ผ่าเครือข่าย ‘บริษัทประชารัฐรักสามัคคี’ การตลาดเพื่อสังคมฉบับ ‘ลายพราง’ ?

จุฑาทิพย์ ลักษณาวงศ์ : TCIJ School รุ่นที่ 3 : 21 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 7254 ครั้ง

ผุด ‘บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี’

29 เมษายน 2559  วันที่ใครหลายคนเพิ่งเคยได้ยินคำว่า‘ประชารัฐ’ หลังจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นสักขีพยานคลอดวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) นามมงคล ‘บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด’ พร้อมเปิดตัววิสาหกิจเพื่อสังคมนำร่องระดับจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ จำกัด, บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด, บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอุดรธานี จำกัด, บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี เพชรบุรี จำกัด และ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ภูเก็ต จำกัด โดยตั้งเป้าเปิดครบ 76 จังหวัดสิ้นปีนี้

‘ประชารัฐ’ คืออะไร ใครเข้ามาขับเคลื่อน ใครได้หรือเสียอะไร ประชาชนคนทั่วไปต้องทำอะไรบ้าง คำถามเหล่านี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนของประชาชนผ่านคำบอกเล่าของ บุญสิทธิ์ บุญผล ผู้นำชุมชนและประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต หลังจากชุมชนเห็นข่าวเปิดตัวบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด และ มีคนมาติดต่อตนให้เป็นผู้ประสานงานตัวแทนชาวบ้านเพื่อร่วมทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน

รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ทั่วประเทศเป็นยุทธศาสตร์ของ ‘คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก’ มีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา  เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายฐานปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้าง นั่งเก้าอี้เป็นแม่ทัพภาคเอกชน

‘คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก’ เป็นหนึ่งใน 12 คณะ ขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ ใน 12 ด้าน แบ่งเป็น 7 คณะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 7 D ( ได้แก่  D1การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ  D2 การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง  D3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE  D4 การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ  D5 การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)  D6 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และ D7 การสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ ) และ 5 คณะสนับสนุน ( 5E ได้แก่ E1การดึงดูดการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  E2 การยกระดับคุณภาพวิชาชีพ E3 การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ E4 การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ  และ E5 การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ)

‘คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก’ หรือ E3 ดูแล ‘รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ’ ทั่วประเทศ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ประเทศไทย ส่วนกลาง ที่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ส่วน ระดับจังหวัดทุนจดทะเบียนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นของ ‘รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ’ แต่ละสาขาประกอบด้วยบุคคลจาก 5 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนโดยไม่ว่าจะถือกี่หุ้นก็มีสิทธิ์ลงคะแนนเท่ากันคือฝ่ายละ 20%

น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป หนึ่งในผู้ริเริ่มใช้คำว่าประชารัฐ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย ได้เคยระบุไว้ว่าในทุนจดทะเบียน 100 ล้าน 76 ล้านมาจาก บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 ล้านบาท อีก 24 ล้านบาท มาจากภาคเอกชน เช่น ทรู เซนทรัล เบียร์สิงห์ เอไอเอส มติชน เครือเนชั่น เป็นต้น โดยจะเริ่มทยอยเข้ามาเป็นเจ้าหุ้นกันหลังจากนี้

ไทยเบฟหัวหอกสำคัญ ด้าน ‘ซีพี’ ส่งแค่ ‘ทรู’ มาถือ 1 หุ้น

ข้อมูลเอกสารผู้ถือหุ้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สำนักข่าวอิสรา นำมาเปิดเผยพบว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 5 คนในสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยนายฐานปน สิริวัฒนภักดี จากไทยเบฟ ถือหุ้น 99,996 หุ้น จาก 100,000 หุ้น คิดเป็น 99.99% ราคาหุ้นละ 1,000 บาท ชำระแล้วหุ้นละ 250 บาท ขณะที่อีก 4 ผู้ถือหุ้น ที่ถือคนละ 1 หุ้น ได้แก่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการที่ปรึกษา บ. น้ำตาลมิตรผล จำกัด นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และนายมีชัย วีระไวทยะ อดีตนักการเมือง และผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนและมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ

โดยบุคคลเหล่านี้เป็นเครือข่ายที่รู้จักมักจี่ดำเนินงานร่วมกันมาแล้วทั้งสิ้น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เคยร่วมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นอกจากนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กลุ่มมิตรผล มูลนิชุมชนไทย และนายมีชัย เองก็เป็นเครือข่ายคณะทำงานร่วมกับ ดร.สมคิด และ น.พ.ประเวศ วะสี อยู่แล้วผ่านมูลนิธิสัมมาชีพ ที่ น.พ.ประเวศ เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา และ ดร.สมคิด เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษา

เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ถึงเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่แต่ไม่มีนายทุนรายใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (หรือซีพี) เข้ามาร่วมวงเป็นทัพหน้าและมีบทบาทร่วมด้วยมากนัก แม้จะมี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นถือหุ้นรายใหญ่สุดนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าร่วมกับโปรเจคต์นี้แค่เชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยตัวแทนของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นเพียง 1 หุ้น ซึ่งแหล่งข่าวใกล้ชิดมูลนิธิสัมมาชีพ บอกกับ TCIJ ว่าเป็นเพราะแนวทางการทำงานเพื่อสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ แตกต่างกับแนวทางของโครงการประชารัฐ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์เองต้องการพัฒนาชุมชนตามแผนและแนวทางของบริษัทฯ แต่ประชารัฐเน้นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแผนแม่บทของชุมชนที่ชาวบ้านคิดขึ้นเอง อีกทั้งภาพลักษณ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์เองก็ไม่เป็นมิตรกับบางชุมชนนัก

แหล่งข่าวเสริมต่อว่าไทยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ขานรับแนวทางของประชารัฐ ซึ่งนายฐาปนได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะทำงาน E3 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จึงเข้ามาถือหุ้นนำร่องเอกชนรายอื่น ๆ

ที่มาภาพ : Facebook BIOTHAI

ผลักดันผ่าน‘ประเวศคอนเนคชั่น’  ยันแตกต่าง‘กองทุนหมู่บ้าน’ สมัย‘ทักษิณ’

‘มูลนิธิสัมมาชีพ’ ที่ก่อตั้งเมื่อ 2552 นั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน คือ น.พ.ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาและ ดร.สมคิด เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษา ได้เคยพยายามดำเนินโครงการด้วยแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยดึงเอกชนตัวแทนเศรษฐกิจมหภาคเข้ามาช่วยเหลือชุมชน ให้ชุมชนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้โครงการ 1 บริษัท 1 ตำบลสัมมาชีพ โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดมูลนิธิสัมมาชีพเปิดเผยกับ TCIJ ว่า ตั้งแต่ปี 2555 ทางมูลนิธิสัมมาชีพได้จับคู่ (matching) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) มาพัฒนาชุมชนนำร่อง 6 ชุมชนใน 6 จังหวัด โดยเน้นการพัฒนาตามแผนแม่บทที่ชุมชนร่างขึ้นเอง เอกชนเข้ามาให้คำแนะนำ เช่นว่าถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้วต้องใช้นวัตกรรมอะไร เข้ามาช่วยเรื่องทุน หากชุมชนต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เอกชนก็จะให้ความรู้เรื่องการพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าและหาแหล่งตลาดให้ แหล่งข่าวจากชุมชนใน จ. น่าน กล่าว

ด้าน น.พ.พลเดช  ให้สุมภาษณ์ว่าแนวคิดประชารัฐ ครั้งนี้แตกต่างกับ โครงการกองทุนหมู่บ้านสมัยรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เพราะกองทุนหมู่บ้านเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและชาวบ้าน ไม่มีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนครั้งนี้

ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจฐานรากและอดีตรองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ เล่าว่าหลังจากโครงการ 1 บริษัท 1 ตำบลสัมมาชีพประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ดร.สมคิด เล็งเห็นถึงศักยภาพของยุทธศาสตร์จึงนำมาปรับใช้เป็นนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ชาวบ้านมีรายได้มากกว่ารายจ่าย จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงตามมา

น.พ.พลเดช เสริมว่า ดร.สมคิด ได้ปรึกษากับ น.พ.ประเวศ ว่าจะขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากทั่วทั้งประเทศ น.พ.ประเวศ จึงมาปรึกษาตน ตนจึงคิดและนำแสนอแนวทาง ‘ประชารัฐ’ แก่คณะทำงานฝั่งรัฐบาล เมื่อฝ่ายรัฐบาลนำโดย    พลเอกประยุทธ์ ไฟเขียวสั่ง ดร.สมคิด เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐแล้ว 12 คณะทำงานข้างต้นจึงเกิดขึ้น

“ทางคณะทำงานประชารัฐเห็นว่า ชุมชนมีภูมิปัญญาแต่ขาดความรู้ด้านการตลาดและการจัดการ ‘รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ’ จึงดำเนินกิจการลักษณะบริษัทพี่เลี้ยงให้ชาวบ้าน เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาปัญหาการจัดการธุรกิจชุมชนให้มีรายได้มากขึ้น เพราะเรื่องการตลาดและการจัดการเป็นสิ่งที่เอกชนถนัดกว่าภาคอื่น ๆ” ดร.อนุรักษ์ กล่าว

วิธีการช่วยเหลือครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่น เริ่มจากพาไปหาแหล่งทุนกู้ธนาคารดอกเบี้ยต่ำอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ นายสมชัย สัจจพงษ์ เปิดเผยกับ TCIJ ว่าจะปล่อยวงเงินกู้ดอกต่ำ เอื้อประชารัฐเป็นโครงการ ๆ ไป

หลังจากพาไปกู้เงิน ก็จะให้คำแนะนำศึกษาความต้องการตลาดให้ ให้ความรู้เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำอย่างไรจะผลิตได้เยอะโดนใจลูกค้า ช่วยหาตลาดให้ อะไรที่ชาวบ้านไม่เป็นไม่รู้อ ย่างการเจรจาธุรกิจกับห้างสรรพสินค้าที่มีเงื่อนไขเยอะ ‘รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ’ ก็เข้าไปทำช่วยเจรจาเป็น ‘คนกลาง’ ให้

แหล่งข่าวน่าเชื่อถือของโครงการประชารัฐยกตัวอย่างให้เห็นชัดคือ สับประรดภูเก็ตหนึ่งในสินค้าชุมชนที่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต เข้าไปส่งเสริม เกษตรกรผู้ปลูกสับประรดต้องการส่งขายให้ห้างสรรพสินค้าแต่ชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่องการหักเปอร์เซ็นต์การขาย ‘ค่าตะกร้า’ ขนาดของสับประรดที่ห้างฯ กำหนด และเงื่อนไขอื่นทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ชาวบ้านขายสับประรดได้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จะเข้าไปรับซื้อ

จาก เอกสารผู้ถือหุ้น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด ที่สำนักข่าวอิสรา นำมาเปิดเผยพบว่ามีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท นางอรสา โตสว่าง Market Intelligence Director ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เป็นผู้ถือหุ้น 1,600 หุ้นจาก 4,000 หุ้น นางวราลี ฐิติวร 1,200 หุ้น และนายโกศล แดงอุทัย 1,200 หุ้น โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจากภาคเอกชนเป็นกรรมการผู้จัดการ พร้อมคณะทำงานที่เหลือ จากภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และชาวบ้าน มาร่วมทีม โดยมีเงินให้แค่ 2 ตำแหน่งคือ ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ และฝ่ายการเงิน

นายวีระชัย ปรานวีระไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด กล่าวกับ TCIJ ว่า บริการครบวงจรเหล่านี้ เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือกลุ่มอาชีพชุมชน สามารถเข้าถึงได้ เพียงมาลงทะเบียน ทาง บริษัทฯ จะจัดกลุ่มธุรกิจหรือ คลัสเตอร์ (cluster) และนัดประชุมพร้อมกันเป็นคลัสเตอร์ เพื่อให้คำปรึกษาพร้อมกันเป็นกลุ่ม

นายวีระชัยกล่าวว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ภูเก็ต ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน 10 ล้านบาท ภายในสิ้นปี โดยพุ่งเป้าไปที่ 5 คลัสเตอร์ คือ กุ้งมังกรภูเก็ต (Phuket lobster) สับประรดภูเก็ต แพะนม ผ้าบาติก และการท่องเที่ยวชุมชน โดยขั้นแรกจะประสานไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นประกอบการศึกษาของแต่ละคลัสเตอร์ เช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กรมการพัฒนาชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานเกษตรจังหวัด และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมกันนั้นก็เข้าหาชุมชนเช่นชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร เครือข่ายผู้ประกอบการโรงแรม เครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงเข้ามาเป็นผู้ประสานงานทำงานร่วมกัน 

นายวีระชัยเปิดเผยว่า แผนการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ เช่นเทศกาลกุ้งมังกร ที่หวังสร้างชื่อกุ้งมังกรภูเก็ตให้เป็นที่รู้จักและเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกำลังจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ได้มีการเตรียมการไว้พร้อมแล้ว

ในขณะที่นายทรงสิทธิ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนเปิดเผยว่า เบื้องต้นตนได้ให้ข้อมูลเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่นลักษณะธุรกิจ ลักษณะการทำงานผู้ประกอบการในชุมชน ข้อกำจัดต่าง ๆ แก่ วิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ โดยมี นายฐาปนเข้าร่วมประชุมด้วย

สื่อสารคลุมเครือ-ไม่ทั่วถึง  ชาวบ้านขยาดโครงการของรัฐ

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่าง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี กับชาวบ้านยังไม่ชัดเจนและทั่วถึง ชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่าตนจะต้องทำอะไร และยังรู้สึกระแวงเคลือบแคลงใจว่า เอกชนและรัฐที่เข้ามาหาชาวบ้านจะแสวงหาประโยชน์อะไรจากชาวบ้านหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ นายทรงสิทธิ์เสริมว่า ยุครัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ มีโครงการต่าง ๆ มากมายทั้งจากรัฐและเอกชน แต่รัฐเข้ามาเอาเงินมาทิ้งให้แล้วจากไป เช่นเคยเข้ามาสนับสนุนโครงการเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนแต่เมื่อชาวบ้านปรับปรุงพัฒนามีการอบรมผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยว แต่จากนั้นไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทางรัฐก็ไม่เข้ามาดูแลเช่นกัน จึงเหมือนนำเงินมาทิ้งเสียเปล่า

ส่วนเอกชนที่ชุมชนเคยเคยเจอ ก็เข้ามาในลักษณะหวังแต่กำไรไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่นต้องการให้ชาวบ้านผลิตสินค้าให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการวันละ 100 ชิ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการตลาด แต่ชาวบ้านมีข้อกำจัดผลิตได้เพียงวันละ 30 ชิ้น วิธีการทำงานของเอกชนแตกต่างกับชาวบ้าน ขณะที่เอกชนหรือบริษัทคำนึงกำไรขาดทุนและเรื่องความเร็วเป็นหลัก แต่ชาวบ้านไม่เร่งรีบและมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปอะลุ่มอล่วย เมื่อต้องทำงานร่วมกันจึงเกิดปัญหาในท้ายที่สุดต้องพับเก็บโครงการ วัฏจักรเช่นนี้เป็นมานับสิบปี ทำให้ชาวบ้านขยาดกับโครงการของรัฐและเอกชน

ธุรกิจเอกชนได้ ‘สิทธิ์ประโยชน์’ อะไรบ้าง ?

ขณะที่ชุมชนยังมองไม่เห็นทางสว่างว่าประชารัฐจะไปทางไหน และจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ตัวโครงการ“วิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ” แต่ละจังหวัดรวมถึงส่วนกลางเอง ก็ได้สิทธิ์ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพกล่าวกับ TCIJ ว่า ‘วิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ’ จะอยู่ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณา โดยกำหนดไว้ว่า ‘วิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ’ ต้องไม่เอากำไรเข้ากระเป๋า ได้กำไรเท่าไหร่เอาไปต่อยอดทำกิจกรรมให้ชุมชนเพิ่ม

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 มี.ค. 2559 กำหนดให้ วิสาหกิจเพื่อสังคมต้องคืนกำไรไม่ต่ำกว่า 70% กลับไปลงในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม วิสาหกิจเพื่อสังคมใดคืนกำไรทั้งหมด 100% กลับไปลงทุนต่อ (ไม่มีการปันผล) วิสาหกิจชุมชนนั้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

ถ้ามีการปันผล สามารถทำได้แต่ไม่เกิน 30% และวิสาหกิจชุมชนนั้นจะต้องจ่ายภาษีเงินได้ บริษัทหรือนิติบุคคลใด ๆ ที่ถือหุ้นหรือบริจาคเงิน สิ่งของ หรือทรัพย์สินให้วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีที่เป็นตัวเงินแล้ว บริษัทที่เข้ามาช่วยเหลือวิสาหกิจเพื่อสังคมยังได้หน้าได้ภาพลักษณ์อีกด้วย

จากคำบอกเล่าของ น.พ.พลเดช บริษัทต่าง ๆ ต้องมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR อยู่แล้วเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทเอง แต่แทนที่จะเอาเม็ดเงินใส่กิจกรรม CSR ก็นำมาลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐ

นั่นหมายถึงเอกชนสามารถเข้าถึงชุมชนและกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เป็นโอกาสในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจพันธมิตรหรือธุรกิจของตนเอง 

เอกชนเข้าร่วมบริษัทประชารัฐฯ ได้ลดหย่อนภาษี

จากมติ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ… ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) รวมถึงให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ไปลงทุนตั้งกิจการเพื่อสังคม หรือไปถือหุ้นในกิจการเพื่อสังคม ให้สามารถนำเงินลงทุนดังกล่าว ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลปีนั้น ในสัดส่วน     100 % ของเงินที่ได้ลงทุนไป ส่วนกิจการที่บริจาคเงินให้เปล่าแก่กิจการเพื่อสังคม ให้สามารถนำเงินบริจาคนั้นไปหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ในสัดส่วน 100 % ของเงินที่บริจาคเช่นกัน

นอกจากนี้แหล่งข่าวใกล้ชิดบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ยกตัวอย่างว่า เช่นการให้ความรู้แก่เรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ชุมชนหรือการให้คำปรึกษาด้าวนวัตกรรมทางบริษัท ไทยเบฟ อาจจะเชิญบริษัทพันธมิตรมาช่วยเสริม หรือแม้แต่การหาตลาดให้สินค้าชุมชน ตลาดดังกล่าวอาจเป็น บริษัทพันธมิตรก็เป็นได้ 

ในเมื่อมองเห็นได้ชัดเจนว่า ช่องทางการรับผลประโยชน์ของเอกชนและเครือข่ายคณะทำงาน มีมากกว่าประโยชน์ของชาวบ้าน รัฐบาลจะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐจะสามารถทำให้ชาวบ้านรากหญ้ามีรายได้เพิ่มและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ ‘ซ้ำรอยเดิม’ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเศรษฐกิจฐานรากจะเข้มแข็งจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคง

หลักการ ‘ระเบิดจากข้างใน’ ของรัฐบาล คสช. จะเป็นการระเบิดในเชิงเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น หรือเป็นระเบิดจากความคับข้องใจที่สะสมมายาวนาน ?  เพราะชาวบ้านและชุมชนก็ยังคงถูกมองเห็นเป็น’ผู้ถูกพัฒนา’ในกระดานโครงการประชารัฐ นี้อยู่ดี 

อ่าน 'จับตา': “โครงสร้างการบริหารโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6312

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: