คนไทยรู้ยัง : นักเรียนหญิงไม่ได้ด้อยเรื่อง 'วิทย์-คณิต' เพียงแต่ขาดความมั่นใจ

ทีมข่าว TCIJ : 23 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3263 ครั้ง

จนถึงวันนี้ ความเชื่อในเรื่องปัจจัยทางชีววิทยาไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เพราะมีงานวิจัยหลายเรื่องที่ชี้ว่า ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม (Socio-cultural factors) เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัว และความเชื่อและความคาดหวังของครอบครัวหรือสังคมต่อนักเรียนชายและนักเรียนหญิง เป็นตัวกำหนดความสามารถที่แตกต่างกันของบุคคลมากกว่าปัจจัยอื่น ดังนั้น ทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชายจึงมีโอกาสเก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ทัดเทียมกันหากมีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม

เมื่อเดือนมีนาคม 2015 องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้นำเสนอประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ที่สะท้อนจากผลการประเมินของโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่ผ่านมาสะท้อนว่า โดยภาพรวมแล้วนักเรียนชายในวัย 15 ปี มีผลการประเมินต่ำกว่านักเรียนหญิงในวัยเดียวกัน ผลการประเมิน PISA 2012 พบว่านักเรียนกลุ่มต่ำที่มีสมรรถนะไม่ถึงระดับพื้นฐานของ PISA ในทั้งสามวิชา ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นนักเรียนชาย 14% และเป็นนักเรียนหญิง 9% และในประเทศโดยส่วนใหญ่นักเรียนกลุ่มต่ำเป็นนักเรียนชายในสัดส่วนที่มากกว่า สำหรับประเทศไทยนักเรียนกลุ่มต่ำเป็นนักเรียนชาย 32.2% และเป็นนักเรียนหญิง 15.6%

ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมโครงการใน PISA 2012 โดยส่วนใหญ่ พบว่าในกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินสูงนักเรียนชายจะทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีกว่านักเรียนหญิงโดยทั่วไปแล้ว นักเรียนหญิงจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองเกี่ยวกับความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์น้อยกว่านักเรียนชาย และมีความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์สูงกว่านักเรียนชายด้วย แต่เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มนักเรียนทั้งชายและหญิงที่มีผลการประเมินสูง และมีความเชื่อมั่นในความสามารถทางคณิตศาสตร์ของตนเองและมีความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน พบว่าความแตกต่างของคะแนนคณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิงในประเทศต่าง ๆ จะมีน้อยลง เช่น ในเกาหลี ฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น ที่ความแตกต่างของคะแนนจะน้อยลงมากกว่า 10 คะแนน หรือในเซี่ยงไฮ้-จีน มาเก๊า-จีน และจีนไทเป ที่

เมื่อนักเรียนชายและนักเรียนหญิงมีความเชื่อมั่นเท่ากันคะแนนคณิตศาสตร์ของนักเรียนหญิงกลับมีค่าสูงกว่านักเรียนชาย อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่นักเรียนหญิงมีคะแนนคณิตศาสตร์สูงกว่านักเรียนชาย ทั้งในช่วงก่อนและหลังจากวิเคราะห์ร่วมกับความเชื่อมั่นในความสามารถทางคณิตศาสตร์ของตัวนักเรียน

ผลการวิจัยของ PISA ยังชี้ว่า นักเรียนหญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีความคล้ายคลึงกับงานที่เคยทำในโรงเรียนได้ดีกว่านักเรียนชาย แต่เมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้ความรู้ความคิดให้เหมือนนักวิทยาศาสตร์ เช่น แปลงสถานการณ์ปัญหาให้อยู่ในรูปของภาษาทางคณิตศาสตร์ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายสถานการณ์ปัญหา อธิบายหรือแปลความหมายปรากฏการณ์เชิงวิทยาศาสตร์ และพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงในเชิงวิทยาศาสตร์ ผลการวิจัยกลับพบว่านักเรียนหญิงทำผลงานได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับนักเรียนชาย ทั้งนี้การมีความสามารถในการคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ อาจเกี่ยวข้องกับความมั่นใจในตัวเองของนักเรียนด้วย ดังนั้นเมื่อนักเรียนมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ก็จะไม่กังวลกับความล้มเหลวในการทำงานและกล้าที่จะลองผิดลองถูก ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ในกลุ่มประเทศที่ร่วมประเมิน PISA และสำรวจความเห็นของผู้ปกครองด้วย พบว่า โดยส่วนใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครอง มีความคาดหวังกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ให้เข้าทำงานในสายที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมหรือคณิตศาสตร์ดังนั้นเพื่อเป็นการลดช่องว่างของความแตกต่างระหว่างเพศในการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรสนันสนุนและส่งเสริมลูกสาวและลูกชายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องการเรียนในโรงเรียน และการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในอนาคตของลูก

ผลการประเมิน PISA สะท้อนว่า ความแตกต่างในความสามารถทางวิชาการระหว่างนักเรียนหญิงและนักเรียนชายไม่ได้เป็นเพราะความแตกต่างของความสามารถที่มีมาตั้งแต่กำเนิด พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้นำและผู้วางนโยบายทางการศึกษา จึงควรร่วมกันหาแนวทางที่จะช่วยลดช่องว่างของความแตกต่างระหว่างเพศในการศึกษา เพื่อให้ทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชายได้พัฒนาความสามารถและรู้ถึงศักยภาพแท้จริงของตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่นักเรียนอยู่ให้ดีขึ้นต่อไป

สำหรับประเทศไทย ผลการประเมิน PISA ระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิงที่ผ่านมา ในภาพรวมพบว่านักเรียนหญิงของไทยมีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนชายในทุกวิชาใน PISA 2012 นักเรียนหญิงของไทยมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยสำคัญในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ 55 คะแนน 14 คะแนน และ 19 คะแนนตามลำดับ นอกจากนี้ นักเรียนที่มีสมรรถนะไม่ถึงระดับพื้นฐานของ PISA ในวิชาต่าง ๆ จะเป็นกลุ่มนักเรียนชายโดยส่วนใหญ่ผลการประเมินดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสามารถที่แตกต่างกันระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิงของไทย ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษาในทุกภาคส่วน จึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และหาแนวทางส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนชาย ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเร่งด่วน

 

ที่มาข้อมูล: นิตยสาร สสวท. ปีที่ 43 ฉบับที่ 195 กรกฎาคม - สิงหาคม 2558
ที่มาภาพประกอบ: 
sheknows.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: