12 ปี‘กองทุนหมุนเวียน’อัดเงิน 1.59 ล้านๆ หรือ 6.65% ของงบประมาณทั้งประเทศ

ทีมข่าว TCIJ : 26 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 4691 ครั้ง

‘ทุนหมุนเวียน’ เป็นส่วนหนึ่งของ 'เงินนอกงบประมาณ' ซึ่งหมายถึงเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการซึ่งได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้เก็บไว้ใช้จ่ายได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยการใช้เงินนอกงบประมาณเป็นอำนาจของรัฐมนตรีไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งข้อมูลจากสำนักงบประมาณของรัฐสภา ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้ แทนราษฎร ระบุว่าในช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2548-2559  รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณให้สำหรับทุนหมุนเวียนทั้งในลักษณะจัดสรรให้ครั้งเดียวเป็นทุนประเดิมตั้งแต่จัดตั้ง และในลักษณะจัดสรรอย่างต่อเนื่อง รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,594,275.37 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 132,856.28 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วเป็นสัดส่วนทุนหมุนเวียนต่องบประมาณรวมทั้งประเทศร้อยละ 6.65  โดยข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 30 กันยายน 2558  มีทุนหมุนเวียนจำนวนทั้งสิ้น 114 ทุน ทำให้มีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงประมาณ 3,125,884.12 ล้านบาท รวมทั้งยอดเงินฝากธนาคารสูงถึง 348,592.46 ล้านบาท

โดยประเภทของกองทุนหมุนเวียนในปัจจุบัน 63 กองทุน ประกอบไปด้วย 1.ทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม 2.ทุนหมุนเวียนเพื่อการจำหน่ายและการผลิต 3.ทุนหมุนเวียนเพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และ 4.ทุนหมุนเวียนเพื่อการสนับสนุนส่งเสริม โดยแบ่งประเภทของแต่ละกองทุนได้ดังนี้

กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม (12 กองทุน) ได้แก่ 1.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  2.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต  3.กองทุนตั้งตัวได้  4.กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  5.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  6.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน  7.กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ  8.กองทุนพัฒนาสหกรณ์  9.กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  10.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร  11.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อวิทยาคารสงเคราะห์สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้  12.กองทุนให้ความช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

ทุนหมุนเวียนเพื่อการจำหน่ายและการผลิต (3 กองทุน) ได้แก่  1.เงินทุนหมุนเวียนโรงงานเภสัชกรรมทหาร  2.เงินทุนหมุนเวียนโรงงานแบตเตอรี่ทหาร  3.เงินทุนหมุนเวียนโรงงานฟอกหนัง

กองทุนหมุนเวียนเพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (14 กองทุน) ได้แก่  1.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 2.กองทุนการออมแห่งชาติ  3.กองทุนสงเคราะห์  4.กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง  5.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  6.กองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  7.กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม  8.กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 9.กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน 10.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  11.กองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว  12.กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  13.กองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน  14.กองทุนเงินให้เปล่า

ทุนหมุนเวียนเพื่อการสนับสนุนส่งเสริม (34 กองทุน) ได้แก่ 1.กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  2.กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา  3.กองทุนกีฬามวย  4.กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ  5.กองทุนจัดรูปที่ดิน  6.กองทุนสิ่งแวดล้อม  7.กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร  8.กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง  9.กองทุนภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย  10.กองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  11.กองทุนยุติธรรม 12.กองทุนส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  13.กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย 14.กองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา  15.กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ  16.กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย  17.กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  18.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  19.กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ  20.กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ  21.กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  22.กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  23.กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ  24.กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  25.กองทุนคุ้มครองเด็ก  26.กองทุนผู้สูงอายุ  27.กองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์  28.กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัด  29.กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง  30.กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์  31.กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ  32.กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุ  33.กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในหมู่บ้านและชุมชน  34.กองทุนการท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ภาพรวมงบประมาณกองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ 

ในช่วง 12 ปี พ.ศ.2548 – 2559 นั้น มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับทุนหมุนเวียน (จำนวน 63 ทุน) รวมงบประมาณ 1,594,275.37 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 132,856.28 ล้านบาท เป็นสัดส่วนร้อยละ 6.65 ของงบประมาณรวมทั้งประเทศ โดยเมื่อวิเคราะห์งบประมาณในประเด็นสำคัญ จะเห็นภาพดังนี้

เมื่อสรุปงบประมาณทุนหมุนเวียนรายกระทรวง พบว่า ทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,074,162.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.38 ของงบประมาณทุนหมุนเวียนรวมสะสมทุนหมุนเวียนที่มีงบประมาณสะสมสูงที่สุด ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  รองลงมาเป็นทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง เป็นงบประมาณด้านการสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)

ส่วนทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องมีจำนวน 43 ทุน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,580,451.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.13 ของงบประมาณทุนหมุนเวียนรวมสะสม โดยทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสะสมสูงสุด คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,067,936.41 ล้านบาท สำหรับทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นทุนประเดิมครั้งเดียว มีจำนวน 20 ทุน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 13,824.16 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.87 ของงบประมาณทุนหมุนเวียนรวมสะสม โดยทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสะสมสูงสุด คือ กองทุนตั้งตัวได้ 5,000.00 ล้านบาท

ทุนหมุนเวียนเพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ได้รับจัดสรรงบประมาณสะสมสูงสุด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,095,514.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 68.72 ของงบประมาณทุนหมุนเวียนรวมสะสม รองลงมา ได้แก่ ทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม 424,612.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.63 ของงบประมาณทุนหมุนเวียนรวมสะสม และทุนหมุนเวียนเพื่อการสนับสนุนส่งเสริม 73,956.96 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.64 ของงบประมาณทุนหมุนเวียนรวมสะสม

นอกจากนี้ พบข้อสังเกตที่น่าสนใจในหลายประเด็น  เช่น ทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแต่ละปีในวงเงินงบ ประมาณค่อนข้างต่ำ และมีลักษณะการดำเนินงานที่สามารถดำเนินงานภายใต้ภารกิจของส่วนราชการได้  ควรเป็นการขอรับจัดสรรงบประมาณรวมกับงบประมาณของส่วนราชการ ไม่จำเป็นจัดตั้งเป็นทุนหมุนเวียน เช่น ทุนหมุนเวียนภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุ ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2548 จำนวน 1.00 ล้านบาท และในปีต่อ ๆ มาได้รับจัดสรรในวงเงิน 10 กว่าล้านบาท กองทุนจัดการซากดึกดาบรรพ์  ได้รับจัดสรรงบ ประมาณ ปี พ.ศ.2552 จำนวน 30.00 ล้านบาท กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัด ได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี พ.ศ.2552 จำนวน 22.80 ล้านบาท และกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี พ.ศ.2552 จำนวน 10.00 ล้านบาท รวมทั้ง กองทุนการท่าอากาศยานอู่ตะเภาของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเริ่มจัดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 และได้รับจัดสรรงบประมาณในปีแรก จำนวน 0.10 ล้านบาท  จะเห็นได้ว่าทุนหมุนเวียนในลักษณะดังกล่าว ควรไปขอรับจัดสรรงบประมาณรวมกับงบประมาณของส่วนราชการ ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ มีกองทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นทุนประเดิมครั้งเดียว แต่ไม่มีรายงานความก้าวหน้าหรือผลการดำเนินงานให้รัฐสภาทราบ ได้แก่ กองทุนของกระทรวงการคลัง เช่น กองทุนให้ความช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2548 จำนวน 510.77 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดย (1) ให้กู้ยืมเงินโดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนแก่รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือ สถาบันการเงินของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาประเทศ (2) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่ไม่ใช่ลักษณะการให้เปล่าแก่ประเทศเพื่อนบ้านตามที่คณะกรรมการกำหนด,  ในส่วน กองทุนเงินให้เปล่า ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2549 จำนวน 689.97 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ, กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จำนวน 500.00 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการเสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ การจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ และการจ้างที่ปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ, กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภาครัฐ ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จำนวน 1,000.00 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) จัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาศักยภาพที่ราชพัสดุให้มีความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ราชการหรือการจัดทำประโยชน์ในที่ราชพัสดุ (2) ปลดภาระติดพันในที่ราชพัสดุเพื่อให้ที่ราชพัสดุสามารถไปใช้ประโยชน์ราชการหรือนำมาพัฒนาจัดหาประโยชน์ได้ (3) สนับสนุนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ (4) ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามที่กระทรวงการคลังมอบหมาย

กองทุนของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น กองทุนตั้งตัวได้ ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 5,000.00 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) สนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจการศึกษา ผู้ประกอบการใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่ (2) เสริมสร้างหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจรับอนุญาต (Authorized Business Incubator) 3) เผยแพร่ความรู้การเป็นผู้ประกอบการ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือนักศึกษา หรือผู้จบการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี

กองทุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จำนวน 1,000.00 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน เพื่อใช้จ่ายในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น การจัดซื้อที่ดิน และเวนคืนที่ดินเอกชน เพื่อให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ โดยการเช่าที่ดิน / เช่าซื้อที่ดิน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินต้นทุนต่ำแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 จำนวน 200.00 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ให้การกู้ยืมแก่หน่วยงานของรัฐและองค์กรเกษตรกรเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายช่วยเหลือหรือส่งเสริมเกษตรกรในการประกอบอาชีพด้านเกษตร ผลผลิตเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง ยังไม่ครอบคลุมทุกทุนหมุนเวียน และผลการประเมินไม่สะท้อนถึงวัตถุประสงค์ ผลผลิต ผลลัพธ์ ของทุนหมุนเวียน และความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ ที่ผ่านมา มีหลายทุนหมุนเวียนที่ยังไม่เข้าระบบการประเมินผล เนื่องจากเป็นทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งใหม่ หรือมีข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบประเมินผล นอกจากนี้ระบบการประเมินผลแบบ Balanced Scorecard (BSC) ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นเพียงระบบการประเมินการบริหารภายในองค์กร ไม่สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผลผลิต ผลลัพธ์ และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ทำให้บางทุนหมุนเวียนแม้จัดตั้งมานาน แต่ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กองทุนตั้งตัวได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น

พบข้อเสียไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ใช้เงินไม่บรรลุตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ พบว่ากองทุนหมุนเวียนเหล่านี้ ใช้วงเงินงบประมาณค่อนข้างสูง รัฐสภาต้องพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณไปใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่เนื่องจากการใช้เงินนอกงบประมาณเป็นอำนาจของรัฐมนตรี ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางการเงิน ทำให้การใช้จ่ายเงินของบางทุนหมุนเวียนไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ประกอบกับปัจจุบันมีการจัดตั้งทุนหมุนเวียนขึ้นเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายตามวัตถุประสงค์การใช้จ่าย

รวมทั้งการเกิดค่าเสียโอกาส ของการนำเงินงบประมาณไปดำเนินการเรื่องสำคัญด้านอื่น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ดี ถึงแม้กระทรวงการคลังได้บริหารจัดการทุนหมุนเวียนให้การดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้วยมาตรการที่กำหนดให้ทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ขออนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปี แต่ยังมีทุนหมุนเวียนจำนวนหนึ่งไม่ต้องขออนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปีกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ บริหารทุนหมุนเวียน แม้เป้าประสงค์หลักของการจัดตั้งทุนหมุนเวียน คือ เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายบริหารกิจการของหน่วยงานของรัฐให้เกิดความคล่องตัวทางการเงินและไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากมิได้มีการพิจารณาในภาพรวม ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน หรือเกิดปัญหาผลการดำเนินงานขาดทุนและกลายเป็นภาระของภาครัฐ

กองทุนไหนสอบตก-สอบผ่าน

ปัจจุบันมีการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนโดยกรมบัญชีกลาง ด้วยการใช้ระบบประเมินผลแบบ Balanced Scorecard (BSC)  ซึ่งมีเกณฑ์การวัดการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1.ผลการดำเนินงานด้านการเงิน  2.ผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ  3.การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 4.การบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน เป็นการประเมินผลด้านการบริหารจัดการภายใน

จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ดีพอจะสะท้อนถึงผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ที่เกิดจากการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของจัดตั้งทุนหมุนเวียน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับผลสำเร็จในการดำเนินงานของผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ตามยุทธศาสตร์ โดยมีการวัดผลสำเร็จ (Performance Measures) ของผลงานด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจน

โดยแต่ละเกณฑ์การวัดผลจะประกอบด้วย ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) ที่แสดงถึงผลการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้เกณฑ์การวัดนั้น ๆ กำหนดเกณฑ์คะแนนในการประเมินไว้ ดังนี้ ตั้งแต่ 4.0000 – 5.0000 คะแนน คือ ทุนหมุนเวียนที่มีคะแนนดี – ดีมาก, ตั้งแต่ 3.0000 – 3.9999 คะแนน คือ ทุนหมุนเวียนที่มีคะแนนปกติ – ดี, ต่ำกว่า 3.0000 คะแนน คือ ทุนหมุนเวียนที่มีคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ปกติ ด้วยระบบการประเมินและเกณฑ์คะแนนที่กำหนด ทำให้ในแต่ละปีทุนหมุนเวียนส่วนใหญ่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ปกติ โดยสัดส่วนทุนหมุนเวียนที่เข้าระบบประเมินฯ ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ปกติ เฉลี่ย 4 ปี อยู่ที่ร้อยละ 81.68

การยุบเลิกกองทุน 2545-2558

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ.2543 มาตรา 6 การยุบเลิกทุนหมุนเวียน ให้กระทำได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า (1) หมดความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งทุนหมุนเวียนนั้นแล้ว หรือ (2) ทุนหมุนเวียนได้หยุดการดำเนินการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยระหว่างปี 2545-2558 ได้มีการยุบเลิกกองทุนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

อ่าน 'จับตา': “กองทุนและเงินทุนหมุนเวียนตามร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ 2560"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6269

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: