บอร์ด สสวท. มีมติให้เปิดเสรีในการผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือเรียนและสื่อหลักอื่น ๆ ของ สสวท.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
25 ม.ค. 2559 เว็บไซต์สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย รายงานว่าตามที่คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ บอร์ด สสวท. มีมติให้เปิดเสรีในการผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือเรียนและสื่อหลักอื่น ๆ ของ สสวท.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้สัมภาษณ์ว่า มติดังกล่าว ไม่ได้มีเป้าหมายและต้องการปิดกั้นองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ในการยื่นเสนอตัวเพื่อรับพิมพ์หนังสือของ สสวท. แต่ยังคงสามารถยื่นข้อเสนอเพื่อทำการจัดพิมพ์แข่งขันกับสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์อื่นๆ ได้เหมือนเดิม
การเปิดเสรีการจัดพิมพ์หนังสือนั้น ทางคณะกรรมการฯ สสวท.มองว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่ายไม่เฉพาะ สสวท.เท่านั้น เพราะที่ผ่านมามีเสียงบ่นจากนักเรียนและผู้ปกครองว่า หาซื้อหนังสือไปเรียนตอนเปิดเทอมไม่ได้ จะมีหนังสือออกมาก็เกือบปลายเทอมแล้ว ซึ่งเป็นการเสียประโยชน์แก่เยาวชนของชาติอย่างมาก
“ขอยืนยันว่า การเปิดเสรีการพิมพ์หนังสือของ สสวท. ไม่ได้ตัดองค์การค้าฯ ออกไป องค์การค้าฯยังเป็นพันธมิตรของ สสวท.อยู่ และสามารถเข้ามายื่นแข่งขันได้ตามกติกา เช่นเดียวกันสำนักพิมพ์เอกชนอื่นๆ ที่คิดว่ามีความพร้อม โดยต้องเข้ามาตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขณะนี้สสวท. กำลังเตรียมทำรายละเอียดขอบข่ายการจัดจ้าง หรือ ทีโออาร์ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมกำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีการล็อกสเปกให้สำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน”
หน้าที่ สสวท.นอกจากผลิตตำราที่ดีมีคุณภาพเหมาะกับเยาวชนไทยแล้ว ยังมีหน้าที่ผลักดันให้หนังสือออกมาทันเปิดเทอม เพื่อให้ครูและนักเรียนมีหนังสือใช้ในการเรียนการสอนอย่างทั่วถึง ส่วนใครจะได้เป็นผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายขึ้นอยู่กับความพร้อมและศักยภาพของสำนักพิมพ์นั้นๆ แต่ต้องเข้ามาแข่งขันตามกติกาด้วย
ดร.พรพรรณ กล่าวว่า สำหรับราคาหนังสือที่เกรงว่าจะมีการปรับขึ้น เนื่องจาก สสวท.จะปรับค่าลิขสิทธิ์นั้นเรื่องการควบคุมราคาเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องดูถึงความควรหรือไม่ควร และเป็นธรรมกับผู้พิมพ์หรือไม่ รวมถึงต้องดูผลกระทบที่จะเกิดกับผู้เรียนด้วย แต่ที่ สสวท.ต้องปรับค่าลิขสิทธิ์ก็เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กับ สสวท.เพราะหนังสือเรียนของ สพฐ. และ สสวท. ต่างก็เป็นสื่อหลักเหมือนกัน ค่าลิขสิทธิ์ก็ต้องปรับให้เท่าเทียมกัน แต่ที่ผ่านมาค่าลิขสิทธิ์ของ สสวท.ได้ต่ำมาก และเป็นเช่นนี้มาต่อเนื่องกันกว่า 40 กว่าปีแล้ว”
ทางด้านนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จรัญ หอมเทียนทอง แสดงความคิดเห็นในรายงานชื่อว่า 'นานาทัศนะ สสวท. เปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายตำราเรียน' ในเว็บไซต์ของสมาคมการพิมพ์ไทยว่า การที่ สสวท. มีมติดังกล่าวออกมาถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะการจัดพิมพ์หนังสือเรียนต้องเปิดเสรีในการพิมพ์
"ในแง่ของสำนักพิมพ์เอกชน ถือว่าเป็นข่าวดีที่จะได้มีโอกาสเข้ามาสู่การแข่งขัน อีกทั้งเป็นผลดีกับนักเรียนด้วย เนื่องจากทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องเด็กมีหนังสือเรียนไม่ครบ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทราบกันดีคือ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) พิมพ์หนังสือได้ไม่ครบตามจำนวนบ้าง พิมพ์ไม่ทันบ้าง และบางส่วนก็ไม่ได้พิมพ์เอง ที่ผ่านมามีข่าวเด็กไม่มีหนังสือเรียนแทบทุกปี บางโรงเรียนต้องเอาหนังสือเก่าไปถ่ายเอกสารให้เด็กเรียน"
ทางด้าน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ในที่เดียวกันว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับมติดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
"มองว่าเป็นมาตรการเชิงบวกที่จะกระตุ้นให้องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือของ สสวท. รู้ว่า ถ้าไม่แก้ไขปัญหาเรื่องการผลิตล่าช้า ก็จะเสียโอกาสในส่วนของงานพิมพ์"
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ