พัฒนาการช่วงหนึ่งที่มีความสำคัญทั้งต่อการศึกษาพิธีกรรมและต่อวงวิชาการมานุษยวิทยาเองคือในช่วงทศวรรษ 60s ถึงทศวรรษ 70s นักมานุษยวิทยาอเมริกันสองคนที่มีบทบาทโดดเด่นในการศึกษาพิธีกรรมในช่วงเวลานี้คือ Roy Rappaport และ Clifford Geertz [1] ทั้งคู่เกิดในปี ค.ศ. 1926 และเขียนงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันคือ Pig for the Ancestors ของ Rappaport ตีพิมพ์ในปี 1968 ส่วน The Interpretation of Cultures ของ Geertz ตีพิมพ์ ในปี 1973 งานของทั้งคู่ไม่ได้สนทนากันโดยตรงเพราะมีจุดยืนที่ต่างกันมาก Rappaport โดดเด่นจากการพัฒนาแนวการอธิบายพิธีกรรมด้วยแนวทางแบบหน้าที่นิยม (functionalism) ร่วมกับนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (cultural ecology) ในขณะที่ Geertz ซึ่งเป็นคนสำคัญในการพัฒนามานุษยวิทยาสัญลักษณ์ (symbolic anthropology) อธิบายด้วยการตีความ อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้จะแสดงให้เห็นว่างานของทั้งสองคนมีการสนทนาและมีจุดร่วมในการวิพากษ์แนวคิดหน้าที่นิยม (functionalism) และแสดงให้เห็นว่าทั้งคู่พัฒนาข้อถกเถียงของตนเองไปจากการศึกษาพิธีกรรมแบบดั้งเดิมนี้อย่างไร
-
สนทนากับ Durkheimian[2]
1.1 ข้อวิจารณ์
The Elementary Forms of the Religious Life (1912) โดย Émile Durkheim เป็นงานชิ้นแรก ๆ ที่รวมเอาคำอธิบายความเชื่อ (belief) เข้ากับคำอธิบายพิธีกรรม (rite) แล้วอธิบายสังคมได้อย่างเป็นระบบ ทำให้มันกลายเป็นผลงานที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาศาสนาและพิธีกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยาในอังกฤษซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นมานุษยวิทยาสังคม (social anthropology) นักคิดในสำนักนี้ที่รู้จักกันดีและมีอิทธิพลในการพัฒนาแนวคิดของ Durkheim ต่อมาคือ Bronislaw Malinowski และ Alfred R. Radcliffe-Brown งานของทั้ง 3 คนข้างต้นนี้ถูกพาดพิงโดยตรงในบทเปิดเรื่องของผลงานช่วงเริ่มต้นอาชีพของทั้ง Rappaport และ Geertz ซึ่งมุ่งวิจารณ์แนวคิดหน้าที่นิยม (functionalism) เพื่อสร้างข้อถกเถียงในแนวทางของตนเอง
Rappaport อ้างถึงงานข้างต้นในบทนำของ Pig for the Ancestors ชี้ว่าการศึกษาเชิงหน้าที่ (functional studies) ของพฤติกรรมทางศาสนาเหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ภายในกลุ่มทางสังคม แต่งานของเขาเองจะต่างออกไป โดยจะมุ่งสนใจ ผลของพิธีกรรมที่มีต่อความสัมพันธ์ของกลุ่มคนกับองค์ประกอบภายนอกตัวสังคมแทน (1968) ส่วน Geertz พาดพิงถึงงานข้างต้นในบทนำของ Ritual and Social Change: A Javanese Example (1957) ชี้ว่าแนวการอธิบายแบบหน้าที่นิยมซึ่ง “ครอบงำการถกเถียงทางทฤษฎีในเรื่องบทบาทของศาสนาในสังคม” อยู่นั้น เน้นย้ำแต่ว่าพิธีกรรมเป็นเครื่องมือกระชับแน่นสายสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลเพื่อให้สังคมเป็นปึกแผ่น เป็นคำอธิบายที่มีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว และไม่สามารถใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change)
การที่ Rappaport และ Geertz ซึ่งอายุเท่ากัน เติบโตมาในบรรยากาศวงการวิชาการอเมริกันยุคเดียวกัน[3] เริ่มต้นด้วยการวิพากษ์นักคิดกลุ่ม Durkheimian หรือที่ทั้งคู่เรียกรวม ๆ ว่าเป็นพวกหน้าที่นิยม แสดงให้เห็นว่าการโต้เถียงแนวคิดนี้กำลังเป็นกระแสนิยม โดยจะเห็นได้จากงานของนักมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Geertz เช่นงานชิ้นเด่นของ Mary Douglas (1966) และของ Victor Turner (1966) ที่วิพากษ์แนวคิดนี้ต่างก็ตีพิมพ์ในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งสิ้น แต่ Geertz ไปไกลกว่าด้วยการพัฒนาแนวทางมานุษยวิทยาเชิงตีความ (interpretive anthropology) ขึ้นมาจากงานของ Max Weber ในขณะที่ Rappaport ก็โดดเด่นในแง่ที่วิจารณ์หน้าที่นิยมแต่ยังคงใช้คำอธิบายแบบหน้าที่นิยมในการอธิบายพิธีกรรม ทว่าขยับไปผสมเข้ากับการอธิบายแบบนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (cultural ecology)
1.2 อิทธิพล
ในด้านหนึ่ง ทั้งคู่ต่างวิพากษ์หน้าที่นิยม แต่ในขณะเดียวกันก็รับเอาวิธีอธิบายในรายละเอียดบางอย่างจาก Durkheim มาใช้ด้วยเช่นกัน Rappaport นั้นชัดเจนอยู่แล้วว่ายังคงพอใจกับคำอธิบายเชิงหน้าที่ แต่จัดวางที่ทางให้กับหน้าที่นิยมใหม่ เขาน่าจะได้รับอิทธิพลของ Durkheim ผ่านทาง Leslie White หนึ่งในอาจารย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและหนึ่งในผู้ริเริ่มการศึกษาแนวนิเวศวิทยาวัฒนธรรม White เชื่อว่าการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมต้องทำความเข้าใจจาก 3 ด้านคือมุมมองทางประวัติศาสตร์ (historical) วิวัฒนาการ (evolutionary) และ แบบแผน-หน้าที่ (formal-functional) ซึ่งอย่างสุดท้ายนี้คือโครงสร้าง-หน้าที่นิยมในแบบของ Radcliff-Brown (Applebaum, 1987: 201) เมื่อนำหน้าที่นิยมซึ่งให้คำอธิบายสังคมแบบ synchronic คือมองโครงสร้างของระบบในเวลาที่หยุดนิ่ง มาอธิบายร่วมกับมุมมองทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการซึ่งให้คำอธิบายแบบ diochronic คือมององค์ประกอบใดหนึ่งแบบตัดข้ามเวลา จึงเป็นการแก้ปัญหาของหน้าที่ินิยมแบบที่เคยมีมา
ส่วน Geertz ที่แม้จะยืนอยู่บนฐานคิดที่ตรงข้ามกับหน้าที่นิยมอย่างชัดเจน ทว่างานในช่วงต้นของเขากลับไม่ได้ปฏิเสธการอธิบายแบบโครงสร้าง-หน้าที่อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก Geertz ได้รับอิทธิพลจาก Talcott Parson อาจารย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด Parson เป็นผู้ริเริ่มแปลงานชิ้นสำคัญของ Max Weber สู่วงวิชาการอเมริกัน และยังเสนอแนวการอธิบายแบบใหม่ใน The Structure of Social Action โดยรวมเอาแนวคิดของ Durkheim และ Weber เข้าด้วยกัน (Parson, 1937) ข้อเขียนเรื่อง Ritual and Social Change ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Geertz ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีของอาจารย์ค่อนข้างมาก กล่าวคือยังใช้การอธิบายแบบ Durkheimian ร่วมอยู่ด้วย แต่ในภายหลัง แนวคิดการตีความ (Vestehen) ของ Weber กลับมีอิทธิพลต่อเขามากกว่า และนำไปสู่การพัฒนาแนวทาง interpretive anthropology ของเขาเองในที่สุด
จะเห็นว่าแม้จุดยืนของทั้งสองคนแตกต่างกันอย่างมาก แต่ความสนใจในพิธีกรรมคือประเด็นศึกษาที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างกัน Rappaport และ Geertz ไม่ได้สนทนากันโดยตรงทว่าต่างก็มีข้อถกเถียงต่อแบบ (model) การอธิบายศาสนาและพิธีกรรมอันเดียวกัน นั้นคือแบบของ Durkheim ซึ่งมีอิทธิพลต่อการอธิบายศาสนาและพิธีกรรมมาเป็นเวลานาน ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ Rappaport ไม่ปฏิเสธฐานคิดแบบหน้าที่นิยม แต่การจัดที่ทางให้กับหน้าที่นิยมใหม่กลับทำให้แบบการอธิบายพิธีกรรมที่ durkheim พัฒนาขึ้นมาลดความสำคัญลงไปเป็นแค่ส่วนประกอบคำอธิบาย เพราะพิธีกรรมของ Rappaport อยู่ข้างนอกโครงสร้างสังคม แบบในการอธิบายจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับการกระทำอีกต่อไป เขาไม่ปฏิเสธความสัมพันธ์นี้ เพียงแต่ไม่นับเป็นตัวแปร (variable) ในการอธิบายความสัมพันธ์แบบใหม่ที่อยู่ข้างนอกโครงสร้างสังคม ในทางตรงกันข้าม Geertz ซึ่งถึงที่สุดแล้วปฏิเสธฐานคิดแบบ Durkheimian และปฏิเสธคำอธิบายแบบหน้าที่นิยมอย่างสิ้นเชิง กลับยังหยิบยืมวิธีทำความเข้าใจศาสนาและพิธีกรรมของ Durkheim มาใช้อธิบายในแบบของตัวเอง เพราะในการอธิบายของ Geertz ยังคงเกี่ยวข้องอยู่กับความคิดภายในกลุ่มคน ดังนั้นเขาจึงประยุกต์แบบของ Durkheim มาใช้กับของเขาเอง โดยเชื่อมโยงความเชื่อทางศาสนากับเข้ากับโลกทัศน์ (worldview) และโยงพิธีกรรมทางศาสนาเข้ากับแนวโน้มการปฏิบัติ (ethos) ซึ่งเป็นการจัดวางแบบคู่ตรงข้ามเช่นเดียวกับที่ Durkheim ทำเอาไว้ (Bell, 1992: 26) แต่ในขณะที่แบบของ Dukheim มีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ถูกแยกออกจากสิ่งสาธารณ์ (profane) และกระชับความสัมพันธ์ในสังคมได้อย่างไร Geertz ใช้มันเพื่อแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมเป็นตัวการหลอมรวมคู่ตรงข้าม เพื่อทำให้สัญลักษณ์ในความคิดปรากฏราวกับเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในโลกความเป็นจริง (Geertz, 1973: 112-113) ซ่ึ่งจะอภิปรายต่อไปในงานชิ้นนี้
[1] จะต้องบันทึกไว้ในที่นี้ว่า Geertz เป็นนักวิชาการที่ผลิตงานจำนวนมาก งานในแต่ละช่วงเวลาก็มีจุดเน้นที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะหมายถึงงานในช่วงต้นอาชีพไปจนถึงต้นทศวรรษ 70 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาผลิตงานชิ้นโดดเด่นออกมา ส่วน Rappaport นั้นผลิตงานออกมาน้อยชิ้นกว่าและค่อนข้างมีความคงเส้นคงวา ดังนั้นจะกล่าวถึงอย่างรวม ๆ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นงานในช่วงใด
[2] งานชิ้นนี้จะพูดถึงเฉพาะพิธีกรรม ซึ่ง Durkheim ให้คำอธิบายในเชิงหน้าที่เอาไว้ ดังนั้นจึงจัดให้ Durkheimian เป็น functionalist
[3] งานชิ้นแรกของ Rappaport ตีพิมพ์หลังงานชิ้นแรกของ Geertz ราว 10 ปี แต่ Rappaport เริ่มทำงานสนามในปาปัวนิวกินีตั้งแต่ปี 1962 ซึ่งนับได้ว่าเป็นเวลาไล่เลี่ยกัน
บรรณานุกรม
Applebaum, Herbert. Perspectives in Cultural Anthropology. State University of New York Press, 1987.
Bell, Catherine. Ritual Theory, Ritual Practice. New York: Oxford University Press, 1992.
Douglas, Mary. Purity and Danger: An Analysis of Concepts of Pollution and Taboo. London: Routledge & Kegal Paul, 1966.
Durkheim, Emile. The elementary forms of the religious life. London: Allen & Unwin, 1964.
Geertz, Clifford. Ritual and Social Change: A Javanese Example. American Anthropologist 59 (1). Wiley: 32–54, 1957.
Geertz, Clifford. The Interpretation of Cultures. New York: Basic Books, 1973.
Geertz, Clifford. Thick Description: Toward an Interpretive Theory of Culture. In The Interpretation of Cultures: Selected Essays. pp 3–30. New York: Basic Books, 1973.
Hoey, Brian, and Tom Fricke. From Sweet Potatoes to God Almighty: Roy Rappaport on Being a Hedgehog. American Ethnologist 34.3 581-599, 2007.
Malinowski, B. Argonauts of the Western Pacific: An account of native enterprise and adventure in the Archipelagoes of Melanesian New Guinea. London: Routledge and Kegan Paul, 1922.
McGee, R. Jon and Richard L. Warms. Anthropological Theory: An Introductory History. New York: McGraw Hill, 2004.
Parsons, Talcott. The Structure of Social Action. New York: McGraw-Hill, 1973.
Rappaport, R.A. Pigs for the Ancestors: Ritual in the Ecology of a New Guinea People. New Haven: Yale University Press, 1968.
Rappaport, R.A. Ritual and Religion in the Making of Humanity. Cambridge: Cambridge University Press, 1999.
Turner, Victor Witter. The Ritual Process: Structure and Anti-Structure. Lewis Henry Morgan Lectures 1966. Chicago: Aldine Pub. Co, 1969.
Vayda, Andrew P., and Rapport, R.A. Island cultures, Man’s Place in the Island Ecosystem. F.R. Fosberg, ed. Honolulu, Bishop Museum, 1963.
โปรดดิตตามตอนจบ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ