สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 21 - 27 มี.ค. 2559

27 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1307 ครั้ง


	สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 21 - 27 มี.ค. 2559

อินโดนีเซีย

หลายฝ่ายจับตามองรบ.อินโดนีเซียหลังละเลยปัญหาชาวปาปัว / ตั้งแต่ปาปัวตะวันตกถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในปี 1969 ผ่านการทำประชามติที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดีทุกคนของอินโดนีเซียวิตกกับปัญหาเกี่ยวกับปาปัวมาโดยตลอด จุดเปลี่ยนของปัญหาเกิดขึ้นหลังการนายพลซูฮาร์โต (Soeharto) ลงจากตำแหน่ง ในปี 2002 ประธานาธิบดี Megawati Sukarnoputri ออกกฎหมายพิเศษให้ปาปัวมีอำนาจพิเศษในการปกครองตนเอง แต่รัฐบาลชุดต่อมา รวมถึงกลุ่มผู้มีอำนาจในจาการ์ตากลับไม่สนใจและเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนของชาวปาปัว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเกิดการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปาปัว จึงเป็นที่น่าสนใจว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ท่ามกลางการจับตามองจากนานาประเทศ ลิงค์ข่าว

แท็กซี่อินโดนีเซียประท้วง Grab-Uber หลังทำเสียรายได้ / คนขับแท็กซี่อินโดนีเซียหลายพันคนออกมาเดินขบวนในกรุงจาการ์ตา เพื่อประท้วงแอพพลิเคชั่นเรียกรถสาธารณะ เช่น Grab และ Uber โดยขบวนรถแท๊กซี่ได้ปิดถนนสายหลักของเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง และเกิดการปะทะระหว่างคนขับแท็กซี่ และคนขับรถจักรยานยนต์ที่ทำงานให้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว ที่ผ่านมาเนื่องจากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ทำให้คนขับแท๊กซี่แบบเดิมรายได้ลดลง บริษัทรถแท็กซี่จึงอยู่ในความเสี่ยง อย่างไรก็ตามสถานะของการให้บริการของแอพพลิเคชั่นเหลานี้ในอินโดนีเซียยังคงไม่ชัดเจน เพราะคนขับรถของแอพพลิเคชั่นไม่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการรถสาธารณะ ลิงค์ข่าว

พม่า

ออง ซาน ซูจีจะควบตำแหน่งรมต. 4 ตำแหน่งในรบ.ใหม่ / รัฐสภาพม่าเห็นชอบรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เสนอ โดยระบุว่านางอองซาน ซูจีจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจะทำให้นางอองซาน ซูจีสามารถร่วมประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติพร้อมกับประธานาธิบดีและผู้บัญชาการกองทัพได้ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เธอมีบทบาทนำรัฐบาลได้ในระหว่างที่กองทัพยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่มาก ลิงค์ข่าว

ลาว

เขื่อนจีนส่งผลให้ลุ่มน้ำโขงแล้งต่อเนื่อง ขณะที่ลาวมุ่งหน้าสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อ/ Ou Virak จากหน่วยงานวิจัยด้านนโยบาย Future Forum เผยว่า เขื่อนในจีนมีผลต่อปัญหาความแห้งแล้งปัจจุบันในเอเชียอาคเนย์ และปักกิ่งมีอิทธิพลต่อการควบคุมกระแสน้ำด้วยระบบชลประทานของจีน ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว และเมื่อผนวกอิทธิพลของจีนในการควบคุมน้ำ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ รัฐบาลปักกิ่งมีอำนาจต่อรองสูงบนโต๊ะเจรจากับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนามและไทย อย่างไรก็ตามเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ลาว บุนยัง วอละจิด ย้ำว่าจะพยายามให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อประเทศที่อยู่ด้านล่างแม่น้ำโขงจากโครงการเขื่อนของลาว ที่จะมีการสร้างเขื่อนทั้งหมด 11 แห่งตามแนวแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนดอนสะโฮง ที่อยู่ใกล้ตอนเหนือกัมพูชา ทางรัฐบาลเวียงจันทน์ให้สัญญาว่าจะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพราะได้ศึกษาโครงการนี้อย่างรอบคอบแล้ว ลิงค์ข่าว

ฟิลิปปินส์

กลุ่มเอกชนฟิลิปปินส์คัดค้าน หลังรบ.ให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพ 5 แห่ง / กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ยืนยันว่า ทหารอเมริกา จะมีสิทธิ์ใช้ฐานทัพ 5 แห่งภายในฟิลิปปินส์ตาม "ข้อตกลงว่าด้วยการเสริมความร่วมมือด้านการป้องกัน" ที่ลงนามโดยฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม Renato M. Reyes เลขาธิการกลุ่ม Bagong Alyansang Makabayan ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนประณามรัฐบาลนายเบนิกโน อากีโนที่ 3 ที่เร่งอนุญาตให้ทหารเมริกาใช้ฐานทัพดังกล่าวก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ชื่อเสียงของเขาเสียหายตลอดไป Renato M. Reyes ยังเรียกร้องประธานาธิบดีฟิลิปปินส์สมัยต่อไป ว่าควรดำเนินการอภิปรายและหยุดปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว เพราะรัฐบาลสมัยปัจจุบันบอกว่านี่เป็นข้อตกลงการบริหาร ดังนั้ ประธานาธิบดีสมัยต่อไปก็มีสิทธิ์หยุดปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้เช่นเดียวกัน ลิงค์ข่าว

ที่มา

http://www.irrawaddy.org

http://burmatimes.net

http://thejakartaglobe.beritasatu.com

http://www.themalaysianinsider.com

http://edition.cnn.com

news.xinhuanet.com/english

www.bbc.com

http://www3.nhk.or.jp/nhkworld/thai

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: