“ปลา” ๆ ในสังคมชาวนากับคำถามใหม่ๆต่อ “สิทธิชุมชน”

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : 28 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 4539 ครั้ง


 

ทำไม“ปลา ๆ”[1]

บทความสั้นๆนี้ต้องการเสนอสองประการคือ (หนึ่ง) สื่อให้เห็นถึงความสำคัญของ “ปลา” ในบริบทความเป็นชาวนายืดหยุ่น (Flexible famers) (Yos Santasombat 2008) กล่าวคือเป็นสังคมที่ชาวนาคือผู้มีความสามารถสร้างอำนาจต่อรองหลากหลายรูปแบบทั้งการยืดหยุ่นผสมผสานกับความแข็งกร้าวกับรัฐบนฐานการใช้ความรู้ท้องถิ่นเรื่องทรัพยากรป่าทาม เช่น ปลาและทรัพยากรธรรมชาติสำคัญๆในที่ราบลุ่มราษีไศลรวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และ (สอง) บทความสั้นๆยังตั้งคำถามต่อความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนของชาวบ้าน แน่นอนว่าตามหลักสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิตัวตัวมาแต่กำเนิดในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่ากัน[2]  แต่ในความเป็นจริง การถูกละเมิดสิทธิเกิดขึ้นในทุกสังคมและพื้นที่เสมอ ชาวบ้านลุ่มน้ำราศีไศลก็เช่นกัน พวกเขาลุกขึ้นมาเรียกร้องกับรัฐเรื่องที่ทรัพยากรที่เคยใช้ถูกละเมิดและทำให้หายไปโดยการสร้างเขื่อนหัวนาและราษีไศล

นางผา กองธรรม (2559) นายกสมาคมคนทาม[3] ท่านกล่าวว่า “เขื่อนราษีไศล ทำให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว เพราะเขื่อนทำลายทรัพยากรและวิถีชีวิต การเคลื่อนไหวทำให้ชาวนาได้เรียนรู้และตระหนักว่าพวกตนมีสิทธิในการต่อรองกับรัฐในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนา” (30 พฤษภาคม 2559)

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือชาวบ้านไม่ได้คิดว่าตนเองมีสิทธิในการเรียกร้องต่อรัฐมาแต่กำเนิดหรือไม่? “สิทธิ” ในการจัดการทรัพยากรเกิดขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ใช่หรือไม่? พวกเขาได้เรียนรู้และสร้าง “สิทธิ” ขึ้นมาเพื่อการต่อรองหลังจากที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมใช่ไหม?

ผู้เขียนเห็นว่าการตั้งคำถามใหม่ๆเกี่ยวกับสิทธิชุมชนในยุคทุนนิยมและการก้าวออกจากสังคมชาวนาจึงน่าจะจำเป็นมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงทางวิชาการว่าด้วยสิทธิชุมชนในโลกชาวนายุคโลกาภิวัตน์นี้

ข้าวปลาอาหาร

คนอีสานกินปลาเป็นอันดับสองของประเทศคือเฉลี่ยประมาณ 32.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ข้อมูลการสำรวจล่าสุดในปี 2014 และ ข้อมูลในปี 2010 ระบุว่าคนอีสานกินปลาประมาณ 31 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) ปลาที่คนอีสานกินส่วนใหญ่คือปลาน้ำจืด  คนภาคใต้กินปลามากที่สุดในประเทศไทยคือประมาณ 41.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปีซึ่งโดยมากเป็นปลาทะเล ภาคเหนือ  (30.3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) ภาคกลาง (28.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) และกรุงเทพมหานคร (17.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี)[4] เมื่อแยกระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทพบว่า คนในชนบทกินปลาโดยเฉลี่ยประมาณ 35.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่คนเมืองกินปลาเฉลี่ยประมาณ 24.7  กิโลกรัมต่อคนต่อปี (Needham and Funge-Smith and 2014: 47-48)[5]  

ภาพถ่ายโดย : ปัญญา คำลาภ

คนอีสานกินปลาน้ำจืดมากที่สุดกว่าทุกภาคคือเฉลี่ยประมาณ 15 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยนิยมกินปลาซ่อนเป็นนิยมอันดับหนึ่งมากถึง 5.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเลยทีเดียว ส่วนปลาน้ำจืดเลี้ยงคือปลานิล ปลาทับทิมและปลาจากทะเลก็เป็นที่นิยมในทุกภาคของประเทศไทยเช่นกัน ปลาที่คนอีสานกินโดยไม่ผ่านการถนอมอาหารมีประมาณเฉลี่ย 25. 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ส่วนปลาที่ผ่านการถนอมอาหารนิยมกินในภาคอีสานคือ ปลาร้า ปลาส้ม และปลาแห้ง ซึ่งพบว่าเฉลี่ย ประมาณ 8.3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (Needham and Funge-Smith 2014: 48)

การศึกษาภาพรวมการบริโภคปลาของ Needham and Funge-Smith (2014) ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปลามีความสำคัญในฐานแหล่งอาหารโปรตีนของคนอีสานโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ส่วนการศึกษาระดับครัวเรือนของชาวบ้านในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 884 ครัวเรือน (กนกวรรณ มะโนรมย์และคณะ 2552) สอดคล้องกับการศึกษาของ Needham and Funge-Smith (2014) เป็นอย่างดี กล่าวคือ ชาวบ้านที่หาปลาได้ นำมาใช้ประโยชน์ด้านอาหารมากที่สุด รองลงมาคือการทำบุญ ให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน ขาย ใช้ในพิธีกรรมและแลกเปลี่ยนสิ่งของตามลำดับ ปลาเหล่านี้หาได้จากแม่น้ำมูลตอนกลาง สาขาแม่น้ำมูล ห้วย หนอง คลองบึง สระ พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นป่าบุ่งป่าทามและทุ่งนา

 

การนำปลาไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา

จำนวนผู้ให้ข้อมูล

เปอร์เซ็นต์

ขาย

127

14.4

กินเองในครัวเรือน

240

27.1

พิธีกรรม

83

9.4

แลกเปลี่ยนสิ่งของ

42

4.8

ให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน

181

20.5

ทำบุญที่วัด

211

23.8

รวม

884

100.0

 

ที่มา: กนกวรรณ มะโนรมย์และคณะ (2552)

“ปลาค่อกั้ง” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ตารางที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านใช้ปลาเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กล่าวเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างปลาและวัฒนธรรม พบว่า “ปลาค่อกั้ง” คือสัญลักษณ์ความสมบูรณ์ของป่าทามและอาหารตามธรรมชาติและความดำรงอยู่ของความเชื่อเรื่องเทพของชาวบ้านในที่ราบลุ่มราษีไศล  ซึ่งปัญญา คำลาภ[6] เล่าว่า ชาวบ้านนำ“ปลาค่อกั้ง” (ปลาช่อนกั้ง) ซึ่งมีรสชาติอร่อยและหาได้จาก “บ่อน้ำจั้น” [7] ในป่าทาม (พื้นที่ชุ่มน้ำ) ซึ่งหาได้ไม่งายนัก ไปถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในที่ราบลุ่มราศีไศลนับถือคือ “เจ้าพ่อดงภูดิน” ภายหลังจากเขื่อนราศีไศลเก็บกักน้ำ “บ่อน้ำจั้น” แทบทั้งหมดจมอยู่ใต้น้ำ “ปลาค่อกั้ง” ในป่าทามจึงเหลือเพียงตำนาน ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรในมิติกายภาพและสังคมวัฒนธรรม

แม่ผา กองธรรม[8] เล่าต่อว่า “เจ้าพ่อดงภูดิน” คือเทพศักดิ์สิทธิ์ที่คนในพื้นที่ราบลุ่มราษีไศลเคารพนับถือ กราบไหว้ถือเป็นจิตวิณญาณร่วมของชาวบ้านในแถบนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพราะชาวบ้านเชื่อและศรัทธาว่าเจ้าพอดงภูดินคือองค์ประทานของทวยเทพทั้งหลายในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ราบลุ่มแห่งนี้ ท่านทำหน้าที่ปกปักรักษาชาวบ้านให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่เจ็บป่วย แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆและทำมาหากินด้วยความราบรื่น และเทพคือผีดีที่ช่วยชาวบ้านมาตลอด

คำกล่าวของแม่ผ่า กองธรรม เหล่านี้สะท้อนว่าชาวนามีความสามารถในการนำความเชื่อท้องถิ่นมาผสมผสานเข้ากับความคิดสากลได้แก่ “สิทธิ” ที่มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ มาผลิตซ้ำเพื่อปฏิบัติการณ์ในการต่อรองกับรัฐ (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2544) ชาวนานำความเชื่อความศรัทธาเรื่องเจ้าพ่อดงภูดินที่เป็นจิตวิญญาณของตนมาผลิตซ้ำและสร้างความหมายใหม่ซึ่งเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิในรักษาและการอนุรักษ์ป่าดงภูดิน เช่น การปลูกต้นไม้ การจัดการนิเวศน์และป่าทามรวมทั้งการต่อต้านการสร้างเขื่อนหัวนาและราษีไศล การนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นกลไกการจัดการทรัพยากรช่วยคลี่ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนได้มากขึ้น (ปฐม หงษ์สุวรรณ 2557)

วิถีหา...ปลาสร้างเงิน

ปลามีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างมากในที่ราบลุ่มราษีไศล แม้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มากหากมองในมุมเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากการซื้อขายปลานั้น ส่วนใหญ่จะค้าขายกันในหมู่บ้าน โดยร้อยปลาเป็นพวงเดินขาย บางคนนำปลาไปขายในตลาดในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัดด้วยตนเอง หรือไม่ก็ขายให้พ่อค้าในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งหาปลาด้วยกัน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง จะหาไว้กินภายในครัวเรือน หรือแปรรูปเป็นปลาร้าเก็บไว้กิน ซึ่งเป็นอาหารหลักของครอบครัว รวมทั้งยังสามารถช่วยลดภาระเรื่องการใช้จ่ายในการซื้ออาหารจากรถที่วิ่งเข้ามาขายในหมู่บ้านหรือตลาดได้มาก (กนกวรรณ มะโนรมย์และคณะ 2552)

ต่อไปนี้ คือกรณีศึกษาหมู่บ้านที่หาปลาเป็นอาชีพในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ[9] ได้แก่ หมู่บ้านใหญ่และบ้านโนน ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ในขณะที่หมู่บ้านอื่นๆก็มีการหาปลาเป็นประจำเช่นกัน แต่จำนวนคนที่หาปลามีจำนวนไม่มากเหมือนกับสองหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านสองหมู่บ้านหาปลาตลอดทั้งปี (ดูตาราง)  เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้แม่น้ำมูลและอยู่ใกล้ตลาด  ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านหาปลาในแม่น้ำมูลและในระบบนิเวศน์ต่างๆ โดยเฉพาะที่กุดนาแซง  ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2  กม.  กุดนี้เป็นกุดน้ำธรรมชาติอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ  ที่มีฝายน้ำล้นกั้นปากกุดไว้ในบริเวณที่เชื่อมต่อกับฮองลีลาก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำมูล 

ตารางแสดงปฏิทินการหาปลาในรอบหนึ่งปี

 

เดือน

เครื่องมือที่นิยมใช้

ปลาเศรษฐกิจที่หาได้

เดือน 12 (พฤศจิกายน)

ใส่มอง เบ็ด แห

เป็นช่วงที่น้ำกำลังลด จะได้ปลาเป็นจำนวนมากและเป็นปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาหนู ปลากด ปลาตะเพียน ปลาเก้ง ปลาขาว

เดือนอ้าย–ยี่

(ธันวาคม-มกราคม)

           

ใส่มอง เบ็ด แห

ได้ปลาเนื้ออ่อน ปลานาง ปลาหนู ปลาตะเพียน

เดือน 3-4-5

(กุมภาพันธ์-เมษายน)

 

ใส่มอง กางขวางลำน้ำ และช่วยกันเอาปลาขึ้นจากเยาะ

ปลานาง ปลาเก้ง ฯลฯ

 

เดือน 6-7-8

(พฤษภาคม-กรกฎาคม)

ใส่เบ็ด เบ็ดเผียก 

เป็นช่วงน้ำแก่ง น้ำหลากปลาที่ได้เช่น ปลากด ปลาช่อน ปลาดุก ปลาช่อน

เดือน 9- 10-11 (สิงหาคม-ตุลาคม)

 

ชาวบ้านจะหาปลาตามหนองน้ำและทุ่งนาใช้ลอบ,ไซดักปลา ในแม่น้ำมูล ชาวบ้านจะช่วยกันลงเยาะโดยทำแนวกั้นล้อมปลาไว้พอน้ำลดลงประมาณเดือน 3-4 ก็จะช่วยกันจับปลาจากเยาะ

ช่วงน้ำลง

ที่มา: กนกวรรณ มะโนรมย์และคณะ (2552)

 

ชาวบ้านออกหาปลากินเกือบทุกวัน เวลาที่ชาวบ้านแต่ละคนออกหาปลาจะไม่เหมือนกัน บางคนออกหาปลาทั้งวัน บางคนก็หาตอนกลางวันตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสองโมงจึงเข้าบ้าน บางคนออกหาปลาตอนกลางคืนนอนเฝ้าอยู่ที่ริมมูลเลยพอเช้าค่อยกลับเข้าบ้าน การขายปลานั้นไม่ได้เป็นกิจกรรมเดียวโดดๆ ระหว่างที่พ่อบ้านไปหาปลา แม่บ้านที่เก็บผักพื้นบ้าน ก็จะนำทั้งปลาและผักไปขายที่ตลาดอำเภอราศีไศล

ภาพถ่ายโดย : ปัญญา คำลาภ

ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2552) พบว่า รายได้จากการหาปลามีค่อนข้างมาก บางคนขายปลาได้วันละ200-300บาท ทุกวัน ซึ่งชาวบ้านรู้ดีว่ามีวิธีการหาปลาอยู่วิธีหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากกว่าวิธีอื่นๆ นั่นคือ ชาวบ้านได้ลง “เยาะ” ไว้ช่วงหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ “เยาะ” เป็นวิธีการจับปลาโดยนำเอากิ่งไม้ที่อยู่ตามบุ่งทามมามัดกองรวมกันแล้วปล่อยทิ้งไว้ในแม่น้ำมูล เมื่อน้ำเริ่มลดลงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ก็จะเริ่มเอาปลาจากเยาะ ปลาที่จับได้จากการลงเยาะ เช่น ปลาขาว ปลานาง ปลาซิว ปลาหมอ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหนู ปลาโด ปลาปาก ฯลฯ ถ้าเยาะมีขนาดใหญ่ก็จะได้ปลามาก บางรายสามารถขายได้ถึงคราวละหลายหมื่นบาท ปลาเศรษฐกิจที่มีราคาดี ได้แก่ ปลารากกล้วย ขายกิโลละ 120 บาทและปลานางขายกิโลละ100-150 บาทแล้วแต่ขนาดของปลา เป็นต้น (กนกวรรณ มะโนรมย์และคณะ 2552)

“ปลา” กับ “ความเป็นชาวนายืดหยุ่น” และ “คำถามใหม่ว่าด้วยสิทธิ”

การหาปลาถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนแถบที่ราบลุ่มราษีไศล แม้โดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ปลาจะลดลงไปพอสมควร และการหาปลาไม่ได้เป็นอาชีพหลักของครอบครัวแถบนี้ก็ตาม แต่ชาวบ้านยังคงลงไปหาปลาเพื่อนำมาขายในตลาดระดับท้องถิ่นหรือในหมู่บ้าน รวมทั้งปลายังมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชาวบ้านสามารถหากินได้โดยไม่ต้องพึ่งกับข้าวจากตลาดภายนอก และเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้

“การหาปลา การกินปลา การขายปลา การแลกปลากับสิ่งของต่างๆ การให้ปลา การถวายปลาแก่พระและเทพ” สะท้อนทั้งรูปแบบการผลิตและความสลับซับซ้อนของสังคมชาวนาในยุคทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ที่ยังอยู่บนฐานของความเป็นท้องถิ่นได้ดี Yos Santasonbat (2008) อธิบายวิถีชีวิตของชาวนาเป็นวิถีของความซับซ้อนและมีความเป็นพลวัตเป็นอย่างมากในยุคทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ ชาวนาไม่ได้ผลิตเพื่อพึ่งตนเอง แต่ชาวนาผลิตเพื่อตลาด สัมพันธ์กับตลาดและทุนนิยม และหากทรัพยากรที่เคยพึ่งพาถูกทำลายด้วยโครงการพัฒนา ชาวนาจะแสดงความสามารถในเรียนรู้ ต่อสู้  ต่อรอง คัดค้าน ประสานและเรียกร้องด้วยวิธีการที่หลากหลายรูปแบบ ชาวนามีความเฉลียวฉลาดในการหยิบฉวยประเด็นต่างๆในท้องถิ่นมานิยามใหม่และใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองเรียกร้องจากรัฐและค่อนข้างได้ผลทีเดียวไม่ว่าการได้ค่าชดเชยไปแล้วกรณีเขื่อนราษีไศลหรือการรับการสนับสนุนงบประมาณการฟื้นฟูวิถีชีวิตแล่ะระบบนิเวศทาม เป็นต้น

ปัจจุบัน ปริมาณปลาที่หาได้มีความแตกต่างจากในอดีตมาก โดยเฉพาะหลังจากสร้างเขื่อนปากมูล และ เขื่อนราศีไศล ชาวบ้านที่หาปลาในสองหมู่บ้านเล่าว่าปริมาณและชนิดของปลาลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะปลาใหญ่เช่นปลาอีตู๋ ปลาปึ่ง ปลาโจกปลาแค่ และ ปลากดหิน เป็นต้น เช่น หลังจากมีฝายราศีไศล ชาวบ้านพบว่าสภาพน้ำตามธรรมชาติเปลี่ยนไปมาก ระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการเปิดประตูระบายน้ำของฝายราษีไศล ส่งผลให้การหาปลาของชาวบ้านนั้นเปลี่ยนไปเพราะต้องคอยเฝ้าระวังน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้เครื่องมือหาปลาบางชนิดที่เคยใช้หาปลาในระบบนิเวศเดิมได้อีกอีกต่อไป การสูญหายไปของทรัพยากรป่าทามรวมทั้งปลา ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมากต่อสู้และต่อรองกับรัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิเหนือทรัพยากร

ผู้เขียนเห็นว่า ชาวนาที่ราบลุ่มราศีไศลเป็นชาวนาผู้มีความยืดหยุ่น (Flexible farmers)  พวกเขาเรียนรู้และตระหนักรู้เกี่ยวกับในสิทธิพื้นฐานในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น พวกเขารู้จักที่จะหยิบยกประเด็นการทำหากินกับธรรมชาติ ความรู้และความเชื่อท้องถิ่นมาปรับใช้และผสานกับแนวคิดสากลเช่นสิทธิชุมชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนการเป็นชาวนาที่มีวิถีชีวิตแบบยืดหยุ่นและปรับตัวต่อรองกับรัฐและทุนนิยม เช่น การนำเรื่องการสูญเสียทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น “ปลา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทั้งหมดมานำเสนอร่วมกับประเด็นสำคัญๆเกี่ยวกับป่าทาม เช่น การสูญเสียป่าบุ่งป่าทาม พื้นที่ทำนา เลี้ยงสัตว์ และอื่น ในการต่อรองกับรัฐ

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ “สิทธิ” ในการเรียกร้องเพื่อการจัดการทรัพยากรป่าทามเกิดเมื่อใด? เป็นเรื่องที่ชาวบ้านรู้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วเพราะปรากฏในชุมชนมานานแล้วหรือไม่? หรือว่า “สิทธิ” ถูกสร้างขึ้นเมื่อมีปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชนเรื่องสิ่งแวดล้อมหลังจากที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน?  ภายใต้บริบทที่ “สิทธิชุมชน” ได้กลายเป็นกรอบคิดสำคัญในการจัดการทรัพยากรเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านและเมื่อสังคมชาวนาได้ก้าวสู่สังคมยุคใหม่ที่ชาวนากล้าคิด กล้าแสดงออกถึงสิทธิของตนเอง ชาวนาจึงมิอาจปล่อยให้การสูญหายของปลาและทรัพยากรสำคัญๆในพื้นที่ป่าทามดับสิ้นไปไปพร้อมกับป่าทามที่ถูกน้ำท่วมอย่างถาวรจากการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศล

 

อ้างอิง

กนกวรรณ มะโนรมย์ สุรสม กฤษณะจูฑะ และนพพร ช่วงชิง. 2552 รายงายการประเมินผลกระทบทางสังคม โครงการฝายหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ. ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

คณะนักวิจัยไทบ้านราษีไศล. 2547 ราษีไศล: ภูมิปัญญา สิทธิและวิถีแห่งป่าทามแม่น้ำมูน ในwww.searin.org/Th/ThaiBanResearch.htm - 50k เข้าใช้ข้อมูล 12 มิถุนายน 2559.

ปฐม หงส์สุวรรณ. 2557. ดงภูดิน: เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์กับปฏิบัติการณ์ความหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง. 10 (3): 167-192.

วิสูตร อยู่คง. มปป. น้ำจั้น. http://www.lookforest.com/00_newlook/article_person.php?id_send=229&title_key_id=12 เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 13 มิถุนายน 2559

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2544 มิติชุมชน: วิธีคิดท้องถิ่นว่าด้วยสิทธินาจและการจัดการทรัพยากร. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Needham, S. & Funge-Smith, S. J. 2014 “The consumption of fish and fish products inthe Asia-Pacific region based on household surveys”. FAO Regional Office for Asia and the Pacific, Bangkok, Thailand. RAP Publication 2015/12. 87pp.

Yos, Santasombat. 2008 Flexible peasants: Reconceptualizing the Third World ruraltypes. Chiang Mai, Thailand: Regional Center for Sustainable Development.



[1] ขอบคุณ ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการให้ความความเห็นและตั้งคำถามต่อบทความนี้

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf เข้าใช้ข้อมูล วันที่ 13 มิถุนายน 2559

[3] ให้ข้อมูลวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ณ สมาคมคนทาม ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ

[4] Funge-Smith and Needham (2014) นำข้อมูลจากการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมระดับครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

[5] Needham and Funge-Smith (2014: 47-48) สำรวจการบริโภคปลาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า “ปลา” เป็นอาหารที่สำคัญของคนในภูมิภาคนี้ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะทั้งหลาย สำหรับประเทศไทยพบว่าคนไทยกินปลาเฉลี่ยประมาณ 31 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีคนในกินปลามากที่สุดในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงคือเฉลี่ยประมาณ 61 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

[6] ให้ข้อมูลโดยนายปัญญา คำลาภ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ณ สมาคมคนทาม อ. ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ

[7] คณะนักวิจัยไทบ้านราศีไศล (2547:19) อธิบายว่า “น้ำจั้น” คือน้ำที่ไหลซึมออกมาจากดินตลอดทั้งปีทำให้เกิดบ่อน้ำเล็กๆขึ้นตามริมฝั่งและบริเวณที่น้ำขังตลอดปี เช่น กุด หนอง ฮองและริมแม่น้ำมูล น้ำจั้นเป็นน้ำที่ใสสะอาดและเย็นสามารถดื่มกินได้ทั้งคนและสัตว์ น้ำจั้นมีปลาบางชนิดอาศัยอยู่...ปลาไหล ปลาค่อกั้ง ปลาซ่อน ปลาหมอ ปลาซิวและปลากระเดิด” คำนิยามนี้สอดคล้องกับ วิสูตร อยู่คง (มปป.)[7] นักวิชาการเกี่ยวป่าทามผู้ให้ความหมายของ  “น้ำจั้น” คือน้ำที่ค่อยๆไหลซึมผ่านออกมาจากพื้นดินที่มีดินเหนียวเป็นองค์ประกอบสำคัญ บ่อน้ำจั้นมักพบป่าทามตามริมแม่น้ำและมีน้ำซึมออกมาทั้งปี ทางภาคกลางเรียกว่าน้ำซับ ในภาคอีสานจะพบมาในบริเวณป่าทาม

[8] ให้ข้อมูลโดยนางผา กองธรรม วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 สมาคมคนทาม อ. ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ

[9] ข้อมูลภาคสนาม (กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ 2552)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: