สำรวจประเด็น‘ผู้หญิง’ในพื้นที่การเมือง สถานะเศรษฐกิจและเหยื่อความรุนแรง

ทีมข่าว TCIJ : 26 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4852 ครั้ง

ในประเทศไทย มีข้อมูลสถิติและดัชนีต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าผู้หญิงไทยแซงหน้าผู้ชายไปในหลายด้านแล้ว เช่น ประเด็นเรื่องการศึกษาพื้นฐาน พบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงมีการศึกษาสูงกว่าชาย โดยอัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงในเมืองมีสูงกว่าร้อยละ 100 และร้อยละ 90 ในพื้นที่ชนบท ข้อมูลนี้คล้ายคลึงกันในระดับโลก หากแต่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายไทย ก็ยังมีตัวชี้วัดในอีกหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าสิทธิและโอกาสของผู้หญิงยังคงตามหลังผู้ชายอยู่นั่นเอง อย่างเช่นประเด็นช่องว่างรายได้ชายหญิง ที่มีการประเมินว่าอีก 70 ปี ผู้หญิงจึงจะมีรายได้เฉลี่ยจากการทำงานเท่ากับผู้ชาย

TCIJ ได้ประมวลประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ อันได้แก่ ผู้หญิงกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ และความรุนแรงต่อผู้หญิง ไว้เป็นข้อพิสูจน์ร่วมกัน

ผู้หญิงกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ข้อมูลจาก International Parliamentary Union ที่เปิดเผยในปี 2558 ระบุว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่อยู่ในรัฐสภาทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 22.1 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2548 ซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.3 โดยในปัจจุบัน (ปี 2559) สวีเดนเป็นประเทศที่มีมีผู้หญิงนั่งในรัฐสภาสูงที่สุดถึงร้อยละ 44 และมี 16 ประเทศที่มีผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาล (นับเฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี) ที่เป็นผู้หญิง ได้แก่ 1) เยอรมัน มี Angela Merkel ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2) ไลบีเรีย มี Ellen Johnson-Sirleaf ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 3) บราซิล มี Dilma Vana Linhares Rousseff ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 4) ประเทศโคโซโว มี Atifete Jahjaga ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 5) บังกลาเทศ มี Sheikh Hasina Wajed ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 6) เกาหลีใต้ มี Park Geun-hye ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 7) สาธารณรัฐเซิร์ปสกา มี Željka Cvijanović  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8) นอร์เวย์ มี Erna Solberg ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 9) ชิลี มี Michelle Bachelet ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 10) มอลตา มี Marie-Louise Coleiro Preca ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 11) Kolinda Grabar-Kitarović  ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 12) นามิเบีย มี Saara Kuugongelwa-Amadhila ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 13) มอริเชียส มี Ameenah Gurib-Fakim 14) เนปาล มี Bidhya Devi Bhandari ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 15) โปแลนด์ มี Beata Szydło ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 16) สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ มี Hilda Heine ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาลที่เป็นผู้หญิง

Yevgenia Gotlieb Bosch, Hilda Heine และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ที่มาภาพ: wikipedia.org และ radionz.co.nz)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 เป็นต้นมา โลกของเรามีผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาล (ทั้งที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง) เป็น 'ผู้หญิง' จำนวน 171 คน โดยมี Yevgenia Gotlieb Bosch ถือเป็นผู้นำหญิงคนแรกของ Ukraine (ในตำแหน่ง People's Secretariat of Ukraine) และคนล่าสุดคือ Hilda Heine ประธานาธิบดีของหมู่เกาะมาร์แชล ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2016 ที่ผ่านมา ส่วน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นผู้นำประเทศ (ผู้นำรัฐบาล)ที่เป็นผู้หญิงลำดับที่ 132

ดูรายชื่อผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาลที่เป็นผู้หญิงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมดได้ที่:

http://www.guide2womenleaders.com/Female_Leaders.htm

'แม่หลวงกุ้ง' ผู้ใหญ่บ้านหญิงที่โด่งดัง (ปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว)
ทั้งนี้พบว่าประเทศไทยมีผู้ที่ทำงานในฝ่ายปกครองที่เป็นผู้หญิงเพียงร้อยละ 10.39 เท่านั้น (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)

สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้หญิงมาแล้ว แต่กระนั้นตัวเลขสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ของไทย ช่องว่างระหว่างชาย-หญิง ก็ยังห่างกันอยู่ลิบลับ ข้อมูลจากสำนักบริหารการปกครองท้องที่ ส่วนบริหารงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน, กรมการปกครอง, กระทรวงมหาดไทย (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 9 มี.ค. 2559) ระบุว่าประเทศไทยมีกำนันที่เป็นผู้ชาย 6,625 คน ผู้หญิง 265 คน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ชาย 64,335 คน ผู้หญิง 4,110 คน แพทย์ประจำตำบลที่เป็นผู้ชาย 4,818 คน ผู้หญิง 1,397 คน สารวัตรกำนันที่เป็นผู้ชาย 12,885 คน ผู้หญิง 1,234 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองที่เป็นผู้ชาย 116,605 คน ผู้หญิง 20,194 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบที่เป็นผู้ชาย 30,731 คน ผู้หญิง 161 คน รวมแล้วประเทศไทยมีผู้ทำงานในฝ่ายปกครองจำนวนทั้งสิ้น 263,360 คน เป็นชาย 235,999 คน และเป็นหญิง 27,361 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.39 เท่านั้น

ส่วนข้อมูลจากสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (Gender and Development Research Institute) พบว่าระหว่างปี 2526 - 2550 มีการเลือกตั้ง ส.ส. 10 ครั้ง ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเฉลี่ยร้อยละ 7.54 ของผู้หญิงที่ลงสมัคร ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ว. 3 ครั้ง ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเฉลี่ยร้อยละ 16.79 ในด้านการเมืองและการบริหารท้องถิ่น พบว่าจากการสำรวจในปี 2553 มีผู้หญิงเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 10 อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิเช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้หญิงร้อยละ 4.17 นายอำเภอเป็นผู้หญิงร้อย 0.46 ส่วนระดับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งพบว่าผู้หญิงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น (แต่ก็ยังเทียบกับผู้ชายไม่ได้) โดยผู้หญิงได้รับเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยละ 9.33 สมาชิกสภาจังหวัดร้อยละ 12.71 นายกเทศบาลนคร ร้อยละ 16 สมาชิกเทศบาลนคร ร้อยละ 12.01 นายกเทศบาลเมือง ร้อยละ 8.45 สมาชิกเทศบาลเมือง ร้อยละ 12.31 นายกเทศบาลตำบล ร้อยละ 6.52 สมาชิกเทศบาลตำบล ร้อยละ 14.90 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 6.49 สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 13.35 เท่านั้น

ข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงต่อรัฐบาลในช่วงวันสตรีสากล

สมัชชาสตรีแห่งชาติ

1) เพิ่มมาตรการพิเศษ สำหรับเด็กหญิง ในการเข้าถึงการศึกษาทั้งในภาวะปกติ และในสถานการณ์ของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียน  ทั้งในและนอกระบบ เพื่อสร้างโอกาสในเรื่องอาชีพรายได้ที่มั่นคง เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียม สามารถเป็นหลักประกันถึงการมีสิทธิ ให้ได้รับการยอมรับ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน-ส่งเสริมเศรษฐกิจ และพัฒนาอาชีพสตรี บนฐานภูมิปัญญา โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนอาชีพและช่องทางการจำหน่าย  2) ปกป้องสิทธิและป้องกันการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด และอย่างเป็นรูปธรรม  3) ส่งเสริมสุขภาพสตรี โดยการสร้างความรู้ การป้องกัน และดูแลสุขภาพของตนเอง ไปจนถึงการปรับปรุงระบบ สวัสดิการสังคม  4) ส่งเสริมองค์กรสตรีให้มีความเข้มแข็งและมีเอกภาพ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณเพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนการทำงานอย่างเข้มแข็งในทุกระดับ 5) พัฒนาและยกระดับ กลไกการคุ้มครองสิทธิ ให้กับกลุ่มสตรี ได้เข้าถึงการคุ้มครองสิทธิอย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงความอ่อนไหวละเอียดอ่อนของผู้เสียหาย ซึ่งส่วนมากเป็นเพศหญิง  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องจัดตั้งกลไกกองกำกับงานสอบสวนในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ค้ามนุษย์   6) ส่งเสริมบทบาทให้พนักงานสอบสวนหญิงมารับผิดชอบในกลุ่มงานนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เสียหายในการเข้าไปแจ้งความร้องทุกข์มากขึ้น  7) ยกระดับการทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชน ในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้มี การทำกิจกรรมเชิงรุก ในการเผยแพร่ข้อมูลและการรณรงค์ ในเรื่องความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและการถูกล่อลวงแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ ที่ผู้หญิงในชนบทไม่เท่าทัน เช่น การหลอกให้ผู้หญิงโอนเงิน 8) พัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาและผลักดันให้เกิดการนำมาตรการเรื่องสิทธิพื้นฐานจากภาครัฐไปสู่การปฏิบัติและบังคับใช้ ทั้งสตรีพิการ สตรีชนเผ่า สตรีมุสลิม เรื่องสัญชาติสิทธิทำกิน และอัตลักษณ์ และ 9)เพิ่มสัดส่วนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี และการตัดสินใจเชิงนโยบายทุกระดับอย่างเท่าเทียม

กลุ่มสตรีขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

1) ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าที่กระทบต่อความมั่นคงของชุมชน ทำให้คนจนสูญเสียที่ดินและถูกดำเนินคดี เป็นการทำลายวิถีชุมชนและซ้ำเติมเกษตรกรเพราะต้องไร้ที่ดิน โดยขอให้สานต่อนโยบายโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน  2) ขอให้ทบทวนปรับปรุงนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซุปเปอร์คลัสเตอร์ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเป้าหมายของการพัฒนา โดยปรับปรุงคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีสัดส่วนของภาคประชาชน สังคม ไม่ใช่มีแค่ภาคธุรกิจ และต้องชะลอมติของคณะกรรมการในการกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาและในกรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ โดยรัฐบาลต้องมีมาตรการชดเชยเยียวยา ค่าเสียโอกาสจากการสูญเสียที่ดิน  3) ขอให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 3 และ 4/2559 ตามอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรื่องการงดเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง เพราะเป็นการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อน 4) ขอให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 ปี 2502 ที่นำมาไล่รื้อชุมชนคนจนเมืองใน กทม. และ 5) กรณีพื้นที่ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทับที่ทำกินและอยู่อาศัยดั้งเดิมของชุมชน เช่น กรณีชาวเลราไวย์ และชุมชนดอยเทวดา  จ.พะเยา ที่ขอให้รัฐตรวจสอบข้อเท็จจริงการออกเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบและขอให้กรมบังคับคดีต้องชะลอการบังคับคดีออกไปก่อน.

ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เปิดเผยในช่วงวันสตรีสากลที่ผ่านมา (8 มี.ค. 2559) ระบุว่าในปี 2558 อัตราจ้างงานผู้หญิงต่อจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 46 และส่วนผู้ชายนั้นมีสูงถึงเกือบร้อยละ 72 ซึ่งช่องว่างการจ้างงานระหว่างชายหญิงนี้ขยับลดลงมาเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.6 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา และในปี 2558 ยังพบว่าผู้หญิงมีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งสูงกว่าผู้ชายที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5.5 ส่วนชั่วโมงการทำงาน พบว่าผู้หญิงมีชั่วโมงการทำงานที่สูงกว่าผู้ชาย โดยจากรายงานระบุว่าผู้หญิงทำงานเป็นเวลายาวนานมากกว่าผู้ชาย ทั้งงานที่ได้รับค่าตอบแทนและงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ผู้หญิงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทำงานโดยเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 9 นาที ต่อวัน   ส่วนผู้ชายทำงานเฉลี่ยเพียงวันละ 7 ชั่วโมง 36 นาที และในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ผู้หญิงต้องใช้เวลาทำงานเฉลี่ยถึงวันละ 9 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนผู้ชายใช้เวลาทำงานเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 7 นาที

สำหรับงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การดูแลครอบครัวและงานบ้านนั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงยังคงแบกภาระนี้ทั้งใน ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา แม้ความเหลื่อมล้ำจะลดลงบ้างก็ตาม โดยในประเทศพัฒนาแล้วผู้หญิงใช้ เวลาในการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณวันละ 4 ชั่วโมง 20 นาที เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 16 นาที ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาผู้หญิงใช้เวลาในการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 4 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนผู้ชายใช้เวลา เพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที และมีผู้หญิงวัยเกษียณ (อายุมากกว่า 60-65 หรือตามกฎหมายของแต่ละประเทศ) กว่าร้อยละ 65 หรือประมาณ 200 ล้านคนไม่มีเงินบำนาญใด ๆ ส่วนผู้ชายวัยเกษียณที่ไม่มีเงินบำนาญนั้นมีอยู่ประมาณ 115 ล้านคน

ด้านความก้าวหน้าในอาชีพนั้น แม้ผู้หญิงจะเริ่มมีความก้าวหน้าขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังห่างจากชายอีกหลายขุม โดยข้อมูลจาก แกรนท์ ธอร์นตัน (Grant Thornton) เครือข่ายบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี เปิดเผยเมื่อวันสตรีสากล 8 มี.ค. 2559 ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 24 โดยรัสเซียครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีผู้หญิงครองตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากที่สุดร้อยละ 45 ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และ ลิทัวเนียที่ร้อยละ 39 ส่วนประเทศไทยครองอันดับ 4 ร่วมกับประเทศเอสโตเนียที่ร้อยละ 37 (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ร้อยละ 34 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกเกิดใหม่ที่ร้อยละ 26)  ส่วนประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่อยู่ในลำดับท้าย ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่นที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 7 ตามมาด้วยเยอรมนีและอินเดียที่ร้อยละ 15 และร้อยละ 16 ตามลำดับ (อ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพการงานของผู้หญิงจากรายงานของ TCIJ :  ฟังนักข่าวหญิง-ถูกติดป้ายข่าวบันเทิง เสี่ยงถูกล่วงละเมิด-แช่แข็งในสายงาน และ รายได้ ตำแหน่งงาน นักข่าวหญิงในเอเชีย)

จากผลการสำรวจในเดือนมกราคม 2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปจำนวน 55.44 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 38.13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 68.8 ชายร้อยละ 77.4 และหญิงร้อยละ 60.7 และ เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 17.31 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.2 ชายร้อยละ 22.6 และหญิงร้อยละ 39.3 โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาในปี 2553 พบว่าแรงงานหญิงละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมมากกว่าแรงงานชายถึง 1.9 ล้านคน และมีแรงงานหญิงจำนวนมากกว่าแรงงานชายในอุตสาหกรรมการผลิต และบริการ โดยภาคการผลิตมีแรงงานหญิง 2.88 ล้านคน มีแรงงานชาย 2.67 ล้านคน ภาคบริการมีแรงงานหญิง 4.52 ล้านคน มีแรงงานชาย 3.16 ล้านคน ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงในภาคการผลิตและภาคบริการนี้ เป็นภาพสะท้อนไปถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น และค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากเดิมในการเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว

ความรุนแรงต่อผู้หญิง

ความรุนแรงทางกายภาพต่อผู้หญิงทั่วโลกยังเป็นสิ่งที่เห็นได้แพร่หลาย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุตัวเลขว่ามากกว่า 20 ปีมาแล้วที่ผู้หญิง 1 คน ในทุก ๆ 3 คน จะต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แม้แต่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป ก็พบว่าผู้หญิงกว่าร้อยละ 33 มีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ประเทศที่มีประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกันอย่างฝรั่งเศสก็มีการประเมินว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืนและพยายามข่มขืนถึงประมาณ 86,000 ราย แต่มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ตัดสินใจแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่  ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ โดยร้อยละ 38 ของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ โดยค่าเฉลี่ยรวมทั้งโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30

นอกจากความรุนแรงทางกายภาพแล้ว ความรุนแรงในมิติอื่น ๆ ที่มีต่อผู้หญิง ก็ยังคงอยู่และไม่มีท่าทีว่าจะหายไปในเร็ววันนี้ด้วยเช่นกัน  รายงาน Poverty is Sexist 2016 report ของ ONE องค์กรการกุศลต่อต้านความยากจน ได้รวบรวมข้อมูลจาก 166 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดทำดัชนีประเทศที่มีอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของผู้หญิงมากที่สุด โดยคิดจากตัวแปรต่าง ๆ เช่น รายได้ต่อหัว, จำนวนนักเรียนหญิง, จำนวนบัญชีธนาคารของผู้หญิง, สัดส่วนการเสียชีวิตจากการคลอดบุตร และการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นต้น โดย 10 ประเทศที่มีอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของผู้หญิงมากที่สุด (ได้คะแนนน้อยที่สุด) ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง ได้แก่ 1) ไนเจอร์ 2) โซมาเลีย 3) มาลี 4) สาธารณะรัฐแอฟริกากลาง 5) เยเมน 6) สาธารณะรัฐคองกอง 7) อัฟกานิสถาน 8) ไอเวอร์รี่โคสต์ 9) ชาด และ 10) โคโมรอส ส่วนประเทศที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของผู้หญิงมากที่สุด 10 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียและยุโรป ได้แก่ 1) นอร์เวย์ 2) สวีเดน 3) เดนมาร์ก 4) ไอซ์แลนด์ 5) ฟินแลนด์ 6) เนเธอร์แลนด์ 7) ออสเตรเลีย 8) นิวซีแลนด์ 9) สวิตเซอร์แลนด์ และ 10) เบลเยียม

แบบเรียนที่ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งมีทัศนคติเชิงลบ ‘เหยียดเพศ’ บั่นทอนกำลังใจ
ความภาคภูมิใจของเด็กผู้หญิง และโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชายมักจะถูกวาดในตำราเรียนว่าเป็นผู้นำธุรกิจ
เจ้าของร้านค้า วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักการเมือง ส่วนผู้หญิงจะถูกวาดภาพในตำราเรียนว่า
ต้องเป็นแม่บ้าน ทำอาหารและเลี้ยงลูกอยู่ในบ้านเท่านั้น (ที่มาภาพ: BBC)

นอกจากนี้ ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่าทัศนคติกีดกันทางเพศยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในด้านการศึกษา โดยเฉพาะในแบบเรียนที่ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งทัศนคติเชิงลบ ‘เหยียดเพศ’ เช่นนี้ได้ทำลายโอกาสทางการศึกษา บั่นทอนกำลังใจ ความภาคภูมิใจของเด็กผู้หญิง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชายมักจะถูกวาดในตำราเรียนว่าเป็นผู้นำธุรกิจ เจ้าของร้านค้า วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักการเมือง ส่วนผู้หญิงจะถูกวาดภาพในตำราเรียนว่าเป็นแม่บ้าน ทำอาหารและเลี้ยงลูก  ทั้งยังพบว่าในตำราเรียนมีภาพวาดของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะตำราวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีภาพวาดของผู้หญิงน้อยมาก

ส่วนสถานการณ์บ้านเรา ความรุนแรงทางกายภาพโดยการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ในไทยนั้น ก็พบว่ายังคงมีความรุนแรงเช่นกัน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2557 ระบุว่ามีผู้เข้ารับบริการที่ ‘ศูนย์พึ่งได้’ (มีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ได้รับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตภายใน 24 ชั่วโมง) ในโรงพยาบาล จำนวน 829 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 13,999 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กถูกกระทำรุนแรง 6,333 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 45.24 มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงจำนวน 7,666 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 54.76 ทั้งนี้ ยังพบว่าผู้หญิงที่เข้ามารับบริการของศูนย์พึ่งได้ 3 อันดับแรกถูกกระทำความรุนแรงทางการมากที่สุดร้อยละ 74.76  การคุกคามทางเพศร้อยละ 21.03 และถูกทำร้ายทางจิตใจร้อยละ 2.74 โดยผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงมากที่สุดคือคู่สมรส ร้อยละ 49.33 ลำดับถัดมาคือแฟน ร้อยละ 14.46 และคนแปลกหน้า ร้อยละ 9.56 และสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงถูกทำร้ายมากที่สุด คือ เรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว ร้อยละ 44.04 รองลงมาคือการใช้สารกระตุ้น ร้อยละ 29.35  และสภาพ แวดล้อม ร้อยละ 11.51

สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเมื่อปี 2557 (อันเป็นปีที่มูลนิธิฯ สำรวจสถิติความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่นหญิง) ยังพบสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเหตุความรุนแรงมักเกิดมากจากเพื่อน คนรู้จัก สาเหตุมาจาก เรื่องทางเพศ คบหลายคน นอกใจ การดุด่า หึงหวง ใช้คำหยาบคาย ส่งเสียงดัง ตามด้วยทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงอดทนคือ ทนเพราะรัก ไม่กล้าบอกใคร กลัวพ่อแม่/ผู้ปกครองรู้ กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ซึ่งจากการเก็บสถิติที่มีผู้มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิฯ สูงถึง 151 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 21-30 ปี รองลงมาอายุไม่เกิน 20 ปี

นอกจากนี้ความรุนแรงทางกายภาพต่อผู้หญิงที่น่ากังวลอื่น ๆ ก็มีอาทิเช่น อุบัติเหตุยานยนต์ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เก็บข้อมูลไว้ว่าผู้หญิงประสบอุบัติเหตุยานยนต์ถึง 314,852 ครั้ง รวมถึงการสูบบุหรี่ของผู้ชายก็สร้างผลกระทบต่อผู้หญิงด้วยเช่นกัน โดยมูลนิธิเพื่อนหญิงระบุว่าผู้หญิงเสี่ยงอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งแม้ผู้หญิงร้อยละ 98 จะไม่สูบบุหรี่ แต่ก็ได้รับควันบุหรี่ในบ้านระดับที่สูงมาก จากผลสำรวจทั่วประเทศเมื่อปี 2554 พบว่ามีประชากรหญิงและชายอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ไม่สูบบุหรี่ 11.6 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่ในบ้าน ในจำนวนนี้  8.4 ล้านคนเป็นผู้หญิง และจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 6 แสนคน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 47 เป็นผู้หญิง ส่วนผู้ชายเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองนี้เพียง ร้อยละ 25 เท่านั้น

อ่าน 'จับตา': “รูปแบบโครงสร้างครอบครัวไทยเป็นอย่างไร?"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6121

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: