ศักยภาพพลังงานทดแทนของไทย
ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ระบุว่าปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย. 2559) ประเทศไทยมีกำลังผลิตในระบบไฟฟ้าทั้งสิ้น 40,555.45 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตติดตั้งของ กฟผ. เอง 16,376.13 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 40.38) และมีกำลังผลิตจากแหล่งอื่น (โรงไฟฟ้าเอกชนและการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ) 24,179.32 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 59.62) ซึ่งการเกิดพีคถึง 7 ครั้งในรอบปีนี้ จึงเกิดความกังวลใจต่อความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าของไทย เพราะเมื่อปลายปี 2558 กฟผ. ได้คาดการณ์ว่าพีคของปี 2559 จะอยู่ที่เพียง 28,470 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.1 แต่การเกิดพีคในปี 2559 ตามสถานการณ์จริงนั้นพบว่าพีคกลับสูงถึง 29,618.8 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพยากรณ์ที่ผิดพลาดของ กฟผ.
แน่นอนว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาควบคู่กับการพูดถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต ซึ่งในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยระยะ 21 ปี (พ.ศ.2558-2579) หรือแผน PDP 2015 นั้นระบุว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นใน 21 ปีนี้ จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ถึง 31 โรง รวม 57,459 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง กำลังผลิตรวม 7,390 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 15 โรง กำลังผลิตรวม 17,478 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส 5 โรง กำลังผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 4,119 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 12,105 เมกะวัตต์, พลังน้ำสูบกลับ 2,101 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 11,016 เมกะวัตต์ (ส่วนใหญ่เป็นพลังน้ำจากลาวและพม่า)
จะเห็นว่านโยบายด้านพลังงานของไทยให้น้ำหนักกับพลังงานทดแทนไม่มากนัก โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเกิดขึ้นภายใน 21 ปีนี้ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 131.68 เมกะวัตต์ 2.โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันยังไม่มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบ 3.โรงไฟฟ้าชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 2,726.60 เมกะวัตต์ 4.โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 600 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 372.51 เมกะวัตต์ 5.โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 680 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันยังไม่มีเข้าระบบ 6.โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 376 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้172.12 เมะวัตต์ 7.โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 2,906.40 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 2,906.40 เมกะวัตต์ 8.โรงไฟฟ้าพลังงานลม 3,002 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 233.90 เมกะวัตต์ และ 9.โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 1,419.58 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงพลังงานเอง พบว่าศักยภาพของพลังงานทดแทนในไทยยังมีอยู่สูงมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานจากชีวมวล, พลังงานจากก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ
แผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของเดือนต่าง ๆ และแผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยตลอดปีของประเทศไทย
พลังงานแสงอาทิตย์ : ข้อมูลศักยภาพรวมในปี 2552 จากการพัฒนาแผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย พบว่า การกระจายตามพื้นที่ของรังสีดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ โดยเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุด สำหรับการกระจายตามพื้นที่รังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยต่อปี พบว่าบริเวณที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุด (19-20 MJ/m2-day) จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 11 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ เมื่อทำการเฉลี่ยความเข้มรังสีดวงอาทิตย์รายวันเฉลี่ยต่อปีของพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีค่าเท่ากับ 18.0 MJ/m2-day ผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง เมื่อทำการเปรียบเทียบกับข้อมูลจากประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณความเข้มรังสีดวงอาทิตย์รายวันเฉลี่ยต่อเดือนโดยเฉลี่ยทุกพื้นที่ที่คำนวณได้จะแปรค่าในรอบปีอยู่ในช่วงระหว่าง 16-21 MJ/m2-day โดยมีค่าค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมและสูงสุดในเดือนเมษายน แล้วค่อย ๆ ลดลงต่ำอีกครั้งในเดือนสิงหาคมและเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกครั้งในเดือนกันยายนแล้วจึงลดลงต่ำสุดในเดือนธันวาคม จากผลที่ได้นี้แสดงให้เห็นว่าระดับของความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ในประเทศไทยมีค่าค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นผลดีต่อการประยุกต์ใช้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์
แผนที่แสดงการประเมินศักยภาพพลังงานชีวมวลแต่ละภาคในประเทศไทย
ชีวมวล : หรือ Biomass เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานของพืชที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโต จากนั้นแปรเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งหรือแปรสภาพเป็นของเหลว ที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ จัดเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยชีวมวลที่นำมาใช้เป็นพลังงาน มีแหล่งที่มาได้ 2 แหล่งคือ (1) เศษวัสดุเหลือใช้จาก การเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานได้ และ (2) จากการปลูกพืชเพื่อนำมาใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานโดยเฉพาะ โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ประเมินศักยภาพพลังงานชีวมวลแต่ละชนิดในประเทศไทยไว้ดังนี้
ก๊าซชีวภาพ : หรือ Biogas ถือเป็นพลังงานทดแทนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถดำเนินการผลิตและใช้เป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้มีวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตก๊าซชีวภาพได้อย่างหลากหลาย เช่น ของเสียหรือน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ภาคปศุสัตว์ ภาคชุมชนและสถานประกอบการต่าง ๆ หรือแม้แต่ของเหลือทิ้งทางการเกษตรหรือจากพืชพลังงานต่าง ๆ ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ ชุมชนและสถานประกอบการต่าง ๆ ติดตั้งระบบผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยศักยภาพของก๊าซชีวภาพในแต่ละภาคของประเทศไทยมีดังนี้
แผนที่แสดงการประเมินศักยภาพพลังงานก๊าซชีวภาพแต่ละภาคในประเทศไทย
ขยะมูลฝอย : หรือ Waste โดยขยะที่มีอยู่มากมายในประเทศไทยนั้น ปริมาณขยะที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานคือ 70 ตันต่อวัน จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ประเมินศักยภาพพลังงานขยะของประเทศไทยไว้ที่ 33,016.12 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 471.66 เมกะวัตต์ เลยทีเดียว
แผนที่แสดงการประเมินศักยภาพพลังงานขยะแต่ละภาคในประเทศไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ