กสม. รับฟังชาวบ้านลำปางเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่า 

24 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2753 ครั้ง


	กสม. รับฟังชาวบ้านลำปางเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่า 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน กรณีได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่าของ คสช. และการเตรียมประกาศเขตอุทยานถ้ำผาไท ที่ จ.ลำปาง (ที่มาภาพ: ส.ปชส.ลำปาง)

24 มี.ค. 2559 ส.ปชส.ลำปาง รายงานว่านางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสภาพการณ์ปัญหาของชาวบ้าน ที่ถูกยึดคืนพื้นที่ทำกินที่อยู่มาแต่อดีต ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่า และมาตรการเตรียมการประกาศเขตพื้นที่อุทยานถ้ำผาไทเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ร่วมกันทำการเปิดเวทีประชุม กับเครือข่ายพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียง ที่อาคารอเนกประสงค์ ชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่ชาวบ้านในท้องที่ชุมชนได้รับ และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชน รวมถึงเพื่อใช้ในการขอกันพื้นที่ ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านออกนอกเขตพื้นที่เตรียมการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยการลงพื้นที่ นายสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง ได้นำชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ชนเผ่า จากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดลำปาง ทั้ง ปกากะญอ อิ่วเมี่ยน และชนเผ่าม้ง ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายชนเผ่าจากพื้นที่อื่น ๆ ในหลายจังหวัด ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ รวมจำนวนเกือบ 300 คน เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลในส่วนต่างๆ แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จากการให้ข้อมูลของกลุ่มชาวบ้าน ทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าสงวน และได้อยู่อาศัยมานานร่วมกว่า 100 ปี มีพื้นที่ทำกินเป็นมรดกตกทอด มาแต่สมัยปู่ย่าตายาย มีเอกสารการครอบครองพื้นที่ เป็นหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์และอยู่อาศัย ภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ หรือ หนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ (สทก.) ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้ โดยในพื้นที่ชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่า ได้ใช้ประโยชน์ทำการปลูกพืชไร่หมุนเวียน เช่น ข้าวไร่ พริก มะเขือ งาดำ ฟักเขียว ฟักทอง มะระ ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว และพืชตระกูลแตง เป็นต้น ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ “โครงการอยู่ดีมีสุข” ให้ชาวบ้านทำการปลูกพืชยางพาราทดแทน เหตุผลเพราะเป็นพืชเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนป่าได้ดีกว่าพืชไร่ ซึ่งในส่วนของจังหวัดลำปาง ชาวบ้านได้ให้การตอบรับทำการปลูกพืชยางพารากระจายกันไปในพื้นที่สิทธิทำกิน รวมกันแล้วหลายร้อยไร่ ต่อมาในยุคสมัยรัฐบาล คสช. ได้มีคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่อง “การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้” เจ้าหน้าที่หลายหน่วยที่เกี่ยวข้องได้เข้าทำการประกาศยึดคืนพื้นที่ทำการตัดฟันยางพาราของชาวบ้าน ซึ่งกำลังโตสามารถที่จะให้ผลผลิตน้ำยางได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า สร้างความเดือดร้อนส่งผลกระทบแก่ผู้ที่อาศัยทำกินอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ประกอบกับอุทยานถ้ำผาไทได้เตรียมการประกาศเขตพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยาง-แม่งาว ป่าแม่ต๋า-แม่มาย ป่าแม่งาวฝั่งขวา และป่าแม่โป่ง รวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,214 ตร.กม. หรือประมาณ 758,750 ไร่ โดยกินพื้นที่ครอบคลุมบริเวณเขตอำเภอเมืองลำปาง อำเภอแจ้ห่ม และอำเภองาว ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ถูกเรียกคืนพื้นที่ทำกิน เหตุเพราะพื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่เตรียมการประกาศและไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง บางรายหนังสือสิทธิทำกินหมดอายุ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เกรงว่าหากถูกยึดคืนพื้นที่แล้วก็จะไม่มีที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ทำกิน ไม่รู้จะประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองต่อไปได้อย่างไร

ในการนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรณีปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยการร้องเรียนชาวบ้านได้ร้องขอให้มีการดำเนินการ 2 ข้อ คือ ให้มีการชะลอ หรือ ยุติการตัดยางพาราในพื้นที่สิทธิทำกิน และให้มีการตรวจสอบพื้นที่สิทธิทำกินของชาวบ้าน ทำการกันพื้นที่ออกนอกเขตพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยเรื่องร้องเรียนที่ได้รับ ทางคณะกรรมการฯ จะได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง และจะได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือยุติปัญหาเป็นลำดับขั้นตอนต่อไป 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: