'NGO-ชาวไร่' จับตาหนุนปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่ เอื้อเอกชน

24 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2452 ครั้ง


	'NGO-ชาวไร่' จับตาหนุนปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่ เอื้อเอกชน

ภาคประชาชน-กลุ่มเกษตรกร จับตานโยบายหนุนปลูกข้าวโพดแทนปลูกข้าวนาปรัง 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด หวังเพิ่มซัพพลายในตลาด จับตาอนาคตทุบราคาตกต่ำอีก แถมเอื้อบริษัทคู่ค้า ธ.ก.ส.ผูกขาดขายเมล็ดพันธุ์ ร้องให้ทบทวนเปิดกว้างให้เกษตรกรหาเมล็ดพันธุ์มาปลูกเองได้อย่างอิสระ (ที่มาภาพประกอบ: flickr.com/adactio)

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่านายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ และตัวแทนชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนโดยได้ร่วมลงนามส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนปลูกข้าวรอบ 2 (นาปรัง) ปีการผลิต 2559/2560 ร่วมกับภาคเอกชน(เมื่อ 21 ต.ค.59) จำนวน 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด โดยระบุธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จะพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อตามเงื่อนไขไร่ละ 4,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิต โดยจะดึงเอกชนมาช่วยรับซื้อผลผลิตในราคาประกันกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท สำหรับข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ตามมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดฯ ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์

“เรื่องนี้จะส่งผลให้มีซัพพลายข้าวโพดในตลาดเพิ่มขี้น และอนาคตราคาอาจจะตกต่ำซ้ำรอยในช่วงที่ผ่านมาอีก นอกจากนี้นโยบายยังเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจเอกชนที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดโดยตรง เพราะเงื่อนไขของ ธ.ก.ส.และเอกชน คือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้นและจะไม่รับซื้อผลผลิตหากไปใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทอื่นหรือแม้แต่เมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรเอง”

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่าเมล็ดพันธุ์ของบริษัทคู่ค้าของ ธ.ก.ส.มีราคาแพงตกกิโลกรัมละ 180-200 บาท (1 ถุงบรรจุ 10 กิโลกรัม =1,800-2,000 บาท) ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ตรงกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร หากแต่เป็นนโยบายมัดมือชกและครอบงำวิธีเกษตรทำให้เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีดังกล่าวรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปล่อยหรือเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทธุรกิจการเกษตรที่ใกล้ชิดรัฐบาลมีลักษณะไม่ต่างจากระบบเกษตรพันธะสัญญา ซึ่งมีข้อตกลงอ้างเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคง รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตคืน โดยที่ไม่ได้เฉลียวใจเลยวา หากบริษัทเหล่านั้นไม่ปฎิบัติตามสัญญาเกษตรกรจะมีอำนาจไปต่อรองบริษัทได้อย่างไร

ทั้งนี้ทางสมาคมจึงได้เรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลทบทวนระบบเกษตรประชารัฐโดยต้องเปิดกว้างให้เกษตรกรสามารถแสวงหาเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้อย่างอิสระหรือให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ หรือศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชไร่ของทางราชการเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้เกษตรกรที่ประสงค์จะปลูกข้าวโพดในฤดูการผลิต 2559/2560 และปีต่อไป 2.จัดระเบียบระบบเกษตรพันธะสัญญาในรูปแบบใหม่ให้บริษัทและเกษตรกรร่วมกันรับผลประโยชน์ หรือรับผิดชอบในผลของการขาดทุน โดยบริษัทเป็นผู้ลงทุนด้านวัสดุอุปกรณ์ ปุ๋ย ยา อาหาร เมล็ดพันธุ์ ส่วนเกษตรกรลงทุนด้านแรงงานและที่ดิน เป็นต้น และ 3.จัดตั้งคณะกรรมการระบบเกษตรพันธะสัญญา กำหนดให้มีตัวแทนเกษตรกรหรือสภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมเป็นกรรมการเพื่อปิดช่องทางไม่ให้กลุ่มบริษัทมาเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร

ขณะที่ ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า โครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งทางสมาคมก็ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยอยู่แล้ว แต่มาครั้งนี้เปลี่ยนมาใช้ชื่อในโครงการประชารัฐแทนเท่านั้น ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมมี 5 ราย ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด(บจก.)ในเครือซี.พี.,บจก.มอนซานโต้ ไทยแลนด์, บจก. ซินเจนทา ซีดส์,บจก. เมล็ดพันธุ์ เอเชีย และบจก.แปซิฟิกเมล็ดพันธุ์ โดยบริษัทจะขายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในราคาพิเศษ และจะให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มการหยอดเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยวขาย จากนั้นจะมีโรงงานอาหารสัตว์มารับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: