๑. ความสำคัญของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญไทย
- สิทธิของพลเมืองในการมีส่วนร่วมในการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐ
- เครื่องมือในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือกำหนดนโยบายของรัฐบาล
- ตัวกลางในการรวบรวมเจตจำนงของประชาชนไปยังผู้ปกครอง และส่งผ่านนโยบายของรัฐไปยังประชาชน
- เป็นเสรีภาพของประชาชนในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ (รธน. ม.๔๕)
- พรรคการเมืองเป็นผู้ส่งสมาชิกของพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง (รธน. ม.๙๗ และ ๑๐๑) ส.ส.ของพรรคการเมืองร่วมในการตรากฎหมาย เสนอและให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี
- พรรคการเมืองเป็นผู้คัดสรรรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (รธน.ม.๘๘)
๒. ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมือง
บุคคลดังต่อไปนี้จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คนอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้
(๑) มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน
(๒) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
๒.๑ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี (คนไทยเท่านั้นที่จะมาขอตั้งพรรคการเมืองได้)
๒.๒ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี (บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถทำนิติกรรมได้)
๒.๓ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๖ หรือมาตรา ๙๘ (๕) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ (ป้องกันมิให้คนไม่ดีเข้ามาใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง)
๒.๔ อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ (ป้องกันมิให้คนไม่ดีเข้ามาใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง)
๒.๕ ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นหรือเป็นผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น (ไม่ให้มีการรับจ้างตั้งพรรคการเมือง)
๓. ทุนประเดิมที่ใช้ในการขอจัดตั้งพรรคการเมือง
ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมืองคนละไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ บาทแต่ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของพรรคการเมือง (ต่อมามีการปรับแก้เป็น ให้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนทุนจัดตั้งพรรคยังยืนยันที่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเดิม)
๔. ก่อนมายื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้ง
ผู้ร่วมกันจัดตั้งต้องประชุมร่วมกันโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คนเพื่อ ...
(๑) กำหนดชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และข้อบังคับ
(๒) เลือกหัวหน้าพรรคการเมืองเหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
(๓) ดำเนินการอื่นอันจำเป็นต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการกำหนด
การประชุมดังกล่าวต้องมีบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร และมติของที่ประชุมให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม โดยผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนซึ่งต้องทำโดยเปิดเผย และการมอบหมายให้ลงคะแนนแทนกันจะกระทำมิได้ (หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน ต้องออกเสียงโดยเปิดเผย ไม่ให้มีโนมินีในการออกเสียง)
๕. ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองต้อง
(๑) ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
(๒) ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๓) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ
(๔) ไม่ซ้ำ พ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่จดทะเบียนหรือที่ยื่นขอจดทะเบียนอยู่ก่อนแล้ว หรือของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและยังไม่พ้นยี่สิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ หรือของพรรคการเมืองที่มีผู้แจ้งว่าจะขอจดทะเบียนไว้แล้ว
๖. คำประกาศอุดมการณ์และนโยบายของพรรคการเมืองต้อง
(๑) ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
(๒) ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๓) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ
๗. ข้อบังคับต้อง
(๑) ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
(๒) ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๓) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ
(๔) ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ
๘. รายละเอียดของข้อบังคับ อย่างน้อยต้องมีรายการดังนี้
(๑) ชื่อและชื่อย่อพรรคการเมือง
(๒) ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
(๓) คำประกาศอุดมการณ์และนโยบายของพรรคการเมือง
(๔) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองซึ่งต้องตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
(๕) โครงสร้างการบริหารพรรคการเมือง และตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคการเมือง
(๖) การเลือกตั้งหรือการให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งการดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่และอำนาจของหัวหน้าพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกคณะกรรมการบริหารและกรรมการบริหารพรรคการเมืองหัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
(๗) การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและการประชุมใหญ่ของสาขาพรรคการเมือง
(๘) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก การรับเข้าเป็นสมาชิกและการพ้นจากการเป็นสมาชิก
(๙) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกความรับผิดชอบของสมาชิกต่อพรรคการเมือง และความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก
(๑๐) มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารและสมาชิกพรรคการเมือง
(๑๑) หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ
(๑๒) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคการเมืองจะส่งรายชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี
(๑๓) การบริหารการเงินทรัพย์สินและการจัดทำบัญชีของพรรคการเมืองสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดซึ่งต้องเป็นไปโดยเปิดเผยและให้สมาชิกตรวจสอบได้โดยสะดวก
(๑๔) รายได้ของพรรคการเมืองการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองซึ่งเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐๐ บาท (เพื่อให้สมาชิกเป็นเจ้าของพรรค และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของพรรค มิใช่สมาชิกแต่ในนาม)
(๑๕) การเลิกพรรคการเมืองสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
ข้อบังคับตาม (๖) (๗) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง (เพื่อให้สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้ใครมาชี้นำ)
๙. การคงสภาพพรรคการเมืองของพรรคการเมืองที่มีสภาพอยู่ก่อน พ.ร.ป.ใช้บังคับ (ม.๑๒๒)
(๑) ส่งสำเนาทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมภายใน ๓๐ วัน
(๒) จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ ประกาศอุดมการณ์ นโยบาย และเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคภายใน ๖๐ วัน (ต้องมีหัวหน้าสาขาพรรค ๔ สาชาและสมาชิกพรรคในจังหวัดต่าง ๆ ตามที่กำหนดด้วย)
(๓) จัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามกฎหมายภายใน ๑๕๐ วัน
(๔) ให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน ๑๘๐ วัน ถ้ามีจำนวนสมาชิกที่ชำระเหลืออยู่ไม่ถึง ๕,๐๐๐ คน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ
(๕) จัดให้มีทุนประเดิม ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือกันเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วเป็นทุนประเดิมก็ได้ภายใน ๑๘๐ วัน
พรรคการเมืองอาจทำหนังสือขอขยายระยะเวลาในการดำเนินการออกไปได้แต่ต้องไม่เกิน ๓ ปี แต่ในระหว่างเวลาที่ยังปฏิบัติไม่ได้ครบถ้วน พรรคการเมืองนั้นไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
๑๐. การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง
(๑) พรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งสมาชิกซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรมเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๒) พรรคการเมืองต้องไม่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน
(๓) ต้องเสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบ
(๔) ต้องเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุ กับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ประกอบกัน
(๕) ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล
(๖) ต้องสร้างเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน
(๗) ห้ามมิให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ขอจัดตั้งพรรค กระทำการในลักษณะที่เป็นการควบคุมครอบงำก้าวก่าย แทรกแซง หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
(๘) ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง (โทษจำคุกตั้งแต่สามปีแต่ไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่การฝ่าฝืนนั้นเป็นการกระทำเพื่อให้ลงหรือขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีแต่ไม่เกินสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทแต่ไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง)
(๙) ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองสนับสนุนหรือส่งเสริมบุคคลใดให้กระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดินหรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ในกรณีที่ศาลมิได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย – เทียบมาจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ และมาตรา ๑๔๙)
(๑๐) ห้ามมิให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใดเพื่อแต่งตั้งหรือสัญญาว่าจะแต่งตั้งหรือเพราะเหตุที่ได้แต่งตั้งให้ผู้นั้นหรือบุคคลใดดำรงตำแหน่งในทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ในกรณีที่ศาลมิได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย – เทียบมาจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ และมาตรา ๑๔๙)
(๑๑) ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือสมาชิก เพื่อจูงใจให้แต่งตั้งตนหรือบุคคลอื่นใดเข้าดำรงตำแหน่งในทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ใช้บังคับแก่คู่สมรสและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือสมาชิกด้วย (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ในกรณีที่ศาลมิได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย – เทียบมาจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ และมาตรา ๑๔๙)
๑๑. ภารกิจของพรรคการเมือง
(๑) ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ม. ๒๐ - ม.๒๓ และมีบทลงโทษกรรมการบริหารพรรค ม.๙๔-๙๖ และถึงขั้นยุบพรรค ม.๙๗)
๑. เสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบ
๒. เสนอแนวทางการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็น สุขของประชาชนประกอบกัน
๓. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล
๔. สร้างเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง และแก้ไชปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน
(๒) พิจารณาส่งสมาชิกซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรมเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- การส่งผู้สมัครเป็น ส.ส.ต้องรับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องด้วย (ม.๔๕) ต้องคำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง (ม.๔๖) และในการเลือกตั้งทั่วไป ต้องมีกระบวนการสรรหาผู้สมัครโดยคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคไม่เกินกึ่งหนึ่งและหัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเลือกกันเองอีกกึ่งหนึ่ง (ม.๔๗)
(๓) ดำเนินกิจการพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย ข้อบังคับ และมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ พรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง
(ม.๘๑) การกระทำผิด กรรมการบริหาร สมาชิก หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะมีบทลงโทษทางอาญา (หมวด ๑๐ม.๙๐ – ๑๒๑)
๑๒. รายได้ของพรรคการเมือง
- เงินทุนประเดิม เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมของพรรคการเมือง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค เงินอุดหนุนจากกองทุน และดอกผลและรายได้จากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง (ม.๕๔)
- ในการจัดกิจกรรมหาทุนของพรรคการเมือง ให้ระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่า ๑๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป (ม.๕๕)
- ต้องประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าที่ กกต.กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาท (ม.๕๖)
- บุคคลบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีมูลค่าเกินปีละ ๑๐ ล้านบาทไม่ได้ ถ้าเป็นนิติบุคคลบริจาคให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ ๕ ล้านบาท ต้องแจ้งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบ (ม.๕๗)
- การบริจาคในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนกว่าจะพ้นระยะเวลา ๖๐ วันนับแต่กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับบริจาคเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ต้องส่งให้พรรคการเมืองและให้พรรคแจ้ง กกต.ทราบ (ม.๕๙)
- ผู้เสียภาษีอาจระบุให้กรมสรรพากรนำเงินภาษีไปอุดหนุนพรรคการเมืองที่ระบุชื่อได้ปีละ ๕๐๐ บาทและผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมือง ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท ถ้าเป็นนิติบุคคลหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ม.๖๑)
- ห้ามข้าราชการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้บริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ห้ามที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหาทุนของพรรคการเมือง (ม.๖๔)
- ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล หรือนิติบุคคล ที่ไม่มีสัญชาติไทย (ม.๖๕)
- ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือนิติบุคคลอื่นตามที่ กกต. กำหนด บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง (ม.๖๗)
๑๓. กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
- วัตถุประสงค์ และที่มาของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง (ม.๖๙)
- การกำหนดวงเงินที่จะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนแก่พรรคการเมือง (ม.๗๒) และจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารกองทุนและการดำเนินกิจการของ กกต.และสำนักงาน กกต.เพื่อการอันเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุน (ม.๗๓)
- การจัดสรรเงินจากกองทุนให้แก่พรรคการเมือง (ม.๗๔)
(๑) จัดสรรให้แก่พรรคการเมืองตามที่ผู้เสียภาษีระบุไว้
(๒) จัดสรรร้อยละ ๕๐ ของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ตามอัตราส่วนของเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับในปีที่ผ่านมา แต่ต้องไม่เกินเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจากสมาชิก
(๓) จัดสรรร้อยละ ๕๐ ของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป สำหรับปีอื่นให้จัดสรรตามอัตราส่วนของเงินบริจาคที่แต่ละพรรคได้รับจากการระบุตามมาตรา ๖๐
(๔) เงินที่พรรคการเมืองได้รับตาม (๒) และ (๓) จะถูกหักไว้เพื่อชดเชยความรับผิดกรณีสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นกระทำการทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่
- การใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด และต้องทำรายงานเพื่อให้ กกต. สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ และกำหนดให้แก้ไขรายการหรือให้มีการชดใช้เงินคืนกรณีมีการใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้องได้ด้วย (ม.๗๖)
๑๔. การสิ้นสุดของพรรคการเมือง
พรรคการเมืองสิ้นสุดเมื่อ (๑) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๐ (ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามที่กฎหมายกำหนด) (๒) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๑ (พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย) (๓) มีการควบรวมพรรคการเมืองตามหมวด ๘ (โดยรวมเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ หรือพรรคการเมืองหนึ่งไปรวมเข้ากับพรรคการเมืองที่เป็นหลัก)
พรรคการเมืองที่ถูก กกต.ประกาศให้สิ้นสภาพอาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กรณี กกต.เห็นว่ามีหลักฐานสมควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าเหตุยุบพรรคการเมือง ให้ กกต.ยื่นคำร้องพร้อมด้วยพยานหลักฐานเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
๑๕. เหตุของการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง (ม.๘๑)
(๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(๒) กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
(๓) กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่เป็นความผิดร้ายแรง (มาตรา ๒๘-๓๐ มาตรา ๔๓-๔๔ มาตรา ๖๕หรือมาตรา ๙๐ (รวมถึงมาตรา ๙๖)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ