ครม.ไฟเขียวยกเครื่อง สปก. เพิ่มอำนาจใช้เงินกองทุน-ซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปได้

21 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 6671 ครั้ง


	ครม.ไฟเขียวยกเครื่อง สปก. เพิ่มอำนาจใช้เงินกองทุน-ซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปได้

ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขปรับปรุง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้การปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพิ่มเติมให้ ส.ป.ก. มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปได้โดยไม่ต้องประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้การจัดซื้อที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินดำเนินการได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น (ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวทีนิวส์)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 ว่านายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขปรับปรุง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้การปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั้งนี้จะมีผลต่อเกษตรกรทั่วประเทศ ประมาณ 8 ล้านคน หรือ 2.1 ล้านครัวเรือน ปัจจุบันมีพื้นที่ ส.ป.ก.ที่เกษตรกรได้รับไปแล้ว ประมาณ  34 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นพื้นที่ีเกษตร 25 % ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด 

สาระสำคัญ ดังนี้ 1.กำหนดให้รายได้ทุกประเภทที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้รับจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดต้องนำส่ง  เข้าบัญชีกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

2.ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำเงินกองทุนฯ มาจ่ายเป็นค่าชดเชยที่ดิน ส.ป.ก.4-01  ค่าตอบแทนที่ดินที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

3.แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรจากเดิม 2 ปี เป็น 4 ปี 4.ยกเลิกการห้ามจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใดๆ ในที่ดิน

5.ยกเลิกการแจ้งครองครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และยกเลิกบทลงโทษกรณีนี้ 6. ปรับปรุงการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับคู่สัญญา

7.กำหนดบทควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งก่อนและหลังได้รับกรรมสิทธิ์จากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 8.เพิ่มเติมให้ “ส.ป.ก.” มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปได้โดยไม่ต้องประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน  เพื่อให้การจัดซื้อที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินดำเนินการได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น

9.กำหนดให้จำแนกการใช้ประโยชน์ในที่ดินออกเป็น 3 เขตพื้นที่โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม คือ เขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรเขตพื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เขตพื้นที่เพื่อการอื่นๆ 

10.เจ้าของที่ดินสามารถโอนที่ดินให้ทายาทโดยธรรม รวมทั้งสามารถโอนให้แก่ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะได้โดยไม่ต้องรอให้เสียชีวิตก่อน และยังคงยกเลิกการโอนให้สถาบันเกษตรกรเช่นเดิม

11.กำหนดขนาดพื้นที่การถือครองที่ดินในรุ่นทายาทหรือผู้รับโอนหรือรับมรดกไม่ให้ถือครองที่ดินเกินกว่าที่กำหนด

12.ส.ป.ก.มีอำนาจจัดให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรได้ตามขนาดการถือครองที่ดินดังนี้ เกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกันที่ประกอบเกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ เกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกันที่ประกอบกอบเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์ใหญ่ตามที่กระทรวงเกษตร ฯ ประกาศ ไม่เกิน 100 ไร่ สถาบันเกษตรกร จำนวนที่ดินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรตามประเภทและลักษณะการดำเนินการเกษตรกรรมของสถาบันเกษตรกรนั้นๆ 

13.ทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกหรือทายาทผู้รับโอนที่ดินจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีที่ดินของตนเองและของบุคคลในครอบครัว หรือมีที่ดินของตนเองและบุคคลในครอบครัวที่เมื่อรวมที่ดินมรดกแล้วจะต้องไม่เกินข้อที่ 12) หากเกินจะต้องจำหน่ายที่ดินส่วนที่เกินให้กับ ส.ป.ก.ภายใน 1 ปี หากไม่ทำให้ ส.ป.ก.มีอำนาจเวนคืนที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป

 

 

  

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: