ปมตร.สอบสวนเครียด-นายกด-งานหนัก จี้ปฏิรูป 3 แนว ยุบ-ย้าย-แยกกองใหม่

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ : 21 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 4266 ครั้ง

“ปัญหาของประเทศนี้คือปัญหาเรื่องตำรวจและปัญหาของตำรวจคือปัญหาของงานสอบสวน” คำกล่าวนี้อาจถูกเข้าใจว่าออกจากปากผู้ที่เชื่อว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการสอบสวนของตำรวจหากแต่ความจริง ผู้พูดคือ พ.ต.อ วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  อดีตรองผู้บัญชาการจเรตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “คนใน”

แรงกระเพื่อมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติระลอกใหม่เกิดขึ้นแทบจะทันที เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  ออกประกาศคำสั่ง 2 ฉบับซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับข้าราชการตำรวจ  คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 6/2559 เป็นเรื่องการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ  มีผลบังคับใช้แล้ว  ในขณะที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 7/2559  เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน จะมีกำหนดบังคับใช้เมื่อพ้น15 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเฉพาะคำสั่งที่ 7/2559 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานสอบสวนทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 10,438 นาย

พนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว นำไปสู่การยื่นหนังสือคัดค้านของกลุ่มพนักงานสอบสวนในนามสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ก่อนจะลงเอยด้วยการพบศพของผู้ยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ เลขาธิการสหพันธ์ฯ ในลักษณะแขวนคอตนเองในบ้านพัก กระแสความเห็นหนึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ว่า พ.ต.อ.จันทร์ จะตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมเนื่องจากความกดดันและผิดหวังในคำสั่งดังกล่าว  ขณะที่เพื่อนร่วมงานและผู้ใกล้ชิดตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.จันทร์ เป็นไปในลักษณะที่ผิดปกติวิสัย มีข้อพิรุธมากมาย ถึงขนาดที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า พ.ต.ท.จันทร์ น่าจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ก่อนที่จะมีการอำพรางด้วยการจัดสภาพศพให้เหมือนการแขวนคอตัวเอง

คำสั่ง 7/2559 ก้าวหน้าหรือถอยหลังลงคลอง

เนื้อหาของคำสั่ง คสช. ที่ 7/2559  ที่น่าสนใจคือ กรณีให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเดิมกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจไว้ 13 ตำแหน่งคือ 1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  2.จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 3. ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  4.ผู้บัญชาการ 5.รองผู้บัญชาการ. 6.ผู้บังคับการและพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 7.รองผู้บังคับการและพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ 8.ผู้กำกับการและพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ  9.รองผู้กำกับการและพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ 10.สารวัตรและพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ 11.รองสารวัตร และพนักงานสอบสวน 12.ผู้บังคับหมู่ และ 13.รองผู้บังคับหมู่

โดยให้เปลี่ยนเป็น 1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 3.ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 4.ผู้บัญชาการ 5.รองผู้บัญชาการ. 6.ผู้บังคับการ 7.รองผู้บังคับการ 8.ผู้กำกับ 9.รองผู้กำกับการ 10.สารวัตร 11.รองสารวัตร 12.ผู้บังคับหมู่ และ 13.รองผู้บังคับหมู่

นอกจากนี้ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 ข้อ 4 ยังระบุว่า ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 46 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเคยกำหนดไว้ว่า ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เปลี่ยนมาเป็นให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง รองผู้กำกับการ., สารวัตร และรองสารวัตรที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ตามระเบียบที่ ก.ตร. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

ในข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ยังให้ยกเลิกความในมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  ซึ่งก็คือการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานสอบสวนในชั้นต่าง และในข้อ 6 ที่เป็นเรื่องของอัตราเงินเดือนของพนักงานสอบสวน ก็มีการยกเลิกอีกเช่นกัน

เท่ากับเป็นการยกเลิกตำแหน่งของพนักงานสอบสวนและค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง ซึ่งแต่เดิมใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้มีการกำหนดตำแหน่งของสายงานพนักงานสอบสวนควบคู่ไปกับตำแหน่งในสายงานอื่นเป็นการเฉพาะ เนื่องจากสายงานสอบสวนมีเส้นทางการเติบโตในตำแหน่งที่จำกัด  จึงกำหนดตำแหน่งเฉพาะของพนักงานสอบสวนเพื่อให้ค่าตอบแทนเป็นพิเศษ  แต่การเลื่อนตำแหน่งมีความแตกต่างจากสายงานอื่น เพราะต้องใช้เวลาในการปฏิบัติงานในแต่ละตำแหน่งเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติระบุไว้ ควบคู่ไปกับการประเมินซึ่งใช้วิธีสอบเท่านั้น ต่างจากการเลื่อนตำแหน่งในสายงานอื่น ซึ่งใช้การประเมินผลงานโดยดุลยพินิจผู้บังคับบัญชาตามความเหมาะสมและความอาวุโส ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์และเป็นที่รับ ทราบกันในวงกว้างว่ามีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง เมื่อถึงฤดูแต่งตั้งโยกย้าย และเงินที่ใช้ในการซื้อตำแหน่งก็มาจากการเก็บส่วย การเรียกเงินเพื่อปล่อยให้มีการทำผิดกฎหมายในพื้นที่ อาทิ บ่อน หวยเถื่อน ซ่อง การพนัน ยาเสพติด หรือการเรียกเงินเพื่อแลกกับการล้มคดี

พนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่งจึงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของ คสช. นำไปสู่การยื่นหนังสือคัดค้าน และการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.จันทร์ ซึ่งเป็นเลขาธิการสหพันธ์ฯ ขณะที่ตัวประธานสหพันธ์ฯ คือ พ.ต.อ.ภรภัทร     เพ็ชรพยาบาล ได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ภายหลังออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ก่อนที่จะจัดแถลงข่าวลาออกจากการเป็นประธานสหพันธ์ฯ และขอโทษผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งยืนยันจะปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. เพราะถือเป็นกฎหมาย ซึ่งกรณีการแถลงข่าวของ พ.ต.อ.ภรภัทร นี้ ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปเพราะถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่กี่วันยังมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้อย่างชัดแจ้ง

คำอธิบายของ คสช.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่าน พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนัก งานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม คณะทำงานพิจารณาการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามคำสั่ง คสช. ม.44 ฉบับที่ 6 และ 7  แถลงว่า  คำสั่งดังกล่าว ไม่ใช่การลดอำนาจการทำงานของตำรวจ หากแต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่ในการสอบสวน สามารถเปลี่ยนสายงานและขึ้นตำแหน่งผู้บริหารสถานีตำรวจได้ เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งพนักงานสอบสวนเป็นการทำงานเฉพาะด้าน ทำให้เวลาพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเกิดความเสียเปรียบกับตำแหน่งอื่นที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน  ดังนั้นเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงยกเลิกความในมาตรา44 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีการกำหนดตำแหน่งดังกล่าว แต่ปรับให้สู่ตำแหน่งหลัก ตั้งแต่รองสารวัตร ถึงรองผู้กำกับ และแม้จะยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน แต่เงินประจำตำแหน่งยังคงได้รับเช่นเดิมอย่างไรก็ดี ไม่มีคำอธิบายว่าคำสั่งดังกล่าว จะทำให้เกิดการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งเมื่อถึงฤดูโยกย้ายมากขึ้นหรือไม่ จากเดิมที่ความก้าวหน้าในสายงานของพนักงานสอบสวนนั้นได้มีการกำหนดเรื่องการเลื่อนตำแหน่งและการประเมินไว้อย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  เมื่อยกเลิกการเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวนก็จะเป็นการพิจารณาความเหมาะสมโดยผู้บังคับบัญชา เช่นเดียวกับสายงานอื่นๆ เท่ากับเป็นการหวนกับไปใช้วิธีการเดิม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหลังจากที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติถูกประกาศใช้เมื่อปี 2557

วิกฤตงานสอบสวน-ประชาชนไม่เชื่อมั่นพนักงาน พนักงานไม่เชื่อมั่นระบบ

ผลการศึกษา ‘การปฏิรูประบบงานสอบสวนตำรวจ: จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในความเป็นอิสระ มีประสิทธิ ภาพ เป็นมืออาชีพได้อย่างไร ‘ ของ ผศ.ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ โดยการสนับสนุนของ
มูลนิธิเอเชีย ได้ข้อสรุปที่น่าตกใจว่า การสอบสวนคดีอาญาในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตศรัทธา ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนได้อย่างเพียงพอ ประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่นว่าการสอบสวนเป็นไปอย่างสุจริต งานสอบสวนมีความล่าช้า มีการเลือกปฏิบัติ

ทัศนคติโดยรวมของประชาชนที่มีต่อพนักงานสอบสวนสร้างความลำบากในการทำงาน พนักงานสอบสวนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หากรูปคดีไม่เป็นไปตามประชาชนคาดหวัง แม้จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

ด้านพนักงานสอบสวนก็ยอมรับถึงวิกฤตศรัทธา และมองว่าสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กร และการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีระบบการบริหารแบบรวมศูนย์ มีระบบบังคับบัญชาแบบทหาร ไม่สอดคล้องกับลักษณะงานที่สอบสวน ซึ่งเป็นงานในสายงานกระบวนการยุติธรรมมากกว่างานป้องกันและปราบปรามอันเป็นงานหลักของตำรวจ  พนักงานสอบสวนขาดหลัก ประกันเรื่องความเป็นอิสระ ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาและผู้มีอิทธิพลได้โดยง่าย ทั้งยังถูกแทรกแซงจากนโยบาย ลด-เลือกรับคดี-ไม่ได้รับความร่วมมือจากส่วนงานอื่น การทำงานไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งด้านกำลังคน งบประมาณ การฝึกอบรม มีภาระงานมากเกินไป ขาดระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

พนักงานสอบสวนต้องทำงานภายใต้ความกดดัน จากความคาดหวังของประชาชน  ซึ่งบ่อยครั้ง ความคาดหวังของประชาชนและตัวพนักงานสอบสวนอยู่คนละฟากกับความคาดหวังของผู้บังคับบัญชา จึงมักมีข่าวพนักงานสอบสวนมีภาวะเครียดจากการทำงาน ถึงกับทำอัตวินิบาตกรรมอยู่บ่อยครั้ง อาทิ กรณี ร.ต.อ.ทวี หมื่นรักษ์ พงส.สน.ทุ่งสองห้อง ใช้ปืนยิงตัวเองภายในแฟลตข้าราชการ ต่อหน้าภรรยาและลูก  เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา สาเหตุจากความกดดันในการทำงานและความกดดันจากผู้บังคับบัญชา ต่อคดีรับจำนำรถผิดกฎหมายของผู้มีอิทธิพลกว่า 200 คันในพื้นที่  ก่อนหน้านั้นไม่ถึงสัปดาห์ วันที่ 23 มกราคม ร.ต.อ.วิโรจน์ ดอนจักร พนักงานสอบสวน สภ.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลกก็ใช้ปืนยิงตัวเองในห้องน้ำ สาเหตุมาจากความเครียดจากการทำงาน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผย สถิติการฆ่าตัวตายของตำรวจระหว่าง 2551-2556  พบว่า มีตำรวจฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 174 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และตำรวจสัญญาบัตรมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเหตุจากความเครียดในการทำงานสูงกว่าตำรวจชั้นประทวน

 

*** หมายเหตุ :  ปีงบประมาณ พ.ศ.2556  (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2556)

 

 

นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวโน้มที่จะเลือกจบชีวิตตนเองมากขึ้น เมื่อไม่สามารถแก้ ปัญหาส่วนตัว ครอบครัว สุขภาพ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่างานของตำรวจเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งของประชาชนในด้านต่างๆ ตำรวจมีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างความขัดแย้งและอำนวยความยุติธรรมให้คู่กรณี  ซึ่งเป็นการทำงานภายใต้ความคาดหวัง จึงมีสภาพความความกดดันสูงกว่าอาชีพอื่น การที่ตำรวจไม่สามารถเผชิญความกดดันเหล่านี้ได้ ย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าตัวตายจากปัญหาจากการทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าตัวระบบมีปัญหา ตำรวจไม่เชื่อมั่นและไม่เห็นด้วยกับระบบการทำงาน จึงเลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาเสียเอง

เปิด 3 ทางเลือก ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปงานสอบสวน

นอกเหนือไปจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปงานสอบสวนของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น พนักงานสอนสวนเองก็มีความประสงค์ที่จะปฏิรูปตัวเอง โดยมีแนวคิดแบ่งออกเป็นสองแนวคิดใหญ่  คือการปรับปรุงโครงสร้างงานสอบสวนแต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอโดยสมาคมพนักงานสอบสวน และอีกแนวคิดคือ การแยกโครงสร้างงานสอบสวนออกเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอโดยสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานสอบสวนที่แยกออกมาจากสมาคมพนักงานสอบสวน เนื่องจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของแนวทางการปฏิรูปงานสอบสวน

 

มูลนิธิเอเชียซึ่งให้การสนับสนุนงานวิจัยของ ผศ.ดร.พรรณชฎา ในการศึกษาปัญหางานสอบสวนเพื่อที่จะเสนอแนวทางในการปฏิรูปงานสอบสวนของตำรวจ  ได้เคยจัดเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในงานสอบสวน ประกอบด้วยพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนหญิง ผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นักวิชาการ ทนายความ แพทย์นิติเวช ตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อดีตคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแห่งชาติ และสื่อมวลชน  มาร่วมระดมความคิดลักษณะการประชุมปิดในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 7 ครั้ง นอกจากนี้ได้จัดเวทีนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีการเชิญตัวแทนที่ได้เข้าร่วมในการประชุมแต่ละครั้ง รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ที่ผิดพลาดของพนักงานสอบสวน นักการเมือง และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ทั้งนี้ มีข้อเสนอการปฏิรูปงานสอบสวน 3 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1  แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีความเป็นอิสระ  คือการปฏิรูปเชิงโครงสร้างงานสอบสวนทั้งระบบ โดยหลักการและเหตุผลสำคัญคืองานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอันเป็นงานหลักของสตช. มีธรรมชาติลักษณะแตกต่างจากงานสอบสวนซึ่งเป็นงานในกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งเน้นการพิสูจน์ความจริงและให้ความยุติธรรม งานสอบสวนจึงไม่ควรผูกติดกับ สตช.ที่มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นระบบอุปถัมภ์และบังคับบัญชาด้วยชั้นยศ  ต้องเชื่อฟังคำสั่งผู้ บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอิทธิพลได้ง่าย จึงเหมาะสมกว่าที่จะปฏิรูปงานสอบสวนโดยแยกออกจากสตช. เพื่อให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจได้อย่างเป็นอิสระ เพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจสอบถ่วงดุลงานสืบสวนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของสตช. ป้องกันการทุจริต ละเมิดสิทธิประชาชน หรือบิดเบือนทำลายหลักฐานเพื่อช่วยผู้กระทำผิด และยกระดับให้พนักงานสอบสวนมีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับบุคลากรอื่นในกระบวนการยุติธรรม

แนวทางที่ 2  งานสอบสวนยังคงอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพียงแต่ปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น คือการออกนโยบายแก้ไข หรือเพิ่มกฎระเบียบข้อบังคับภายใน สตช. เพื่อแก้ไขปัญหางานสอบสวนตำรวจ  โดยหลักการและเหตุผลสำคัญคือ งานแต่ละส่วนในโครงสร้างสตช.มีหน้าที่ของตนเอง และจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อภารกิจหลัก คือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ยิ่งกว่านั้น ปัญหางานสอบสวนตำรวจเป็นปัญหาเชิงเทคนิคไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงอาจแก้ไขได้โดยเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับพนักงานสอบสวน บูรณาการการปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน โดยเฉพาะระดับสถานีตำรวจ ทั้งงานสืบสวน ป้องกันและปราบปราม เพื่อสนับสนุนงานสอบสวนไม่ให้ต้องแบกรับภาระที่หนักเกินควรและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ

แนวทางที่ 3  งานสอบสวนยังคงอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ให้มีกองบัญชาการสอบสวนโดยเฉพาะ คือ การจัดตั้ง “กองบัญชาการสอบสวน” ในสังกัด สตช. ที่ไม่ใช่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ปรับปรุงระบบการบริหารงาน งานบุคคลและงานงบประมาณ เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานสอบสวน โดยยังสามารถบูรณาการกับฝ่ายงานอื่นๆ ในสตช. เพื่อประโยชน์สูงสุดในการอำนวยความยุติธรรม โดยหลักการสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ บังคับบัญชาสูงสุดของงานสอบสวนตั้งแต่ระดับสถานีตำรวจไปจนถึงระดับกองบัญชาการ ต้องเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงานสอบสวนและเข้าใจกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ผู้บังคับ บัญชานอกสายงานสอบสวน แทรกแซงการทำงานของพนักงานสอบสวน ป้องกันปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวกและการวิ่งเต้นคดี อีกทั้งเพิ่มขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่พนักงานสอบสวน

ความพยายามในการปฏิรูปใดๆ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากคนในองค์กรนั้นๆไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง พนักงานสอบสวนแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความต้องการที่จะปฏิรูประบบงานสอบสวนของตนเอง แม้จะมีความคิดและแนวทางที่แตกต่างกันเองในหมู่พนักงานสอบสวนด้วยกัน ก็เป็นความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น  แต่เพราะพนักงานสอบสวนเป็นเพียงแค่องคาพยพเดียวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้าง มีวัฒนธรรมองค์กรแบบอำนาจนิยม จึงเป็นเรื่องยากที่ข้อเสนอของพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียวจะได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ

แต่หากสังคมพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาของงานสอบสวน เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เป็นปัญหาของชาติ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสิทธิเบื้องต้นของประชาชนทุกคนในประเทศนี้  สังคมต้องตระหนักและร่วมกันผลักดันการปฏิรูปงานสอบสวนให้เป็นวาระของพวกเราทุกคน มิใช่วาระของพนักงานสอบสวนหรือผู้มีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว หากพนักงานสอบสวนอันเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมเอง ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ประชาชนทั่วไปจะหาความยุติธรรมในสังคมได้จากที่ใดกัน

 

อ่าน 'จับตา': “งานตำรวจสอบสวนต่างประเทศ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6069

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: