‘โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ’ส่อแววสะดุด กองทัพ-อปท.ติดข้อกม.-อ้างรบ.ที่แล้ว

ทีมข่าว TCIJ : 24 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 8109 ครั้ง

ไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ อปท. ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือ ‘ด่วนที่สุด’ เรื่อง ‘โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร’ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ระบุว่า  ด้วยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติกำหนดแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ในปริมาณรวม 800 เมกะวัตต์ ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in-Tariff 5.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี ตาม ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2558 นั้น

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะอนุกรรมการวินิจฉัยกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประชุมครั้งที่ 8/2558 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 สรุปได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถร่วมโครงการดังกล่าวได้  เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนที่จะให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกประกาศกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในด้านการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการออกประกาศต้องเป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นแต่อย่างใด แต่เป็นการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากกำหนดให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ต้องจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้า กรณีดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ซึ่งก่อนหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการออกมานี้ พบว่า มีความพยายามผลักดันให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกประกาศว่าการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น  เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมโครงการโดยไม่ผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพราะใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ นี้ระบุว่าถ้าเป็นเรื่องที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติสามารถดำเนินการได้เลย  แต่กระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยเพราะมีความเสี่ยงด้านกฎหมาย จึงออกหนังสือชี้แจงดังกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

มีการคาดหมายกันว่า หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้  จะทำให้โครงการนี้ถอยหลังลงไปอีก เพราะจะเหลือแค่สถานศึกษาและโรงพยาบาลไม่กี่รายเท่านั้น ที่จะมีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ โดยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่าเตรียมส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ทำให้โครงการพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์และไฟฟ้าจากขยะล่าช้า 2-3 ปี ขณะเดียวกันต้องการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว

‘โซลาร์ฟาร์มกองทัพ’ สะดุดด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา กองทัพบกได้ประกาศถอนตัวเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 1 โดยกองทัพบกระบุว่าตามที่ผู้บัญชาการทหารบกได้อนุมัติให้ ผู้บัญชาการหน่วยเจ้าของโครงการเป็นผู้ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตลอดจนมีอำนาจลงนามหรือแก้ไขเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องแทนผู้บัญชาการทหารบกนั้น ต่อมาเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ  ซึ่งในส่วนของกองทัพบกมีโครงการผ่านการตรวจคุณสมบัติจำนวน 11 โครงการ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติหลักการของโครงการและผลการศึกษาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่ใช้วิธีการประมูลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งเรื่องคืนตามสายงานและให้เหตุผลตามข้อพิจารณาของกรมพระธรรมนูญว่า การดำเนินโครงการของกองทัพบก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพบกไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้

จากนั้น ในวันที่ 21 ธันวาคม 2558  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุสาเหตุที่หน่วยงานสังกัดกองทัพบก ขอถอนตัวจากโครงการด้วยตนเองอีกว่า เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุซึ่งไม่สามารถนำไปหาประโยชน์ได้ รวมทั้งยังระบุว่าโครงการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต่าง ๆ ในอดีตมีปัญหาหลังจากรัฐบาลที่ผ่านมาได้อนุมัติให้ทำโครงการเหล่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาเรื่องระบบสายส่งว่ามีเพียงพอหรือไม่ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งรัฐบาลนี้กำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่  โดยต้องวางแผนการใช้พลังงานในอนาคต แต่ก็ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ซึ่งในส่วนของหน่วยงานสังกัดของกองทัพบกที่ยื่นเรื่องขอดำเนินการทำโซลาร์ฟาร์มนั้น ก็ได้ถอนตัวไปแล้วเพราะติดขัดในเรื่องกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาสมัยตนเองดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ทักทวงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้นไปแล้ว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้กองทัพบกได้ทำข้อตกลงกับบริษัทเอกชนไปบ้างแล้ว  ได้แก่บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ซึ่งบริษัทย่อยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 4 เมกกะวัตต์ กับกองทัพบก จำนวน 2 โครงการ รวม 8 เมกกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอ      บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ซึ่งบริษัทย่อย (GUNKUL ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75) ได้เซ็นสัญญาบันทึกข้อความเข้าใจ (MOU) กับกองทัพบก ร่วมพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2 โครงการ แบ่งเป็นโครงการละ 4 เมกะวัตต์ โครงการตั้งอยู่ที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร รวม 8 เมกะวัตต์ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะมีการยกเลิกโครงการเหล่านี้ทั้งหมดหรือไม่

เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ส่อแววแท้ง

จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800   เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2559  ส่วนระยะที่ 2 มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2561 โดยได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการดังกล่าวมีทั้งสิ้น 219 ราย จำนวนรวม 1,028.67 เมกะวัตต์ เพื่อเข้าร่วมจับสลากในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมี ประกาศเลื่อน (ครั้งแรก) ออกไปเป็นวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เพราะมีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติร้องเรียนหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่ติดกฎหมายผังเมืองไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ถึงแม้จะอยู่ในเขตพื้นที่ตามประกาศข้อมูลศักยภาพของระบบไฟฟ้าก็ตาม  แต่ท้ายสุดก็ยังไม่มีการจับฉลาก  เพราะได้มี ประกาศเลื่อน (ครั้งที่สอง) อีกครั้ง

ต่อกรณีนี้ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ระบุว่าการดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรในปัจจุบัน ยังติดปัญหา พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ของหน่วยงานราชการ ดังนั้นทางกระทรวงพลังงานจะเชิญกระทรวงการคลังในฐานะผู้รับผิดชอบ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ มาหารือเพื่อตีความเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ว่ามีกฎหมายยกเว้นหรือไม่ ขณะเดียวกันขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เลื่อนการจับสลากผู้ที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาออกไปเป็นช่วงเดือนมกราคม 2559 และหากหน่วยงานราชการไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะยกยอดไปเปิดในระยะที่ 2 ต่อไป

ย้อนรอยโซลาร์เซลล์ชุมชน’ สู่ ‘โซลาร์เซลล์หน่วยงานราชการ’

ย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2554 ในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยข้อมูลจาก มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2556 (ครั้งที่ 145) วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556 ระบุว่าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลได้แถลงนโยบายมุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ เป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาเป็นศูนย์กลางเป็นธุรกิจพลังงานของภูมิภาค  โดยใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับแนวทางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในการสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียม และพลังงานทดแทน สามารถสร้างรายได้จากความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการจ้างงานให้แก่ประเทศ ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ จากนั้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบโครงการวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน  ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกระทรวงพลังงานมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน ที่มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และก่อให้เกิดการสร้างงาน การกระจายรายได้ในชุมชน

จากนั้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการบริหารฯ ได้มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน คือกระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จัดทำโครงการ โดยกระทรวงพลังงานกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษสำหรับโครงการ โดยพิจารณาความเหมาะสมในเชิงพื้นที่ตั้งจากศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความสามารถในการรองรับของระบบสายส่ง และได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินโครงการ คือ (1) ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ประเภท Solar PV Ground Mount เพื่อผลิตไฟฟ้าปริมาณกำลังผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ และ (2) ดำเนินการพัฒนาโครงการฯ ขนาดโครงการละ 1 เมกะวัตต์ มีเป้าหมายรวม 800 เมกะวัตต์ โครงการขนาด 1 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนรวม 58 - 60 ล้านบาท โครงการ ทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ มีเงินลงทุนรวมประมาณ 48,000 ล้านบาท สามารถขอรับเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐในสัดส่วนร้อยละ 100 (ธนาคารออมสินหรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)

โดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 นั้น ได้เห็นชอบให้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก 'โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน' นี้  โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ และเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษสำหรับโครงการฯ ในอัตราพิเศษดังนี้ คือ ปีที่ 1 - 3 ระบบ Feed-in Tariff (FiT) อัตรา 9.75 บาทต่อหน่วย, ปีที่ 4 - 10 ระบบ FiT อัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย, ปีที่ 11 - 25 ระบบ FiT อัตรา 4.50 บาทต่อหน่วยโดยให้มีวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2557 เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ดำเนินการพัฒนาโครงการฯ ตามแนวทางการดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปดำเนินการออกระเบียบหลักเกณฑ์ในการดำเนินการพัฒนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ความสามารถรองรับของระบบส่ง และรายงานผลการคัดเลือกให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทราบ และเห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการฯ ต่อไป โดยให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ที่ต่างจากค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้รัฐบาลชุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้นได้วางเป้าหมายของโครงการนี้ให้ผลิตให้ได้ 1 เมกะวัตต์ ต่อ 1 ชุมชน เป้าหมายผลิตติดตั้งรวมทั้งประเทศ 800 เมกะวัตต์ ใน 800 หมู่บ้าน แต่โครงนี้ก็ต้องพับไปหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เสนอให้ คสช. ทบทวนและตรวจสอบ 'โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน' นี้ ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ โครงการใหญ่จากรัฐบาลชุดที่แล้วที่ต้องชะงักไปหลังการรัฐประหาร

จากนั้นได้มี มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 (ครั้งที่ 1) วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2557 ออกมาโดยระบุว่าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน เป้าหมาย 800 เมกะวัตต์ (โครงการละ 1 เมกะวัตต์) กำหนดให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2557 และ กพช. มอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นเจ้าของโครงการ กำหนดให้โครงการขายไฟฟ้าด้วยระบบ FiT เป็นระยะเวลา 25 ปี ในอัตราที่ลดลงเป็นขั้นบันไดตามระยะเวลา คือ 9.75 บาท ต่อหน่วย ในปีที่ 1 - 3 และ 6.50 บาทต่อหน่วย ในปีที่ 4 - 10 และ 4.50 บาทต่อหน่วย ในปีที่ 11 - 25 โดยให้เป็นการลงทุนโดยชุมชนเอง กำหนดให้ใช้เงินกู้จากธนาคารของรัฐมาดำเนินการ และให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปออกระเบียบหลักเกณฑ์ในการพัฒนาโครงการฯ รวมถึงคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการนั้น ปัจจุบันโครงการยังไม่มีการดำเนินงาน  ทั้งนี้ โครงการ รูปแบบเดิม เป็นแนวทางที่ไม่สามารถดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจาก (1) ชุมชนจะไม่สามารถจัดหาพื้นที่ส่วนกลางจัดตั้งโครงการได้เพราะจะต้องใช้ที่ดินส่วนรวมถึง 10 - 12 ไร่ (2) ชุมชนไม่สามารถจัดหาเงินลงทุนได้เพราะการใช้กองทุนหมู่บ้านจะมีความเสี่ยงและชุมชนไม่สามารถกู้เงินลงทุนจากธนาคารได้เอง และการกำหนดให้ธนาคารของรัฐเท่านั้นเป็นผู้ปล่อยกู้นั้น  ธนาคารของรัฐก็ไม่พร้อมรับความเสี่ยงที่จะปล่อยเงินกู้ให้ชุมชนดำเนินโครงการนี้ (3) ชุมชนไม่สามารถจัดหาเทคโนโลยี ด้วยตนเองได้ และ (4) ชุมชนยังไม่สามารถดูแลรักษาโรงไฟฟ้าด้วยตนเอง โดยมติการประชุมครั้งนั้น ยังให้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ‘โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน’  มาเป็น  ‘โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงาน จากแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร’ แทน  โดยมีขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวม 800 เมกะวัตต์ ในอัตรา FiT 5.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2558 และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบ การคัดเลือกโครงการ และพิจารณารับซื้อไฟฟ้า โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และความสามารถ รองรับของระบบสายส่ง

ท้ายสุด ‘โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร’ อันเป็นอีกหนึ่ง ความหวังของการกระตุ้นการใช้พลังงานทางเลือกของประเทศนี้ ก็ส่อล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทัพไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ รวมทั้งการประกาศเลื่อนการจับสลากเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ถึง 2 ครั้ง  ย่อมสะท้อนความไม่เที่ยงแท้ของโครงการ

อ่าน 'จับตา': “ระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6015

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: