ทุกข์ของ 'คนทวงหนี้' ยุคเศรษฐกิจซบ 'ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย' แถม พ.ร.บ.ควบคุม

ทีมข่าว TCIJ : 27 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 8979 ครั้ง

ผู้มีอาชีพติดตามหนี้ฯ ระบุลูกหนี้ระดับกลางถึงระดับบนมีสัญญาณเบี้ยวหนี้มากขึ้น ส่วนรากหญ้าดิ้นรนแก้ปัญหาหนี้ด้วยวิธีต่างๆ มากกว่า ด้านคนมีอาชีพ ‘ทวงหนี้’ (ถูกกฎหมาย) ต้องปรับตัว หลัง ‘พ.ร.บ.การทวงถามหนี้’ ประกาศใช้ เศรษฐกิจฟุบกระทบโดยตรง เก็บหนี้ไม่ได้ต่อเนื่องก็ต้องถูกออกจากงาน | ที่มาภาพประกอบ: Marco Verch (CC BY 2.0)

NPL เพิ่มต่อเนื่อง ‘ลูกหนี้พรีเมียม’ เบี้ยวหนี้มากขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 2558 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกประมาณร้อยละ 0.10 จากไตรมาส 3/2558 NPL อยู่ที่ร้อยละ 2.78 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.88 ซึ่งพบว่ายังเป็นกลุ่มสินเชื่อเดิมที่มีปัญหา คือกลุ่มอุปโภคบริโภคที่มี NPL อยู่ที่ร้อยละ 2.76 และกลุ่ม SME's ร้อยละ 3.61

ส่วนสถานการณ์การชำระหนี้นั้น จากข้อมูลของ’ชมรมผู้ติดตามเร่งรัดหนี้สินโดยวิธีที่เป็นธรรม’ ได้เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า มีสัญญาณชัดเจนว่าลูกหนี้เริ่มจะปฏิเสธการทวงหนี้มากขึ้น โดยพบว่าลูกหนี้ที่มีเงินเดือน 50,000 บาท ขึ้นไป เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้มากขึ้น ทั้งที่โดยปกติลูกหนี้ระดับกลางถึงระดับบน เมื่อมีการโทรไปติดตามหนี้ก็มักจะรีบชำระหนี้ แต่ปัจจุบันพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้เริ่มมีปัญหาการค้างชำระหนี้มากขึ้น โดยกรณีตัวอย่างจากข้อมูลของชมรมฯ พบว่าลูกหนี้ที่บริษัทติดตามหนี้บางราย มีเงินเดือนต่อเดือนกว่า 100,000 บาท แต่ก็เริ่มจะไม่สามารถชำระหนี้ได้บ้างแล้ว  ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์หนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิตจากรายงานของ ธปท. ที่พบว่าหนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิต ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 ในกลุ่มของลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีรายได้เกินกว่า 5 หมื่นบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

'หนี้ในระบบ' และ 'หนี้นอกระบบ'

หนี้ในระบบ เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินของผู้กู้กับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่กฎหมายรองรับและควบคุมอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหมายความรวมถึงการกู้ยืมเงินของผู้กู้จากผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ซึ่งอยู่ในการควบคุมของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย โดยปกติการก่อหนี้ในระบบนั้นจะมีการทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน มีการระบุจำนวนหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกินกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ทั้งนี้หนี้ในระบบ การก่อหนี้ในระบบ จะมีกฎหมายควบคุมอยู่ โดยผู้ให้กู้ ผู้กู้และผู้ค้ำประกัน จะต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งหากฝ่ายใดทำผิดหรือไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

หนี้นอกระบบ เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกันเองระหว่างผู้ให้กู้ (ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินที่กฎหมายรองรับ) กับผู้กู้ ซึ่งการกู้ยืมดังกล่าวมักจะไม่มี กฎ ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ตลอดจนข้อตกลงที่แน่ชัด เป็นการตกลงกันเองของทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับหนี้นอกระบบนั้นผู้กู้ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อผู้ให้กู้ดังนั้น เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ให้กู้จึงคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินทั่วไป หรือสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้หนี้นอกระบบ เป็นหนี้ที่เกิดจากข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยส่วนใหญ่ผู้กู้มักต้องการใช้เงิน เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งในจุดนี้ถือเป็น “จุดอ่อนหรือเป็นจุดที่สร้างความได้เปรียบแก่ผู้ให้กู้” โดยผู้ให้กู้อาศัยความเดือดร้อนหรือความจำเป็นดังกล่าว ตลอดจนความไม่รู้กฎหมายของผู้กู้ ทำการกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ เอง โดยผู้กู้ต้องจำยอมอย่างไม่เต็มใจนัก หรือเรียกว่า “มัดมือชก” นั่นเอง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

การเอาตัวรอดของ ‘ลูกหนี้รากหญ้า’

การยึดบัตรเอทีเอ็มไว้หรือการประกบลูกหนี้ไปกดเงินในวันที่เงินเดือนออก เป็นหนึ่งในกระบวนการติดตามหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่ผู้ขอกู้เงินไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน แต่เจ้าหนี้มักจะยึดบัตรเอทีเอ็มไว้

จากการสำรวจสถานการณ์หนี้สินโดย TCIJ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ในเดือนธันวาคม 2558  พบว่าส่วนใหญ่แล้วพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (นิคมลำพูน), พนักงานประจำตามบริษัทห้างร้านต่าง ๆ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย มักจะมีหนี้สินทั้งจากการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ หนี้สินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ส่วนเกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพนอกระบบ (ไม่มีสลิปเงินเดือนแต่มีหลักทรัพย์เช่นโฉนดที่ดิน) มักจะเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน และธนาคารเพื่อการเกษตร นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบจะทุกกลุ่ม (พนักงาน, พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร, ผู้ประกอบอาชีพนอกระบบ ฯลฯ) มักจะมีการกู้ยืมหนี้นอกระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริโภค, เป็นต้นทุนในการค้าขาย, การศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งการเป็นหนี้จากการพนัน (หวยใต้ดิน) อีกด้วย ซึ่งการดิ้นรนเอาตัวรอดของลูกหนี้ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เช่น การเป็นหนี้อีกก้อน (โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ) เพื่อมาโปะหนี้เก่า (หมุนเงิน), การขาย-จำนำสิ่งของ, การทำตัวให้ติดต่อไม่ได้ (ปิดมือถือ เปลี่ยนเบอร์มือถือ), ย้ายที่อยู่หรือย้ายห้องพักหนี, การยอมเข้าสู่กระบวนการยึดคืนสินค้า (ลูกหนี้เช่าซื้อสินค้า) และการยอมเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง (ลูกหนี้ในระบบถูกกฎหมาย), การไปยกเลิกบัตรเอทีเอ็มที่เจ้าหนี้ยึดไว้ (หนี้นอกระบบผิดกฎหมาย) เป็นต้น

จากการสอบถามผู้ที่เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ในสภาวะเช่นนี้ การเรียงลำดับความสำคัญในการจ่ายหนี้ โดยหนี้สินที่หากไม่ชำระแล้วการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอาจจะใช้เวลานาน เช่น ค่าโทรศัพท์, เงินกู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), บัตรเครดิต มักจะมีความสำคัญในลำดับท้าย ๆ แต่การจ่ายหนี้ให้กับหนี้สินที่นำมาใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคเฉพาะหน้าจากเงินกู้นอกระบบ มักจะอยู่ในลำดับแรก ๆ ของการจ่ายหนี้ เนื่องจากเงินกู้ประเภทนี้หากจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยครบ ก็จะสามารถกู้ใหม่ได้ทันที 

ลืมไปหรือยัง ? กับนโยบาย ‘นาโนไฟแนนซ์’

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ “มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-Finance)” ที่เสนอโดยกระทรวงการ คลัง  ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ อีกทั้งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ อันเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าว จำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องประกาศถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินถือปฏิบัติ  จากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศที่ สนส.1/2558 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ลงวันที่ 22 มกราคม 2558 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับต้องถือปฏิบัติ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาแล้วนั้น

สาระสำคัญของนโยบายนี้ คือ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยไม่รวมสินเชื่อประเภท Sale and Lease Bank ในสินค้าประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ การให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Car for Cash) หรือรถจักรยานยนต์ การให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการจำหน่ายในลักษณะการค้าปกติ สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีวงเงินรวมของสินเชื่อ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อลูกหนี้แต่ละราย, มีระยะเวลาการให้สินเชื่อตามที่ผู้บริโภคและสถาบันการเงินได้ตกลงกัน และมี อัตราดอกเบี้ย รวมค่าบริการ หรือเบี้ยปรับ รวมไม่เกิน 36% โดยผู้ขอสินเชื่อนั้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่สถาบันการเงินพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้มีความสามารถเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ได้ ส่วนผู้ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นี้จะต้องเป็นนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชน, มีทุนจดทะเบียน เรียกชำระแล้วมากกว่า 50 ล้านบาท, มีสัดส่วนหนี้สิน/ทุน ต่ำกว่า 7 เท่า และมีนโยบายและแผนดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อ แนวทางคัดกรองลูกค้า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและวงเงิน กระบวนการติดตามหนี้ รวมถึงการรับผิดชอบลูกค้า กรณีเกิดข้อร้องเรียนที่ชัดเจน เพื่อนำเสนอต่อ ธปท.พิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้พบว่านโยบายนี้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนไม่ได้มากนักและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เช่น ในส่วนของภาคธุรกิจที่จะเข้าร่วมนโยบายนี้ยังมีอุปสรรคเพราะต้นทุนทำธุรกิจค่อนข้างสูง และผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่ภาคธุรกิจที่จะเข้ามาปล่อยเงินกู้ต่างไม่มีความชำนาญ อาจจะประสบความล้มเหลวได้ ส่วนในฝั่งของผู้กู้ที่เป็นคนจนจริง ๆ นั้นก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์ และไม่สามารถเข้าถึงนโยบายนี้ได้ หรือหากมีการกู้มาเพื่อใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยก็จะยิ่งเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชนขึ้นไปอีก เป็นต้น โดยชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เคยออกมาระบุเมื่อช่วงปลายปี 2557 ว่าเพดานดอกเบี้ยของนาโนไฟแนนซ์ที่กำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 36 ต่อปีนั้น ยังเป็นการเอาเปรียบลูกหนี้มากเกินไปอยู่  และจากการสอบถามผู้เป็นหนี้สินนอกระบบในพื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูน โดย TCIJ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ว่าทำไมถึงไม่กู้ยืมเงินจากบริษัทที่เข้าร่วมนโยบายนาโนไฟแนนซ์นี้ ได้คำตอบที่สำคัญก็คือ ไม่รู้ข้อมูลว่าต้องไปกู้ที่ไหน รวมทั้งความสะดวกสบายและความง่ายของการกู้เงินนอกระบบในท้องถิ่น ชุมชนหรือในสถานที่ทำงานที่มีมากกว่า

ทุกข์คนทวงหนี้ เจอสองเด้ง ‘เศรษฐกิจฝืด’ แถม ‘พ.ร.บ. การทวงถามหนี้’ ประกาศใช้

นอกจากทุกข์ของลูกหนี้ดังกล่าวมา อาชีพ ‘คนทวงหนี้’ (ถูกกฎหมาย) ก็ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยผู้ประกอบอาชีพทวงหนี้ให้บริษัทขายสินค้าแบบเช่าซื้อรายใหญ่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ได้เปิดเผยกับ TCIJ ว่าสัญญาณการเกิดปัญหาการทวงหนี้ เริ่มก่อตัวมาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองตั้งแต่ปี 2557 มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยืดเวลาในการชำระหนี้ การเบี้ยวหนี้ และการยอมให้ยึดคืนสินค้าสำหรับคนเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าแบบเช่าซื้อ เป็นต้น รวมทั้งตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้ ทำให้คนในวงการทวงหนี้ต้องปรับตัว เพราะมีรายละเอียดและข้อควรระวังมากขึ้น เช่น การโทรศัพท์ทวงหนี้ลูกหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางสำคัญที่สุดในการติดตามหนี้ ตาม พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ฯ มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งเวลาในการติดต่อในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 8.00 น. - 20.00 น. และในวันหยุดราชการ เวลา 8.00 น. - 18.00 น. นอกจากนี้จำนวนครั้งที่ติดต่อในช่วงเวลาดังกล่าวต้องติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมด้วย ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถติดต่อทวงหนี้ได้ถี่หรือบ่อยครั้งนั่นเอง

ในด้านการใช้คำพูดและมารยาทของผู้ทวงหนี้ที่จะต้องนุ่มนวลมากขึ้น ไม่สามารถข่มขู่คุกคาม หรือประจานผู้เป็นหนี้ได้นั้น ผู้ประกอบอาชีพทวงหนี้รายนี้ได้ระบุกับ TCIJ ว่าไม่ได้เป็นปัญหามากนักของคนประกอบอาชีพนี้แบบถูกกฎหมาย ซึ่งการคุกคามลูกหนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกายนั้น เป็นพฤติกรรมของคนทวงหนี้นอกระบบมากกว่า (ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว) แต่การที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลหนี้ให้กับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และญาติพี่น้องของลูกหนี้ได้นั้น (ใน พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ฯ ระบุว่าห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามีภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม) น่าจะส่งผลต่อการเก็บหนี้บ้าง เพราะในบางครั้งคนทวงหนี้ถูกกฎหมายก็ต้องใช้วิธีการ ‘กดดันเชิงสังคม’ ในการกดดันลูกหนี้อยู่บ้างเหมือนกัน รวมถึงข้อบังคับยิบย่อยอื่น ๆ ของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ฯ ที่จะทำให้คนที่มีอาชีพทวงหนี้ปรับตัวเองพอสมควร เช่น ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น, ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน, ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เป็นต้น 

สำหรับคนทวงหนี้ถูกกฎหมายที่เป็นพนักงานของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ นั้น การเก็บหนี้ไม่ได้ หรือการยืดระยะเวลาของลูกหนี้ก็มีผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง เช่น การทำยอดเก็บหนี้ไม่ได้เข้าเป้า ก็ส่งผลถึงการประเมินการทำงานในแต่ละปี เกี่ยวข้องกับเรื่องโบนัส รวมไปถึงอาจถูกให้ออกจากงานได้เลยทีเดียว หากไม่สามารถทำยอดเก็บหนี้ได้ตามเป้าหมายขั้นต่ำที่บริษัทกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความทุกข์ที่หลายคนอาจจะไม่รู้

“เหมือนในหนังตลกที่ตลกไม่ออก ทั้งคนเป็นหนี้และคนไปเก็บหนี้ บางคนปล่อยหมามากัดเรา บางคนให้คนอื่นมาข่มขู่ตอนเราไปทวงหนี้ บางคนแอบอยู่ในบ้านทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่าเขาอยู่บ้านเรียกยังไงเขาก็ไม่ออกมา คนเมื่อหลังพิงฝาก็มีสารพัดวิธี เมื่อเขาหนีหนี้ได้เขาอาจจะโล่งใจ แต่เราเมื่อทำยอดเก็บหนี้ไม่ได้ เป้าชีวิตเราก็เหมือนแขวนบนเส้นด้ายแล้ว เก็บเงินต่ำกว่าเป้าต่อเนื่องกันก็ต้องถูกเชิญออก เพราะเขาจ้างเรามาเก็บเงิน” ผู้ทวงหนี้ถูกกฎหมายรายนี้ระบุ

ปัญหาหลักของคนทวงหนี้แบบถูกกฎหมายน่าจะเป็นปัญหาจากเศรษฐกิจมากกว่า ผู้ทวงหนี้รายนี้ยังกล่าวเสริมว่าเข้าใจถึงสภาพที่เรียกว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ของลูกหนี้ที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจดี คนค้าขาย คนทำงานมีรายได้ ก็ไม่มีใครที่อยากจะเบี้ยวหนี้ ส่วน พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ฯ ที่ประกาศใช้นั้น เพียงแต่ต้องการให้คนทวงหนี้ปรับตัวเองให้เคารพสิทธิผู้อื่นและมีมารยาทมากขึ้นเท่านั้น

ท้ายสุด ผู้ทวงหนี้ถูกกฎหมายรายนี้กล่าวว่า “รู้ว่าไม่มีใครอยากเบี้ยวหนี้ เข้าใจว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนเก็บเงินทวงหนี้เองก็ไม่อยากทำให้ลูกหนี้ต้องเป็นทุกข์ ลำบากใจ แต่การทวงหนี้ก็เป็นอาชีพสุจริต หากเราบกพร่องต่อหน้าที่เก็บหนี้ให้ต้นสังกัดไม่ได้ ผลเสียต่าง ๆ จะตกอยู่ที่ตัวคนทวงหนี้เอง ก็ต้องเห็นใจเราด้วย"

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘สิทธิลูกหนี้’ ตาม ‘พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558’

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: