เผยตาม พ.ร.บ.โรงงานแก้ไขใหม่ ใบ รง.4 สามารถออกได้ภายใน 15 วัน

21 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 23732 ครั้ง


	เผยตาม พ.ร.บ.โรงงานแก้ไขใหม่ ใบ รง.4 สามารถออกได้ภายใน 15 วัน

เผยตามที่ ครม. เห็นชอบให้ปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 นั้นได้เพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) เพียง 15 วัน แก้ไขความหมายของคำว่า “ตั้งโรงงาน” ใหม่ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 

21 มี.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่านางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ไปแล้วนั้น ขณะนี้สั่งการเร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้ไขร่างกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาและปรับปรุงก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม. ในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอน

การแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) เพียง 15 วัน รวมถึงการให้โรงงานปฏิบัติในด้านรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถลดมลพิษจากอุตสาหกรรมได้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ การปรับคำนิยามโรงงานใหม่ การปรับปรุงหลักการการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานใหม่ การปรับปรุงแก้ไขขนาดจำพวกของโรงงาน การเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานให้สอดคล้องกับเครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิต นอกจากนี้ มีการเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบที่โรงงานมีต่อบุคคล พืช ทรัพย์ สิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละทำเลที่ตั้ง

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า รายละเอียดของ พรบ. ฉบับใหม่ที่เตรียมนำเสนอนั้นประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ดังนี้ หมวดว่าด้วยคำนิยาม จะปรับแก้ไขความหมายของคำว่า “โรงงาน” ใหม่ จากเดิม “โรงงาน” คิดขนาดเครื่องจักรที่ 5 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 7 คนขึ้นไป เป็น “โรงงาน” คิดขนาดเครื่องจักรที่ 25 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 25 คนขึ้นไป เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานประเภทให้บริการในชุมชนสามารถดำเนินการได้โดยง่าย ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.

ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า “ตั้งโรงงาน” ใหม่ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้

หมวดการประกอบกิจการโรงงาน/อนุญาต แก้ไขโดย ถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวงแล้วจึงจะอนุญาตให้เปิดประกอบกิจการได้ และเนื่องจาก พ.ร.บ.เดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เสมือนไม่ให้มีการประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีย้ายโรงงาน จึงกำหนดให้การย้ายโรงงานให้ถือว่าใบอนุญาตเดิมหมดอายุในวันที่เริ่มประกอบกิจการโรงงานตามใบอนุญาตใหม่ (มาตรา14)

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดธุรกิจการผลิตออกไปโดยไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์เดิมเท่านั้น พรบ.โรงงานใหม่ จึงให้สามารถเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องจักรได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งให้สามารถเพิ่มพื้นที่ของโรงงานออกไปได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่นี้ อยู่ระหว่างเปิดให้โอกาสผู้ประกอบการและประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www2.diw.go.th/legal/index.asp และโทรสาร 02 202 3997 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นจะนำข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาเสนอคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4214 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: