อิตาลี 1920: ปฏิบัติการยึดโรงงาน

พัชนีย์ คำหนัก นักกิจกรรมด้านแรงงาน 22 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 4928 ครั้ง


หมายเหตุ: บทความนี้แปลจากหนังสือเรื่อง 'Occupy!: A Short History of Workers' Occupations' เขียนโดย Dave Sherry

โซเวียตเป็นคำภาษารัสเซียแปลว่า “สภา” (council) สภาโซเวียตครั้งแรกจัดตั้งขึ้นที่เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กช่วงระหว่างการปฏิวัติปี 1905 (พ.ศ.2448) เป็นสภาของตัวแทนคนงานในโรงงาน กรรมการชุดแรกเป็นคนงานโรงพิมพ์ ได้พัฒนาโครงสร้างสภาที่เป็นตัวแทนของคนงานโรงงานทุกแห่งของเมืองดังกล่าว และไปไกลกว่าสหภาพแรงงาน

แต่การปฏิวัติในปี 1905 แพ้ยับเยิน ทว่าสภาคนงานก็รวมตัวกันอีกครั้งในระดับใหญ่ในช่วงของการปฏิวัติกุมภาพันธ์ 1917 เพื่อโค่นระบอบกษัตริย์ซาร์ (Tsarism) ในครั้งนี้สภาประกอบด้วยทหารนับล้านคนที่ออกมาต่อต้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของรัสเซีย และยังมีชาวนาที่ต่อสู้กับเจ้าที่ดิน

สภาคนงานนี้ได้สร้างกองกำลังคนงาน เรียกว่า กองทัพแดง หรือ The Red Guard รัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาแทนที่ระบอบซาร์ต้องการจะร่วมรบในสงครามและสร้างระบบทุนนิยม แต่จะต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลของคนงานที่กำลังเติบโต เข้มแข็งและเป็นที่นิยม (สภาคนงาน) มันเป็นสถานการณ์ของกลุ่มพลังสองขั้ว คือ ชนชั้นนายทุนรัสเซียที่จะโจมตีสภาคนงาน กับสภาคนงานที่จะยึดอำนาจ คนงานสามารถเอาชนะกลุ่มพลังที่ต้านการปฏิวัติของพวกเขา ด้วยการนำของพรรคบอลเชวิกโค่นรัฐบาลชั่วคราวที่มาแทนระบอบซาร์ได้ในเดือน ต.ค.1917

ชนชั้นแรงงานรัสเซียกลายเป็นชนชั้นแรกในประวัติศาสตร์ที่ยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจเกิน 2-3 สัปดาห์ พวกเขายึดโรงงาน ที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ธนาคาร หน่วยงานรัฐ ส่วนชาวนายึดที่ดินที่พวกเขาทำงานมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และไล่เจ้าที่ดินออกไปได้

การปฏิวัติเดือนตุลาคมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว มันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสคลื่นชนชั้นแรงงานที่เขย่าภูมิภาคยุโรป ในเยอรมนี สภาของทหาร คนงาน โค่นจักรพรรดิไคเซอร์ได้ในเดือน พ.ย. 1918 (พ.ศ. 2461) ยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งยังมีการปฏิวัติที่ออสเตรีย ฮังการี โค่นชนชั้นปกครองราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Hapsburgs) สภาคนงานพื้นฐานแห่งชาติและขบวนการแรงงานนำประเทศสหราชอาณาจักรสู่การปฏิวัติปี 1919

การปฏิวัติรัสเซียได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นโดยชนชั้นแรงงานที่เหนื่อยล้าจากสงครามในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานอิตาลี ในช่วงปี 1919-20 (พ.ศ. 2462-63) เป็นที่รู้จักกันในนาม Biennio Rosso หรือปีแดง (2 red years) ในเดือนก.ย.1920 คลื่นการนัดหยุดงานเกิดขึ้นทั่วอิตาลี คนงานกว่าครึ่งล้านคนร่วมปฏิบัติการนี้ และตั้งสภาเพื่อบริหารโรงงานและมุ่งสู่การยึดอำนาจทางการเมือง ส่วนรัฐอิตาลีดูท่าจะถึงจุดล้มเหลว

นักสังคมนิยมชาวอิตาลีชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ ผู้เข้าร่วมคนสำคัญในขบวนการสภาโรงงานแห่งเมืองตูริน (Turin Factory Council Movement) สภาที่จัดตั้งโดยคนงาน ไม่ว่าจะมีสหภาพแรงงานหรือไม่ กรัมชี่เชื่อมโยงตัวอย่างพลังของชนชั้นแรงงานที่เกิดขึ้นในรัสเซียกับประสบการณ์ของคนงานในประเทศอื่น “กล่าวได้ว่า ช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติ เพราะเห็นได้ว่า ชนชั้นแรงงานในทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะก่อตัวภายในชนชั้นตัวเอง เป็นสถาบันของคนงานไร้ปัจจัยการผลิตรูปแบบใหม่ ในพื้นที่การเมืองและอุตสาหกรรม และเราก็กล่าวได้ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการปฏิวัติเพราะคนงานทุ่มเทพลังทั้งหมดจัดตั้งรัฐของตัวเองได้”

 

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักสังคมนิยมชาวอิตาเลี่ยน

สำหรับกรัมซี่ โซเวียตไม่ใช่สถาบันปลอมๆ ที่นำเข้ามาจากข้างนอกหรือจัดตั้งจากข้างบน สภาโซเวียตมาจากการต่อสู้ของคนงานเองในกระบวนการผลิต “คือผลผลิตของสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงๆ และเป็นความสำเร็จของคนงานเอง” เขามองว่า สภาคนงานตูรินในฐานะสถาบันของชนชั้นแรงงานสามารถกลายเป็นสะพานเชื่อมสู่สังคมนิยมในอนาคตได้

สงครามคือ มหันตภัยของอิตาลี ชาวนาที่ถูกเกณฑ์ไปสู้ในสนามรบ ถูกสังหารไปจำนวน 600,000 คน บาดเจ็บพิการกว่า 700,000 คน ในเดือน ต.ค.1917 กองทัพอิตาลีเดินทัพสู่แนวหน้าคาโปเร็ตโต (Caporetto) และพื้นที่รอบเวนิซก็ถูกยึด

การผลิตเพื่อสงครามหมายถึงการขูดรีดคนงานขั้นสูงสุด เมืองทางตอนเหนือของอิตาลีเช่น ตูริน จีนัว มิลาน ได้สร้างพื้นที่สามเหลี่ยมอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตที่กำลังแรงงานเข้าไปทำงาน และมีจำนวนคนงานหญิงจำนวนมาก โรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตรถเฟียตและฟิเรลลี่ ครอบงำเศรษฐกิจของอิตาลี ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 มีคนงานครึ่งล้านคนมาทำงานด้านวิศวกรรม กำลังแรงงานของเฟียตเพิ่มขึ้นจาก 7,000 เป็น 30,000 คน อุตสาหกรรมทำกำไรได้มหาศาล และก่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจสงคราม กฎระเบียบของงานเพิ่มขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้นทำให้เกิดการต่อต้านและการจลาจล อุตสาหกรรมหลักในอิตาลี คือ เหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดแรงงานทักษะฝีมือด้านนี้ และได้กลายเป็นกลุ่มคนงานต่อสู้ที่เข้มแข็งก้าวหน้า จากการมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ใช้เครื่องจักรและเร่งงาน

ตูรินกับสภาโรงงาน

คนงานภาควิศวกรรมในตูรินกลายเป็นเสียงคัดค้านต่อต้านการผลิตเพื่อสงคราม ในเดือน ส.ค. 1917 คนงานหญิงก่อจลาจลเพราะอาหารขาดแคลน พวกเธอต้องต่อคิวซื้ออาหารหลายชั่วโมงเพื่อกลับไปทำงาน 12 ชั่วโมง รัฐปราบปรามการจลาจลผู้เดินขบวนหลายร้อยคนและจับกุมอีก 800 คน จากนั้นการจลาจลปรับเปลี่ยนเป็นการประท้วงหยุดงานเมื่อเชื่อมโยงกับคนงานอุตสาหกรรม

ภายใต้อิทธิพลของกรัมชี่กับการนำเรื่องราวปฏิวัติแห่งอื่นมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของเขาคือ “ระเบียบใหม่” (L’Ordine Nuevo) คนงานตูรินได้พัฒนาการจัดตั้งคนงานพื้นฐานด้วยระบบคณะกรรมการภายในหรือกรรมการคนงาน shop-steward

หนังสือพิมพ์ระเบียบใหม่ยกระดับขบวนการให้ไปไกลกว่าลัทธิสหภาพแรงงาน เครือข่ายสภาโรงงานขยายตัว มีการนัดหยุดงาน 2 วันเพื่อสมานฉันท์กับโซเวียตรัสเซีย ในเดือน ก.พ. 1919 คนงานโรงหล็กของอิตาลีสามารถเรียกร้องวันทำงาน 8 ช.ม. ได้และในเดือน พ.ย. สหภาพแรงงานเหล็กยอมรับหลักการของสภาโรงงาน ในชนบทตอนใต้อดีตทหารที่กลับมาจากสงครามนำชาวนายึดที่ดินและนัดหยุดงานในภาคเกษตรทั่วเทือกเขาโป แคว้นเวเนโต้ อุมเบรีย และทัสกานี

ขบวนการสหภาพแรงงานและพรรคสังคมนิยมแห่งอิตาลี (PSI) ยังอยู่ในช่วงจัดตั้งเริ่มต้น สมาพันธ์แรงงานทั่วไป (General Confederation of Labor-CGL) เติบโตอย่างน่าประทับใจมาก หลังสงครามโลกยุติ มีสมาชิกจำนวน 250,000 คน และใน 2 ปีต่อมามีสมาชิกเพิ่มถึง 2 ล้านคน รวมถึงพรรคสังคมนิยมฯ ก็มีสมาชิกเพิ่มถึง 10 เท่าภายใน 2 ปีจาก 23,000 คนในปี 1918 เป็น 220,000 คนในปี 1920 ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 1919 ได้รับคะแนนโหวต 2 ล้านเสียง ได้ที่นั่ง 156 ที่นั่งและเข้าควบคุมสภาท้องถิ่นจำนวน 2,800 แห่ง

สองเดือนก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคสังคมนิยมฯ เป็นสมาชิกของคอมมิวนิสต์สากล ผู้นำใช้ภาษาปฏิวัติ แต่ทร็อตสกี้ นักปฏิวัติคนสำคัญของรัสเซียหมายเหตุถึงช่องว่างระหว่างคำพูดกับการกระทำไว้ว่า

“ทุกอย่างที่เขียนในหนังสือพิมพ์ Avanti (น.ส.พ.สังคมนิยม) และทุกสิ่งที่ออกจากปากโฆษกของพรรคสังคมนิยมถูกแปรเป็นการเรียกร้องการปฏิวัติของคนงาน....แต่พรรคสังคมนิยมมีนโยบายการปฏิวัติแต่วาจาโดยไม่คำนึงผลที่ตามมา”

และผลที่ตามมาในเดือน เม.ย. 1920 คือ เมื่อคนงานครึ่งล้านคนนัดหยุดงานเพื่อปกป้องสภาโรงงาน การนัดหยุดงานกระจายไปทั่วแคว้นปีเอมอนต์ รัฐสนับสนุนนายจ้าง กับการจลาจลที่น่ากลัว ได้เปลี่ยนตูรินให้เป็นป้อมปราการกองทัพ ส่งทหารกองรักษาการณ์ 50,000 นายเข้าไปในเมืองและรถหุ้มเกราะตระเวนไปทั่วถนน

หลังจากกองทัพเผชิญหน้ากับคนงานนับเดือน คนงานตูรินพ่ายแพ้อย่างกว้างขวางเพราะพรรคสังคมนิยมและผู้นำสมาพันธ์แรงงาน CGL ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือการนัดหยุดงาน แม้ว่าเมืองตูรินเป็นสาขาหนึ่งของพรรค กำลังมีบทบาทนำในขบวนการสภาแรงงาน ผู้นำพรรคสังคมนิยมที่อยู่นอกสาขาเมืองตูรินไม่เอาด้วย กรัมชี่และผู้นำสภาโรงงานถูกผู้นำพรรคฯ ของเขาเองโจมตีว่าเป็น “นักผจญภัย” (adventurers) (ชอบทำเรื่องเสี่ยงๆ-ผู้แปล)

แต่กรัมชี่ได้ตักเตือนความนิ่งเฉยของผู้นำพรรคว่า ขั้นตอนปัจจุบันของการต่อสู้ทางชนชั้นในอิตาลีเป็นขั้นตอนที่จะไปสู่ชัยชนะในอำนาจทางการเมืองด้วยการปฏิวัติและเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถีการผลิตและการกระจายผลผลิตรูปแบบใหม่ .....หรือไม่ก็เป็นการก่อปฏิกิริยาที่ใหญ่โตของชนชั้นผู้มีทรัพย์สินและชนชาติปกครอง สิ่งที่จะสำรองไว้ให้อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม คือแรงงานทาส....พรรคสังคมนิยมมองดูเหตุการณ์เหมือนคนดู ไม่มีความเห็นที่จะแสดงออกมาเลย

การต่อสู้ที่สำคัญมาถึงแล้วในเดือน ก.ย. 1920 เป็นเวลาหลายเดือนที่คนงานเหล็กเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างเพื่อให้ตามอัตราเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้น การเจรจาต่อรองในเดือนส.ค.ล้มเหลวเพราะนายจ้างปฏิเสธ การไล่คนงานออกเป็นจำนวนมากกับการปิดโรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2,000 คนที่อัลฟา โรมิโอในเมืองมิลานเมื่อวันที่ 31 ส.ค. กระตุ้นให้เกิดการยึดโรงงานทันทีจำนวน 300 แห่งในเมืองมิลาน ในวันที่ 1 ก.ย. คนงานตูรินเข้าร่วมขบวนการอย่างรวดเร็วและการปฏิวัติกลายเป็นสิ่งที่คนงานพัฒนาขึ้นที่นั่น ปฏิบัติการยึดประกอบด้วยพลังสองฝ่าย คือ คนงานติดอาวุธปกป้องโรงงานและคนงานที่เลือกตั้งในสภา ซึ่งเริ่มแสดงออกเหมือนสภาโซเวียต

กวิน วิลเลี่ยม อธิบายในหนังสือของเขาชื่อ “ระเบียบกรรมกร” ปี 1975 (พ.ศ. 2518) ว่า ขบวนการพัฒนาได้อย่างไร

“ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย. คนงานโรงเหล็กยึดโรงงานทั่วคาบสมุทรอิตาลี การยึดเคลื่อนเป็นลูกคลื่นไม่เพียงแต่ในเขตอุตสาหกรรมของมิลาน ตูริน จีนัว เท่านั้น ยังเกิดขึ้นที่กรุงโรม ฟลอเรนซ์ เนเปิล และปาเลอร์โม ธงดำและธงแดงสะบัดพร้อมกับเสียงประโคมแตรของวงดนตรีคนงาน ภายใน 3 วันมีคนงานร่วมยึดโรงงานจำนวน 400,000 คน เมื่อขบวนการขยายไปยังภาคส่วนอื่น จำนวนคนงานเข้าร่วมแล้วกว่าครึ่งล้านคน”

ภายในหนึ่งสัปดาห์ มีคนงานยึดโรงงานอยู่ราว 600,000 คน ไม่ใช่เพียงการยึดเพื่อขึ้นค่าจ้างเท่านั้น แต่เป็นการท้าทายรัฐอิตาลีโดยตรง การผลิตในโรงงานเริ่มต้นอีกครั้งภายใต้การควบคุมของสภาคนงาน ขบวนการสภาคนงานตูรินฟื้นคืนและกรัมชี่ก็ยินดีอย่างมาก เพราะ “หนึ่งวันมีค่านับสิบปีของกิจกรรมปกติ”

การควบคุมของคนงานถูกฝังภายใต้เศษหินแห่งความพ่ายแพ้ในตูรินในเดือน เม.ย. ณ บัดนี้มันมีชีวิตอีกครั้งและทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เหมือนดั่งที่กรัมชี่เขียนไว้ใน นสพ. Avanti ก.ย. 1920 ว่า

เมื่อคนงานต่อสู้เพื่อปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจของพวกเขาด้วยการนัดหยุดงาน ภาระหน้าที่ของคนงานในการต่อสู้ถูกจำกัดเหลือเพียงความศรัทธาในตัวผู้นำที่อยู่ห่างไกล เป็นแค่การสร้างความสมานฉันท์และการต่อต้านบนฐานของความศรัทธาต่อผู้นำนั้น แต่ถ้าคนงานยึดโรงงานและทำการผลิตเอง จุดยืนทางศีลธรรมของมวลชนจะยึดรูปแบบและคุณค่าที่แตกต่างไปทันที ข้าราชการสหภาพแรงงงานก็ไม่สามารถนำต่อไปได้ และจะถดถอยลง มวลชนต้องแก้ปัญหาโรงงานของพวกเขาเอง ด้วยวิธีการและคนของพวกเขา

กระบวนการยึดโรงงานได้ขยายจากคนงานวิศวกรรมไปสู่อุตสาหกรรมขนสัตว์ ผ้าฝ้าย ถุงเท้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ ฟอกหนัง เหมืองถ่านหิน โรงงานต้มสุรา โรงกลั่นสุรา ยางรถยนต์ คลังสินค้า เป็นต้น ท่าเรือถูกปิดและเรือถูกยึดทั่วประเทศ ไม่ว่าคนงานจะมีสหภาพหรือไม่ สภาโรงงานก่อตั้งขึ้นและคณะกรรมการกรรมกรได้รับการแต่งตั้ง ให้ดูแลการขนส่งจำหน่ายอาหารและวัตถุดิบ คนงานได้จัดตั้งกองทัพแดงเพื่อปกป้องการยึดโรงงานจากการโจมตีของรัฐ และกุมพื้นที่ของชนชั้นแรงงานไว้ รัฐบาลไม่ได้คุกคามคนงานทั้งที่เจ้าของโรงงานร้องขอ

หนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด คือ Il Corriere dela Serra แห่งมิลาน รายงานว่า เมื่อเย็นวาน โรงงานได้สร้างปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ มันเต็มไปด้วยฝูงชนผู้หญิงและเด็ก เข้ามาทานอาหารเย็นกับคนงานที่นัดหยุดงาน ตรงทางเข้ากวดขันอย่างเข้มงวดโดยกลุ่มคนงาน ไม่มีแม้แต่ผีของข้าราชการหรือตำรวจ เพราะคนงานควบคุมสถานการณ์ได้หมดแล้ว ใครก็ตามที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถหรือแท็กซี่ก็จะต้องถูกตรวจสอบราวกับว่ากำลังข้ามเขตแดน การควบคุมกวดขันนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพแดง พัฒนาการหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดคือปฏิบัติการของคนงานรถไฟ พวกเขาปรับตู้สินค้าเป็นโรงงาน จัดหาเชื้อเพลิงอาหาร วัตถุดิบและเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การยึดกุม เพื่อให้คนงานดำเนินการผลิตได้ คนงานรถไฟปฏิเสธที่จะขนส่งทหารราบที่กำลังเคลื่อนพลไปสู้กับคนงาน กรัมชี่อธิบายว่า ขบวนการนี้จะต้องไปไกล และต้องยึดใจกลางแห่งอำนาจ ได้แก่ ช่องทางการสื่อสาร ธนาคาร กองกำลังและรัฐ เขากำลังพูดถึงการควบคุมสถานที่ทำงานและประชาธิปไตยของโซเวียต สามารถทำได้ด้วยการปฏิวัติต่อต้านอำนาจรัฐ ณ ขณะนั้น การย้ำถึงการสร้างสภาโรงงานมาจากความเชื่อมั่นว่า มีเพียงสถาบันใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันแบบรัฐสภานี้ ที่สามารถช่วยชนชั้นแรงงานเปลี่ยนสังคมได้ อิทธิพลของเขาในตูรินเข้มแข็ง แต่ที่อื่นสภาโรงงานอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคสังคมนิยม และผู้นำข้าราชการสหภาพแรงงาน พวกเขาเห็นว่าการยึดโรงงานเป็นเครื่องมือ บังคับรัฐบาลให้ต่อรองกับนายจ้าง และเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างให้กลับสู่ภาวะปกติเท่านั้น

นายจ้างต้องการกองทัพ ที่จะส่งมาเคลียร์โรงงานแต่นายกรัฐมนตรีโจลิตติ (Giolitti) ไม่ต้องการจะโจมตีคนงานเพราะเกรงว่าจะมีความเสี่ยง ในหนังสือการยึดโรงงานของเปาโล สเปรียโน ปี 1975 มีบทสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีโจลิตติและแอ็คเนลลี่ (Agnelli) เจ้าของโรงงานเฟียต ดังนี้

โจลิตติ: เวลาเท่านั้นที่จะช่วยแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีนโยบายอื่นนอกเหนือการใช้กำลัง แอ็คเนลลี่: ใช่เลย โจลิตติ: บางทีอาจจะ แต่จะต้องปล่อยเราให้เข้าใจกันก่อน ผมจะไม่อนุญาตให้กองกำลังอยู่บนท้องถนน โดยไม่มีที่พึ่ง ถ้าเรดการ์ดยิงมาก่อนจากข้างบน สิ่งที่จะทำให้คนงานออกมาจากโรงงานได้นั้นเราจำเป็นต้องใช้ปืนใหญ่ แอ็คเนลลี่: เห็นด้วย โจลิตติ: งั้นเราจะจัดการตรงนี้โดยทันที ที่ตูรินมีกองกำลังปืนใหญีที่ 7 ผมจะสั่งทันทีพรุ่งนี้เช้า เฟียตจะถูกถล่ม และได้รับการปลดปล่อยจากการยึดคนงาน แอ็คเนลลี่: ไม่ ไม่ โจลิตติ: แล้วยังไงอ่ะ แอ็คเนลลี่: (ไม่ตอบ)

จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ได้บอกกับผู้บริหารเมืองมิลานว่าจำเป็นที่จะต้องให้นายทุนอุตสาหกรรมเข้าใจว่า จะไม่มีการใช้กองกำลังหรือกระตุ้นการปฏิวัติ การใช้กำลังทหารอย่างน้อยที่สุดจะทำลายโรงงาน ผมยังเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

นายกรัฐมนตรีไว้วางใจสหภาพแรงงานและพรรคสังคมนิยม ที่ต้องการจะประนีประนอมกับคนงานอยู่แล้ว แม้ว่าเขาจะทำให้นายจ้างโกรธจัด แต่เป็นการเปิดทางให้พรรคสังคมนิยมอิตาลีและสมาพันธ์แรงงาน CGL ยุติข้อพิพาทนี้เอง

การจัดการข้อพิพาทเต็มไปด้วยความตื่นตระหนก พรรคสังคมนิยมและผู้นำสหพันธ์แรงงาน CGL พบปะกันในเมืองมิลานในวันที่ 10 ก.ย. การที่เคยถูกทอดทิ้งในเดือนเมษายน ตูรินก็ปฏิเสธที่จะเสี่ยงการนำการจลาจลอีกครั้ง สมาพันธ์แรงงาน CGL จึงเสนอที่จะเป็นผู้นำของขบวนการนี้แทนพรรคสังคมนิยม ถ้าหากต้องการที่จะสู้เพื่อการเมืองมากกว่าข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิเสธคำคุยโตปฏิวัติ แทนที่พวกเขาจะเรียกร้องให้มีการลงประชามติต่อเรื่องการปฏิวัติจากสมาชิก CGL ทั้งหมด แม้แต่ผู้สนับสนุนพรรคก็สับสนงุนงงว่า การปฏิวัติไม่ได้มาจากการขอให้สมาพันธ์แรงงานตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่

การตัดสินใจเรื่องนี้ในการประชุมสมาชิก CGL ไม่ได้มาจากตัวแทนของสภาโรงงานแต่มาจากสาขาสหภาพแรงงานต่าง ๆ ทำให้เกิดการกีดกันคนงานพื้นฐานที่สู้มากที่สุด ตัวแทนสมาชิกที่มาจากสหภาพแรงงานทั้งหมดราว 5901,245 คนโหวตไม่เอาการปฏิวัติ ในขณะที่ตัวแทนที่เป็นคนงานจำนวน  409,569 คนต้องการการปฏิวัติ ในสภาวะที่ขาดความเป็นผู้นำและมีการกีดกันคนงานที่สู้มากที่สุด (militant) ก็ทำให้เห็นคะแนนเสียงข้างน้อยที่น่าประทับใจ

การรักษาหน้า แองเจโล่ ทัสคา หนึ่งในผู้นำตูริน วิพากษ์วิจารณ์พรรคสังคมนิยม ว่าคณะกรรมการพรรคสังคมนิยมเสียเวลานานหลายเดือนกับการสั่งสอนเรื่องปฏิวัติ ซึ่งดูแล้วไม่มีอะไร ไม่ได้เตรียมอะไร เมื่อการลงคะแนนที่เมืองมิลาน ผลคะแนนส่วนใหญ่โหวตให้แก่ข้อเสนอของ CGL ผู้นำพรรคดูโล่งอก การพ้นความรับผิดชอบทั้งหมดที่พวกเขาสามารถตำหนิการทรยศของสมาพันธ์ฯ CGL ได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะละทิ้งช่วงเวลาที่สำคัญนี้ และยินดีกับข้อยุติที่ทำให้เขารู้สึกไม่เสียหน้า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายกรัฐมนตรีโจลิตติได้เรียกประชุมนายจ้างและผู้นำแรงงาน บังคับให้มีการตกลงเรื่องการขึ้นค่าจ้าง และสัญญาเกี่ยวกับการบริหารโรงงาน ผู้นำสหภาพแรงงานเห็นด้วยที่จะทำข้อตกลงในสัปดาห์ถัดมา ด้วยเพราะไม่มีข้อเสนอทางเลือกอื่น คนงานยอมรับข้อตกลง นั่นคือ ก่อนสิ้นเดือนกันยายนโรงงานทั้งหมดจะถูกคืนให้นายจ้าง เวลาแห่งการปฏิวัติไม่มีอีกแล้ว ผู้นำบางคนเรียกว่านี่เป็นชัยชนะ แต่คนงานนับแสนที่เชื่อมั่นในการปฏิวัติ จะต้องกลับไปทำงานและเสียกำลังใจ

ทางด้านของนายจ้างมีการผ่อนปรน เจ้าของโรงงานแอ็คเนลลีกลัวมากที่ได้เสนอให้เปลี่ยนบริษัทของเขาเป็นสหกรณ์ของคนงาน แต่ความกลัวของนายจ้างผ่านพ้นไปได้ เพราะการว่างงานสูงขึ้นและคนงานถดถอย ความโกรธแค้นกับแนวทางเสรีนิยมของนายกรัฐมนตรี นายจ้างจึงได้เปลี่ยนไปใช้อุดมการณ์ฟาสซิสต์แก้แค้นคนงานที่ทำลายเกียรติเขา

ในบทนำของหนังสือ การยึดโรงงานของเปาโล สเปรียโน อธิบายอารมณ์ความรู้สึกของการต่อสู้ของคนงานว่า

ใน นสพ. Socialist Almanac ปี 1921 มีรูปภาพที่หายากๆ ที่นักสะสมรวบรวม เรียกว่า “เป็นภาพช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการต่อสู้ระหว่างทุนกับแรงงานในอิตาลี การยึดโรงงานในเดือนกันยายนปี 1920... สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่พิเศษ และรูปภาพต่างๆ เหล่านี้ทำให้เรารับรู้ได้ทันทีถึงการต่อสู้นั้น คนงานนับแสนทั้งที่ติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ ทำงาน หลับ เฝ้ายามในโรงงาน คิดว่าวันเวลาที่แสนพิเศษที่พวกเขาอยู่นั้นคือการทำการปฏิวัติ”

เป็นเวลานับหนึ่งเดือนที่คนงานยึดโรงงานและทำการผลิตโดยไม่มีค่าจ้าง เป็นผลสำเร็จที่ไม่น่าเชื่อ การยึดโรงงานแพร่หลาย จนกระทั่งผู้นำสหภาพแรงงาน CGL เข้ามายับยั้ง ถ้าขบวนการสภาโรงงานสามารถแพร่หลายไปยังนอกเมืองตูริน ผลที่ออกมาคงแตกต่างจากนี้เป็นแน่

คนงานที่ต้องการขยายการต่อสู้และไปสู่การจลาจล ไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับใคร และไม่ได้เชื่อมโยงกับชาวนา อดีตนายทหารแรงงานไร้ที่ดินที่ต่อสู้ในทางใต้ ในเวลานั้น กรัมชี่เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องแตกหักกับผู้นำพรรคสังคมนิยมแนวปฏิรูป และสร้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิตาลีขึ้นมา

ย้อนกลับไปปี 1924 กรัมชี่ได้เขียนไว้ว่า ระหว่างปี 1919-1920 เราได้ทำสิ่งผิดพลาดร้ายแรงซึ่งเราชดใช้ไปเต็ม ๆ จากการที่เรากลัวถูกเรียกว่า ทำเป็นอาชีพ (careerist) เราไม่ได้ตั้งกลุ่มก้อนแยกออกมาและจัดตั้งไปทั่วอิตาลี เราไม่ได้ทำให้สภาโรงงานตูรินเป็นศูนย์กลางที่อิสระสร้างอิทธิพลทั่วไป ความกลัวที่จะแตกแยกจากสหภาพแรงงานและกลัวถูกขับไล่ออกจากพรรคสังคมนิยมอย่างถาวร (ความกลัวนี้คือความผิดพลาด –ผู้แปล)

ปัจฉิมลิขิต: อิตาลีปี 1945 (พ.ศ.2488)

นายทุนอุตสาหกรรมที่สนับสนุนเงินทุนให้แก่เบเนติ มุสโสลินี ขึ้นสู่อำนาจในปี 1922 ดีใจกับระบอบของมุสโสลินีจนกระทั่งกองทัพอิตาลีพ่ายแพ้สงครามในปี 1943 (พ.ศ. 2486) การต่อต้านของฝูงชนแรก ๆ เริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นด้วยคลื่นนัดหยุดงานของคนงานกว่า 100,000 คน ที่เมืองตูริน การนัดหยุดงานแพร่กระจายทางตอนเหนือของประเทศ มวลชนพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นก่อน (สมัยปีแดง) เป็นแนวหน้าต่อต้านมุสโสลินี มุสโสลินีบอกลิ่วล้อว่าการนัดหยุดงานทำให้ขบวนการของเขาถอยหลังถึง 20 ปี

เมื่อตอนที่กองทัพทหารราบของฝ่ายสัมพันธมิตรเดินทัพมายังแคว้นซิชิลี ชนชั้นปกครองอิตาลีพร้อมใจจะกำจัดมุสโสลินีเพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นไว้ เมื่อพวกเขาให้นายพลบาโดลโย (Marshall Badoglio) เข้ามาแทนที่มุสโสลินี ในเดือน ก.ค.1943 ประชาชนในกรุงโรมออกมาเฉลิมฉลองอย่างล้นหลามถึงการสิ้นสุดของลัทธิฟาสซิสต์ แต่การฉลองเร็วเกินไป กองทัพนาซีเข้าช่วยเหลือมุสโสลินีและเดินทัพเข้ามาบุกยึดตอนเหนือของอิตาลีได้ และตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในฟลอเรนซ์ สิ่งนี้ที่กระตุ้นให้เกิดขบวนการต่อต้านกองทัพนาซี

มายาคติหนึ่งเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ช่วยปลดแอกยุโรป แต่ในอิตาลีชาวนาตรึงกองทัพเยอรมันทางตอนเหนือไว้ ชาวนาช่วยปลดปล่อยเมืองเนเปิล ฟลอเรนซ์ และมิลาน ชาวอิตาเลียน 700,000 คนมีส่วนร่วมในการต่อต้าน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิตาลีที่ผู้หญิงจำนวนมหาศาลออกจากบ้านเข้าร่วมในขบวนการทางการเมือง

มีมวลชนนัดหยุดงานในเมืองจีนัว เดือน ม.ค. ปี 1944 หลังจากตำรวจลับนาซี (Gestapo) ได้ยิงคนงานที่ถูกคุมขัง ตามมาด้วยการนัดหยุดงานอีก 300,000 คนในเมืองมิลาน ที่แพร่ไปยังเมืองโบโรญญาและฟรอเรนซ์ นำโดยคนงานหญิงค่าจ้างต่ำ

การต่อต้านของมวลชนได้ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในฟลอเรนซ์จากพวกเยอรมัน และควบคุมโรงงานต่าง ๆ ก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะเข้ามาถึง ในปลายเดือน เม.ย.1945 คนงานยึดตูรินและมิลานได้ สภาของคนงานได้ถูกจัดตั้งขึ้้นเพื่อบริหารโรงงาน มีหลักฐานประจักษ์มากมายที่แสดงถึงพลังของคนงาน แต่ไม่ใช่พวกเขาที่ตัดสินอนาคตของประเทศ เพราะคือผู้นำประเทศ อย่างรูสเวลท์, สตาลิน และเชอร์ชิล ที่ได้แบ่งยุโรปออกเป็นเขตอิทธิพลให้เข้ากับผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

สตาลินจะไม่ปล่อยให้พวกคอมมิวนิสต์ยึดโรงงานและนำการปฏิวัติในตะวันตก เพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกที่เขาปกครองในปี 1944 ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีชื่อ โตลยาติ (Togliatti) กลับจากกรุงมอสโควเพื่อประกาศว่า พรรคจะเข้าร่วมรัฐบาลบาโดลโย และจะปล่อยให้สถาบันกษัตริย์คงไว้จนกว่าสงครามจะยุติ.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: