มองบางสิ่งที่เรียก 'กฎหมาย' ผ่านกรณี 'บก.ลายจุด' ไม่ไปรายงานตัว

ฐานันดร ชมภูศรี : TCIJ School รุ่นที่ 3 : 21 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2178 ครั้ง


1.

'สมบัติ บุญงามอนงค์' หรือ 'บก.ลายจุด' นักกิจกรรม อดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา เคยเป็นแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง รวมทั้งเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง ในปี 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งจนเกิดกระแสคัดค้านในสังคม สมบัติก็เป็นอีกหนึ่งคนที่รวบรวมมวลชนผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแสดงพลังคัดค้านที่แยกราชประสงค์

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ ระบุว่าหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 สมบัติ ถูกประกาศเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ต่อมามีประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 กำหนดให้คนที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง มีความผิด กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่ง สมบัติ ไม่ได้มารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ตามวันเวลาที่กำหนดในคำสั่งและประกาศ โดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง จึงถูกดำเนินคดี

จากนั้นช่วงกลางคืนวันที่ 5 มิ.ย. 2557 สมบัติถูก ผบก.ปอท. ร่วมกับ ร.21 เข้าจับกุมตัวที่บ้านพักที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี หลังจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติตรวจสอบหมายเลขไอพีที่ใช้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ทหารพร้อมอาวุธประจำกาย และตำรวจได้ควบคุมตัวสมบัติพร้อมพวกรวม 4 คน จากนั้นได้นำตัวไปสถานที่คุมตัวของฝ่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ขณะเดินทางมาสถานที่คุมตัว มีการปิดตาทั้งหมด พอถึงสถานที่คุมตัวได้แยกสมบัติไว้คนเดียว และไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอก ส่วนอีก 3 คนที่เหลือก็คุมตัวในระยะเวลาเท่ากัน จากนั้นจึงนำตัวสมบัติไปสอบสวนที่ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ.ชลบุรี (ร.21 รอ.) ก่อนนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อดำเนินคดี

ต่อมาในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นจำเลยในคดี ‘ฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัว’ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษา ‘แก้’ จากศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปแล้วว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาท ส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี

2.

ในมุมมองของผู้เขียนนั้นหากจะโต้แย้งกันด้วยกฎหมาย ย่อมจะประสบปัญหาการใช้กฎหมายตาม 'ตัวหนังสือ' คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติให้คำสั่งหรือประกาศของ คสช. ที่ออกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 'ชอบด้วยกฎหมาย' ซึ่งเป็นการบัญญัติมารับรองให้สถานะของคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลย้อนหลัง

ซึ่งจากคำเบิกความของ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พยานจำเลย มีประเด็นสำคัญคือเรื่อง 'สิทธิต่อต้าน' ที่ว่า "สิทธิต่อต้านการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายรวมไปถึงสิทธิที่จะไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐ แม้จะได้ตราขึ้นตามกระบวนการ หากบุคคลผู้ใช้สิทธิต่อต้านเห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย" โดยอ้างอิงมาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และ มาตรา 70 ที่บัญญัติให้ “ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” (อ่านเพิ่มเติม: ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ บุญงามอนงค์ 2 เดือน คดีไม่ไปรายงานตัว)

แล้วเหตุใดบุคคลจำเป็นต้องมี "สิทธิต่อต้าน" ที่ว่านี้?

ตั้งแต่การควบคุมตัว จนถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อันเป็นผลมาจากประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ซึ่งปัจจุบันถูกรับรองไว้ด้วย รธน.ชั่วคราว 57 มาตรา 47 ให้ 'ชอบด้วยกฎหมาย' เหตุใดคำว่า 'ชอบด้วยกฎหมาย' ถึงมีลักษณะเช่นนี้ในบริบทการเมืองไทยปัจจุบัน?

ทั้งนี้สมบัติเคยพูดไว้ในกิจกรรม ‘รณรงค์เป็นสิทธิ์ ไม่ผิดกฎหมาย’ ว่า "...สองปีที่แล้วไม่มี คสช. และผมเคารพกฎหมาย แต่พอมีคนยึดอำนาจสถานปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแล้วประกาศนู่นประกาศนี่ ประกาศเหล่านี้ผมไม่ถือเป็นกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติไม่ใช่กฎหมาย การที่ผมนอนอยู่บ้านเพื่อนแล้วไม่ไปหาเขา ผมผิด ผมถูกตัดสินว่าผิด!! เขาตัดสินว่าคำสั่ง คสช.ถูกและการนอนอยู่บ้านนั้นผิด"

เหตุผลของ คสช. ในการเรียกบุคคลมารายงานตัว คือ "เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย"

แต่เหตุผลของ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย ซึ่งใจความสำคัญคือ 'สิทธิต่อต้าน' การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่เป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายอาชญากรรม กฎหมายจราจร ที่มุ่งคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล

'สิทธิต่อต้าน' ก็มีไว้เพื่อ ต่อต้านอำนาจที่สามารถละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งการไม่ไปรายงานตัวของ บก.ลายจุด เป็นการทำตาม 'สิทธิ' ในมาตรา 69 และ 'หน้าที่' ในมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

แต่เมื่อ บก.ลายจุด ไม่ปฏิบัติตาม จึงถูกควบคุมตัว (ชีวิต) เสียค่าปรับ (ทรัพย์สิน) และจำคุก (รอลงอาญา) เพราะ รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้ทำให้ประกาศ/คำสั่ง คสช. ‘ชอบด้วยกฎหมาย’

ทั้งนี้ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้เริ่มต้นจากคำสั่งและการอธิบายที่ดูดีมีเหตุผล (rationalize) นั่นก็คือวาทกรรม 'เพื่อความสงบเรียบร้อย'

แต่เมื่อคิดในทางกลับกัน กรณีเรียกรายงานตัว บุคคลทั่วไปที่ไม่มีอำนาจดั่ง คสช. ไม่สามารถเรียกบุคคลที่ไม่ได้รู้จักกันอยู่แล้วไปรายงานตัว ถ้าทำได้ก็เท่ากับมีอำนาจบาตรใหญ่ ที่เมื่อไม่ไปรายงานตัว จะถูกดำเนินการบางอย่าง ยิ่งถ้าไม่มีใครสามารถเอาผิดพวกเขาได้ ก็เป็นลักษณะเดียวกับประกาศ/คำสั่ง คสช. ซึ่ง 'ชอบด้วยกฎหมาย'

แล้ว 'กฎหมาย' ควรเป็นอย่างไร?

บางท่านอาจบอกว่า กฎหมายต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจ (consent) แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้แสดงออกว่าไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ตามทฤษฎีนี้ ย่อมทำให้ประกาศ/คำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย

ทราบกันดีว่ากฎหมายอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล แต่เมื่อทุกคนและทุกคณะบุคคลต่างสามารถพูดให้ดูดีมีเหตุผล (rationalize) สำหรับการกระทำของตนเองหรือของพวกตนเอง แล้วเราจะยอมรับนับถือเหตุผลแบบไหน?

กรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่เขาไม่ไปรายงานตัว และก็ไม่ได้ไปละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของใคร แต่เขากลับ 'ถูกละเมิดฯ' ในนามของสิ่งที่เรียกว่า 'กฎหมาย'

จากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลย 'ฟังไม่ขึ้น' เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 'ฝ่าฝืนไม่รายงานตัว' ต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่า คสช. ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์”

เหตุที่ คสช. มีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว อำนาจนั้นมิได้มาจากประกาศ คำสั่ง หรือตำแหน่งแห่งที่ในสังคมเท่านั้น แต่เพราะสามารถสั่งการชายฉกรรจ์จำนวนมากได้ ทำให้เมื่อไม่กระทำตามประกาศ/คำสั่ง ย่อม 'ถูกกระทำ' อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กรณี "บก.ลายจุด" ถูกทหารพร้อมอาวุธประจำกาย และตำรวจควบคุมตัว และขณะเดินทางมาสถานที่คุมตัวก็ถูกปิดตา จนนำมาสู่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยิ่งทำให้เห็นว่า 'กฎหมาย' ต้องอยู่บนพื้นฐานของการ 'ป้องกันการถูกละเมิดชีวิตและทรัพย์สิน' หากมิได้ไปละเมิดใครก่อน

แม้ว่าการละเมิดนั้นจะมีเหตุผลที่ดูดีแค่ไหน และไม่ควรมีกฎหมายรองรับการละเมิดนั้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: