จีนร่วมทุนไทยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หวังขยายฐานในอาเซียน

27 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3076 ครั้ง


	จีนร่วมทุนไทยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หวังขยายฐานในอาเซียน

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ร่วมทุน China General Nuclear Power Corporation (CGN) ผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ในจีน โดยจีนหวังหาพันธมิตรลงทุนในอาเซียน (ที่มาภาพ: asianews.it)

27 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ได้กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าการที่บริษัทเข้าร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับซีจีเอ็นในจีนนั้น นับเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นการศึกษาเทคโนโลยีเตรียมพร้อมการลงทุนจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ซึ่งจากการหารือ ทั้งสองบริษัทก็จะเป็นพันธมิตรที่จะหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกันลงทุนในอาเซียนทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและนิวเคลียร์ที่ขณะนี้หลายประเทศอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะลงทุนหรือไม่ โดยในส่วนของไทยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวฉบับปี 2015 ตามแผนระบุว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2578-2579 แต่จะสร้างหรือไม่นั้นก็คงจะเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล

ทั้งนี้ RATCH ในนาม บริษัท Ratch China Power Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามสัญญาร่วมทุน (Equity Joint Venture Contract) กับ China General Nuclear Power Corporation (CGN) และ Guangxi Investment Group Co.,Ltd (GIG) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 10% , 51% และ 39% ตามลำดับ เพื่อจัดตั้งบริษัท กวางสี ฟังเชงกัง นิวเคลียร์ เพาเวอร์ II (Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (II) Co,.Ltd ซึ่งจะเป็นผู้พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท (40,000 ล้านหยวน) โดยคิดเป็นสัดส่วนเงินลงทุนของบริษัท ประมาณ 7,500 ล้านบาท

“บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากเงินปันผลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 กำลังการผลิตรวม 2,360 เมกะวัตต์ ในปี 64 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 ปีตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง มีกำลังการผลิตประมาณ 6 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที1 กำลังผลิต 2 พันเมกะวัตต์เดินแล้ว ส่วนระยะที่ 2 ที่ RATCH ได้เข้าไปมีส่วนถือหุ้น 10% จากกำลังผลิต 2,360 เมกะวัตต์ จะเริ่มผลิตในปี 64- 65 หลังจากนั้น คาดว่าทางจีนจะเริ่มโครงการระยะที่ 3 ซึ่งจะมีอีก 2 หน่วยผลิตรวมกำลังการผลิตราว 2 พันเมกะวัตต์”นายรัมย์กล่าว

นายรัมย์ กล่าวด้วยว่า บริษัทพร้อมขยายลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติม โดยกำลังพิจารณาจะเข้าลงทุน 20-30% ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน SUMSEL ในอินโดนีเซียที่คาดว่าจะมีความชัดเจนปีนี้ รวมถึงจะจับมือบมจ.บ้านปู (BANPU) เข้าประมูลโรงไฟฟ้าโครงการ JAVA3 ในอินโดนีเซียอีก 1 โครงการในปีนี้ หลังจากพลาดประมูลโรงไฟฟ้าโครงการ JAVA7 ไปแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: