เปิดแฟ้มตัวอย่างข้อทักท้วงจาก ‘สตง.’ Checklist ‘อปท.’ ทำได้-ทำไม่ได้

ทีมข่าว TCIJ : 27 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 42751 ครั้ง

ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏข่าวคราวว่าการบริหารงานของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มักจะถูกฝ่ายตรวจสอบจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งบ่อย ครั้ง สตง. เองได้ส่งข้อทักท้วงการบริหารงานและการดำเนินงานของ อปท. ที่หลายกรณีอาจจะดูเหมือนเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ อปท. เลยทีเดียว

จากการตรวจสอบของ TCIJ พบว่าข้อทักท้วงของ สตง. มีหลายกรณีที่น่าสนใจ แม้อาจจะดูเป็นประเด็นเล็ก ๆ ที่ไม่เกี่ยว กับการทุจริตโดยตรง เช่น การใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ให้แก่บุคคลในฝ่ายบริหาร, การแข่งขันกีฬา และการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ เป็นต้น  และยังพบว่าข้อทักท้วงที่ สตง. กำชับ อปท. ต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็นำมาจากหนังสือกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วของกระทรวงมหาดไทย ในขณะเดียวกัน ยังพบว่าข้อทักท้วงบางกรณีของ สตง. นั้นกลับสวนทางกับคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย ดังเช่น กรณีการฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า

ทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ ‘บุคคล’ ฝ่ายบริหาร 

ปฏิทินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มักจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง (หมายเหตุภาพประกอบนี้ ไม่ใช่ปฏิทินของ อปท. ที่ถูก สตง. ทักท้วง)

ปัญหาสุดคลาสสิคของผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในเกือบทุกระดับ คือ การใช้งบประมาณการดำเนินงาน มาเป็นงบประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคลในขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ การทำปฎิทิน และการทำสื่อต่าง ๆ โดย สตง. ได้ทำข้อทักท้วงไว้หลายกรณี ตัวอย่างได้แก่ การจ้างเหมาจัดทำปฏิทินปีใหม่ มีรูปภาพ ชื่อและตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น, การจัดทำป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ ระบุชื่อนายก อปท., การจัดทำป้ายไวนิล สวัสดีปีใหม่ ใส่รูปภาพนายกเทศมนตรี คณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาล, การจัดทำบัตรอวยพรส่งความสุขวันขึ้นปีใหม่ ระบุคำอวยพรจาก นายกเทศมนตรี, การประชาสัมพันธ์พิธีเปิดแพรคลุมป้ายอาคารสำนักงานเทศบาล ระบุ ข้อความ รูปภาพ และชื่อของนายกเทศมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด เป็นต้น

สำหรับกรณีการทำปฏิทินนั้น สตง. เคยตรวจพบข้อบกพร่องของ อปท. ในการเบิกจ่ายค่าจ้างเหมาจัดทำปฏิทินปีใหม่ของ อปท. มีรูปภาพ ชื่อและตำแหน่งของผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในภาพปฏิทินดังกล่าว ซึ่ง สตง. ได้ทักท้วงและให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า เป็นการตั้งและเบิกจ่ายงบประมาณในลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคล ไม่ประหยัด ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามนัยหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 3475 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2550 (หนังสือและข้อสั่งการต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ใน ‘จับตา: รวมตัวอย่างหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อทักท้วงของ สตง. ต่อ อปท.’)

หรือกรณีเบิกจ่ายเป็นค่าจัดทำบัตรอวยพรส่งความสุขวันขึ้นปีใหม่ โดยปรากฏคำอวยพรจากนายกเทศมนตรีบนบัตรอวยพรของ อปท. แห่งหนึ่ง สตง. ได้ทักท้วงว่าการเบิกจ่ายค่าจัดทำบัตรอวยพรปีใหม่ เป็นกิจกรรมที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่เทศบาลส่งเสริมจูงใจให้ประชาชนมาเสียภาษีให้กับเทศบาล การปรากฏข้อความ ชื่อนายกเทศมนตรีในบัตรอวยพรด้านล่าง ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าการจัดทำบัตรอวยพรเป็นเงินส่วนบุคคลของนายกเทศมนตรี แต่ใช้เงินงบ ประมาณของเทศบาลจัดทำ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการหาเสียงประชาสัมพันธ์ตนเอง จึงเป็นค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณได้ เป็นการเบิกจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ประหยัดและเป็นการไม่ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 3475 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2550

กรณีการทำป้ายไวนิลสวัสดีปีใหม่มีรูปภาพนายกเทศมนตรี คณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาล ของ อปท.แห่งหนึ่ง สตง. ได้ทักท้วงว่ามีลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคล การจัดทำป้ายดังกล่าวมิได้เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร มิได้ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชน ดำเนินการในลักษณะฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 2072 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2554 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

กรณีการเบิกจ่ายค่าจ้างประชาสัมพันธ์ พิธีเปิดแพรคลุมป้ายอาคารสำนักงานเทศบาลของ อปท. แห่งหนึ่ง โดยเบิกจ่ายให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งในการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ปรากฏข้อความ รูปภาพ และชื่อของนายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธีเปิด และองค์ประกอบของภาพที่ปรากฏ ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายหมู่ของแขกที่มาร่วมงาน สตง.ได้ทักท้วงว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 3475 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2550 ข้อ 2 ที่กำหนดว่า การประชาสัมพันธ์ผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ ปฏิทินเป็นต้น หากมีภาพกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องเป็นกรณีที่องค์ประกอบภาพบ่งบอกถึงกิจกรรมนั้น ๆ ขอให้เรียกค่าประชาสัมพันธ์พิธีเปิดแพรคลุมป้ายอาคารสำนักงานเทศบาล จากผู้รับผิดชอบนำส่งคืนคลังเทศบาลฯ  และกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดต่อไป

สตง. เคยทักท้วงโครงการ ‘นิตยสารฟ้าใหม่ อบจ.นิวส์' ขององค์องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2557 โดยระบุว่าไม่เป็นไปตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ เข้าข่ายเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองให้นาย      ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ ในขณะนั้น

นอกจากนี้ การทำสื่อสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์ของ อปท. นั้น สตง. ก็เคยทำข้อทักท้วงไว้หลายกรณี เช่นกรณี 'นิตยสารฟ้าใหม่ อบจ.นิวส์' ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ที่เมื่อเดือน พ.ค. 2557 สตง.ได้ทำหนังสือข้อทักท้วงเกี่ยวกับโครงการจัดทำนิตยสารดังกล่าวไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ โดยระบุว่าจากการตรวจสอบเนื้อหาในนิตยสารดังกล่าวจำนวน 12 ฉบับพบว่าในคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษของจำนวน 9 ฉบับ มีการลงเนื้อหาสัมภาษณ์ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ ในขณะนั้น ความยาวสองหน้า ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเฉพาะตัวบุคคลขณะที่เนื้อหาในบทสัมภาษณ์แต่ละฉบับ ส่วนใหญ่จะมีการกล่าวถึงแนวนโยบายการบริหารจังหวัดสมุทรปราการในอนาคต ซึ่งไม่เกี่ยว ข้องกับการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมของ อบจ.แต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีการนำรูปภาพของนายชนม์สวัสดิ์ เป็นรูปถ่ายเฉพาะตัวบุคคลพิมพ์ไว้บนหน้าปกหนังสือบางฉบับ ซึ่งไม่เป็นไปตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยกำหนด เข้าข่ายเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเอง สตง.ยังระบุด้วยว่าจากการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนบางส่วนเข้าใจว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์โดยใช้เงินส่วนตัวของนายชนม์สวัสดิ์ เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับจะมีภาพและบทสัมภาษณ์ของนายชนม์สวัสดิ์ อนึ่ง งบประมาณในการจัดทำนิตยสารนี้ 4 ปี ใช้วงเงินรวม 207 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติมกรณี 'นิตยสารฟ้าใหม่ อบจ.นิวส์' จากสำนักข่าวอิศราได้ที่ [1] [2] [3] [4] [5])

‘ฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า’ เมื่อ 'กฤษฎีกา' เห็นต่าง 'สตง.'

ในเดือน เม.ย. 2559  เว็บไซต์เดลินิวส์ ได้รายงานข่าว  กรณีที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยถึงการตรวจวิเคราะห์หัวสุนัข เพื่อหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลเป็นบวก จำนวนมากลุกลามไปทั้ง กทม. ปริมณฑล และหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่อัตราการป่วยและเสียชีวิตในมนุษย์ที่มีการตรวจยืนยันก็พบว่าเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ และที่น่ากังวลคือในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตด้วยอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเดลินิวส์ได้ทำการตรวจสอบการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในระดับ อปท. และระบุว่าในช่วงปีที่ผ่านมา อปท.ไม่ได้เข้าไปดำเนิน การฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขของชาวบ้านหรือสุนัขจรจัด เนื่องจาก  สตง. ได้ออกมาทักท้วงว่า การฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นอำนาจของ กรมปศุสัตว์ไม่ใช่อำนาจของ อปท. อย่าง เทศบาล อบต. หรือ อบจ.ทำให้ อปท. ต่าง ๆ ต้องยกเลิกการฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้าทันที เพราะเกรงว่าหากยังคงดำเนินการจะถูก สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินผิดประเภท และปรากฏว่าเมื่อ อปท. ไม่ให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ทางกรมปศุสัตว์เองก็ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึงเพราะมีงบประมาณที่จำกัด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดมากขึ้น

หลังการนำเสนอข่าวนี้ของเดลินิวส์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ลงวันที่ 20 เม.ย. 2559 เรื่อง “ภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535” ซึ่งได้มีการหารือกับกฤษฎีกา จนได้ข้อสรุปว่า อปท.สามารถดำเนินการในการฉีดยาพิษสุนัขบ้าได้ ไม่ขัดต่อข้อกฎหมายตามที่ สตง.ได้ทักท้วงไว้ ซึ่งความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ระบุข้อวินิจฉัยไว้ในครั้งนั้น ว่าการดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ถือเป็นภารกิจของหน่วยงานใด ระหว่างกรมปศุสัตว์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า โดยที่พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 มุ่งประสงค์ให้กรมปศุสัตว์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากมีสัตวแพทย์เพียงพอปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ และสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ได้เองในราคาถูก ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์จึงมีหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557 ด้วย  

อย่างไรก็ตาม กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ หรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุขไว้ ได้แก่ มาตรา 67 (3) แห่งพระราช บัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 50 (4) มาตรา 53 (1) มาตรา 56 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 62 (14) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542  นอกจากนั้น ในมาตรา 89 (16) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาลด้วย  อีกทั้งบท บัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ได้กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น สัตวแพทย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายประการ (อ่านเพิ่ม: ความเห็นฉบับเต็ม เรื่องที่ 442/2559 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535)

ตัวอย่างกรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การแข่งขันกีฬาของ อปท. นั้น ตามข้อทักท้วงของ สตง. ระบุว่าไม่สามารถเบิกจ่ายค่าชุดเสื้อผ้าให้กับเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันรวมทั้งเสื้อของกองเชียร์ รวมทั้งเงินรางวัลในการประกวดกองเชียร์ได้ (หมายเหตุภาพประกอบไม่ได้เป็นกิจกรรมของ อปท. ที่ถูก สตง. ทักท้วง)

จาก 'เอกสารรวบรวมข้อทักท้วงของสตง.ในการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' ที่รวบรวมจากเอกสารกองตรวจสอบระบบการเงินและบัญชีท้องถิ่นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดย ตนเทศบาล คัดลอกเผยแพร่โดย ประพันธ์ เวารัมย์ ได้รวบรวมข้อทักท้วงที่น่าสนใจไว้ดังเช่น

การแข่งขันกีฬา พบกรณีตัวอย่างเช่น อปท. เบิกค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันกีฬา มีวัตถุประสงค์เพื่อเยาวชนในพื้นที่ตำบลได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่มีการเบิกจ่ายค่าเสื้อยืดคอปกพร้อมสกรีนให้กับเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ข้อท้วงติงจาก สตง. ระบุว่า เสื้อที่จัดซื้อให้กับเจ้าหน้าไม่ถือเป็นชุดกีฬา จึงไม่ใช่รายการที่กำหนดให้เบิกจ่ายได้ตามหนังสือกระทรวง มหาดไทยที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2547 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อ 2 กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

กรณี อปท. จัดโครงการแข่งขันกีฬานักเรียนมีการเบิกค่าเสื้อผู้ฝึกสอนและค่าเสื้อกองเชียร์ สตง. ได้ทักท้วงว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2547 เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการให้สั่งการเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบชดใช้เงินส่งคืนคลังเทศบาล แล้วส่งสำเนาหลักฐานการส่งคืนไปให้ตรวจสอบด้วย และกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวโดยเคร่งครัด

กรณี อปท. มีการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาและผู้ฝึกสอนในการฝึกซ้อมกีฬา สตง. มีข้อทักท้วงว่าในการการฝึกซ้อมกีฬาดังกล่าวเป็นการฝึกซ้อมหลังเวลาเลิกงานปกติและไม่มีการพักแรม ณ สถานที่ฝึกซ้อม ประกอบกับในระหว่างการฝึกซ้อมได้มีการเบิกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการเก็บตัวก่อนการแข่งขันตามหนังสือกระทรวง มหาดไทย ที่มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2547

กรณี อปท. มีการเบิกจ่ายเงินรางวัลการแข่งขันกองเชียร์ สตง.ทักท้วงว่าเงินรางวัลกองเชียร์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การเบิกค่า ใช้จ่ายในการแข่งขันกีฬา ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2547 เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาของ อปท.และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2547 ข้อ 67 กำหนดว่า อปท.จะจ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้

การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ พบกรณีตัวอย่างเช่น อปท. จัดโครงการจัดงานสรงน้ำพระธาตุ เบิกจ่ายค่าจ้างเหมาประกอบอาหารพร้อมเครื่องดื่ม สตง.มีข้อทักท้วงเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า การจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้มาร่วมงานนั้น เป็นการไม่ประหยัดงบประมาณและฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการจัดงานจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 1347 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2541 เรื่องค่าใช้ จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยสรุปว่า “ให้เบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ได้เท่าที่จำเป็นและประหยัด โดยคำนึงถึงฐานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ” ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ ผู้ รับผิดชอบปฏิบัติตามหนังสือสั่งการดังกล่าวโดยเคร่งครัดในโอกาสต่อไป และเรียกชดใช้เงินจากผู้รับผิดชอบ ส่งคืนคลังเทศบาลโดยเร็ว

กรณี อปท. จัดโครงการจัดงานประเพณีตรุษจีนมีการเบิกค่าจ้างเหมาอาหารและเครื่องดื่ม ค่าวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในพิธีทางศาสนาแบบจีน และค่าตอบแทนผู้เข้าประกวดหนูน้อยอั่งเปา สตง.ทักท้วงว่าเป็นเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินความจาเป็นและไม่ประหยัด รายจ่ายบางรายการไม่ใช่เป็นกิจกรรมหลักในการจัดงานโดยตรง เช่น เบิกค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเลี้ยงผู้มาร่วมงาน เบิกจ่ายค่าจ้างทำของที่ระลึก เป็นต้น เป็นการตั้งงบประมาณในลักษณะฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 1347ลงวันที่ 19 พ.ค. 2541 เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กรณี อปท. จัดโครงการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน มีการเบิกจ่ายค่าจ้างเหมาประกอบอาหารสาหรับผู้มาร่วมงาน ค่าจ้างไถนา ค่าตกแต่งสถานที่ ค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด สตง.ทักท้วงว่าการเบิกจ่ายกรณีดังกล่าว ไม่ใช่การส่งเสริมอาชีพประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นมาโดยไม่มีการจัดฝึกอบรม เป็นการทำกิจกรรมร่วมกันเท่านั้น จึงไม่มีกฎหมาย ระเบียบหนังสือสั่งการกำหนดให้เบิกจ่ายได้ เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวง มหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 67 กำหนดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้เฉพาะกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดและตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2543 ตามมาตรา 51 ที่กำหนดภายใต้บังคับแห่งกฎหมายให้เทศบาลตำบลอาจจัดทำกิจกรรมใด ๆ ในเขตเทศบาลเพื่อบำรุงและส่งเสริมการทามาหากินของราษฎร  ให้เรียกเงินจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าว เพื่อนำเงินส่งคืนคลังเทศบาล แล้วส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินและหลักฐานการนำเงินฝากธนาคารให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดตรวจสอบ

กรณี อปท. เบิกจ่ายเป็นการจ้างเหมาประกอบอาหารทำโรงทาน งานพระราชทานเพลิงศพพระสมณศักดิ์ สตง. ทักท้วงว่าการจัดทำโรงทานถือเป็นการทำบุญตามจิตศรัทธาส่วนบุคคล จึงไม่สามารถเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณได้ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 67 ให้ติดตามขอผลการพิจารณาวินิจฉัยจากผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดทราบโดยเร็ว

กรณี อปท. จัดงานเกษียณอายุ มีการเบิกจ่ายเงินซื้อของที่ระลึกเพื่อแสดงมุทิตาจิตแก่พนักงานและลูกจ้างเทศบาลที่เกษียณอายุราชการ สตง. ทักท้วงว่าการจัดซื้อสิ่งของให้กับพนักงานและลูกจ้างที่เกษียณอายุราชการ ถือเป็นรายจ่ายส่วนบุคคล ไม่มีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการใดกำหนดให้เบิกจ่ายได้

อ่าน 'จับตา': “ตัวอย่างหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อทักท้วงของ สตง. ต่อ อปท."
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6564

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: