มติ ครม. เห็นชอบ 'คู่มือสร้างทางจักรยานเพื่อมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ'

21 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2602 ครั้ง


	มติ ครม. เห็นชอบ 'คู่มือสร้างทางจักรยานเพื่อมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ'

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการคลัง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สสส. ให้ความร่วมมือและสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางของประชาชนด้วยจักรยานตามภารกิจหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยให้นำคู่มือมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างทางจักรยานสำหรับประเทศไทยเพื่อสำหรับอ้างอิงการก่อสร้างช่องทางจักรยานให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ (ที่มาภาพ: thailand-construction.com)

21 ม.ค. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอเรื่องการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย  โดยมีรายละเอียดดังนี้  

1. เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานการออกแบบ และการก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย  เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปอ้างอิงในการก่อสร้างเส้นทางจักรยานให้มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

2. เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)  สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.)  กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กระทรวงการคลัง (กค.)  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการพัฒนาและส่งเสริมการเดินทางของประชาชนด้วยจักรยานตามภารกิจ หน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยให้นำคู่มือมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างทางจักรยานสำหรับประเทศไทยเพื่อสำหรับอ้างอิงการก่อสร้างช่องทางจักรยานให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน   ทั้งประเทศ 

3. เห็นชอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในการดำเนินมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการเดินทางของประชาชนด้วยจักรยานตามขั้นตอนของกฎหมาย  และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

คู่มือมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย  มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการแบ่งประเภทของทางจักรยาน การออกแบบทางกายภาพ การออกแบบชั้นผิวทาง การออกแบบป้ายจราจร สัญลักษณ์บนผิวทางและระบบอำนวยความปลอดภัยของทางจักรยาน ระบบอำนวยความปลอดภัยทางจราจร และ หลักเกณฑ์ของการกำหนดที่จอดจักรยาน โดยพัฒนามาจากมาตรฐานทางจักรยานขององค์กร The American Association of State Highway and Transportation Official (AASHTO) ที่ทั่วโลกยอมรับ และ Manual on Uniform Traffic Control Devices (MUTCD) มีรายละเอียด ดังนี้ 

1. มาตรฐานการแบ่งประเภทของทางจักรยาน (Bike Way Classification) ใช้หลักการกำหนดความเร็วและปริมาณจราจรเป็นปัจจัยควบคุมการแบ่งประเภทของทางจักรยาน (ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย) ดังนี้

1) เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่น ๆ ในช่องจราจรปกติ ซึ่งหากมีปริมาณจราจร มากกว่า 3,000 แต่ไม่เกิน 5,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่น ๆ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนนหรือที่จอดรถริมทาง และในกรณีที่มีปริมาณจราจร มากกว่า 5,000 คันต่อวันต่อปีจะไม่สามารถดำเนินการทำช่องทางจักรยานได้  

2) เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 30 - 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 คันต่อวันต่อปี  รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่น ๆ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนน หรือที่จอดรถริมทาง ซึ่งหากมีปริมาณจราจรมากกว่า 3,000 แต่ไม่เกิน 5,000 คันต่อวันต่อปีให้จัดช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยมีการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนไหล่ทางและทางหลัก โดยในกรณีที่มีปริมาณจราจรมากกว่า 5,000 คันต่อวันต่อปี ให้มีทางจักรยานโดยเฉพาะโดยการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน

3) เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 50 - 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.)  ให้จัดช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยมีการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนไหล่ทางและทางหลัก หรือแยกทางจักรยานออกจากช่องจราจรทั่วไป เช่น ก่อสร้างทางจักรยานขึ้นใหม่โดยมีขอบคันคอนกรีต เพื่อแบ่งช่องจราจรหลักกับทางเดินเท้าและทางจักรยาน    

4) เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์สูงกว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.  ให้จัดทำทางจักรยานแบบเฉพาะ เช่น ไหล่ทางที่มีแนวหรืออุปกรณ์กั้น

5) กรณีที่มีปริมาณจราจร 10,000 คันต่อวันหรือมากกว่า และมีความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์เท่ากับ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) หรือมากกว่า การก่อสร้างทางจักรยานจะต้องอยู่นอกพื้นที่กันเพื่อความปลอดภัย (Clear Zone) ของถนน

6) กรณีที่มีปริมาณรถขนาดใหญ่มากกว่า 30 คันต่อชั่วโมงในช่องจราจรริมควรพิจารณาแยกคันทางหรือหากใช้ทางจักรยานประเภทอื่นและมีความเร็วของการจราจรสูง (80 กม./ชม.   หรือมากกว่า) ควรจะมีพื้นที่ว่างคั่นระหว่างจักรยานกับรถยนต์ (buffer) 

7) บริเวณที่คาดว่ามีผู้ขับขี่จักรยานที่เป็นเด็กหรือผู้มีประสบการณ์ขี่จักรยานน้อย เช่น ทางจักรยานบริเวณโรงเรียน ชุมชน หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น จะต้องใช้การจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับจักรยานเพื่อแยกทางจักรยานออกจากถนน

2. การออกแบบทางกายภาพของทางจักรยาน (Geometric Design of Bike Way)ประกอบด้วยมาตรฐานการออกแบบ ดังนี้ 1) ความเร็ว และระยะการหยุดที่ปลอดภัย  2) ระบบป้ายจราจร  3) การออกแบบโค้งราบ Horizontal Curve 4) การออกแบบโค้งดิ่ง Vertical Curve   5) การออกแบบ Lateral Clearance ภายใต้เงื่อนไขระยะการหยุดรถจักรยานที่ปลอดภัย 6) การออกแบบทางแยก

3.  การออกแบบชั้นผิวทางของทางจักรยาน การออกแบบโครงสร้างทางจักรยาน ตามมาตรฐานของ AASHTO กำหนดไว้ว่า   

1) บนผิวจราจรที่ใช้ไหล่ทางทำเป็นช่องทางจักรยานให้ใช้ผิวจราจรของเส้นทางนั้น ๆ 

2) ส่วนการออกแบบช่องจราจรประเภท MP – Multi Use Path หรือการแยกทางจักรยานออกจากช่องจราจรทั่วไป เช่น ก่อสร้างทางจักรยานใหม่ โดยมีคันขอบคอนกรีต หรือเกาะกลางถนนแบ่งช่องจราจร ซึ่งโครงสร้างผิวทางได้กำหนดไว้ ดังนี้

2.1) ผิวแอสฟัลท์ 5 ซม. ชั้นพื้นทาง 15 ซม. รองพื้นทาง 15 - 30 ซม.

2.2) ผิว Double Surface Treatment ชั้นพื้นทาง 15 ซม. รองพื้นทาง 15 - 30 ซม.

2.3) ผิวทางคอนกรีต 10 ซม. ชั้นทรายพื้นทาง 5 ซม. ชั้นรองพื้นทาง 10 ซม. 

4. การออกแบบป้ายจราจร สัญลักษณ์บนผิวทาง และระบบอำนวยความปลอดภัยของทางจักรยาน ประกอบด้วย การออกแบบสัญลักษณ์บนแผ่นป้ายจราจรและการติดตั้งป้าย การออกแบบสัญลักษณ์บนผิวจราจร  

5. ระบบอำนวยความปลอดภัยทางจราจร ประกอบด้วย ระบบไฟกระพริบเตือนบนป้ายทางจักรยาน และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 

6. หลักเกณฑ์ของการกำหนดที่จอดรถจักรยาน ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดที่จอดรถสำหรับทางจักรยานของ  U.S. Department of Transportation, Federal Highway Administration (2006) 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: