‘โพลล์’ อาจจะทำหน้าที่ได้ดีเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็น ลองย้อนดู 22 โพลล์ช่วงยึดอำนาจ 2549 และประชามติ รธน. 2550 จนถึงเลือกตั้ง 2550 เพื่อเป็นบทเรียนเปรียบเทียบในการ ‘อ่านโพลล์’ ก่อนประชามติ 7 ส.ค. นี้
‘โพลล์’ (Poll) คือ การสำรวจความคิดเห็น หรือท่าทีของสาธารณชน (Public opinion) เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยทำการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘โพลล์ความคิดเห็น’ (Opinion poll) ทั้งนี้โพลล์จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อบรรยากาศด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเปิดกว้างอย่างเต็มที่
TCIJ พาย้อนสำรวจดูโพลล์ 22 ชิ้น ช่วงเหตุการณ์ในอดีต คือ (1) หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 (2) ช่วงการแต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (3) ช่วงก่อนการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2550 และ (4) ช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2550 ที่บรรยากาศด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งบริบททางการเมืองใกล้เคียงกับยุคปัจจุบัน ซึ่งพบว่า ผลการสำรวจของโพลล์ในช่วงนั้น เมื่อเทียบกับความต้องการของประชาชนที่แท้จริง จากผลการลงประชามติปี 2550 และผลการเลือกตั้งปี 2550 มีความคลาดเคลื่อนผิดจากข้อเท็จจริงอยู่พอสมควร
เช่น หลังการยึดอำนาจในปี 2549 ในช่วงการเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น มีผลโพลล์ระบุว่าก่อนการแต่งตั้ง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ มีคะแนนนิยมเพียง 20.3% แต่หลังจากการแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนนิยมเพิ่มถึง 64.1% และมีผลโพลล์เปรียบเทียบภาพลักษณ์ระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พบว่าภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เช่น 65.1% ระบุความเป็นที่ไว้วางใจได้ 63.2% ระบุด้านคุณธรรม เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต และ 60.2% ให้ความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ในช่วงก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 พบว่า หลายโพลล์ชี้ไปในทิศทางว่าคนส่วนใหญ่จะรับรัฐธรรมนูญนี้เป็นสัดส่วนที่ห่างจากคนไม่รับร่างฯอยู่หลายช่วงตัว เช่น รามคำแหงโพลล์: การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550: ควรเห็นชอบหรือไม่ (เผยแพร่ 12 ก.ค. 2550) เห็นชอบร้อยละ 53.5 ไม่เห็นชอบร้อยละ 7.5, เอแบคโพลล์: ความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 (เผยแพร่ 16 ก.ค. 2550) เห็นชอบร้อยละ 57.1 ไม่เห็นชอบร้อยละ 22.9, ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: รัฐธรรมนูญกับสถานการณ์บ้านเมือง (เผยแพร่ 19 ก.ค. 2550) เห็นชอบร้อยละ 79.3 ไม่เห็นชอบร้อยละ 20.7, สวนดุสิตโพลล์: ความคิดเห็นของประชาชนกับ "การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550" (เผยแพร่ 26 ก.ค. 2550) เห็นชอบร้อยละ 55.72 ไม่เห็นชอบร้อยละ 14.92 กรุงเทพโพลล์: ประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 50 ในสายตาประชาชน (เผยแพร่ 6 ส.ค. 2550) เห็นชอบร้อยละ 34.8 ไม่เห็นชอบร้อยละ 10.0 และ รามคำแหงโพลล์: การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ: ควรเห็นชอบหรือไม่” (เผยแพร่ 15 ส.ค. 2550) เห็นชอบร้อยละ 47.6 ไม่เห็นชอบร้อยละ 12.6 ซึ่งผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (วันที่ 19 ส.ค. 2550) จากผู้มาใช้สิทธิ์ 25,978,954 คน ประชาชนที่เห็นชอบกับสูสีกับประชาชนที่ไม่เห็นชอบ โดยเห็นชอบ 57.81% และไม่เห็นชอบ 42.19%
ในช่วงการเลือกตั้งปลายปี 2550 มีผลโพลล์ที่ทำนายว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้ง หรือระบุว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถึง 6 ครั้ง (พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนนิยมอันดับแรก ร้อยละ 52.0%, ร้อยละ 43.5 และ ร้อยละ 34.2 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับคะแนนนิยมอันดับแรก ร้อยละ 41.54, ร้อยละ 52.2 และ ร้อยละ 46.4) ส่วนผลโพลล์ที่ทำนายว่าพรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้งหรือระบุว่านายสมัคร สุนทรเวช จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง (พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนนิยมอันดับแรกร้อยละ 38.58 คาดว่าจะได้ปาร์ตี้ลิสต์ 39 ที่นั่ง แต่ไม่มีโพลล์ที่ระบุว่านายสมัคร สุนทรเวช จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี) แต่ผลการเลือกตั้งพบว่า พรรคพลังประชาชนได้ 233 ที่นั่ง แบบแบ่งเขตร้อยละ 36.63 แบบสัดส่วนร้อยละ 41.08 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 165 ที่นั่ง แบบแบ่งเขตร้อยละ 30.30 แบบสัดส่วนร้อยละ 40.44
อ่านรายละเอียดผลโพลล์ทั้ง 22 ชิ้นได้ดังนี้
หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
1. สวนดุสิตโพลล์ : ความคิดเห็นของประชาชน กรณี : ปฏิวัติ ในวันที่ 20 ก.ย. 2559 หลังการรัฐประหาร 1 วัน 'สวนดุสิตโพลล์' มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้สอบถามความคิดเห็นของ ประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,019 คน แบ่งเป็นคนกรุงเทพฯ 875 คน (ร้อยละ 43.34) คนต่างจังหวัด 1,144 คน (ร้อยละ 56.66) และได้เผยแพร่ผลสำรวจนี้ในวันที่ 21 ก.ย. 2559 ผลโพลล์ชิ้นนี้ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ร้อยละ 83.98 โดยประชาชนใน กทม. เห็นด้วยร้อยละ 81.60 ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดเห็นด้วยถึงร้อยละ 86.36 เลยทีเดียว
2. เอแบคโพลล์ : ความคิดเห็นและความต้องการของสาธารณชน ต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 4,250 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2549 และได้เปิดเผยผลโพลล์นี้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2549 โดยระบุว่าประชาชนมีความรู้สึกหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองฯ ยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อนได้สำเร็จว่าการเมืองจะสงบนิ่งถึงร้อยละ 82.7 และประชาชนเห็นว่าควรลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุดหากพิสูจน์พบว่ารัฐบาลชุดก่อนมีความผิดจริง ร้อยละ 74.5
3. สวนดุสิตโพลล์ : "ความสบายใจ" และ "หนักใจ" ของประชาชนหลังจาก "ปฏิรูปการปกครอง" ผ่านมา 10 กว่าวัน 'สวนดุสิตโพลล์' มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,684 คน (คนกรุงเทพฯ 1,013 คน ร้อยละ 27.50 คนต่างจังหวัด 2,671 ร้อยละ 72.50) โดยสำรวจระหว่างวันที่ 27 - 29 ก.ย. 2549 และเปิดเผยผลโพลล์ในวันที่ 2 ต.ค. 2549 ได้ผลที่น่าสนใจ สิ่งที่ประชาชนสบายใจขึ้นหลังจากเหตุการณ์ปฏิรูปการปกครอง คือ อันดับที่ 1 บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การชุมนุมประท้วงยุติลง ร้อยละ 48.82 อันดับที่ 2 คาดว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่ดีขึ้น/ล้มเลิกระบอบทักษิณ ร้อยละ 15.91
ช่วงการแต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
4. เอแบคโพลล์ : สำรวจการสนับสนุนของสาธารณชนต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ทำการสำรวจความเห็นประชาชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,509 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-2 ต.ค. 2549 และเผยแพร่วันที่ 2 ต.ค. 2549 โดยความเห็นสนับสนุนต่อพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงระหว่างวันที่ 28 ก.ย. มีเพียงร้อยละ 20.3 ในวันที่ 30 ก.ย. มีเพียงร้อยละ 36.6 แต่ในวันที่ 2 ต.ค. มีสูงถึงร้อยละ 64.1 นอกจากนี้ผลโพลล์ยังระบุว่าประชาชนเห็นด้วยต่อการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นที่ความผาสุกของประชาชน มากกว่าการเน้นตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถึงร้อยละ 71.0
5. เอแบคโพลล์ : ความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครต่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็นคนกรุงเทพ 1,122 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 9 – 10 ต.ค. 2549 ผลโพลล์ระบุว่าเมื่อสอบถามถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญทางการเมืองตามหลักธรรมาภิบาล ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.6 คิดว่ารัฐบาลจะมีความโปร่งใสมากขึ้น เมื่อสอบถามภายหลังทราบรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันถึงภาพลักษณ์ความเป็นคนดีและภาพลักษณ์ความเป็นคนเก่งมีความรู้ความสามารถเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า คะแนนเฉลี่ยของภาพลักษณ์ความเป็นคนดีอยู่ที่ 7.59 ซึ่งใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ความเก่งมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.50 นอกจากนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.1 เห็นสมควรให้โอกาสคณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้ทำงานไปก่อน ในขณะที่เพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่ควรให้โอกาส
6. กรุงเทพโพลล์ : ประชาชนคิดอย่างไรกับ ครม. ชุดใหม่ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ เก็บข้อมูลจากประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 1,102 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. 2549 และเผยแพร่วันที่ 11 ต.ค. 2549 ผลโพลล์ระบุว่าประชาชนพึงพอใจต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในภาพรวมถึงร้อยละ 64.8
7. เอแบคโพลล์ : อารมณ์ความรู้สึกเบื้องต้นของสาธารณชนต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ เปรียบเทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และชลบุรี จำนวน 1,864 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 ต.ค. 2549 และเปิดเผยผลสำรวจในวันที่ 30 ต.ค. 2549 ผลโพลล์ระบุว่าภาพลักษณ์เบื้องต้นระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ระบุภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เช่น ร้อยละ 65.1 ระบุความเป็นที่ไว้วางใจได้ ร้อยละ 63.2 ระบุด้านคุณธรรม เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 60.2 ให้ความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยังมีภาพลักษณ์ด้านอื่นๆ ที่ดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้น เช่น การไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ความเอาจริงเอาจังแก้ปัญหา การทุ่มเททำงานหนัก ความรู้ความสามารถ แม้แต่การเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศที่ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนสูงเกินกว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม ด้านที่ได้รับฐานสนับสนุนจากประชาชนต่ำกว่าทุกด้านคือ ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา และภาพลักษณ์ของคนแวดล้อมใกล้ชิดที่ต้องระมัดระวัง เมื่อสอบถามถึงภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีชุดของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เปรียบเทียบกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่า ประชาชนเกินกว่าร้อยละ 50 ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของ พล.อ.สุรยุทธ์ มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในเรื่องของการไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องมีคนห้อมล้อมมากมาย ไม่ต้องมีรถนำขบวนมากมาย และเป็นคนดีมีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม ที่ยังไม่ถึงร้อยละ 50 คือเรื่องการไม่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและพวกพ้องและความรวดเร็วเข้าถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ช่วงก่อนการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2550
8. รามคำแหงโพลล์ : "ประชาพิจารณ์ ประชามติ กับความเข้าใจของประชาชนในภูมิภาค" ศูนย์ประชามติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงสำรวจความเข้าใจของประชาชนจำนวน 2,280 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-27 มิ.ย. 2550 และเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าร้อยละ 51.3 เข้าใจความหมายของ 'ประชาพิจารณ์' อย่างถูกต้อง ร้อยละ 48.7 เข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจ โดยคนภาคใต้และภาคตะวันออกเข้าใจมากกว่าคนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ผู้ชายเข้าใจมากกว่าผู้หญิง แต่คำว่า 'ประชามติ' มีผู้เข้าใจความหมายถูกต้องเพียงร้อยละ 38.2 เข้าใจผิดถึงร้อยละ 61.8 โดยร้อยละ 73.7 ของคนภาคกลาง ร้อยละ 69.8 ของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 66.2ของคนภาคเหนือ ร้อยละ 52.5 ของคนภาคใต้ และร้อยละ 40.0 ของคนภาคตะวันออกเข้าใจผิด ผู้หญิงเข้าใจผิดมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ ร้อยละ 65.8 ยังไม่เข้าใจว่าประชาพิจารณ์และประชามติเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองอย่างไร โดยร้อยละ 74.6 ของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 73.7 ของคนภาคกลาง ร้อยละ 67.7 ของคนภาคเหนือ ร้อยละ 55.7 ของคนภาคใต้ และร้อยละ 55.0 ของคนภาคตะวันออกไม่เข้าใจ ผู้หญิงไม่เข้าใจมากกว่าผู้ชาย
9. สวนดุสิตโพลล์ : "ประชาชน" กับ "การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ" สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 27 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 4,739 ตัวอย่าง (กทม. 1,214 คน ร้อยละ 25.62 ต่างจังหวัด 3,525 คน ร้อยละ 74.38) ระหว่างวันที่ 1 – 8 ก.ค. 2550 และเปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2550 โดยผลโพลล์ระบุว่าประชาชนค่อยข้างสนใจการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ร้อยละ 33.13 และมองว่าจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญในสายตาประชาชนที่สนใจการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ มีการระดมความคิดเห็นหลากหลาย/มีผู้รู้ผู้ทรงคุณวุฒิรวมร่างร้อยละ 34.16 มองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างจริงจัง/ใส่ใจประชาชน ร้อยละ 28.63
10. รามคำแหงโพลล์ : การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550: ควรเห็นชอบหรือไม่ ศูนย์ประชามติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,375 ตัวอย่าง เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2550 โดยผลโพลล์ระบุว่าประชาชนร้อยละ 53.5 คิดว่าควรเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ร้อยละ 39.0 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 7.5 เห็นว่าไม่ควร
11. เอแบคโพลล์ : ความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ศูนย์วิจัยเอแบค สำรวจความเห็นประชาชน 3,146 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-14 ก.ค. 2550 เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2550 โดยผลโพลล์ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.1 เห็นด้วยกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในภาพรวม ในขณะที่ร้อยละ 22.9 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 20.0 ไม่มีความเห็น โดยกลุ่มพลังเงียบเกินครึ่งและแม้แต่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลเกินกว่า 1 ใน 4 ก็ยังเห็นด้วยกับภาพรวมของสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
12. ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์ : รัฐธรรมนูญกับสถานการณ์บ้านเมือง ศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 1,525 ตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าในการไปใช้สิทธิ์ลงประชามติในการรับร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 19 ส.ค. 2550 นั้นวัยรุ่นร้อยละ 88.0 จะไปใช้สิทธิ์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 79.3 จะใช้สิทธิ์เห็นชอบ และร้อยละ 20.7 ไม่เห็นชอบ
13. สวนดุสิตโพลล์ : ความคิดเห็นของประชาชนกับ "การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550" สวนดุสิตโพลล์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศที่มีสิทธิลงประชามติ จำนวน 4,536 คน (กรุงเทพฯ 1,015 คน ร้อยละ 22.38 ต่างจังหวัด 3,521 คน ร้อยละ 77.62) ระหว่างวันที่ 16-22 ก.ค. 2550 เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2550 สรุปผลได้ดังนี้ ประชาชนจะรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ถึงร้อยละ 55.72 ส่วนที่ไม่รับร่างมีเพียงร้อยละ 14.92
14. กรุงเทพโพลล์ : ประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 50 ในสายตาประชาชน ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สำรวจความเห็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ในทุกภาคของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี จำนวน 1,095 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่วันที่ 25-30 ก.ค. 2550 เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าความเห็นของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวม สำหรับการออกเสียงลงประชามติว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีร้อยละ 34.8 ไม่เห็นชอบร้อยละ 10.0
15. รามคำแหงโพลล์ : การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ: ควรเห็นชอบหรือไม่” (สำรวจครั้งที่ 3) ศูนย์ประชามติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 2,316 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 10-13 ส.ค. 2550 เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2550 ระบุว่าคะแนนเสียงเห็นชอบลดลงจากร้อยละ 55.9 เป็นร้อยละ 47.6 กลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.8 เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2550 เป็นร้อยละ 39.7 และกลุ่มที่ตัดสินใจไม่เห็นชอบเพิ่มจากร้อยละ 7.5 เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2550 เป็นร้อยละ 9.4 และ 12.6 ตามลำดับ คนภาคใต้มีแนวโน้มจะเห็นชอบเกินร้อยละ 60.0 แต่คนภาคอื่นมีแนวโน้มจะเห็นชอบประมาณร้อยละ 38.8-44.5 ยังไม่แน่ใจประมาณร้อยละ 34.6-45.9 ส่วนกลุ่มที่ตัดสินใจว่าจะไม่เห็นชอบมากที่สุดคือคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 19.1 รองลงมาคือคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 15.3 คนภาคเหนือร้อยละ 12.2 คนภาคกลางและตะวันออกร้อยละ 10.8 โดยผู้มีสิทธิ์ในภาคเหนือร้อยละ 73.6 ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 70.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 58.2 ภาคกลางและภาคตะวันออกร้อยละ 56.0 และภาคใต้ร้อยละ 39.6 จะไปลงประชามติ
ช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2550
16. สวนดุสิตโพลล์ : ผู้สมัคร ส.ส.” แบบไหน? “พรรคการเมือง” แบบใด? ที่ “คนไทย” อยากเลือก สวนดุสิตโพลล์ สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งกระจายตามจังหวัดที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,884 คน (กรุงเทพฯ 879 คน ร้อยละ 46.66 ต่างจังหวัด 1,005 คน ร้อยละ 53.34) ระหว่างวันที่ 17-21 ตุ.ค. 2550 เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2550 ผลโพลล์ระบุว่านักการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษอันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 41.54 อันดับ 2 นายบรรหาร ศิลปะอาชา ร้อยละ 21.36 อันดับ 3 นายสมัคร สุนทรเวช ร้อยละ 17.95
17. สวนดุสิตโพลล์ : ความนิยมต่อพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สวนดุสิตโพลล์สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 4,410 คน (กทม. 1,217 คน ร้อยละ 27.60 ต่างจังหวัด 3,193 คน ร้อยละ 72.40) ระหว่างวันที่ 1-10 พ.ย. 2550 เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2550 โดยผลโพลล์ระบุว่าความนิยมต่อพรรคการเมืองสำคัญ อันดับ 1 พรรคพลังประชาชนได้รับความนิยมใน กทม. ร้อยละ 30.77 ในต่างจังหวัดร้อยละ 38.74 ในภาพรวมร้อยละ 38.58 อันดับ 2 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมใน กทม. ร้อยละ 46.15 ในต่างจังหวัดร้อยละ 28.29 ในภาพรวมร้อยละ 32.29
18. รามคำแหงโพลล์ : ความเชื่อเรื่องตัวเลขกับความรู้ด้านการเลือกตั้ง ศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 1,464 คน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2550 เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าพรรคการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบในปัจจุบัน อันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 52.0 อันดับ 2 พรรคพลังประชาชนร้อยละ 13.5
19. ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์ : คนกรุงเทพฯ กว่าครึ่งยกให้อภิสิทธิ์เป็นนายก และเกินครึ่งคิดว่านายกอาจจะไม่ใช่หัวหน้าพรรคก็ได้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 1,575 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 4-5 พ.ย. 2550 เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 52.2 อันดับ 2 นายสมัคร สุนทรเวช ร้อยละ 14.7
20. กรุงเทพโพลล์ : คนไทยกับการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ เก็บข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน 16 จังหวัดจากทั้ง 8 กลุ่มจังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พะเยา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี พัทลุง และสงขลา ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,507 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อวันที่ 16-19 พ.ย. 2550 เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2550 ผลโพลล์ระบุว่า พรรคการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะเลือกในระบบสัดส่วน อันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 43.5 อันดับ 2 พรรคพลังประชาชน ร้อยละ 24.8 หัวหน้าพรรคการเมืองที่คิดว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุด อันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 46.4 อันดับ 2 นายสมัคร สุนทรเวช ร้อยละ 22.9
21. เอแบคโพลล์ : สำรวจความตื่นตัวในการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนและบทบาทของแกนนำชุมชนในการเลือกตั้ง 2550 ศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างประชาชนจำนวน 7,589 ตัวอย่าง และแกนนำชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 2,109 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 9,698 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. - 5 ธ.ค. 2550 เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าพรรคพลังประชาชนคาดว่าจะได้ 39 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 33 ที่นั่ง และพรรคอื่น ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาและพรรคประชาราช เป็นต้นจะได้ 8 ที่นั่ง โดยมีค่าบวกลบความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 5 ที่นั่ง
22. กรุงเทพโพลล์ : คนไทยกับการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม (สำรวจครั้งที่ 2) ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์เก็บข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน 16 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี เชียงใหม่ แพร่ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา จันทบุรี ราชบุรี นครปฐม นครศรีธรรมราช และสตูล ตัวอย่างจำนวน 1,472 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อวันที่ 4-10 ธ.ค. 2550 เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2550 ผลโพลล์ระบุว่าพรรคการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะเลือกในระบบสัดส่วน อันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 34.2 อันดับ 2 พรรคพลังประชาชน ร้อยละ 31.9 หัวหน้าพรรคการเมืองที่คิดว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุด อันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 34.8 อันดับ 2 นายสมัคร สุนทรเวช ร้อยละ 28.0
อ่าน 'จับตา': “ดูผลสำรวจ ‘นิด้าโพลล์’ ลงประชามติ ‘รับ-ไม่รับ’ รธน. 7 ส.ค."
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ