มาเลเซีย
ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง / ขณะนี้กำลังเกิดกระแสความเป็นชนพื้นเมือง และความเป็นเอกภาพในประเทศมาเลเซีย ส่งผลไปถึงสถานการณ์ทางประชาธิปไตยที่เสื่อมถอยลงอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการประท้วงหลังเกิดประเด็นข่าวอื้อฉาวการคอรัปชั่นโครงการ 1MDB ของ Najib Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในมาเลเซียออกมาวิพากษ์การทำงานของนายกรัฐมนตรี จนถึงขั้นประท้วงให้ลาออก ด้านผู้นำศาสนาอิสลามในมาเลเซียออกมาแถลงประนามกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่นอกเหนือจากชาวมลายู และเรียกพรรคการเมืองของชาวจีนว่า "kafir harbi" ซึ่งหมายความว่ากล่มคนที่ไม่ใช่มุสลิมสมควรถูกสังหาร นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ประท้วงที่สำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดงในมาเลเซีย ที่มีจุดมุ่งหมายในการแสดงให้พลเมืองชาวมาเลเซียเห็นว่า “อย่ามายุ่งกับชาวมลายู” (“make it clear to Malaysian citizens, don’t challenge the Malays, don’t touch the Malays.”) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Najib Razak ที่ออกมาแสดงความยินดีกับกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นว่าชาวมลายูที่เคยถ่อมตัว มีความอดทน เอื้อเฟื้อ ขณะนี้กำลังออกมาแสดงความเย่อหยิ่ง และมีความอนุรักษ์นิยมที่สูงมาก ลิงค์ข่าว
กัมพูชา
กัมพูชาจำคุก 4 นักเคลื่อนไหวหญิง 6 เดือน / ศาลกัมพูชาในพนมเปญลงโทษนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดินหญิง 4 คน ฐานหมิ่นประมาทและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงาน ระหว่างการร่วมประท้วง ปิดถนน ดูหมิ่น และทำร้ายเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ 2 คนได้รับบาดเจ็บเมื่อปี 2554 โดยศาลพิพากษาว่านางเทพ วันนี นางเฮง มัม นางคง จันทา และนางโบ ชอร์วี มีความผิดในการประท้วงเมื่อเดือน พ.ย. 2554 ที่กลายเป็นเหตุรุนแรง มีโทษจำคุก 6 เดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ยินคำพิพากษา จำเลยทั้ง 4 ต่างตะโกนว่า ไม่ยุติธรรม พวกเธอต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน ซึ่งนางวันนีและนางจันทากล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์อย่างแน่นอน ส่วนที่นอกศาลมีผู้ประท้วงราว 50 คุนชุมนุมเรียกร้องให้ถอนคดีนี้ไป ขณะที่ตำรวจหลายร้อยนายประจำการเฝ้าดูสถานการณ์อยู่โดยสงบ ขณะที่ ข้อมูลจาก Global Witness ในกรุงลอนดอนรายงานว่า ปีที่แล้วมีนักรณรงค์เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินเสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ โดยแต่ละสัปดาห์มีผู้ประท้วงต้านบริษัทเกษตร ไม้ และเหมือง เขื่อนเสียชีวิตกว่า 3 คน ลิงค์ข่าว
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์กลับลำ ไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกา / ภายหลังประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ออกมากล่าวปฏิเสธความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกา ในการลาดตระเวณทะเลจีนใต้ และในการต่อต้านกบฏชาวมุสลิมในประเทศ พร้อมกับเสริมว่าจะไม่ปล่อยให้มหาอำนาจต่างประเทศเข้าช่วยลาดตระเวณในบริเวณน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับจีน ล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ นาย Perfecto Yasay กล่าวในเวลาต่อมาว่า ประธานาธิบดี Duterte จะไม่ถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางการทหารกับสหรัฐอเมริกา ด้านโฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาในฟิลิปปินส์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องคำพูดของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แต่อธิบายภาระหน้าที่ของที่ปรึกษาทหารสหรัฐในฟิลิปปินส์ว่า จะทำงานช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในฟิลิปปินส์สืบสวนการลักพาตัว ดำเนินการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ และจัดระบบการสืบสวนอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ลิงค์ข่าว
ปธน.ฟิลิปปินส์เตรียมเยือนญี่ปุ่น หวังเพิ่มความช่วยเหลือกรณีทะเลจีนใต้ / ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์มีแผนที่จะเยือนญี่ปุ่นปลายเดือนตุลาคมเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น โดยทั้งสองได้หารือกันนอกรอบการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีอาเบะได้แจ้งให้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตทราบถึงการตัดสินใจของญี่ปุ่นที่จะจัดหาเรือลาดตระเวนหลายลำและความช่วยเหลืออื่นๆ แก่สำนักงานรักษาความปลอดภัยชายฝั่งของฟิลิปปินส์ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสอดส่องตรวจตรา ทั้งนี้ หากมีการเจรจากันที่กรุงโตเกียว คาดว่าผู้นำทั้งสองจะยืนยันถึงพันธกรณีในการกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นในด้านความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ตามขณะที่จีนเพิ่มความเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้ ผู้นำฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาที่จะไปเยือนจีนก่อนการเยือนญี่ปุ่นด้วย เพื่อพยายามที่จะเริ่มเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ ลิงค์ข่าว
อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียสร้างแหล่งผลิตพลังงานลมใหญ่ที่สุดในประเทศ / อินโดนีเซียเซ็นสัญญาก่อสร้างโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแรงลมใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่เมืองสุราเวสีตอนใต้ โดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2017 โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะประกอบด้วยกังหันลม 21 ตัว ที่กังหันลมแต่ละตัวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 2.5 เมกะวัตต์ (MW) อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียวางเป้าจะเพิ่มการใช้พลังงานงานทดแทนให้ถึง 23 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 35,000 MW ขณะที่ปัจจุบันมีการผลิตได้ถึง 5-6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบริษัท Vestas Wind System ที่รับผิดชอบในการก่อสร้างครั้งนี้คือบริษัทจากประเทศเดนมาร์ก ลิงค์ข่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ