สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 12 - 25 ธ.ค. 2559

25 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2473 ครั้ง


	สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 12 - 25 ธ.ค. 2559

ฟิลิปปินส์

เหยื่อไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในฟิลิปปินส์ยังไร้ที่อยู่หลังผ่านสามปี / ในเดือนพฤศจิกายนปี 2013 พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำลายบ้านเรือนกว่า 1.1 ล้านหลังและคร่าชีวิตกว่า 6,340 คนในประเทศฟิลิปปินส์ รัฐบาลในขณะนั้นนำโดยประธานาธิบดี Benigno Aquino III ให้คำสัญญาว่าจะสร้างบ้าน 205,000 หลังให้ผู้รอดชีวิตจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณเขตอันตราย Balinda แต่หนึ่งในผู้รอดชีวิตยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านไม้ที่สร้างขึ้นชั่วคราวบนเกาะ Leyte โดยกล่าวว่าเธอรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้ง ทุกคนลืมไปแล้วว่าเราต้องการความช่วยเหลือ Leni Robredo รองประธานาธิบดีคนใหม่เผยว่ามีบ้านแค่ 25,000 หลังหรือประมาณร้อยละ 10 เท่านั้นที่รัฐบาลก่อนหน้านี้สร้างใหม่และมีผู้อาศัย ด้าน Joyce Sierra เจ้าหน้าที่กลุ่ม Social Watch Philippines เผยว่าผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติรู้สึกหงุดหงิดกับการรอคอยความช่วยเหลือ และทำให้พวกเขาส่วนใหญ่กลับไปอาศัยในพื้นที่เดิมที่ไม่ควรอยู่ นอกจากนี้เขาเห็นว่าผู้รอดชีวิตอ่อนแอลงจากก่อนที่โดนกระทบจากไต้ฝุ่น เนื่องจากตอนนี้การประกอบอาชีพและที่อยู่อาศัยขาดแคลน แม้ว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้เป็นความล้มเหลวจากรัฐบาล Aquino แต่ตอนนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลปัจจุบันที่จะต้องเข้ามาคิดแก้ปัญหานี้ ลิงค์ข่าว

จับตาฟิลิปปินส์ 'ประธานอาเซียน 2560' กับข้อพิพาททะเลจีนใต้ / ฟิลิปปินส์จะก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานสมาคมอาเซียนในปี 2560 ขณะที่ประเด็นการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ยังคงเป็นที่จับตามอง โดยขณะนี้ทั้งบรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีกรณีพิพาทกับจีนเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้เช่นกัน ซึ่งจีนกล่าวอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ราวร้อยละ 90 ของผืนทะเล อย่างไรก็ตาม ท่าทีของแต่ละประเทศที่มีกรณีพิพาทกับจีนแตกต่างกันไป เช่น เวียดนามมักจะแสดงทัศนะในเรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง ขณะที่บรูไนและมาเลเซียยังสงวนท่าที ส่วนรัฐบาลชุดก่อนของฟิลิปปินส์นั้นได้นำกรณีพิพาทกับจีนเข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้แสดงทีท่าว่าตนต้องการญาติดีกับจีน ด้าน Jonathan Spangler จาก South China Sea Think Tank เผยว่าตั้งแต่ปี 2556 ประธานของอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับความพยายามรักษาเอกภาพของกลุ่ม และหลีกเลี่ยงการทำให้จีนไม่พอใจ และว่าถึงแม้ฟิลิปปินส์จะพยายามส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียน ในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าฟิลิปปินส์คงจะไม่ยอมสละความเป็นเอกภาพของอาเซียนเพื่อแลกกับเป้าหมายเรื่องนี้ ลิงค์ข่าว

กัมพูชา

จี้บังคับใช้กม.เข้ม หลังปัญหาค้ามนุษย์กัมพูชายังไม่คืบ / นาย Sar Kheng รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์เผยว่าทางการกัมพูชาเผยต้องบังคับกฎหมายเข้มกว่าเดิมในปีหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาค้ามนุษย์แย่ไปกว่านี้ เนื่องจากปีนี้ปัญหาค้ามนุษย์ในกัมพูชายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านนาย Vong Soth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมเผยว่า ขณะนี้เหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ 202 คนจากประเทศไทยและเวียดนามกำลังได้รับความช่วยเหลือ และกัมพูชากำลังสร้างศูนย์พักพิงเหยื่อค้ามนุษย์ในเมือง Poipet เพื่อช่วยเหลือเหยื่อในอนาคตต่อไป อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญคืองบประมาณที่จำกัดและเหยื่อเหล่านี้หมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่องค์กร NGO ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแรงงานเผยว่ารัฐบาลตอบโต้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ช้าเกินไปและกระตุ้นให้รัฐหาวิธีเยียวยาเหยื่อที่หวาดกลัวรวมถึงดูแลครอบครัวของเหยื่อ ลิงค์ข่าว

อินโดนีเซีย

เฝ้าระวังสื่อออนไลน์หลังกระแส'ข่าวปลอม'ระบาดทั่วอินโดนีเซีย / เมื่อเดือนที่แล้ว มีข่าวปลอมระบาดทั่วอินโดนีเซียว่าแกนนำกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง Islamic Defenders Front หรือ FPI ถูกทำร้ายโดยกองทัพรัฐบาล และต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และแม้เมื่อประชาชนทราบความเป็นจริงแล้ว แต่ยังมีคนจำนวนนับพันที่เชื่อว่านาย Habib Rezieq ถูกทำร้ายจริง เพราะมีคนเผยแพร่เรื่องนี้อย่างกว้างขวางก่อนการชุมนุมประท้วงผู้ว่าการกรุงจาการ์ต้า ซึ่งเป็นผู้มีเชื้อสายจีน และถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียแกะรอยที่มาของข่าวปลอมและพบว่ามีต้นตออยู่สหรัฐฯ แต่ไม่ได้ปักใจว่าเป็นฝีมือของขบวนการต่างประเทศที่ต้องการสร้างความวุ่นวายในอินโดนีเซีย ด้าน Damar Juniarto ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Digital Democracy Forum เผยว่าข่าวปลอมเรื่องการทำร้ายนาย Rezieq มีเนื้อหาวกไปวนมา และถูกเผยแพร่เป็นโฆษณาล่อให้คนกดคลิ้กเข้าไปในเว็บไซต์ ซึ่งควรมองเรื่องข่าวปลอมในบริบททางสังคมมากกว่าด้านเทคโนโลยี เพราะวิธีนี้จะช่วยทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่า เหตุใดคนจึงเชื่อข้อมูลเท็จมากกว่ารายงานของสำนักข่าวที่เป็นที่รู้จักมานาน? ลิงค์ข่าว

พม่า

พม่าเดินหน้าผลิตสินค้าส่งออกแม้มีอุปสรรคปัญหาแรงงาน / รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการผลักดันภาคการผลิต โดยนโยบายสำคัญคือการสร้างภาคแรงงานให้ตอบรับกับกิจกรรมการผลิตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ง่าย เพราะก่อนการเปิดประเทศไม่นานนี้ การศึกษาและโอกาสด้านอาชีพของชาวพม่าถูกบั่นทอนภายใต้รัฐบาลทหารที่กุมอำนาจมายาวนาน 50 ปี อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจส่งออกของพม่าเติบโตสองเท่าจนมีขนาด 1,100 ล้านดอลลาร์ และมีการจ้างงาน 380,000 คนภายในประเทศ ด้านสมาคมผู้ผลิตสินค้าเครื่องนุ่มห่มของพม่าประเมินว่า จะสามารถเพิ่มการจ้างงานเป็น 1 ล้าน 5 แสนคน ภายใน 8 ปีจากนี้ นาย Khine Khine Nwe เลขาธิการของสมาคมเผยว่า ภาคการผลิตสินค้าเครื่องนุ่มห่มมีโอกาสเติบโตมากที่สุดเพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนและจากต่างประเทศด้วย ลิงค์ข่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: