ตรวจสอบ ‘มาตรา 116’ แด่ความมั่นคง หรือผลประโยชน์ทางการเมือง ?

วีรวรรธน์ สมนึก : TCIJ School รุ่น 3 : 25 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 5868 ครั้ง

รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 116

“มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

มาตรา 116 เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จะเห็นได้ว่า มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด “การทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น” หมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือ สำหรับยุคที่มีรัฐธรรมนูญ หากเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขึ้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 และที่สำคัญเมื่อกฎหมายนี้อยู่ในหมวด “ความมั่นคง” การกระทำที่จะถือว่าผิดมาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงด้วย 

สำหรับการเรียกร้องต่อสาธารณะให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล หรือผู้นำประเทศ หากเป็นการเรียกร้องโดยสันติวิธี ไม่มีการใช้กำลังเข้าบังคับ ก็ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 116 (1)

ประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้ตั้งชื่อเล่นหรือชื่อเรียก สั้นๆ ให้กับมาตรา 116 เหมือนความผิดฐาน “ลักทรัพย์” “ยักยอกทรัพย์” หรือ “ทำร้ายร่างกาย”  มาตรา 116 จึงถูกเรียกแตกต่างกันไป บางครั้งเรียกว่าความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งเป็นชื่อไม่เป็นทางการที่พอจะอธิบายลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับสมบูรณ์นัก

เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ความผิดในลักษณะนี้หลายประเทศเรียกว่า Sedition Law ซึ่งบางประเทศก็เขียนไว้ในกฎหมายอาญาเหมือนกับไทย บางประเทศก็กำหนดไว้ในกฎหมายพิเศษต่างหาก

ก่อนรัฐประหาร 2557 มาตรา 116 ถูกใช้ไม่บ่อย-ใช้ไม่ได้ผล

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ( iLaw)   ติดตามบันทึกข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2553 หากนับถึงช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557   พบการดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 4 คดี คือ

คดี ‘ปีนสภาสนช.’ เมื่อปี 2550  ซึ่งเอ็นจีโอ 10 คนตกเป็นจำเลยจากการปีนรั้วเข้าไปหยุดยั้งการพิจารณา กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานบุกรุก แต่ให้ยกฟ้องข้อหามาตรา 116  เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นตาม รัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

คดี ‘ดีเจหนึ่ง’ หรือจักรพันธ์  ประกาศผ่านรายการวิทยุให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในช่วงเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552  ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่ไปปิดถนนเป็นคนที่ฟังรายการของจำเลย อีกทั้ง การลงโทษทางอาญาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา 

คดี ‘เคทอง’ หรือ พรวัฒน์  อัดรายการในแคมฟร็อก  ทำนายว่าจะมีเหตุระเบิดในกรุงเทพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปรับฟังแล้วย่อมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ไม่ได้มีข้อความใดๆ ในทำนองยุยงส่งเสริมหรือปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วน  

คดี ‘สมชาย ไพบูลย์’  ส.ข.พรรคเพื่อไทย ปราศรัยที่แยกผ่านฟ้าระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้มีความผิดตามมาตรา 116 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อหามาตรา 116  กับเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หลังโพสต์ข่าวลือการรัฐประหารใน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงเฟซบุ๊ก ในเดือนสิงหาคม 2556, พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย แกนนำกลุ่มพิทักษ์สยาม จากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555, และอนุวัฒน์ แกนนำ นปช.โคราช จากการปราศรัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เรื่องการแบ่งแยกประเทศ  ซึ่งทั้งสามกรณียังไม่มีรายงานความคืบหน้าในทางคดี

ปรากฎการณ์บังคับใช้มาตรา 116 หลังรัฐประหาร 2557

หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557  มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มี ความเห็นต่างทางการเมืองจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 47 คน

บางคดีกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมากว่า ความมั่นคงของรัฐที่ถูกอ้างในตัวบทกฎหมาย สุดท้ายความมั่นคงไปผูดขาดที่ตัวผู้นำประเทศ หรือกลุ่มผู้นำประเทศหรือไม่   รายงานพิเศษชิ้นนี้จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า ความมั่นของรัฐที่บังคับใช้กับคนกระทำผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องนั้น แท้จริงถูกใช้คุ้มครองใคร ? หรือถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างไรบ้าง ?

‘รินดา’ หมิ่นประมาทบุคคล ไฉนเป็นข้อหา’ยุยงปลุกปั่น’

รินดา หรือหลิน ขณะถูกจับกุมอายุ 44 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว เธอถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความลงใน    เฟซบุ๊ก ชื่อ "รินดา พรศิริพิทักษ์"  เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 (ก่อนได้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในภายหลัง)  ข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่แชร์ต่อกันในสื่อออนไลน์ เรียกร้องให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ช่วยกัน สกัดการโอนเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ได้มาโดยมิชอบ และจะโอนผ่านการเปิดบัญชีย่อยๆ หลายบัญชีกับธนาคารกสิกร ไทย (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/682)

ตอนหนึ่งในคำร้องขอฝากขังที่พนักงานสอบสวนยื่นต่อศาลทหารระบุว่า ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นเท็จให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าโยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ผ่านทางเฟซบุ๊ก

“เฟซบุ๊กที่ใช้โพสต์ข้อความเปิดสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อความที่เจ้าของเฟซบุ๊กโพสต์และสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ และหากหลงเชื่ออาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบใประเทศ"

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่าย เป็นความผิดฐานยุงยงปลุกปั่น และ ฐานปล่อยข่าวลือเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 384 และ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2)

ในชั้นสอบคำให้การ  ธันวาคม 2558 ศาลขึ้นบัลลังค์โดยยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร  แต่อ่านคำฟ้องของโจท์ และศาลพิเคราะห์แล้วเห็นเองว่า จากข้อความ "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท " ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328  ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม  ความเห็นศาลอาญาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ภาพรินดา ขณะถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ
ที่มาภาพ : iLaw

อีกคดีที่น่าฉงน ‘จุฑาทิพย์’ วิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์

24 พฤศจิกายน 2558 เวลาประมาณ 18.49 น  ‘จุฑาทิพย์’ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ ‘เจนนี่เจนนี่’ ว่า "วงในว่ามาน่ะ ...." รอยร้าวเริ่มปริ เริ่มเห็นชัดเมื่อพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิทย์สั่งให้จับตาสองคีย์แมนทหาร "วงศ์เทวัญ" พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อสัญญาณจากพลเอกเปรมบอกให้ล้มรัฐบาลหมิ่นสถาบัน  พลโทอภิรัชต์ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่จงรักภักดีต่อสถาบันมากที่สุด ถึงกับทนไม่ไหวต่อการกระทำเรียกกินหัวคิวและส่วนต่างในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ อันตรายมากสำหรับ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิทย์ เมื่อข่าวว่าอาทิตย์ที่ผ่านมานี้พลเอกเปรมได้เรียกพลเอกอุดมเดชเข้าไปพบ เพื่อสอบถามเรื่องต่างๆ จนมีข่าวทุจริตอุทยานราชภักดิ์แพร่ไปทั่ว พลเอกอุดมเดชซัดทอดถึงต้นตอทั้งหมดคือ พลเอกประวิตร ตั้งแต่เริ่มงานรับเหมา การคัดเลือกบริษัทก่อสร้าง ช.การช่างงานปั้น ตลอดไปจนถึงสิ่งของ และรับเงินบริจาคทุกรายการ” (freedom.ilaw.or.th/case/707)

ในคำร้องของเจ้าหน้าที่ เขียนว่าการกระทำของจุฑาทิพย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  116 (2) และผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (3) (5)

ชั้นฟังคำสั่งอัยการ  เมษายน 2559  อัยการทหารแจ้งคำสั่งว่า หัวหน้าอัยการทหารพิจารณาตรวจสำนวน แล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116  ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ไม่ใช่ความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) ฉบับที่ 37/2557"  ต้องดำเนินคดีในศาลยุติธรรม จึงขอส่งคืนสำนวนคดีนี้ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ข้อหายุยงปลุกปั่นยังถูกใช้ในบริบทอื่นๆ โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนว่า เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล

คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตีคสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่  27 พฤษภาคม 2557  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

คดีของชาวเชียงราย 3 คน ได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 4 ปี  แต่ลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปีเพราะให้การเป็นประโยชน์ และรอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 5 ปี

คดีของชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน จากการชุมนุมต่อต้านคสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบสวน

การตั้งข้อหาด้วยมาตรา 116 และดำเนินคดีต่อศาล อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อสังคมโดยตรง แต่หลายกรณีพอเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อยู่ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นในยุคของคสช. พอจะกล่าวได้ดังนี้

ใช้ข้อหาหนักเพื่อขู่ให้กลัว เนื่องจากมาตรา 116 เป็นความผิดในหมวด “ความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ซึ่งถือเป็นข้อหาหนักที่มีโทษสูง เมื่อฝ่ายรัฐนำมาตรา 116 มาใช้กับประชาชน มักจะมีการแถลงข่าวเรื่องการจับกุมและการตั้งข้อหาด้วย ซึ่งไม่ว่าคดีความและผลของคดีจะดำเนินต่อไปอย่างไร ผู้ต้องหาที่ถูกตั้งข้อหาหนักเช่นนี้ ย่อมรู้สึกกลัว เป็นกังวลกับผลคดีของตัวเอง

เพิ่มภาระให้จำเลย ต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัวสูงขึ้น เนื่องจาก มีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ทำให้ตำรวจและอัยการสามารถขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องคดีมีระยะเวลาสูงสุดได้ 48 วัน ในระหว่างการฝากขังนั้น จำเลยต้องยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ต่อศาล ซึ่งศาลมักจะตีราคาหลักทรัพย์ตามอัตราโทษสูงสุดในคดีนั้นๆ

คดีต้องขึ้นศาลทหาร ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีในประมวลกฎหมายอาญาหมวด “ความมั่นคง” และคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคสช. ที่พลเรือนตกเป็นผู้ต้องหาต้องพิจารณาที่ศาลทหาร และต้องต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อยาวนาน

อ่าน 'จับตา': “จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับประชามติ 2559"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6377

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: