้ สื่อต้องแข็งขันเพื่อความอยู่รอดก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่แทนที่จะแข่งกันที่คุณภาพ ที่ความเป็นมืออาชีพ สื่อกลับสนใจผลตอบแทนทางธุรกิจเหนือกว่าคุณค่าในวิชาชีพของตัว ราวกับเป็นนายหน้าค้าความตาย
“The medium is the message” ผมคิดว่าวันนี้สังคมได้รับสารบางประการ จากการทำหน้าที่ของสื่อ
อ้างอิง
[1] นันท์นภัส ประสานทอง, พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย(Copycat Suicide), สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, เข้าถึงได้ที่ http://www.klb.dmh.go.th/modules.php?m=article&gr=&op=detail&researchId=920
[2] http://www.who.int/mental_health/prevention/suicide/resource_media.pdf
[3] https://goo.gl/45Iruo
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ