นักวิชาการชี้ผลประชามติBrexit  สะท้อนความกลัวคนรุ่นเก่า 

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด 24 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 1930 ครั้ง


	นักวิชาการชี้ผลประชามติBrexit  สะท้อนความกลัวคนรุ่นเก่า 

นักวิชาการชี้ผลประชามติBrexit สะท้อนความกลัวของคนรุ่นเก่า ผู้สูงอายุเกินครึ่งต้องการออกจากอียูสวนทางความต้องการของคนหนุ่มสาว อาจเป็นผลจากการเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัย ขณะที่ประชามติรอบสองไม่น่าเกิดขึ้นได้ แนะจับตาการต่อรองผลประโยชน์ของนายกคนใหม่ 

25 มิ.ย.59 หลังการผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจากการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือ อียู (EU) ของสหราชอาณาจักร (UK) หรืออังกฤษ ออกมาอย่างเป็นทางการว่าคนในประเทศส่วนใหญต้องการออกจากอียู โดย กลุ่มสนับสนุนให้แยกตัวคิดเป็นร้อยละ 51.9 กลุ่มให้รวมตัวกับอียูคิดเป็นร้อยละ 48.1 โดยสัดส่วนผู้ที่สนับสนุนให้รวมกับสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มาจากลอนดอนและสกอตแลนด์ ขณะที่ประชาชนในเขตชนบท ภาคกลางและภาคเหนือแสดงความจำนงค์แยกตัวเป็นอิสระ

เมื่อเทียบสัดส่วนในด้านอายุของผู้มาใช้สิทธิพบว่า ประชากรวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ต้องการอยู่ร่วมกับอียูต่อโดยเฉพาะช่วงอายุ 18- 24 ปี สูงถึงร้อยละ 64 ขณะที่กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปกลับต้องการให้แยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูสูงถึงร้อยละ 58 

หลังการประการผลคะแนนออกมาอย่างเป็นทางการไม่นาน เว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษระบุข้อมูลว่ามีผู้แสดงความต้องการให้เปิดการลงประชามติรอบสอง จำนวนผู้ลงชื่อล่าสุดเมื่อเวลา 13.15 น ตามเวลาสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 118,433 คน ซึ่งโดยปกติแล้วหากมีร่วมลงนามเกินหนึ่งแสนคนในประเด็นใดก็ตาม จะต้องได้รับการตั้งเป็นประเด็นอภิปรายในสภา 

 

ชี้ผลประชามติ สะท้อนความกลัวคนรุ่นเก่า แนะจับตาดิวผลประโยชน์ร่วม

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผลประชามติในครั้งนี้ว่าสะท้อนถึงความกลัวการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นเก่าในประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่พ่วงมากับความเปลี่ยนแปลงจากปัญหาวิกฤติทางการเงิน และความเปลี่ยนแปลงจากการเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศ 

ทั้งนี้เมื่อเดือนกันยายน 2558 นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมาแถลงว่ายินดีเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยสงครามชาวซีเรียจำนวน 20,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี  ตามการจัดสรรผ่านระบบโควตารับผู้อพยของอียูซึ่งจัดสรรตามขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงประชามติรอบสองจากการลงชื่อผ่านรัฐสภานั้น ดร.จันจิรา วิเคราะห์ว่ามียังความเป็นไปได้ยาก หรือหากเกิดขึ้นจริงผลประชามติอาจออกมาไม่ต่างจากเดิมมากนัก ที่สำคัญอาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่โหวตออกจากสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจับตาต่อไปคือ การเจราต่อรองคงผลประโยชน์เดิมไว้ระหว่างอังกฤษและอียู โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ต้องเสียไปเมื่อไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก 

       “ที่จริงสถานการณ์อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิดถ้าอังกฤษสร้างความสัมพันธ์กับอียูได้ และไม่เป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆออกจากอียู ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับอียูเองด้วยว่าจะเห็นกรณีอังกฤษเป็นบทเรียนปรับองค์กรท่ามกลางความท้าทายหลายประการได้อย่างไร”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: