ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการต่อต้านของคนงาน

พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงาน 27 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 13449 ครั้ง


 

“ปีศาจแห่งปี1968 กำลังหลอกหลอนยุโรป”

นิโกลาส์ ซาร์โกซี อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวเมื่อ ก.พ. 2009

 

ทันทีที่ทั่วภูมิภาคยุโรปเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชนชั้นล่างก็มีการตอบสนองทันควัน ในประเทศฝรั่งเศสมีการนัดหยุดงานทั่วไป เช่นเดียวกับที่ สเปน, กรีซ, อิตาลี, และไอร์แลนด์ รวมทั้งการประท้วงใหญ่ต่อต้านมาตรการตัดสวัสดิการสังคมในลัตเวีย, รัสเซีย และไอซ์แลนด์

สำหรับประเทศสหราชอาณาจักร (ต่อไปใช้คำว่า อังกฤษ) เมื่อเทียบกันแล้ว คนงานยังตอบสนองอย่างช้า ๆ เงียบ ๆ เพราะหลายปีแห่งความพ่ายแพ้ได้บั่นทอนความมั่นใจของคนงานลงไป แต่ในปี 2009 ปรากฏการณ์ต่อต้านเพิ่มขึ้น การยึดโรงงานและการนัดหยุดงานของคนงานเองเริ่มประสบความสำเร็จอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนงานมีความพร้อมที่จะก้าวไปไกลมากกว่าผู้นำแรงงาน รวมทั้งการหยุดมองโลกในแง่ร้ายหลังจากคนงานประสบกับความพ่ายแพ้ในช่วงทศวรรษ1980 และ 1990

นี่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายเรา (แรงงาน) ได้ชัยชนะและสถานการณ์ทุกอย่างจะเข้าข้างเรา เพราะมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ยังมีการเลิกจ้างพนักงาน

ณ โรงงานผลิตสก็อตวิสกี้ยี่ห้อจอนนี่ วอล์คเกอร์ (Johnnie Walker) คนงานจำนวน 20,000 คน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรเมืองคิลมาร์น็อกในสก็อตแลนด์ เดินขบวนต่อต้านการปิดงานและเลิกจ้างของโรงงาน แม้สหภาพแรงงานจะสามารถต่อรองค่าชดเชยการเลิกจ้างได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ถือว่าประสบความล้มเหลวในการรักษางานไว้ มีข้อถกเถียงกันระหว่างรูปแบบการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานแบบเก่าและใหม่ ซึ่งแบบเก่าเน้นระบบราชการของพวกผู้นำแรงงาน ที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับพรรคแรงงาน ส่วนแบบใหม่เน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนสมาชิกมากกว่า ซึ่งตัวอย่างผลลัพธ์ของการนัดหยุดงานของพนักงานไปรษณีย์ในเดือน พ.ย. 2009 ได้สะท้อนออกมาว่า สหภาพแรงงานรูปแบบเก่านั้นได้ถ่วงรั้งการต่อสู้แบบมวลชนอย่างไร และยังได้เห็นว่ารัฐบาลพรรคแรงงานกับนายจ้างไปรษณีย์รอยัล (Royal Mail) พยายามหลบหลีกการเผชิญหน้ากับกลุ่มมวลชนคนงานที่เข้มแข็งที่สุดในอังกฤษด้วย

เรามักได้ยินว่าการต่อต้านนั้นไร้ประโยชน์เพราะระบบโลกาภิวัตน์หมายถึงการที่คนงานในอังกฤษหรือที่อื่น ๆ ไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อต้านกลุ่มทุนข้ามชาติได้และมักเห็นผู้นำแรงงานยอมรับวิธีคิดแบบนี้ แต่แท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ดังตัวอย่างกรณีคนงานผลิตรถฟอร์ด (Ford) ในอังกฤษนัดหยุดงานเมื่อปี1988 พวกเขาทำให้คนงานฟอร์ดทั่วยุโรปหยุดงานด้วย

การเปลี่ยนเทคโนโลยีและรูปแบบการจัดองค์กรการทำงานเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ประโยชน์แก่คนงาน ในช่วงทศวรรษ 1980 บริษัทผลิตรถของโลกใช้ระบบบริหารจัดการแบบ Just in Time ของญี่ปุ่น หัวใจของระบบบริหารจัดการนี้คือให้เหลือสินค้าค้างสต็อคให้น้อยที่สุด

ในปี1994 คนงานเจนเนอรัลมอเตอร์หรือจีเอ็ม (GM )จำนวน 12,000 คน ที่เมืองฟรินท์ รัฐมิชิแกนประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกันนัดหยุดงานต่อต้านนโยบายเพิ่มโอทีแทนที่จะจ้างคนงานใหม่มาเพิ่ม บริษัทจีเอ็มปลดพนักงานจำนวน 20,000 คน ในยุโรปเพราะอะไหล่รถยนต์หมด หลังจากนั้น 3 วันบริษัทตกลงจ้างพนักงานใหม่ จำนวน 800 คนใน ทำนองเดียวกันคนงานจีเอ็มที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ นัดหยุดงานจำนวน 3,000 คน ในปี 1996 คนงานปิดงานจีเอ็มทั่วสหรัฐอเมริกาแคนาดา และเม็กซิโก จีเอ็มได้เลิกจ้างถึง 125,000 คนและการนัดหยุดงานทำให้บริษัทสูญเสีย 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน

เหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พิสูจน์อีกครั้งว่าคนงานสามารถเอาชนะได้ ที่บริษัทวิสทิออนอิเล็คทรอนิกส์ (Visteon Electronics) ซัพพลายเออร์ผลิตรถให้ฟอร์ดนายจ้างฟอร์ดใช้รูปแบบแบ่งแยกคนงานและจ้างเหมาช่วง ช่วงปลายเดือนมีนาคมบริษัทฟอร์ดในอังกฤษให้ข่าวแก่นิตยสารไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ว่าบริษัทไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะให้ทุนสนับสนุนซัพพลายเออร์ที่ล้มละลาย แต่เมื่อโรงงานวิสทิออน 3 โรง ถูกคนงานยึดและขู่ว่าจะปิดอีกสาขาที่เมืองบริดเจนด์ ในเวลส์ที่ทำกำไรให้ฟอร์ด นายจ้างฟอร์ดที่อังกฤษจึงได้เข้าแทรกแซงผู้บริหารวิสทิออนที่กำลังล้มละลายให้จ่ายเงินชดเชย 20 ล้านปอนด์แก่อดีตคนงาน บรรษัทข้ามชาติอ่อนแอลงเพราะปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมของสหภาพแรงงานที่สามารถสร้างผลสะเทือนยิ่งกว่าที่ผ่านมา

ที่อังกฤษแม้จะเผชิญอัตราการว่างงานที่สูงในปี 2009 แต่กลับมีการต่อสู้ของคนงานอย่างมาก เช่น การยึดบริษัทวอเตอร์ฟอร์ด กลาส (Waterford Glass) บริษัทพริสมี แพกเกจิง (Prisme Packaging) ที่เมืองดันดี รวมถึงการนัดหยุดงานที่ช่วยรักษางานไว้ได้ของพนักงานเก็บขยะที่เมืองลีดส์ (Leeds) และที่วิทยาลัยทาวเวอร์แฮมเล็ทส์ (Tower Hamlets College) การนัดหยุดงานของคนงานไปรษณีย์รอยัลเมล์ก่อนเทศกาลคริสมาสต์ และต้นปี 2010 มีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินบริติชแอร์เวย์ส (British Airways) และการลงมตินัดหยุดงานระดับชาติของพนักงานภาครัฐทั่วประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นนั้น การต่อต้านเป็นเรื่องสำคัญ คนชั้นสูงที่ก่อวิกฤตต้องการให้คนชั้นล่างรับกรรม ชนชั้นปกครองต้องการยักย้ายค่าใช้จ่ายของวิกฤตมาให้พวกเราแบก ด้วยการตัดงบประมาณด้านสาธารณะประโยชน์ ตัดงาน ค่าจ้าง สวัสดิการบำนาญ

ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งของอังกฤษในครั้งหน้าเขาอาจถูกบีบให้จัดการกับคนงาน มาร์ติน วอล์ฟ (Martin Wolf) คอลัมนิสต์นิตยสารไฟแนนซ์เชียลไทมส์ ได้กล่าวไว้ว่านี่คือการแช่แข็งแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการต่อรองเรื่องค่าจ้าง (จากระดับอุตสาหกรรมไปสู่ระดับสถานประกอบการ-ผู้แปล) การสมทบเงินบำนาญของลูกจ้างและการตัดสวัสดิการ นายกรัฐมนตรีคนถัดไปของอังกฤษมีแนวโน้มจะลงเอยเหมือนอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีนางมาร์กาเร็ต แท็ชเชอร์ (Margaret Thatcher) ได้เคยทำไว้

การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2010-2011 เป็นไปได้ว่าจะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2007รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลพรรคแรงงานนายอลิสแทร์ ดาร์ลิ่ง (Alistair Darling) ได้ประกาศตัดงบค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะประโยชน์ 14% ในปี 2011-2014 ทำให้อัตราการสูญเสียงานในภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก

คนนับล้านรู้ว่าพรรคแรงงานคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนรวยมาก่อน จึงไม่แปลกที่สหภาพแรงงานไปรษณีย์ในลอนดอนโหวตถึง 96% ให้มีการหยุดสนับสนุนเงินแก่พรรคแรงงาน การออกมาต่อต้านนโยบายแปรรูปหน่วยงานสาธารณประโยชน์ของรัฐของพนักงานไปรษณีย์รอยัลเมล์มีอิทธิพลต่อคนงานนักศึกษาผู้รับบำนาญและคนว่างงานในประเทศด้วย

สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมอังกฤษกลับเรียกร้องให้เพิ่มเงินค่าเล่าเรียนของนักศึกษาอีก 50% และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเรียนด้วยสมาพันธ์แรงงานฯ ยังหนุนหลังการรณรงค์ของสื่อภาคธุรกิจให้ประชาสัมพันธ์ว่าการบริการไปรษณีย์จะอยู่รอดได้หากแปรรูป ซึ่งคนงานภาครัฐต้องยอมรับการตัดเงินเดือนและสวัสดิการบำนาญรวมทั้งตำแหน่งงานและนั่นหากโชคดีที่มีงานทำก็จะต้องทำงานยาวนานและขยันมากขึ้น

จุดยืนของพวกเขา คือ ปัญหาใหญ่เช่นเดียวกับที่ชนชั้นปกครองบางส่วนพยายามผลักดันนโยบายตัดงบดังกล่าวประเด็นคือ ทำไมคนงานต้องจ่ายให้กับความโลภความไร้สมรรถนะของนายธนาคาร ทำไมต้องเสียสละ จากผลโพลล์ล่าสุด 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่าสมาชิกรัฐสภาเวสมินสเตอร์ทุจริตคอรัปชั่นจากกรณีอื้อฉาวเบิกจ่ายเงินงบประมาณด้านสิทธิประโยชน์ของนักการเมืองที่ฉ้อฉล จึงเป็นการยากที่สมาชิกรัฐสภาจะเรียกร้องให้ชนชั้นแรงงานเสียสละแบบหน้าตาเฉยซึ่งการกดดันคนงานกำลังเข้มข้นขึ้นและมันจะไม่ผ่อนเบาจนกว่าจะมีการต่อต้านจากคนงาน

ระบบทุนนิยมกับความโกลาหล

หากชีวิตของคนงานชาวอังกฤษจะต้องยากลำบากขึ้น มันคงเกิดมหันตภัยกับคนจนในแอฟริกา, เอเชีย และละตินอเมริกา ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยกำไรและการแข่งขัน ระบบจึงสนองความต้องการของคนบนโลกไม่ได้ การจ้างงานที่ไม่ก่อกำไรก่อให้เกิดการว่างงาน จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีกับกำไรของคนหยิบมือเดียว หากมนุษยชาติจะอยู่รอดได้ต้องขจัดระบบทุนนิยมทว่าคนงานจะทำได้หรือ พวกเขาจะออกมาต้านในจำนวนมหาศาลได้ไหมหรือจะเอาชนะได้หรือไม่

บางคนกลัวการตกงานเสียงานจึงไม่สู้ จากการที่วิกฤตเศรษฐกิจทำให้คนสิ้นหวังแต่ในความเป็นจริงมีการต่อสู้ ดังเช่นในปี1930 เป็นทศวรรษแห่งการต่อสู้นัดหยุดงานและการปฏิวัติในสภาวะที่ตกต่ำครั้งใหญ่หลวง แต่ถึงยังไงก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ลีออน ทรอตสกี้ (Leon Trotsky) นักปฏิวัติชาวรัสเซีย เคยกล่าวไว้ว่าการออกมาต่อต้านของคนงานถูกกำหนดโดยขอบเขตของเงื่อนไขทางวัตถุนิยมที่พวกเขาเผชิญอยู่ เสมือนประกายไฟที่ตกลงบนหญ้าเปียกจะไม่ทำให้ไฟลุก แต่ถ้าหล่นลงบนชนวนแห้งก็จะติดไฟง่ายขึ้น ดังเช่นในปี 1920 ทรอตสกี้พยายามชี้ถึงจุดที่เชื่อมกันระหว่างวิกฤตกับการต่อต้านว่า

“ผลกระทบด้านการเมืองของวิกฤตหนึ่งจะถูกกำหนดโดยสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนั้นและโดยเหตุการณ์ก่อนหน้ากับเหตุการณ์ที่เกาะเกี่ยวไปกับวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ความสำเร็จความล้มเหลวของชนชั้นแรงงานที่เป็นมาก่อนหน้านี้ภายใต้ชุดเงื่อนไขหนึ่ง วิกฤตอาจจะก่อให้เกิดพลังผลักดันไปสู่การปฏิวัติของคนงาน, ภายใต้ชุดสถานการณ์ที่แตกต่าง วิกฤตอาจทำให้การต่อต้านของคนงานเป็นอัมพาตได้”

ทรอตสกี้ยังได้ชี้ให้เห็นว่าขณะที่วิกฤตเริ่มต้นก็ทำให้คนงานเสื่อมถอยได้ความขมขื่นที่ซ่อนอยู่ก็จะยังคงอยู่และสามารถระเบิดออกมาเมื่อมีโอกาสรวมกลุ่มอย่างมีเอกภาพ พื้นฐานของวิกฤตเศรษฐกิจนายทุนจะบีบคนงานอย่างหนัก ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้จากการตัดค่าจ้างอาจมีคนถามขึ้นมาว่าการต่อสู้เรื่องค่าจ้าง ดังตัวอย่างคลาสสิคของการนัดหยุดงานของคนงานเหมืองแร่อังกฤษจะนำไปสู่การปฏิวัติโดยอัตโนมัติหรือไม่ หรือนำไปสู่สงครามกลางเมืองไหมยังไงก็ตาม นักมาร์คซิสต์จะไม่ถามคำถามแบบนี้

มิตรสหายหลายคนถามว่าถ้าวิกฤตได้รับการแก้ไขในยุคนี้แล้วเราจะปฏิวัติได้หรือ หากดูกรณีรัสเซียปี 1905 ที่การปฏิวัติของคนงานล้มเหลวและคนงานก็เบื่อหน่ายกับการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ตลอดปี 1907-1909 ภาวะวิกฤตที่ย่ำแย่ที่สุดครอบงำพวกเขา มันได้ฆ่าขบวนการอย่างเบ็ดเสร็จเพราะคนงานทุกข์ยากลำบากกับการต่อสู้ครั้งนั้นมาก ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจึงสามารถทำได้แค่ให้พวกเขาท้อแท้ จากนั้นระหว่างปี1910 และ 1912 สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นพวกเขาตระหนักอีกครั้งว่าพวกเขาสำคัญต่อการผลิตอย่างไรจากปริมณฑลการผลิตไปสู่การเมือง และก่อนสงครามโลก ชนชั้นแรงงานสามารถรวมตัวกันได้อีก

ภาวะวิกฤตที่คลี่คลายลงก็ไม่ทำให้การปฏิวัติพลาดโอกาส แต่ช่วยให้คนงานได้พักหายใจช่วงระหว่างที่สามารถดำเนินการจัดตั้งขบวนกันใหม่ให้มีฐานแน่นเพื่อนำไปสู่การตอบโต้อีกครั้ง (จากหนังสือของทรอตสกี้ ‘ห้าปีแรกของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ฉบับที่ 1’)

เราต้องเข้าใจว่าวิกฤตเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่ยืดเยื้อไมใช่เหตุการณ์โดด ๆ ไม่ใช่ลักษณะเส้นโค้งที่แน่นิ่งคาดเดาได้แต่มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ฟื้นคืนและถดถอยได้อีก และต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงความรุนแรงของวิกฤตการเงินปัจจุบัน มันเป็นวิกฤตของโลกและบีบชนชั้นปกครองให้กระทำกับคนงานอย่างรุนแรง ที่เราส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนภาวะเงินเฟ้อในอังกฤษ หมายถึงการที่ค่าจ้างจริงลดต่ำลงก่อนภาวะวิกฤตจะมาถึงด้วยซ้ำ

คนงานเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ภายหลังที่มีการตรากฎหมายต่อต้านสหภาพแรงงาน การแปรรูป และการลดกฎระเบียบที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อนวิกฤตล่าสุดพิสูจน์ว่า ระบบทุนนิยมไม่ได้ผลแต่ไม่ใช่ครั้งแรกหรือแค่ครั้งนี้ ยังมีสิ่งที่เลวร้ายอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบการเมืองคือ คนจำนวนมาก หมดความสนใจในพรรคแรงงาน เพราะพรรคกลายเป็นร่างทรงของกลไกตลาดเสรีและจึงเป็นเงื่อนไขของการกลับไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนโดยขบวนการต้านสงครามและทุนนิยมในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษนี้

การฟื้นฟูที่สำคัญ ๆ ของปฏิบัติการทางอุตสาหกรรม และการกลับมาของการต่อสู้เคลื่อนไหวในรูปแบบการยึดโรงงาน การนัดหยุดงานไม่เป็นทางการการเคลื่อนไหวทั้งหมดปรากฏขึ้นในบริบทนี้ คนงานโกรธท้อแท้และขมขื่นซึ่งสั่งสมมานานนับสิบปี และระเบิดออกมาซึ่งเราไม่ได้เห็นมากว่า 30 ปีเลยทีเดียว

การต่อสู้ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ1930 เมื่อตลาดหุ้นพังทลายในปี 1929 วิกฤตที่แหลมคมกับความไม่มั่นคงของการจ้างงานที่ทำให้คนงานอ่อนแอขาดความมั่นใจ แต่แค่หลังจากนั้น 5 ปีเมื่อวิกฤตผ่อนคลายลงบ้างในปี 1934 การต่อต้านของคนงานระเบิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นในฝรั่งเศสและสเปน การจัดตั้งสหภาพแรงงานในอังกฤษได้ถูกรื้อฟื้นในช่วงระหว่างการติดอาวุธใหม่เพื่อก่อสงครามโลกครั้งที่ 2

มันอาจเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวการฟื้นคืนที่ไม่ใหญ่โตนัก อัตราการว่างงานเป็นไปอย่างช้า ๆ คนงานไม่ถูกเลิกจ้างซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจและนำไปสู่ปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในอเมริกาปี1934 การฟื้นคืนของปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมได้กระตุ้นคลื่นนัดหยุดงานที่นำไปสู่การจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม ความเติบโตทางวัฒนธรรมและวัตถุวิสัยสำหรับชนชั้นแรงงานและการเติบโตของฝ่ายซ้าย

วิกฤตการเมือง

วิกฤตการเมืองอาจทำให้อะไรต่าง ๆ ลุกโชนขึ้นมา อย่างฝรั่งเศสที่อยู่ในสภาพที่สวัสดิการสังคมถูกตัดมานับสิบปี พวกฝ่ายขวาถดถอย มาตรฐานความเป็นอยู่ตกต่ำ นักศึกษาปารีสถูกตำรวจปราบจลาจลปราบปรามเมื่อเดือน พ.ค.1968 ภายในช่วงเวลานั้นคนงานนับสิบล้านคนเข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจที่ใหญ่โตของฝรั่งเศสถูกคนงานยึดกุม นอกจากการระเบิดครั้งนี้ฝ่ายซ้ายใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น

การต่อต้านของมวลชนเกิดขึ้นได้หากผู้ปกครองกดขี่อย่างรุนแรง รัฐบาลอนุรักษ์นิยมในปี 1970 ได้รับการเลือกตั้ง นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างถูกควบคุมปรับลดและมีการตรากฎหมายต่อต้านสหภาพแรงงานกดขี่คนงานอย่างเป็นระบบ การปกครองของพรรคอนุรักษ์นิยมได้ก่อชนวนให้เกิดการนัดหยุดงานและการยึดโรงงานตามมาเป็นชุด เช่น การยึดโรงงานต่อเรือไคลด์ (Clyde) เมื่อปี 1971 ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนงานทั่วไปเกิดกระแสการยึดโรงงานกว่า 200 ครั้ง การปักหลังประท้วงการหยุดงานของคนงานเหมืองแร่ คนงานก่อสร้างและคนงานอู่ต่อเรือในปี 1972 และการหยุดงานครั้งที่สองของคนงานเหมืองแร่ในปี 1974

กว่า 3 ล้านวันที่สูญเสียไปกับการนัดหยุดงานประท้วงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ (Industrial Relations Act 1971-ผู้แปล) และกว่า 1.5 ล้านวันกับการต่อต้านนโยบายค่าจ้างของรัฐบาลอนุรักษ์นิยม การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานสามารถเอาชนะกฎหมายต้านสหภาพแรงงานฉบับนี้และปลดปล่อยคนงานอู่ต่อเรือเพ็นทันวิลล์ (Pentonville) ที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาต่อต้านกฎหมาย (ไม่ฟังคำสั่งศาล-ผู้แปล) ในฤดูหนาวปี 1973-1974 มีการตัดไฟการประท้วงการทำงานโอทีของคนงานเหมืองแร่และการนัดหยุดงานตามมาท้ายสุดทำการไล่รัฐบาลออกไปจากอำนาจ

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเกิดไม่ได้หากขาดการเมืองแนวสังคมนิยม มีนักกิจกรรม นักสหภาพแรงงานกว่า 20,000 คนที่เป็นสมาชิกหรือเป็นผู้สนับสนุนใกล้ชิดพรรคคอมมิวนิสต์และอีก 5,000 คนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคซ้ายปฏิวัติ แม้ว่าจะยังเป็นคนกลุ่มน้อยในท่ามกลางนักสหภาพแรงงานกว่า 300,000 คนแต่การเป็นอิสระจากพรรคแรงงาน สามารถผลักดันการต่อสู้ให้ไปไกลกว่าข้อจำกัดที่กำหนดโดยพวกผู้นำแรงงานแนวข้าราชการ

ก็ไม่ได้เป็นถึงกองพันรบที่ใหญ่ที่สุดหรือจัดตั้งมาเป็นอย่างดี ที่นักสังคมนิยมจะมาเป็นกองหน้าได้เสมอ มาดูการนัดหยุดงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นคือพนักงานเช็คอินของบริติช แอร์เวย์ 500 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเดินออกไปปิดสนามบินเฮทโทรว (Heathrow) สะท้อนว่าแรงบันดาลใจอย่างน้อยที่สุดสามารถมาจากประสบการณ์หรือจากกลุ่มของแรงงานที่ไม่มีประเพณีการต่อสู้หรือจัดตั้งมาก่อนได้

นี่คือลัทธิสหภาพแรงงานแนวใหม่แห่งทศวรรษ1880 และ1890 ที่ถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้านั้นมีคนงานเพียง 10% เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและผู้นำล้วนเป็นชายสหภาพแรงงานช่างฝีมือที่เคยเติบโตมาก่อนถึง 30ปีกลับไม่สามารถจัดตั้งคนงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือคนใหม่ ๆ ได้

การปฏิวัติของแรงงานไร้ฝีมือ ได้แก่ แรงงานหญิงและแรงงานข้ามชาติมาจากการนัดหยุดงานของคนงานผลิตไม้ขีดไฟบริษัทบรายอันแอนด์เมย์ (Bryant & May) ในปี 1888 ซึ่งนำโดยคนงานหญิงที่หลายคนย้ายถิ่นมาจากไอร์แลนด์ ชัยชนะของพวกเธอมีนัยสำคัญไปถึงการนัดหยุดงานของคนงานอู่ต่อเรือและการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคม

การเติบโตของลัทธิสหภาพแรงงานแนวใหม่นั้นขึ้นอยู่กับการเข้าไปมีส่วนร่วมและการนำของนักกิจกรรมสังคมนิยมอย่างแอนนี่ บีซั่น (Annie Besant) เอลินอร์ มาร์คซ์ (Eleanor Marx) และทอม มานน์ (Tom Mann) และการลุกฮือของขบวนการที่นำโดยนักสังคมนิยม

นักสังคมนิยมเป็นหัวใจของการฟื้นฟูพลังของชนชั้นแรงงานมาโดยตลอด นักสังคมนิยมปฏิวัติ เช่น วิลลี (Wille Gallagher) และเจ ที เมอร์ฟี่ (JT Murphy) มีความสำคัญต่อการสร้างขบวนการแรงงานพื้นฐานในเมืองกลาสโกว์และเชฟฟิลด์

พรรคคอมมิวนิสต์ของอังกฤษได้นำการต่อสู้สร้างองค์กรในสถานประกอบการอย่างเข้มแข็ง เช่นในโรงงานผลิตรถยนต์ และในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน เป็นต้น ในช่วงทศวรรษ 1930 และ 1970 องค์กรสังคมนิยมสากลผู้บุกเบิกจากพรรคสังคมนิยมแรงงาน (SWP) ได้ช่วยปลดปล่อยพลังของแรงงานระดับล่าง ณ วันนี้ความสำเร็จของการฟื้นฟูขบวนการแรงงานจะขึ้นอยู่กับว่า นักสังคมนิยมเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการต่อสู้ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร

 

หมายเหต: บทความนี้แปลจาก เดฟ เชอรี่ (Dave Sherry). (ก.พ. 2010).Occupy!: A Short History of Workers’ Occupations.ลอนดอน : สำนักพิมพ์ Bookmarks. บทที่ 2 น.13.

ที่มาภาพประกอบ: pinterest.com/madisonskor

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: