ประมวลข้อถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 (ตอนจบ)

สิริวัฒน์ โพธิ์กระเจน : 22 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 22627 ครั้ง


ประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับความจริงปลอมของจารึก

ชนวนความสงสัยในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของ ดร. พิริยะเกิดจากการศึกษาโบราณวัตถุสถานที่สุโขทัยโดยอาศัยข้อมูลจากจารึกและสังเกตว่าภาพถ่ายโบราณของพระพุทธรูปที่กล่าวถึงในจารึกมีรูปแบบที่ต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ ยังสังเกตด้วยว่าศิลาจารึกหลักนี้ไม่มีการเอ่ยชื่อวัดที่ปรากฏในสมัยนั้น จึงเป็นไปได้ว่าผู้ใดก็ตามที่ทำจารึกหลักนี้ขึ้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ในสุโขทัยดีพอ (พิริยะ, 2547, น. 17) ในการให้เหตุผลว่าศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดร. พิริยะมีเกณฑ์การวิเคราะห์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ใน 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

ก) การใช้ศัพท์ที่ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ และการใช้เนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยม ขนบประเพณีและวัฒนธรรมของสุโขทัยตามที่มีหลักฐานจากจารึก

ข) การกล่าวถึงโบราณวัตถุสถานที่ขัดแย้งกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี

ค) การใช้ศัพท์และข้อความที่ขอยืมมาจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ และ

ง) การใช้คำศัพท์หรือเนื้อหาที่สอดคล้องกับวรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือเอกสารที่เขียนขึ้นหลังปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) อันเป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดเกล้าฯ ให้จารศิลาจารึกหลักนี้ (เรื่องเดียวกัน, น. 19)

ต่อไปนี้จะเป็นการยกตัวอย่างการวิเคราะห์ของ ดร. พิริยะในแต่ละประเด็น ในเบื้องต้นจะขอยกตัวอย่างประกอบเพียง 1-2 ข้อต่อหนึ่งประเด็นโดยยังไม่มีข้อโต้แย้งประกอบ

ก) คำว่า “รามคำแหง” ไม่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักอื่นเลย น่าจะดัดแปลงมาจาก “คำแหงพระราม” ในศิลาจารึกหลักที่ 2 (เรื่องเดียวกัน, น. 38) ซึ่งปัจจุบันเข้าใจว่าผู้บอกเล่าเรื่องราวในจารึกได้แก่ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นพระโอรสของพญาคำแหงพระราม และเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนหลักเมือง (กองหอสมุด, 2527, น. 50 อ้างถึงใน พิริยะ, 2547, น. 316) นอกจากนี้มีคำว่า “พรญารามราช” ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 3 (พิริยะ, 2547, น. 46)

ก) คำว่า “ผู้อ้าย” ไม่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ ในไตรภูมิกถา ใช้ “พี่เอ้ย” ซึ่งน่าจะมีความหมายว่าพี่ชายคนโตเช่นเดียวกับพี่อ้าย คำว่า “ผู้อ้าย” และ “พี่เอ้ย” เป็นตัวอย่างการประดิษฐ์คำศัพท์ขึ้นใหม่ อันเป็นลักษณะพิเศษของพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรื่องเดียวกัน, น. 31)

ข) “กลางเมืองสุโขไทนี้ มีพีหาร มีพระพุทธรูบทอง มีพระอฎฐารศ มีพระพุทธรูบ” ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ในช่วงปลายด้านที่ 2 จนถึงต้นด้านที่ 3 เป็นการบรรยายสถานที่ต่างๆ ในสุโขทัยโดยย่อ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจง เป็นการกล่าวด้วยคำรวมๆ มากกว่า ในปัจจุบันยังมีพระอัฏฐารสอยู่ 2 องค์ที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ในอดีตน่าจะมีมากกว่านี้ จากภาพถ่ายโบราณก่อนการบูรณะซ่อมแซมพระมหาธาตุ พระอัฏฐารสทั้งสององค์มีรูปแบบใกล้เคียงกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดกำแพงเพชรที่ปัจจุบันกำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ดังนั้น หากเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นในสมัยที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ถูกทำขึ้นก็น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับหมวดอู่ทองแบบที่ 1 ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 (เรื่องเดียวกัน, น. 99-101, 106)

ค) “จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย” น่าจะขอยืมคำและสำนวนมาจาก “ขี่เรือไปค้า ขี้ม้าไปขาย” ในศิลาจารึกหลักที่ 3 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 32 (เรื่องเดียวกัน, น. 49)

ค) “เหนเข้าท่านบ่ใคร่พีน เหนสีนท่านบ่ใคร่เดือด” ประโยคนี้น่าจะยกมาทั้งบรรทัดจากศิลาจารึกหลักที่ 5 หรือที่เรียกกันว่าศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ซึ่งจารขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1909 ข้อความนี้ปรากฏในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 17-18 (เรื่องเดียวกัน, น. 56)[1]

ง) “เปนท้าวเปนพรญาแก่ไททังหลาย” ดูเหมือนจะดัดแปลงมาจากข้อความในไตรภูมิกถาที่กล่าวว่า “ผู้เป็นท้าวเป็นพระญาควรให้ทรัพย์สิ่งสินแก่ลูกแก่เมีย” ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยมีการใช้คำว่า “ท้าวพระญา” เช่น ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 39 และศิลาจารึกหลักที่ 3 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 4-5 โดยไม่มีคำว่า “เปนท้าวเปนพรญา” ส่วน “แก่ไททังหลาย” น่าจะดัดแปลงมาจากข้อความในไตรภูมิกถาเช่นกัน ดังเช่น “พรญาจักรพรรดิราชนั้น ธ เป็นเจ้าแก่คนทั้งหลาย” (เรื่องเดียวกัน, น. 211)

ง) “ราชบูรี เพชบูรี ศรีธรมมราช ฝังทเล” ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 “เพชบูรี” เป็นนครรัฐอิสระไม่ขึ้นกับสยาม ดังปรากฏในพงศาวดารราชวงศ์หยวนที่กล่าวถึงเมืองพิชะบุลี ส่วนคำว่า “ศรีธรมมราช และ “ฝังท-เล” ไม่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักอื่น ผู้แต่งน่าจะนำความมาจากหนังสือเรื่อง “สิหิงคนิทาน” ในตอนที่กล่าวถึงพระร่วงเสด็จมายังชายทะเลถึงนครของพระเจ้าศรีธรรมราช (เรื่องเดียวกัน, น. 220) หนังสือเล่มนี้แต่งโดยพระภิกษุเชียงใหม่ชื่อพระโพธิรังสี (พ.ศ. 1945-1985) (เรื่องเดียวกัน, น. 29)

โดยสรุปแล้ว ดร. พิริยะเห็นว่าในการทำศิลาจารึกหลักที่ 1 ผู้เขียนได้หยิบยืมคำและข้อความจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักต่างๆ ได้แก่ หลักที่ 2 3 4 5 7 8 9 และ 45 และใช้คำศัพท์หรือเนื้อหาที่สอดคล้องกับวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหรือที่เขียนขึ้นภายหลังปี พ.ศ. 1835 วรรณกรรมที่น่าจะถูกใช้ ได้แก่ สิหิงคนิทาน แต่งในปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ชินกาลมาลินี แต่งปี พ.ศ. 2070 และเรื่องแต่งในพระพุทธศาสนาที่น่าจะถูกใช้ ได้แก่ มหาสุทัสสนสูตร ชาดก และโลกบัญญัติ ทั้งสามเรื่องแต่งในพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนหนังสือและเอกสารที่รวบรวมหรือแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีคำศัพท์พ้องกับศิลาจารึกหลักที่ 1 เช่น มหาวงษ์พงศาวดารลังกาทวีป พระราชพงศาวดารเหนือ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง พงศาวดารล้านช้าง พงศาวดารมอญพม่า ไตรภูมิกถา ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา นิทานอิหร่านราชธรรม เรื่องนางนพมาศ มหาชาติพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 และพระราชสาสน์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดร. พิริยะได้กล่าวเสริมอีกหน่อยด้วยว่าอักษรที่ใช้จารึกน่าจะดัดแปลงรูปแบบมาจากศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) (เรื่องเดียวกัน, น. 230-233)

ตัวอย่างการวิเคราะห์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวมานี้มาจากหนังสือเรื่อง “จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม” ของ ดร. พิริยะ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 และตีพิมพ์ครั้งที่สองฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2547 ต่อไปนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างจากหนังสือเล่มนี้เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในแต่ละประเด็น พร้อมให้ข้อมูลโต้แย้งที่ได้จากการอภิปรายสองครั้งที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ที่จัดทำโดยกรมศิลปากรและพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2547[2] และจากบทอื่นที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน จากนั้นจะกล่าวถึงข้อถกเถียงในประเด็นที่ ดร. พิริยะไม่ได้กล่าวถึง พร้อมเทียบกับข้อมูลโต้แย้งจากการอภิปรายเช่นกัน ในส่วนนี้ผู้เขียนจะให้ความเห็นของตนเองในจุดที่พอจะทำได้

ก) คำว่า “นาง” ในจารึกสุโขทัยทั้งหมดมิได้ใช้เป็นคำนำหน้าพระนามของพระมเหสีของกษัตริย์สุโขทัย แต่จะใช้เป็นคำนำหน้านามชื่อของคนธรรมดา เช่น “นางมิ่ง” ในศิลาจารึกหลักที่ 95 ถ้าจะใช้คำว่านางกับพระมเหสีของกษัตริย์สุโขทัยจะต้องมีคำว่า “มหาเทวี” ต่อท้ายด้วย เช่น “นางสุขรมหาเทวี” ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ทั้งนี้ การใช้คำว่า “นาง” เพียงคำเดียวเพื่อนำหน้าพระนามของพระมเหสีนั้นเป็นที่นิยมมากในวรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น นางสีดา นางมณโฑ และนางละเวง แต่จารึกหลักนี้กล่าวถึง “นางเสือง” ผู้เป็นพระมารดาของพ่อขุนรามคำแหง การใช้คำว่า “นาง” จึงขัดกับค่านิยมและขนบประเพณีของวัฒนธรรมสมัยสุโขทัย แต่สอดคล้องกับวรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (เรื่องเดียวกัน, น. 26, 28)

ข้อโต้แย้ง: ในศิลาจารึกหลักที่ 102 มีการใช้คำว่า “ป้านางคำ” ซึ่งไม่ใช่คนธรรมดา เพราะตอนท้ายของจารึกบอกว่า “นางได้เสวยราชสมบัติไซร้” ในจารึกหลักที่ 8 มีเขียนไว้ว่า “พรญาและนาง...” ในสมัยอยุธยา มีการกล่าวถึง “แม่นางสาขา” มเหสีเทวีของพระมหาธรรมราชาที่ 3 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก และ “นางศิริมหามายา” “นางวิสาขา” “นางโคตมี” ในมหาชาติคำหลวง ฉะนั้น คำว่า “นาง” สามารถใช้กับพระนามของพระมเหสีของกษัตริย์ได้โดยไม่ต้องมีคำว่า “มหาเทวี” ต่อท้าย (ประมวลฯ, 2547, น. 78)

ผู้เขียนเห็นว่าข้อโต้แย้งในประเด็นนี้ที่ให้ไว้โดย ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากไม่ได้แย้งข้อเสนอของ ดร. พิริยะโดยตรง ข้อมูลที่ยังขาดหายไปคือ “ป้านางคำ” คือใคร แต่เดิมเป็นบุคคลสามัญหรือไม่ และเมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้วมีการเอ่ยพระนามอย่างไร อย่างไรก็ดี ในส่วนคำว่า “นาง” นั้น ผู้เขียนเห็นว่า ในเมื่อ ดร. พิริยะได้กล่าวว่าผู้แต่งศิลาจารึกหลักนี้ต้องได้อ่านจารึกหลักอื่นๆ มาแล้วมากมาย เฉพาะที่เป็นการหยิบยืมคำและข้อความก็รวมแล้ว 8 หลัก ดังนั้น ผู้แต่งก็ไม่น่าพลาดที่คำง่ายๆ โดยแยกไม่ออกระหว่างสตรีธรรมดากับพระมเหสีของกษัตริย์หากว่า “คำนี้” ต้องมีการใช้ “มหาเทวี” ต่อท้ายพระนามเสมอในสมัยก่อน

ก) “สังฆราชปราชญเรียนจบบีดกไตร” คำว่า “สังฆราช” เป็นคำใหม่ที่คนทั่วไปในสมัยสุโขทัยยังไม่รู้จัก มักจะใช้พร้อมกับคำว่า “มหาสามี” ดังเช่น “มหาสามีสังฆราช” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 5 หรือ “มหาสวามีศรีสังฆราช” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 40 คำที่คุ้นเคยกันมากกว่าคือคำว่า “มหาสามี” ดังที่ปรากฏโดยไม่มีคำว่า “สังฆราช” ในศิลาจารึกหลักที่ 2 หากศิลาจารึกหลักที่ 1 สลักขึ้นก่อนหลักที่ 2 ก็น่าจะใช้คำว่า “มหาสามี” แทนคำว่า “สังฆราช” (พิริยะ, 2547, น. 110)

ข้อโต้แย้ง: การใช้คำว่า “มหาสามี” แทน “สังฆราช” เป็นความเข้าใจของ ดร. พิริยะเอง อย่างไรก็ดี ในลังกาเองเพิ่งจะเอาคำว่า “มหาสามี” ใช้ควบกับคำว่า “สังฆราช” ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จึงมีการใช้คำคู่กันว่า “มหาสามีสังฆราช” ในรัชกาลของพระเจ้าลิไทย กระนั้น ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ไม่ได้เห็นว่ามหาสามีและสังฆราชเป็นตำแหน่งเดียวกัน ในศิลาจารึกหลักที่ 5 มีการใช้คำว่า “ฝูงมหาสามี” จึงไม่น่าจะหมายถึงฝูงสังฆราชได้ “มหาสามี” น่าจะหมายถึงพระที่มีความรู้สูง เทียบได้กับเปรียญ 9 ในปัจจุบัน (ประมวลฯ, 2547, น. 75) ส่วนตัวผู้เขียนนั้นรู้สึกติดใจเล็กน้อยกับคำว่า “มัก” ในการอธิบายของ ดร. พิริยะ เพราะคำนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีข้อยกเว้น แต่ว่า ดร. พิริยะ ไม่ได้กล่าวถึงว่าข้อยกเว้นเป็นเช่นไร

ก) “ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา” คำว่า “หัว” หมายถึง “ด้าน” เป็นคำที่ใช้ในวรรณกรรม แต่จะใช้คำว่า “เบื้อง” แทนในจารึกสุโขทัย คำว่า “ขวา” ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยเลย และในสมัยสุโขทัยเมื่อกล่าวถึงด้านขวามือจะใช้คำว่าตะวันออกแทน เช่นในศิลาจารึกหลักที่ 14 ในข้อความ “อยู่ตะวันออกหน้าพิหาร” แต่คำว่า “ซ้าย” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 102 แต่ในการกล่าวถึงทิศทางนั้น น่าจะใช้คำว่า “ตะวันตก” แทน เช่นในศิลาจารึกหลักที่ 49 ในข้อความ “ธมาอยู่ตำหนักหัวสนามเก่าตะวันตกวัดสรศักดิ์” การบอกทิศในลักษณะนี้เกิดจากการที่ชาวสุโขทัยนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ และเอาท่านอนเป็นสิ่งกำหนดทิศทาง (พิริยะ, 2547, น. 33)

ข้อโต้แย้ง: “หัวซ้ายหัวขวา” เป็นศัพท์ทหารมีใช้อยู่ในตำราพิชัยสงคราม มีแบ่งเป็น “หัวซ้าย” “หัวขวา” “หัวหลัง” หัวกลาง” (ประมวลฯ, 2547, น. 114)

ข) “ท่านแต่งช้างเผือก กรพัดลยาง เที้ยนญ่อมทองงา ซ้าย ขวา” ลยางคือพู่ประดับหัวช้างห้อยทางด้านหน้าของหูทั้งสองด้าน เครื่องประดับช้างทรงของพ่อขุนรามคำแหงนั้นคล้ายกับเครื่องประดับช้างต้นในสมัยรัตนโกสินทร์ มีลยางห้อย และที่งาประดับด้วยกำไลทองคำ ส่วนเครื่องประดับช้างทรงในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 18 จะสวมศิราภรณ์ หรือมงกุฎ ดังเห็นได้จากภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทบายน เมืองนครธม (พิริยะ, 2547, น. 156)

ข้อโต้แย้ง: หากดูในยวนพ่าย รูปช้างวัดยมที่พระนครศรีอยุธยา รายงานทูตลังกา ปุณโณวาทคำฉันท์ กาพย์มหาชาติอยุธยา ล้วนห้อย “ภู่จามรี” ด้วยกันทั้งสิ้น (ประมวลฯ, 2547, น. 82)

ข) “รอบเมืองสุกโขไทนี้ ตรีบูร ได้สามพันศี่ร้อยวา” คำว่า “ตรีบูร” น่าจะหมายถึงกำแพงเมืองสามชั้น และ “สามพันศี่ร้อยวา” มีความยาวประมาณ 6,800 เมตร จากการวัดกำแพงเมืองสุโขทัยทั้งสามชั้นโดยกรมศิลปากรแสดงให้เห็นว่า กำแพงเมืองชั้นที่มีความยาวใกล้เคียงกับที่ระบุไว้ในจารึกคือกำแพงเมืองชั้นนอก ยาว 6,850 เมตร แต่เป็นชั้นกำแพงที่สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีเสาวราชครองเมืองสุโขทัยในปี พ.ศ. 2135 ส่วนกำแพงชั้นที่มีอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคือกำแพงชั้นใน มีความยาว 6,110 เมตร

ข้อโต้แย้ง: ที่แปล “ตรีบูร” ว่าเป็นกำแพงสามชั้นเป็นเรื่องคาดเดาความหมายของศัพท์โบราณ จารึกวัดเชียงมั่นก็เขียนว่าเชียงใหม่มีตรีบูร แต่กำแพงไม่ได้เป็นสามชั้น คำว่า “ตรีบูร” อาจจะแปลว่ากำแพงที่เป็นมงคลก็ได้ (ประมวลฯ, 2547, น. 64) กระนั้น ผู้เขียนสงสัยว่าหากเป็นกำแพงมงคลที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ก่ออิฐถือปูนจำเป็นต้องมีการกำหนดความยาวที่แน่นอนไว้หรือไม่

ในประเด็นการวิเคราะห์ข้อ ค) การใช้ศัพท์และข้อความที่ขอยืมมาจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ ผู้เขียนไม่พบข้อมูลการถกเถียงมากนัก เนื่องจากเป็นคำศัพท์ที่มีใช้ในสมัยสุโขทัยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่พอจะนำมากล่าวถึงได้คือคำว่า “บีดกไตร” ที่ ดร. พิริยะกล่าวว่าน่าจะหยิบยืมมาจากคำว่า “พระปิฎกไตร” ในศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ซึ่งมีปรากฏในหลักที่ 3 5 และ 7 (พิริยะ, 2547, น. 110-111) ม.ร.ว. ศุภวัฒย์กล่าวค้านเพียงว่าเป็นคำอ้างที่ไม่มีเหตุผล และในจารึกหลักอื่นๆ ก็ไม่ได้สะกดด้วยตัว บ และ ด (ประมวลฯ, 2547, น. 76)

ง) “ทั้งมากาวลาวแล้ไทเมืองใต้หล้าฟ้าฏ” กาวและลาวเป็นชื่อของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกของประเทศสยาม เช่นที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ฤาลาวกาวมาแต่หัวเมืองก็จะได้เอาออกเล่นให้ดู” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2479, น. 35 อ้างถึงใน พิริยะ, 2547, น. 183) นอกจากนี้ ข้อความนี้ยังมีลักษณะใกล้เคียงมากกับคำเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในตอนต้นพระราชสาสน์ถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2399 2402 และ 2403 ดังข้อความว่า “พระราชสาสนสมเดจพระปรเมนทรมหามกุฏ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามเปนใหญ่ได้ครอบครองพระราชอาณาจักรสยามราษฎร แวดล้อมด้วยนานาประเทศราชชนบทต่างๆ ทุกทิศ คือ ลาวโยนลาวเฉียงในทิศพายัพและอุดร ลาวกาวแต่ทิศอิสาญจนบูรพ์กำโพชาเขมรแต่บูรพ์อาคเนย์” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2470, น. 74, 84, 87 อ้างถึงใน พิริยะ, 2547, น. 183)

ข้อโต้แย้ง: ความคิดเรื่องเชื้อชาติมีมาแต่สมัยโบราณ ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 (ประมวลฯ, 2547, น. 65)

นอกจากการวิเคราะห์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยแนวทางของการใช้คำและเนื้อหาที่ ดร. พิริยะได้แยกย่อยเป็น 4 ประเด็นแล้ว การศึกษาอีกแนวทางที่สำคัญก็คือการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์[3] ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในวงวิชาการจากการตั้งข้อสงสัยของวิกเกอรี่ ประเด็นที่วิกเกอรี่กล่าวถึงและผู้เขียนอยากยกมานำเสนอไว้พร้อมกับข้อโต้แย้ง ได้แก่ 1) การใช้ ฃ และ ฅ 2) การใช้วรรณยุกต์ที่ตรงกับภาษาไทยมาตรฐานปัจจุบัน และ 3) การนำสระทั้งหมดมาไว้บรรทัดเดียวกับพยัญชนะ

ในเรื่องการใช้ ฃ และ ฅ วิกเกอรี่เสนอว่าเสียงของพยัญชนะสองตัวนี้น่าจะหายไปจากภาษาไทยสมัยสุโขทัยนานแล้ว โดยดูจากการใช้ ข กับ ฃ และ ค กับ ฅ อย่างสับสนในศิลาจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ แต่ศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้นมีการใช้อย่างสับสนอยู่น้อยมาก การใช้พยัญชนะเหล่านี้ได้ค่อนข้างถูกต้องไม่ได้ชี้ถึงการแต่งอักขรวิธีใหม่ แต่เป็นการขัดกับกระแสวิวัฒนาทางภาษาที่ติดตามได้ชัดเจนในจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ (ไรท์, 2530/2546, น. 99)

ข้อโต้แย้งในประเด็นนี้ได้จากการศึกษาการออกเสียงของชาวไทยขาวโดย ดร. แอนโธนี่ ดิลเลอร์ (Anthony Diller) ดร. ดิลเลอร์พบว่าชาวไทยขาวในปัจจุบันยังออกเสียง ข ต่างจาก ฃ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงจะยังออกเสียงพยัญชนะเหล่านี้ต่างกัน ในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีการใช้ ข และ ฃ ทั้งหมด 16 คำ ตรงกับการออกเสียงของชาวไทยขาว 15 คำ ส่วนคำที่ไม่ตรงนั้นคือคำว่า “หมากขาม” ซึ่งมาจากแอฟริกาในภายหลัง ต่อมาการใช้ ข และ ฃ เริ่มปนกันมากขึ้น จนประมาณปี พ.ศ. 1950 จึงค่อยแยกกันไม่ออกเลย (ประมวลฯ, 2547, น. 108)[4]

ข้อถกเถียงในทางภาษาศาสตร์ข้อถัดมาคือเรื่องเสียงวรรณยุกต์ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมากในรายละเอียด กล่าวโดยสรุปคือมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดการใช้ไม้เอกและไม้โทตรงตามภาษาไทยมาตรฐานแบบไม่ผิดเพี้ยน ในขณะที่จารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ จะใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์น้อยมาก ไม่ตรงกับภาษาไทยมาตรฐานในปัจจุบัน (ไรท์, 2530/2546, น. 97) คำตอบสำหรับคำถามนี้ที่มีการอธิบายไว้คือจริงๆ แล้วรูปวรรณยุกต์ของศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของชาวสุโขทัย แต่ตรงกับเสียงสังฆราชที่มาจากนครศรีธรรมราช หรือก็คือภาษาปักษ์ใต้สมัยนั้น แต่มาสมัยนี้ไม่มีภาษาถิ่นใดตรงกับรูปวรรณยุกต์ในจารึกหลักที่ 1 ต่อไปแล้ว (ประมวลฯ, 2547, น. 180)[5]

ข้อน่าฉงนในทางภาษาศาสตร์ข้อสุดท้ายคือการวางรูปสระและพยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันทั้งหมด มีการแผลงรูปสระลอยที่ใช้วางข้างหน้าพยัญชนะเมื่อคำๆ นั้นออกเสียงสระในพยางค์แรก โดยนำสระลอยมาผสมกับพยัญชนะเหมือนรูปสระธรรมดาทั่วไป (พิเศษ 2532/2546, น. 88-89) และนำสระที่ปกติวางไว้ด้านบนหรือใต้พยัญชนะ เช่น สระอิ อี อุ และอู มาวางไว้บรรทัดเดียวกับพยัญชนะ เซเดส์กล่าวว่า “วิธีเรียงตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหง คล้ายๆ วิธีเรียงตัวอักษรของฝรั่ง ผิดแต่ที่ของฝรั่งใช้เรียงสละไว้ข้างขวาตัวพยัญชนะ แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สระบางตัวอยู่ข้างขวา เช่น สระ า บางตัวอยู่ข้างซ้าย เช่น สระอิ อุ เอ เป็นต้น” (เซเดส์, 2468, น. 7 อ้างถึงใน พิริยะ, 2547, น. 197) อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว วิกเกอรี่อ้างว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในจารึกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นสิ่งที่จารึกในสมัยต่อมาไม่ทำตาม (พิริยะ, 2547, น. 16-17)

ข้อโต้แย้งในประเด็นนี้คือ ในภูมิภาคใกล้เคียงก็มีภาษาที่เขียนสระและพยัญชนะไว้บรรทัดเดียวกัน เช่น อักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้จารึกลอกเลียนแบบมาจากภาษาที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมัน อันจะเป็นการสะท้อนการติดต่อกับชาติยุโรปซึ่งในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงนั้นยังไม่ได้เดินทางเข้ามา ส่วนเรื่องที่ว่าคนในสมัยต่อมาไม่ยอมใช้อักขรวิธีแบบนี้ก็เพราะคนในยุคนั้นเคยชินกับการใช้อักษรขอมอยู่ก่อน จึงทำให้อักขรวิธีแบบพ่อขุนรามคำแหงที่วางสระและพยัญชนะไว้บรรทัดเดียวกันไม่เป็นที่นิยม (ประมวลฯ, 2547, น. 68)

การพยายามหาข้อสรุปเกี่ยวกับความจริงแท้ของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนำมาซึ่งการตรวจพิสูจน์จารึกด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยนักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรและกรมทรัพยากรธรณี (จิราภรณ์ และ ศรีโสภา, 2534, น. 87-103) การศึกษาวิจัยอาศัยสมมติฐานที่ว่า ถ้าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกลางฝนเป็นเวลานานกว่า 500 ปี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบศิลาจารึกหลักนี้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่น่าจะอยู่ใต้ดิน เพราะฉะนั้นผิวของศิลาจารึกหลักที่ 1 น่าจะมีริ้วรอยสึกกร่อนเนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัยที่ใช้หินชนิดเดียวกัน มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว และถูกเก็บรักษาในที่ร่มมาโดยตลอด ริ้วรอยการสึกกร่อนของจารึกย่อมที่จะแตกต่างจากศิลาจารึกที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย (น. 88)

การศึกษาครั้งนี้อาศัยตัวอย่างหินจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกหลักที่ 45 ศิลาจารึกภาษามคธและภาษาไทยที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร และพระแท่นมนังศิลาบาตร ขั้นแรกเป็นการวิเคราะห์เนื้อหินและองค์ประกอบหินด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ และเปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจแหล่งหินและการศึกษาทางธรณีวิทยา ผลที่ได้ทำให้เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 น่าจะทำมาจากแหล่งหินในบริเวณจังหวัดสุโขทัยหรือจังหวัดใกล้เคียง และอาจจะเป็นหินจากแหล่งเดียวกับที่ใช้ในการทำศิลาจารึกหลักที่ 45 ศิลาจารึกหลักที่ 3 และพระแท่นมนังศิลาบาตร (น. 95-96)

ในลำดับต่อมามีการใช้แว่นขยายพร้อมบันทึกภาพโดยใช้รังสีอุลตราไวโอเล็ทและรังสีอินฟราเรดเพื่อศึกษาร่องรอยของการชำรุด แต่พบว่าไม่สู้มีประโยชน์นักเพราะองค์ประกอบของหินทรายแป้งไม่ไวต่อรังสีทั้งสองชนิด (เรื่องเดียวกัน, น. 97) แต่การตรวจสอบในขั้นนี้ทำให้พบว่าผิวของศิลาจารึกหลักที่ 1 มีริ้วรอยสึกกร่อนและรอยขูดขีดมากมาย แสดงให้เห็นกระบวนการ weathering มาเป็นเวลานาน (น. 98)

จากนั้น มีการกะเทาะตัวอย่างขนาดเล็กจากผิวศิลาจารึกตรงจุดที่ใกล้ตัวอักษรและเป็นจุดที่มีรอยกะเทาะอยู่เดิมเพื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบส่องกราด ซึ่งจะให้ภาพสามมิติขาวดำที่มีรายละเอียดสูงมากเพื่อการศึกษาโครงสร้างของโมเลกุล ภาพที่ได้ทำให้เห็นว่าผิวหน้าของศิลาจารึกหลักที่ 1 ในด้านที่ต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมมีร่องรอยการสึกกร่อนลักษณะเดียวกับผิวของศิลาจารึกหลักที่ 3 และ 45 และศิลาจารึกภาษามคธและภาษาไทย ส่วนพระแท่นมนังศิลาบาตรไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาศึกษาด้วยวิธีการนี้ (น. 98-99)

ขั้นต่อไปเป็นการวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุบนผิวของตัวอย่างส่วนที่ต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมด้วยเครื่อง energy dispersive x-ray spectrometer ผลที่ได้คือปริมาณแร่ธาตุของผิวจารึกหลักต่างๆ ในด้านที่เผชิญสภาวะแวดล้อมแตกต่างกับเนื้อหินด้านในที่ไม่เผชิญสภาวะแวดล้อมในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันทุกหลัก และทำให้เห็นกระบวนการผุพังทางเคมี (chemical weathering) ของศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถเร่งให้เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือทำเลียนแบบได้เหมือน (น. 99-100)

ผู้วิจัยพยายามหาข้อพิสูจน์เพิ่มเติมโดยการนำเอาตัวอย่างจากศิลาจารึกหลักที่ 1 และหลักที่ 45 มาตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์โพลาไรซ์อีกครั้ง พบว่าปริมาณแคลไซต์ในด้านที่เผชิญสภาวะแวดล้อมต่ำกว่าด้านที่ไม่เผชิญสภาวะแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด เพื่อการพิสูจน์จนถึงที่สุด ผู้วิจัยได้สกัดส่วนหนึ่งของตัวอักษรของศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ชำรุดมาแต่เดิมเพื่อตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ ผลปรากฏว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการแกะสลักตัวอักษรมีปริมาณแคลไซต์ลดลงมาใกล้เคียงกับผิวส่วนอื่นๆ แสดงว่าการแกะสลักตัวอักษรน่าจะกระทำในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับการสกัดก้อนหินออกมาเป็นแท่งแล้วขัดให้ผิวเรียบ มีใช่แกะสลักขึ้นใหม่ในระยะหลังๆ “การพิสูจน์ในขั้นนี้เป็นการตัดข้อสงสัยที่ว่า อาจมีผู้พบแท่งหินแท่งนี้ที่สุโขทัย แต่ไม่มีการจารึก แล้วนำมาจารึกขึ้นทีหลัง” (น. 101)

ผู้วิจัยให้ข้อสรุปว่า ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 จะทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยอมรับด้วยว่าการศึกษาด้วยแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้เป็นการยืนยันว่าศิลาจารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาจจะเป็นระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในสมัยสุโขทัยก็ได้ ทั้งนี้ ไม่มีการค้นพบศิลาจารึกหินทรายแป้งที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่จะสามารถนำมาเปรียบเทียบได้

ภายหลังการตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้ การถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ดูจะเริ่มซาลงไป จนกระทั่งการได้ขึ้นทะเบียนความทรงจำแห่งโลกขององค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2546 ทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้ง รวมถึงการตั้งข้อสงสัยการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ชัชวาล บุญปัน (2547, น. 35-39) อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิจารณ์ความหละหลวมในการสรุปผลการวิจัยของจิราภรณ์ และศรีโสภา (2534) และเสนอว่าการสรุปที่เคร่งครัดควรจะบอกว่า “ยังตอบไม่ได้ว่าสร้างในสมัยใด จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นๆ นอกจากสมัยสุโขทัยมาตรวจสอบเสียก่อน” ข้อสงสัยที่ชัชวาลตั้งไว้ คือ 1) การบอกความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน จะบอกช่วงห่างของระยะเวลาได้แค่ไหนจึงจะเห็นความแตกต่าง 2) การเสนอผลจากภาพถ่ายมีความลักลั่นในจุดที่ใช้กำลังขยายภาพไม่เท่ากัน และภาพที่ได้แสดงให้เห็นว่าหินจากศิลาจารึกแต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะของตนเองจนทำให้การเปรียบเทียบไม่ชัดเจน 3) ประวัติการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 45 คือการ “ขุดพบ” ที่เสาเบื้องขวาหน้าวิหารกลางในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2499 ฉะนั้น หลักที่ 45 นี้จมดินมานานเท่าใดไม่อาจทราบได้ ไม่ตรงกับสมมติฐานของผู้วิจัยที่ใช้ศิลาจารึกที่ผ่านสภาพแวดล้อมมาคล้ายกัน การที่ได้ผลแสดงออกมาว่ามีการเปลี่ยนแปลงของหินในลักษณะเดียวกันย่อมชี้ให้เห็นว่าการวิจัยมีปัญหา และ 4) การที่ยังไม่มีจารึกหินทรายแป้งจากสมัยอื่นๆ มาเปรียบเทียบย่อมทำให้การวิจัยนี้ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

ประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นประเด็นหลักที่ควรจะกล่าวถึงและนำข้อโต้แย้งมากล่าวเทียบ ยังมีข้อสงสัยอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้นำมาอภิปราย เช่น คติความเชื่อผิดโบราณแต่คล้ายสมัยใหม่ อาทิ ความเป็นเจ้าของที่ดินและการสืบทอดมรดก และการมีน้ำจิตน้ำใจแบบบุพกาล ทั้งๆ ที่สุโขทัยก่อตัวเป็นรัฐแล้ว (ไรท, 2549) เหล่านี้เป็นเนื้อหาในส่วนสภาพความเป็นจริงทางสังคมของสุโขทัยที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ตอนต้นว่ายังไม่ได้รวบรวมมาอยู่ในบทความชิ้นนี้ อันเป็นข้อจำกัดข้อหนึ่งของบทความ

ความคลุมเครือที่ดำเนินต่อไป

ในการอภิปรายเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่สมาคมโบราณคดีในปี พ.ศ. 2531 ดร. ประเสริฐได้วิจารณ์ระเบียบวิธีค้นคว้าของ ดร. พิริยะว่ามีความบกพร่อง โดยชี้ให้เห็นว่าถ้าศิลาจารึกหลักที่ 1 มีคำหรือข้อความใดตรงกับจารึกสุโขทัยหลักอื่น ดร. พิริยะก็สรุปว่าลอกมา แม้จะเป็นจารึกที่เพิ่งค้นพบใหม่ ถ้าข้อความไม่มีในจารึก ก็ไปดูจากเอกสารโบราณ แล้วถ้าเอกสารนั้นมีข้อความตรงกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็สรุปว่าคัดมาจากเอกสารโบราณเช่นกัน หรือหากเอกสารใดมีข้อความที่ไม่ตรงกับข้อสันนิษฐานของ ดร. พิริยะ ก็จะสรุปว่าเป็นการเขียนเติมขึ้นภายหลัง[6] และหากคำหรือข้อความในจารึกหลักที่ 1 มีในจารึกและเอกสารอื่น ก็สรุปว่าใช้ถ้อยคำไม่มีความหมายบ้าง เป็นสำนวนสมัยรัตนโกสินทร์บ้าง (ประมวลฯ, 2547, น. 87)

ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำวิจารณ์ที่มีเหตุผลอยู่มาก ดร. พิริยะใช้การอ้างเหตุผลแบบนี้ตลอดการวิเคราะห์ของตนจนทำให้ผู้เขียนสงสัยว่า เป็นไปไม่ได้เลยหรือที่การหยิบยืมคำและข้อความจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ย้อนทิศทางที่ ดร. พิริยะเสนอไว้ คือศิลาจารึกและเอกสารรุ่นหลังไปหยิบยืมคำและข้อความจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ใน “คำนำเสนอ” ของหนังสือ “จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม” ที่เขียนโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นว่าการจะพิสูจน์ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเคยอ่านศิลาจารึกหลักที่ 2 3 4 5 7 8 9 และ 45 มาแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่ออ่านแล้วยังต้องนำจารึกเหล่านี้ไปซ่อนด้วย ดังที่ ภูวดล สุวรรณดี (2542) เขียนในบทความสรุปข้อเสนอต่างๆ ของ ดร. พิริยะ และกล่าวว่า “เมื่อลอกแล้วก็เอาศิลาจารึกเหล่านี้ไปซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ หลักที่ 3 ไปไว้ที่กำแพงเพชร หลักที่ 5 ไว้ที่อยุธยา หลักที่ 2 ไปไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุม แต่ผู้แต่งจารึกหลักที่ 1 ก็ยังดีกว่ากษัตริย์พม่าที่ลอกแล้วทุบทิ้งเลย” (น. 110) ผู้เขียนรู้สึกติดใจกับข้อความนี้ เนื่องจากการอ่านพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในแง่งานทางด้านโบราณคดีทำให้คิดว่าพระองค์ท่านรักและให้ความสำคัญกับโบราณวัตถุ ไม่น่าที่จะเสี่ยงให้เกิดความเสียหายต่อวัตถุเหล่านี้ เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 5 ตอนที่ค้นพบก็มีรอยลับมีดจนทำให้อักษรลางเลือนไปแล้ว ส่วนศิลาจารึกหลักที่ 45 ก็เพิ่งมาค้นพบในปี พ.ศ. 2499 คือ 88 ปีหลังพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต

ในปัจจุบันดูเหมือนว่าไม่มีความพยายามที่จะทำการพิสูจน์เพิ่มเติมแล้วว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงจริงหรือไม่ จากการสำรวจของผู้เขียน ไม่พบบทความที่เป็นชิ้นเป็นอันที่นำเสนอความรู้ใหม่เกี่ยวกับศิลาจารึกหลักนี้ในช่วงทศวรรษ 2550 ประเด็นเรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของปลอมยังพอได้ยินบ้างในงานเสวนาทางวิชาการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยหรือประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของการพูดคุย[7] ผู้เขียนเห็นว่าการศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 ในแง่ความเป็นของจริงหรือของปลอมคงจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการค้นพบหลักฐานอย่างอื่นเพิ่มเติมที่จะมาสนับสนุนหรือค้านสิ่งที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจจะยากอยู่สักหน่อย แต่สิ่งที่อาจเป็นไปได้มากกว่าคือการพัฒนาเทคโนโลยีและวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาช่วยไขปัญหาได้ เช่น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นกับหินหลังถูกสกัดออกมาใช้หรือหลังถูกสลักซึ่งให้ข้อมูลเรื่องระยะเวลาที่ชัดเจนกว่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนคิดว่าการพยายามพิสูจน์ศิลาจารึกผ่านทฤษฎีทางสังคมศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบที่จะเกิดข้อยุติ[8] เพราะก็จะยังเป็นการตีความของใครของมันอยู่เช่นเดิมบนพื้นฐานของหลักฐานที่อาจจะไม่ใช่หลักฐานจริง



[1] ดร. พิริยะกล่าวเสริมไว้ว่าศิลาจารึกหลักที่ 5 ซึ่งค้นพบในปี พ.ศ. 2450 ที่วัดใหม่ชุมพร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรอยลับมีดทำให้ตัวอักษรลางเลือน ดังนั้น ผู้ที่แต่งศิลาจารึกหลักที่ 1 น่าจะได้เห็นจารึกนี้ตอนที่มีสภาพสมบูรณ์กว่านี้

[2] การอภิปรายในครั้งที่ 2 ที่ ดร. พิริยะร่วมให้ข้อมูลด้วยเป็นการอภิปรายเนื้อหาของใครของมันมากกว่าจะเป็นการตอบโต้ในแต่ละประเด็นกันโดยตรง ทั้งยังเป็นการอภิปรายที่เต็มไปด้วยอารมณ์จนถึงจุดที่ผู้อภิปรายบางท่านแสดงท่าทีว่าไม่อยากจะตอบโต้หรือหรือพูดจาให้เสียเวลา และมี ดร. พิริยะเพียงผู้เดียวในบรรดาผู้อภิปรายและแสดงความเห็นทั้งหมด 9 ท่าน ที่เป็นฝ่ายเห็นว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าหลายประเด็นยังขาดข้อมูลและการให้เหตุผลที่ดีพอเพื่อที่จะหักล้างกัน ทั้งนี้ ผู้เขียนยอมรับว่าได้อ่านข้อมูลของฝ่ายที่เห็นว่าศิลาจารึกหลักดังกล่าวเป็นของพ่อขุนรามคำแหงจริงน้อยกว่าอีกฝ่าย

[3] ผู้เขียนยอมรับว่าข้อมูลการวิเคราะห์ในทางภาษาศาสตร์ที่นำเสนอในบทความนี้ยังขาดความสมบูรณ์อยู่มาก

[4] ผู้เขียนไม่พบการตอบข้อโต้แย้งที่กล่าวถึงตัว ค และ ฅ

[5] คำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องการใช้วรรณยุกต์ในศิลาจารึกหลักที่ 1 สามารถอ่านได้ในหนังสือประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (2547) หน้า 107-108, 130-132, 178-180, 183 และ 187 แต่อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดนัก ควรที่จะหาหนังสือที่กล่าวถึงศิลาจารึกหลักที่ 1 ในทางภาษาศาสตร์มาอ่านโดยตรง

[6] ในบานแผนกของหนังสือจินดามณี ฉบับความแปลก และจินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีข้อความที่ระบุว่าพญาร่วงแต่งอักษรไทยในศักราช 645 (พ.ศ. 1826) ดร. พิริยะเชื่อว่าข้อความนี้ถูกเขียนแทรกขึ้นทีหลัง โดยอ้างว่าจินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศที่เป็นสมบัติของ Royal Asiatic Society ที่กรุงลอนดอน ได้รับการจัดหมวดหมู่ว่าเป็นเอกสารสมัย Early 19th Century หรือกลางพุทธศตวรรษที่ 24

[7] ผู้เขียนเคยฟังเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซึ่งมีพูดถึงเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 อาจจะไม่ใช่ของจริง

[8] ไรท (2549, น. 158-164) ใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์มาวิเคราะห์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่ามีแนวคิดแบบชนเผ่า แต่สุโขทัยมีความเป็นรัฐแล้ว ดังนั้น ศิลาจารึกหลักนี้จึงน่าจะเป็นของปลอม

 


บรรณานุกรม

กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2527). ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ฉบับผลการสัมมนา
พุทธศักราช 2523. กรุงเทพฯ.

กำพล จำปาพันธ์. (2546, กันยายน 19-25). ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย.
มติชนสุดสัปดาห์, 1205, น. 87-88.

คุณค่าของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง. (ม.ป.ป.) ใน มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นจาก
http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/srj5.htm

จิราภรณ์ อรัณยะนาค และ ศรีโสภา มาระเนตร์. (2534). การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์.
ศิลปากร 34(2), น. 87-103.

ชัชวาล บุญปัน. (กุมภาพันธ์ 2547). ข้อสงสัยการตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์.
ศิลปวัฒนธรรม 25(4), น. 35-39.

เซเดส์, ยอช. (2468). ตำนานอักษรไทย. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2531). ฉากแรกของไมเคิล วิคเคอรี. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), จารึกพ่อขุนรามคำแหงใครแต่งกันแน่? “ของจริง” หรือ “ของปลอม” (น. 62-67).

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2470). พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รวมครั้งที่ 6. พระนคร: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดให้พิมพ์.

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2479). พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ 5. พระนคร: พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานปลงศพ จีน อมาตยกุล.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2546). จารึกพ่อขุนฯ “แหวกประเพณี” เมื่อสระลอยลอยมาจมอยู่ใน “ศิลาจารึกหลักที่ 1”. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย (น.83-91) (ต้นฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. 2532). กรุงเทพฯ: มติชน.

ภูวดล สุวรรณดี. (มกราคม 2542). พิริยะ ไกรฤกษ์ จับ “พิรุธ” ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง. ศิลปวัฒนธรรม 20(3), น. 109-111.

ไรท, ไมเคิล. (2549). ไมเคิล ไรท มองโลก. กรุงเทพฯ: มติชน.

ไรท์, ไมเคิล. (2546). จารึกพ่อขุนรามคำแหงทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์จริงหรือไม่. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย (น. 95-100) (ต้นฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. 2530). กรุงเทพฯ: มติชน.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2546). คำไม่นำ. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย (น. (12)-(23)) (ต้นฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. 2531). กรุงเทพฯ: มติชน.

KerisMidia Kreatif. (2555, มิถุนายน 21). ปาฐกถา : คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ | PATANI in History 4/5 [วิดีโอ]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=JVIsRzztNJs

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: