สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 16 - 22 พ.ค. 2559

22 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2290 ครั้ง


	สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 16 - 22 พ.ค. 2559

สิงคโปร์

สิงคโปร์ใช้กม.ความมั่นคงสั่งขังผู้ต้องหาทันที 2 ปี-ไม่ส่งศาล / Muhammad Shamin อายุ 29 ปีและ Muhammad Harith Jailani อายุ 18 ปี ชาวสิงคโปร์สองคนที่ถูกจับกุมระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2015 ด้วยข้อหาวางแผนเข้าร่วมขบวนการ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) ภายใต้พรบ. Internal Security Act (ISA) ที่ให้อำนาจในการคุมขังเพื่อความปลอดภัยและเอื้อการคุมขังเป็นเวลาสองปีโดยไม่ต้องพิจารณาคดี การจับกุมแบบเบ็ดเสร็จทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นผู้ถูกจับกุมอาจไม่ได้ก่อความผิดจริงตามประมวลฏหมายอาญาปกติ อย่างไรก็ตามนักเคลื่อนไหวหลายท่านมองว่าการคุมขังระยะสองปีด้วยพรบ. ISA เป็นการปฏิเสธสิทธิของผู้ต้องหาในการพิจารณาคดีตามกฏหมาย โดยหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11ในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์มีการจับกุมด้วย ISA 74 ครั้ง และผู้ถูกจับกุมเปลี่ยนจากนักโทษทางการเมืองมาเป็นผู้ชายชาวมุสลิมทั้งหมด ด้าน Peter Low ทนายความและที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาตามพรบ. ISA ในช่วงปี 1980 เผยว่า ISA เป็นตัวบทกฏหมายที่น่าขยะแขยงและล้าหลังมาก นอกจากจะขัดแย้งต่อหลักกฏหมายพื้นฐานและหลักธรรมาภิบาลแล้ว กฏหมายนี้ยังคุกคามเสรีภาพส่วนบุคคลที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ลิงค์ข่าว

พม่า

ดอว์ซูจีเร่งจัดประชุม "ปางโหลงศตวรรษที่ 21" / นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่าเป็นประธานการประชุมว่าด้วยการตั้ง "ศูนย์ปรองดองและสันติภาพแห่งชาติ" ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ และการประชุมครั้งที่สองว่าด้วยการจัดประชุม "ปางโหลง ศตวรรษที่ 21" โดยนางอองซานซูจีเร่งให้เตรียมจัด "ประชุมปางโหลง" แห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มติดอาวุธทั้งหมดในพม่า อย่างไรก็ตาม "การประชุมปางโหลง" เคยจัดขึ้นที่ตำบลปางโหลง ในรัฐฉาน ภาคเหนือของพม่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1947 โดยผู้นำหลายชนเผ่า ทั้งพม่า ฉาน คะฉิ่น และชิน ได้ร่วมลงนาม "ข้อตกลงปางโหลง" (Panglong Agreement) ซึ่งสถาปนาสหพันธรัฐพม่า และพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อย่างไรก็ตามสัญญาดังกล่าวไม่บรรลุผลเนื่องจากฝั่งพม่าไม่ปฏิบัติตามในเวลาต่อมา ลิงค์ข่าว

สหรัฐประกาศคงมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า แต่ปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ / สหรัฐอเมริกาวางแผนจะต่อมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ต่อพม่าหลังจากมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุในอาทิตย์หน้าหรือวันที่ 20 พฤษภาคม 2016 แต่จะปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการค้า โดยกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาได้ผ่อนปรนการคว่ำบาตรโดยยกเว้นการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรแก่บุคคลร้อยกว่าคนและหลายบริษัท ซึ่งรวมถึงนักธุรกิจรายใหญ่ของพม่าด้วย นโยบายผ่อนปรนครั้งนี้เป็นผลจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและถือเป็นความสำเร็จด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีบารัค โอบามา อย่างไรก็ตามสหรัฐก็ยังต้องการคงอำนาจทางการเมืองไว้โดยการต่อมาตรคว่ำบาตรต่อพม่าเพื่อป้องกันการปฏิรูปที่เสื่อมถอยและกดดันให้เกิดการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐบาลชุดนี้ ลิงค์ข่าว

กัมพูชา

จีนเป็นตลาดส่งออกข้าวใหญ่ที่สุดของกัมพูชา / กงสุลใหญ่กัมพูชาประจำนครซีอานของจีนเผยว่า ปัจจุบันข้าวกัมพูชาที่ส่งออกมายังจีนคิดเป็นร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมด จีนเป็นตลาดเป้าหมายส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา เนื่องจากมีเงื่อนไขทางธรรมชาติที่ดี ประชากรส่วนใหญ่ในกัมพูชาจึงดำรงชีพโดยอาศัยเกษตรกรรมเป็นหลัก นอกจากนี้การปลูกข้าวในกัมพูชามีประวัติอันยาวนาน ข้าวเป็นผลผลิตการเกษตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด ปี 2015 กัมพูชาส่งออกข้าวจำนวน 5 แสนตันไปยัง 50 ประเทศ ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2016 การส่งออกข้าวของกัมพูชามีกว่า 160,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว นอกจากนี้ ทางการจีนยังเผยแพร่ผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของกัมพูชาไปยังประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหม และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับกัมพูชาอีกด้วย ลิงค์ข่าว

ฟิลิปปินส์

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง / ภายหลัง 2 ปีที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในฟิลิปปินส์น้อยลง แต่ปัจจุบันชาวจีนเริ่มเดินทางไปเที่ยวฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 130 เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศฟิลิปปินส์เผยว่า ขณะนี้จีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 3 ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเชื่อว่าจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว และขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ปี 2015 ชาวจีนที่ไปเที่ยวฟิลิปปินส์มีกว่า 490,000 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันราว 200 เหรียญสหรัฐฯ โดยชาวจีนนิยมไปเที่ยวชายหาด โบราณสถานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังชอบดำน้ำและซื้อสินค้าฟิลิปปินส์อีกด้วย ลิงค์ข่าว

ขบวนการค้ายาเม็กซิโกทะลักเข้าประเทศอาเซียน / ปัจจุบันขบวนการค้ายาชาวเม็กซิกันได้ขยายเครือข่ายเข้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจับกุมครั้งสำคัญเกิดขึ้นครั้งแรกที่มาเลเซียในปี 2008 โดยตำรวจจับกลุ่มพี่น้องเม็กซิกันคู่หนึ่งขณะครอบครองแอมเฟตามีน หลังการสืบสวนพบว่ามาจากรัฐ Sinaloa ประเทศเม็กซิโก และได้รับโทษประหารชีวิตในปี 2015 นอกจากนี้ยังมีการจับกุมนาย Gary Tan ที่มีแอมเฟตามีน 84 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 9.4 ล้านเปโซในฟิลิปปินส์ หลังสืบสวนพบว่าเป็นผู้ค้ายาในเครือข่ายผู้ค้ายารัฐ Sinaloa เช่นกัน อย่างไรก็ตามอิทธิพลของขบวนการค้ายาจากเม็กซิโกยังแผ่ขยายไปถึงใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย จากการรายงานของ The United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) พบว่าส่ิงที่น่าเป็นห่วงคือความโหดเหี้ยมของขบวนการค้ายาชาวเม็กซิกัน อย่างเช่นการตัดศัตรูแข่งหรือฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีในองค์กรค้ายาระดับนานาชาติ ลิงค์ข่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: