สศอ. รื้อดัชนีอุตสาหกรรมใหม่เพิ่ม 28 สินค้าและตัดออก 17 รายการ

26 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2418 ครั้ง


	สศอ. รื้อดัชนีอุตสาหกรรมใหม่เพิ่ม 28 สินค้าและตัดออก 17 รายการ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมชุดใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือเชิงรุกสำหรับนักลงทุนและสะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างแม่นยำ โดยเพิ่ม 28 สินค้าใหม่ พร้อมตัด 17 สินค้าออกเนื่องจากมีการย้ายการผลิตบางส่วนไปต่างประเทศ (ที่มาภาพ: fxmarketalerts.com)

26 ม.ค. 2559 นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น จัดทำดัชนีอุตสาหกรรมชุดปรับปรุงใหม่ (New Manufacturing Production Index: MPI) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆที่จะมีบทบาทต่อการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ผนวกกับจากกระแสโลกสมัยใหม่ (Global Trend) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว การเกิดขึ้นของตลาดเกิดใหม่ พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พลิกโลกเศรษฐกิจและธุรกิจ ทำให้ความเชื่อมโยงของโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตลาดฐานการผลิต รวมทั้งการเคลื่อนย้ายการลงทุน สินค้า และบริการจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว      

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สศอ. จึงตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจ (Key Indicators) ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตรอย่างเหมาะสม เพื่อให้สะท้อนภาคเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องและทันสมัย และเป็นเครื่องวัดภาวะเศรษฐกิจตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นระยะ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมใหม่นี้        

สำหรับ MPI ชุดปรับปรุงใหม่นี้ ได้ปรับปรุงน้ำหนักที่ใช้ในการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมให้สะท้อนโครงสร้างการผลิตที่ใกล้เคียงปัจจุบันมากขึ้น โดยภาพรวมได้มีการปรับกลุ่มอุตสาหกรรมจากเดิม 53 กลุ่มอุตสาหกรรม (216 ผลิตภัณฑ์) เป็น 56 อุตสาหกรรม (226 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลของ MPI ชุดปรับปรุงใหม่จะมีทิศทางสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 86.1          

ทั้งนี้ในเบื้องต้น สศอ. ปรับสินค้า/โรงงาน ที่เป็นตัวแทนจากรายการผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ใน MPI ชุดเก่าออกจำนวน 17 สินค้า ได้แก่ ลูกชิ้นไก่, ลูกชิ้นหมู, ข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง, น้ำมันถั่วเหลืองดิบ, ผ้านวม, ผ้าลูกไม้, ยางยืด, ใยสังเคราะห์, ผ้าถักเครื่องแต่งกายชั้นในบุรุษและเด็กชาย, รองเท้าพลาสติก, ไม้ปาร์เก้, น้ำมันดีเซลหมุนช้า, เครื่องสำอาง, Electric tubes Cathode For color TV /Electric tubes Ray tubes For computer & related equipment (โทรทัศน์สีจอโค้งซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอดภาพแบบเก่า) เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้โรงงานมีจำนวนลดน้อยลงและบางโรงงานเลิกกิจการไปแล้ว บางโรงงานย้าย หรือขยายฐานการผลิตบางส่วนไปต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพื่อขยายการตลาดในต่างประเทศรวมทั้งเพื่อการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี        

ส่วนสินค้าใหม่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้นจากในอดีตได้ปรับเพิ่มมีจำนวน 28 สินค้า ได้แก่ เนื้อไก่สุกปรุงรส, น้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์, นมเปรี้ยว, นมผง, ซอร์ปิทอลเหลว (Sorbitol เป็นสารให้ความหวาน), พรีมิกซ์,น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, น้ำอัดลม, น้ำดื่มให้พลังงาน, รองเท้าผ้าใบ, กระดาษอนามัย, แก๊สโซฮอล 91, แก๊สโซฮอล 95, น้ำมันหล่อลื่น, Polyethylene resin (PE) LLDPE, LDPE, Expandable Polysthyrene (EPS), สีน้ำมัน, สีน้ำพลาสติก,น้ำยาทำความสะอาด, แอสฟัลท์, เครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตร, เครื่องซักผ้า, เตาอบไมโครเวฟ, ชุดสายไฟสำหรับรถยนต์และจักรยานยานยนต์, เครื่องยนต์แก๊ส โซลีน, เครื่องยนต์ดีเซล

ดังนั้น MPI ชุดปรับปรุงใหม่นี้จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อใช้ติดตามหรือประเมินภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศได้ดียิ่งขึ้น และมีแนวทางในการพัฒนาเพื่อเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในการสะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้จะมีการพัฒนาช่องทางการเผยแพร่ผ่านsmart phone เพื่อสะดวกในการสืบค้นข้อมูลด้านอุตสาหกรรม โดยรายละเอียดดังกล่าวสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ www.oie.go.th         

"โครงสร้างอุตสาหกรรมไทยในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมที่มีค่าถ่วงน้ำหนัก ของมูลค่าเพิ่ม (Value added) และส่งผลต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำดื่มให้พลังงาน แก๊สโซฮอล 91 หรือ 95 เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตน้อยในอดีตแต่ปัจจุบันกลับมีการผลิตมากขึ้น ในขณะที่บางผลิตภัณฑ์ที่เคยมีดัชนีผลผลิตสูงมากในอดีต เมื่อเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจลดลงไปด้วย" นายศิริรุจ ผอ.สศอ.กล่าวทิ้งท้าย

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: