เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้เผยแพร่ ‘รายงานความโปร่งใสประจำปี 2016 ของบรรษัทข้ามชาติในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Transparency in Corporate Reporting: Assessing Emerging Market Multinationals)’ ซึ่งเป็นการสำรวจ 100 บรรษัทข้ามชาติในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 15 ประเทศ โดยบรรษัทเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำธุรกิจในประเทศตัวเอง แต่ยังออกไปทำธุรกิจนอกประเทศ ทั้งนี้ในรายงานฯ ระบุว่าหลายบรรษัทในรายงานฉบับนี้ มีความล้มเหลวในด้านการสร้างความโปร่งใส และมีการคอร์รัปชั่น
ภาพรวมจากการสำรวจพบว่ากว่า 75 ของ 100 บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ทำคะแนนได้น้อยกว่า 5 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 ) หรือได้คะแนนเฉลี่ยรวมกันเพียงแล้ว 3.4 เท่านั้น ซึ่งดัชนีความโปร่งใสเฉลี่ยนี้ได้ลดลง 0.2 คะแนน เมื่อเทียบกับการสำรวจก่อนหน้านี้เมื่อปี 2013
การสำรวจซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากบรรษัทข้ามชาติ 100 แห่ง ใน 15 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้แก่ จีน, อินเดีย, แอฟริกาใต้, บราซิล, อินโดนีเซีย, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์, รัสเซีย, ชิลี, เม็กซิโก, ฮังการี, ตุรกี, มาเลเซีย และอาร์เจนตินา โดยประเมินจากวิธีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะซึ่งประกอบไปด้วย 1. การพิจารณาองค์ประกอบสำคัญของโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นของบริษัท (Anti-corruption programs: ดัชนี ACP ในรายงาน) 2. การพิจารณาการเปิดเผยโครงสร้างของบริษัทและรายละเอียดการถือหุ้น (Organizational transparency: ดัชนี OT ในรายงาน) และ 3. การพิจารณาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญในแต่ละประเทศ (Country-by-country reporting: ดัชนี CBC ในรายงาน)
จากรายงานพบว่า มีถึง 75 บรรษัทที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 5 คะแนน, มี 72 บรรษัท ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีในประเทศที่ไปลงทุน, มี 81 บรรษัทที่ไม่มีนโยบายเปิดเผยการจ่ายเงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่ชัดเจน และมีถึง 41 บรรษัทที่ล้มเหลวในการปฏิบัตินโยบายการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริต
ทั้งนี้กว่า 77 บรรษัทในรายงานฉบับนี้อยู่ในกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) โดยบรรษัทจากอินเดียและแอฟริกาใต้มีคะแนนความโปร่งใสเฉลี่ยถึงร้อยละ 64 ตามมาด้วยรัสเซียร้อยละ 62 บราซิลร้อยละ 55 ส่วนบรรษัทจากจีนนั้นมีคะแนนความโปร่งใสเฉลี่ยแค่ร้อยละ 26 เท่านั้น
บรรษัทอันดับ 1 ในด้านความโปร่งใสจากรายงานชิ้นนี้คือ Bharti Airtel บรรษัทคมนาคมจากอินเดีย ได้คะแนนความโปร่งใส 7.3 คะแนน นอกจากนี้บรรษัททั้ง 19 แห่งของอินเดียในการจัดอันดับครั้งนี้ทำคะแนนรวมได้ถึงร้อยละ 75 ในเรื่องของการเปิดเผยโครงสร้างของบรรษัทและรายละเอียดการถือหุ้น ส่วนบรรษัทที่ได้อันดับสุดท้ายคือ Chery Automobile บรรษัทผลิตรถยนต์จากประเทศจีน, Galanz Group บรรษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน และ Wanxiang Group บรรษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีน ทั้ง 3 บรรษัทนี้ได้คะแนนความโปร่งใส 0 คะแนน เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียดพบว่าบรรษัทข้ามชาติสัญชาติจีนหลายแห่งมีปัญหาด้านความโปร่งใส และรั้งท้ายเรื่องปัญหาการปกปิดข้อมูลมากที่สุด บรรษัทจากประเทศจีนสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ทำคะแนนได้น้อยเฉลี่ยเพียง 1.6 คะแนน (จาก 10 คะแนน) รวมทั้งกลุ่ม 25 บรรษัทที่รั้งท้ายนั้นเป็นบรรษัทสัญชาติจีนเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบรรษัทสัญชาติจีนบรรษัทเดียวคือ ZTE ซึ่งทำธุรกิจเที่ยวกับอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ติดอยู่ในกลุ่ม 25 อันดับแรกที่มีความโปร่งใสมากที่สุด
ทั้งนี้ มีบรรษัทจากไทย 3 แห่งติดกลุ่ม 25 อันดับแรกที่ถือว่าโปร่งใสที่สุด ประกอบด้วย บรรษัทอินโดรามา เวนเจอร์ (Indorama Venture) ได้ 5.6 คะแนน, ไทย ยูเนียน โฟรเซน โพรดัคส์ (Thai Union Frozen Products) 5.5 คะแนน และ ปตท. (PTT) 5.4 คะแนน ติดอันดับที่ 20, 21 และ 22 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Groups) ได้ 0.6 คะแนนเท่านั้น และยังอยู่ในกลุ่มสิบอันดับสุดท้าย คือได้อันดับที่ 93 จากทั้งหมด 100 บรรษัท (ดูการจัดอันดับทั้ง 100 บรรษัทได้ที่ ‘จับตา: 100 อันดับความโปร่งใสของบรรษัทข้ามชาติในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่’)
อนึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ ตั้งอยู่ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยมีความมุ่งมั่นที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การปราศจากการคอรัปชั่นในโลก
3 บรรษัทสัญชาติไทยในกลุ่ม 25 อันดับแรก
บรรษัทข้ามชาติของไทยที่สามารถทำอันดับติดกลุ่ม 25 อันดับแรกของรายงานชิ้นนี้ได้แก่ อินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Venture), ไทย ยูเนียน ฟรอสเซน โปรดักท์ (Thai Union Frozen Products) และ ปตท. (PTT)
อินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Venture) ในรายงานฉบับนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้คะแนนด้านองค์ประกอบสำคัญของโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นของบรรษัท (ACP) ที่ร้อยละ 81 ด้านการเปิดเผยโครงสร้างของบรรษัทและรายละเอียดการถือหุ้น (OT) ร้อยละ 88 และด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญในแต่ละประเทศ (CBC) ร้อยละ 0 รวมคะแนนเฉลี่ยที่ 5.6 คะแนน
อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบรรษัทระดับโลกสัญชาติไทยที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง และขนสัตว์ ผลิตภัณฑ์ของบรรษัทฯ แบ่งได้เป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ สารตั้งต้น (Feedstock) พลาสติกโพลีไธลีน เทเรฟธาเลท (PET), และ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ ปัจจุบัน อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นเจ้าของบริษัทย่อยในกลุ่มจำนวน 66 แห่ง ใน 21 ประเทศ ใน 4 ทวีป ได้แก่ ยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชีย
ไทยยูเนียน โฟรเซน โพรดัคส์ (Thai Union Frozen Products) ได้คะแนนด้านองค์ประกอบสำคัญของโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นของบรรษัท (ACP) ที่ร้อยละ 88 ด้านการเปิดเผยโครงสร้างของบรรษัทและรายละเอียดการถือหุ้น (OT) ร้อยละ 75 และด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญในแต่ละประเทศ (CBC) ร้อยละ 1 รวมคะแนนเฉลี่ยที่ 5.5 คะแนน
ไทยยูเนียน โฟรเซน โพรดัคส์ เป็นบรรษัทเป็นผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้นำและเชี่ยวชาญด้านอาหารทะเลโดยมีแบรนด์ชั้นนำระดับโลก มีฐานการผลิตที่ประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส ปาปัวนิวกินี ซีเซลล์ และกาน่า
"การทำธุรกิจด้วยความโปร่งใสอย่างแท้จริงและการมุ่งเน้นที่ความยั่งยืน มีความสำคัญพอๆ กับการมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและผู้บริโภค" ดร.แดเรียน แม็คเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของบรรษัท ไทยยูเนียน กล่าวหลังจากที่รายงานชิ้นนี้เปิดเผยออกมา และไทย ยูเนียน ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร "เราได้ประกาศพันธะสัญญาด้านความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และความยั่งยืนในจรรยาบรรณทางธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน (Business Ethics and Labor Code of Conduct) รวมถึงกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของเราหรือที่เรียกว่า Sea Change เราดำเนินธุรกิจตามค่านิยมและแนวทางปฏิบัติของเรา โดยมุ่งมั่นทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและเกิดขึ้นได้จริง ในอุตสาหกรรมและชุมชนของเรา"
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไทยยูเนียน ถูกกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรสิทธิมนุษยชนจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อกรณีที่มีความเชื่อมโยงกับการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง และความเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง (อ่านเพิ่มเติม: กรีนพีซหยิบยกความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานก่อนหน้าการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของไทยยูเนี่ยน และ ไทยยูเนี่ยน กับอุตสาหกรรมประมงทูน่าที่กำลังล้างผลาญมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น)
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ได้คะแนนด้านองค์ประกอบสำคัญของโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นของบรรษัท (ACP) ที่ร้อยละ 77 ด้านการเปิดเผยโครงสร้างของบรรษัทและรายละเอียดการถือหุ้น (OT) ร้อยละ 75 และด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญในแต่ละประเทศ (CBC) ร้อยละ 10 รวมคะแนนเฉลี่ยที่ 5.4 คะแนน
เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสัญชาติไทย ที่เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกิจการพลังงานของรัฐ ปตท.ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมครบวงจร และธุรกิจปิโตรเคมีที่เน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนในต่างประเทศนั้น ปตท. ลงทุนผ่านบริษัท ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTI) และบริษัท พีทีที กรีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) โดยถือหุ้นร้อยละ 100 ในทั้งสองบริษัท ปัจจุบัน PTTI ได้ลงทุนในธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติในประเทศอียิปต์ ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย และธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว และ PTTGE ดำเนินธุรกิจปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น ในปี 2012 ปตท. ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่อันดับที่ 95 จาก 500 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune
'เครือซีพี' อยู่กลุ่มรั้งท้ายเรื่องความโปร่งใส
ส่วนบรรษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ‘ซีพี’ (Charoen Pokphand Group - CP) ได้คะแนนด้านองค์ประกอบสำคัญของโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นของบรรษัท (ACP) ที่ร้อยละ 0 ด้านการเปิดเผยโครงสร้างของบรรษัทและรายละเอียดการถือหุ้น (OT) ร้อยละ 13 และด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญในแต่ละประเทศ (CBC) ร้อยละ 4 รวมคะแนนเฉลี่ยที่ 0.6 คะแนน
ซีพีถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีธุรกิจหลักคืออาหารและการเกษตร รวมทั้งสินค้าบริโภคอุปโภคต่าง ๆ ทั้งนี้ซีพีถือว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่คนไทยภาคภูมิใจมากที่สุด และถูกตั้งข้อสงสัยในหลาย ๆ ด้านมากที่สุดด้วยเช่นกัน ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความมั่งคั่งและการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายของซีพี จึงมีความหวาดหวั่นต่อการผูกขาดของซีพีในสังคมไทย รวมทั้งการร่วมมือกับภาครัฐหลังรัฐประหารในนโยบาย ‘ประชารัฐ’ ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของซีพี (อ่านเพิ่มเติม: วิพากษ์ประชารัฐ-เกษตร เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาด ส่งเสริมเกษตรเคมี?) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าซีพีพยายามที่จะครอบงำสื่อ โดย TCIJ เคยนำเสนอรายงานไปก่อนหน้านี้อีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม: หลุด! เอกสารฝ่าย PR ธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ)
นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือน มิ.ย. 2559 ได้จัดอันอับให้ตระกูลเจียรวนนท์ เป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทยในปี 2559 มีทรัพย์สิน 6.603 แสนล้านบาท และระบุว่า "มูลค่าทรัพย์สินของสี่พี่น้องผู้กุมบังเหียนเครือเจริญโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นตามข้อมูลการถือครองหุ้นล่าสุด เครือซีพีภายใต้การนำของประธาน ธนินทร์ เจียรวนนท์ ซึ่งเราเคยจัดอันดับในชื่อของเขา ยังมีดีลธุรกิจขนาดยักษ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีที่แล้ว (2558) ทรู ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมในเครือที่บริหารโดยศุภชัยลูกชายของเขา ประมูลใบอนุญาตคลื่น 4G ได้ที่ราคาทุบสถิติกว่า 3 พันล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามชื่อของซีพีถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนักเมื่อเกิดเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหุ้นของบริษัท" (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหุ้น: ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับผู้บริหารเครือซีพี “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” 30 ล้าน – “อธึก อัศวานันท์” 1.4 ล้าน ทำผิดใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น MAKRO และ ซีพี ออลล์ แถลงการณ์ให้ “ก่อศักดิ์-พิทยา-ปิยะวัฒน์”อยู่ต่อ หลังก.ล.ต.ลงโทษใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นสยามแม็คโคร ระบุผลงานโดดเด่นหาคนทดแทนยาก)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ