กงสุลไทยในกว่างโจวยกคณะดูสวนกล้วยนายทุนจีนในเชียงรายของบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เนื้อที่กว้าง 2,750 ไร่ ติดถนนสายพญาเม็งราย-เทิง พบปลูกกล้วยแล้วกว่า 800,000 ต้น ส่งผลผลิตไปประเทศจีนผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้าถนนอาร์สามเอ ไทย-สปป.ลาว-มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ แล้วกว่า 300 ตัน (ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
25 พ.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าดร.สมิท ธรรมเชื้อ กงสุลประเทศไทยประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว (ฝ่ายเกษตร) สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยนายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย ได้นำคณะตัวแทนการค้าจากนครกว่างโจว และเจ้าหน้าที่การเกษตรของไทยเข้าศึกษาดูงานพื้นที่สวนกล้วยบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เนื้อที่กว้าง 2,750 ไร่ ติดถนนสายพญาเม็งราย-เทิง ทางไปบ้านหนองบัวคำ ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย เมื่อเร็วๆ นี้
ภายหลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดกรณีร้องเรียนเรื่องสวนกล้วยจีนแย่งน้ำ และข้อวิตกกังวลเรื่องการใช้สารเคมีสวนกล้วย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับสวนกล้วยกลุ่มทุนจีนใน สปป.ลาว จนต้องมีการตรวจสอบกันพักใหญ่
โดยพบว่าขณะนี้สวนกล้วยบริษัทหงต๋าฯ แห่งนี้ปลูกกล้วยแล้วกว่า 800,000 ต้น ส่งผลผลิตไปประเทศจีนผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้าถนนอาร์สามเอ ไทย-สปป.ลาว-มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ แล้วกว่า 300 ตัน
คณะ ดร.สมิทยังได้ลงพื้นที่ตรวจดูสภาพสวน และการดำเนินการภายในโรงงานบรรจุกล้วย รวมทั้งได้พูดคุยกับคนงานที่เป็นคนไทย และรับจ้างดูแลผลผลิตอยู่ภายในสวน รวมทั้งได้พูดคุยสอบถามข้อมูลจากตัวแทนกลุ่มทุนจีนด้วย
ดร.สมิทกล่าวว่า มาดูสวนกล้วยจีน เพราะมีกระแสข่าวการปลูกกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศมีผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการใช้สารเคมี จนทำให้ลงแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ปลาตาย ฯลฯ รวมทั้งศึกษาปัญหาการขนส่งสินค้าเส้นทางสายอาร์สามเอ เพื่อจะได้นำอุปสรรคต่างๆ ที่ได้ไปเสนอ และร่วมแก้ไขปัญหากับฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าเกษตรจากประเทศโดยเฉพาะผลไม้ด้วย
“จีนถือเป็นตลาดรองรับสินค้าเกษตรและอาหารตลาดใหญ่ของไทย การมาดูสวนกล้วยดังกล่าวก็เพื่อจะได้ดูขั้นตอนการปลูกกล้วยหอม และการใช้สารเคมีเพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งก็พบว่าสวนแห่งนี้ไม่ได้มีสารเคมีเป็นอันตรายดังที่เป็นข่าวใน สปป.ลาว เพราะกล้วยหอมที่ปลูกในไทยน่ารับประทาน และมีความปลอดภัย เชื่อว่าการส่งออกกล้วยหอมไปจนถึงผลไมอื่น เช่น ทุเรียน มังคุด ฯลฯ รวมทั้งข้าวหอมมะลิสามารถพัฒนาให้เกิดการขยายตัวเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นได้ต่อไป” ดร.สมิทกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ